Skip to main content
sharethis

6 ทศวรรษที่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและตอนนี้ยังมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทว่า วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ผู้เขียนหนังสือ ‘เศรษฐกิจสามสี’ มองว่าไทยเป็นชาติที่ไม่มียุทธศาสตร์ อาจเป็นเพราะเรายังตกหล่มทุนนิยมแบบสฤษดิ์ การแข่งขันที่แทบไม่มี ขาดการจัดลำดับความสำคัญ และยึดติดกับสิ่งเก่าที่ไม่สอดคล้องกับบริบทโลกอีกแล้ว

  • ประเทศไทยยังคงเป็นทุนนิยมแบบสฤษดิ์ที่เป็นพันธมิตรระหว่างทุนใหญ่ นายธนาคาร เทคโนแครต และมีราชการเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทำให้ไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
  • การเติบโตแบบทั่วถึงประกอบด้วย 3 มิติคือ interest, institution และ idea ซึ่งกลไกทั้ง 3 ข้อของไทยยังมีปัญหา
  • ไทยเป็นชาติที่ไม่มียุทธศาสตร์เนื่องจากไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย
  • บททดลองนำเสนอ platform state หมายถึงรัฐส่วนกลางทําหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการดำเนินนโยบายมหภาคใหม่ โดยให้ท้องถิ่นแข่งขันกันสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ทุนนิยมมีหลายเฉดสี วิธีการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศมีหลากวิธี หากถามว่าแล้วทุนนิยมไทยล่ะเป็นแบบไหน วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร อาจารย์จาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น ตอบว่าเป็น ‘ทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์’ ไม่ใช่เพียงเพราะมันเริ่มต้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เท่านั้น แต่วิธีคิดและกลไกเบื้องหลังของทุนนิยมชนิดนี้ยังเป็นมรดกตกทอดถึงปัจจุบัน รูปแบบที่เห็นได้ชัดคือการเป็นพันธมิตรระหว่างทุนใหญ่ นายธนาคาร เทคโนแครต และมีราชการเป็นศูนย์กลาง

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร อาจารย์จาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น ผู้เขียนหนังสือ ‘เศรษฐกิจสามสี’

‘ประชาไท’ ชวนวีระยุทธ ผู้เขียนหนังสือ ‘เศรษฐกิจสามสี’ มาสนทนาว่าด้วยทุนนิยมไทย เศรษฐกิจไทย และการ (ไม่) แข่งขัน และถ้ายึดเอาแนวคิดเศรษฐกิจสามสี ที่หมายถึงสีทอง-การเชื่อมโยงโลก สีเขียว-สิ่งแวดล้อม และสีเงิน-ผู้สูงอายุ ไทยเรามีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหน?

แน่นอน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นประเด็นที่เลี่ยงไม่พูดถึงไม่ได้ วีระยุทธ บอกว่า

“เรามียุทธศาสตร์ชาติ แต่เราเป็นชาติที่ไม่มียุทธศาสตร์”

ทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์

ในมุมมองของวีระยุทธ แนวทางการกำกับดูแลเศรษฐกิจของไทยยังติดอยู่กับทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์และติดอยู่กับวิธีคิดที่ไม่ทันกระแสโลก หากไม่ถาม ไม่ทัดทาน จะทำให้เราพลาดบางอย่างไปโดยไม่รู้ตัว เขายกตัวอย่างการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคโดยการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อต่ำ แต่แค่ไหนจึงเรียกว่าต่ำ

“แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเห็นเงินเฟ้อสูงร้อยเปอร์เซ็นต์พันเปอร์เซ็นต์แบบในละตินอเมริกา แต่ต้องต่ำระดับไหน ของไทยมักจะคิดไปถึงขั้น 1 เปอร์เซ็นต์ 3 เปอร์เซ็นต์ แต่มีงานวิชาการจำนวนมากที่พบว่าในประเทศกำลังพัฒนาที่ยังต้องการการเติบโต การปล่อยให้เงินเฟ้อขึ้นมาระดับ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ใช่จะมีปัญหาใหญ่นัก ถ้ามันยังทำให้เศรษฐกิจด้านอื่นเติบโตดี ซึ่งของไทยไม่เคยถกเถียงกันเรื่องนี้เลย”

นโยบายเศรษฐกิจมีต้นทุนที่ต้องแลกเปลี่ยนเสมอ วีระยุทธบอกว่าเมื่อเราเน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคเป็นหลัก มันก็ต้องแลกด้วยเรื่องการจ้างงาน การเติบโตที่ลดลง การกระจายรายได้ ซึ่งก่อนปี 2540 รัฐไทยไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย

“พอคุณไปคิดเรื่องเสถียรภาพการคลัง เทคโนแครตที่เก่งในสายตาของคนไทยก็คือเทคโนแครตด้านมหภาค แต่เราไม่เคยมีเทคโนแครตที่ทำงานด้านอุตสาหกรรมเฉพาะทางหรือด้านเทคโนโลยีที่ขึ้นมาโดดเด่นในแวดวงราชการไทยเลย ทั้งที่มันมีหลายแบบ ดังนั้น ทุนนิยมแบบสฤษดิ์ที่ผมพูดถึงก็จะมีพันธมิตรเฉพาะตัว อิงกับรัฐราชการรวมศูนย์  แล้วก็ยังมีอุดมการณ์ค่านิยมในการจัดการเศรษฐกิจเฉพาะแบบ ทั้งหมดนี้ทำให้ไทยแตกต่างจากประเทศอื่นและทำให้เราติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง”

ถ้าอย่างนั้นเราไม่ควรเน้นเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคมากเกินไปใช่หรือไม่? ก็ไม่ถึงขนาดนั้น วีระยุทธ ตอบว่าสิ่งที่ควรทำคือกลับมานิยามคำนี้กันใหม่ให้ชัดเจนว่าควรหมายถึงอะไร ดังนั้น เสถียรภาพไม่ใช่สิ่งที่ต้องทิ้ง แต่เป็นสิ่งที่ต้องนิยามใหม่ และสอง-จะต้องไม่ใช่แค่เรื่องเสถียรภาพอย่างเดียว แต่ต้องควบคู่กับสิ่งอื่นด้วย เช่น การจ้างงานงานที่มีคุณค่า การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งอาจเขย่าเสถียรภาพในบางเวลา แต่จะยอมแลกหรือไหม เป็นสิ่งที่ต้องถกเถียงกัน

เมื่อการเติบโตไม่เท่ากับการพัฒนา

จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ ที่ผ่านมาเราถูกทำให้เชื่อว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการพัฒนาประเทศเป็นเรื่องเดียวกัน ยิ่งตัวเลขสูง ยิ่งดี วีระยุทธบอกว่า ไม่ใช่ การระบุตัวเลขการเติบโตเพียงอย่างเดียวเป็นการพูดที่ขาดรายละเอียด เขายกตัวอย่างว่ารัฐไทยควรใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับภาคเกษตรอย่างที่เคยเป็นมาหรือไม่ เพราะหากจะก้าวไปสู่สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง (smart farming) จำนวนเกษตรกรต้องลดลง แต่มีผลผลิตมากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้นสำหรับผู้ที่ยังต้องการอยู่ในภาคเกษตร ขณะที่ผู้ที่ต้องการออกจากภาคเกษตรก็ต้องมีทางเลือก สิ่งเหล่านี้ไปไกลกว่าเรื่องการเติบโตทางตัวเลขมากนัก

“รวมถึงพอพูดว่าถ้าจะเอาอุตสาหกรรม แล้วจะเอาอุตสาหกรรมไหน เมื่อเร็วๆ นี้มีงานวิจัยของสหประชาชาติบอกว่า ที่พูดกันว่า 4.0 สุดท้ายแล้วพอไปดูประเทศที่เป็นผู้นำในเรื่อง 4.0 ก็คือประเทศที่ก้าวหน้าในยุค 3.0 มาก่อนทั้งนั้น เพราะว่า 4.0 คือการเชื่อมดิจิทัลเข้ากับเทคโนโลยีการผลิตแบบเก่า ไม่ใช่อยู่ๆ ก้าวกระโดดขึ้นมา 4.0 เลย ไม่อย่างนั้นคุณก็จะเป็นแค่ผู้ซื้อเทคโนโลยีในเวทีโลก ไทยมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยี 4.0 จริง แต่ว่าอยู่ในฐานะผู้ซื้อเทคโนโลยีเท่านั้น ไม่ใช่ผู้สร้าง และประเทศส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จใน 4.0 เป็นผู้สร้างเทคโนโลยี 3.0 มาก่อน”

สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในหลุมบ่วงนี้ วีระยุทธชี้ว่าเป็นเพราะไทยชอบตามกระแสโลก ทว่า เมื่อรับมาแล้วกลับเปลี่ยนแปลงยากและช้า ส่วนหนึ่งเนื่องจากความใหญ่โตเทอะทะของระบบราชการ สอง-การตั้งเงื่อนไขด้านการเติบโตหรือเป้าหมายเงินเฟ้อนั้นง่ายกว่าเงื่อนไขอื่นๆ เช่น การสร้างเทคโนโลยี การกระจายรายได้ เป็นต้น

“ไทยมันอยู่ในจุดที่ยากขึ้นแล้ว โดยเงื่อนไขเหล่านี้ ถ้าคุณไม่เปลี่ยนโมเดลการพัฒนา คุณก็ไม่สามารถเติบโตไปอีกขั้นหนึ่งได้ คนเขาถึงเรียกว่ามันเป็นกับดัก คุณอาจจะคิดว่าคุณวิ่งเร็ว แต่พื้นที่ข้างหน้าเป็นสนามคนละแบบกับที่คุณวิ่งมา อย่างน้อยคุณก็ต้องเปลี่ยนรองเท้า ถ้าคุณยังใช้รองเท้าแบบเดิม คุณก็วิ่งช้าลงแน่นอน และจะสะดุดบ่อยขึ้น”

3 I

การเติบโตแบบทั่วถึงต้องประเมิน 3 มิติประกอบกันคือ interest, institution และ idea เมื่อใช้ทั้ง 3 I เป็นตัววัด วีระยุทธจึงมีข้อสรุปว่า ประเทศไทยยังเป็นทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์ ในแง่ interest หรือผลประโยชน์ แม้จะมีความหลากหลายขึ้น แต่การชี้ขาดเรื่องสำคัญๆ ก็ยังคงเป็นพันธมิตรระหว่างทหาร นายธนาคาร และเทคโนแครต

ในแง่ institution หรือกลไกทางสถาบัน ก็ชัดเจนอีกว่าจอมพลสฤษดิ์สร้างรัฐราชการให้รวมศูนย์เข้ามาอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่ได้แก้ไขปัญหาอื่นๆ เช่น ภารกิจที่ทับซ้อนกันของรัฐราชการ การคอรัปชันที่เป็นปัญหาต่อเนื่องจากการกินเมืองมาตั้งแต่ยุคก่อนรัชกาลที่ 5 การใช้กฎหมายที่คลุมเครือ กล่าวคือกลไกเชิงสถาบันที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยังคงเหมือนเดิมจากเมื่อ 60 กว่าปีก่อน

“ส่วนในเรื่อง idea หรืออุดมการณ์คือการเน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากเป็นหลัก ต่อให้ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้กำหนดนโยบายก็ยังเชื่อมั่นในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากจนละเลยปัจจัยอื่นๆ ดังนั้น โดยรวมทั้ง 3 ตัวนี้ก็เลยขัดขวางการพัฒนาของไทยที่จะทำให้เกิดการเติบโตแบบทั่วถึง

“ถ้าพูดแบบในอุดมคติ interest หรือพันธมิตรจะต้องกระจายให้ได้กว้างมากที่สุด แต่ถ้าพูดแบบการเมือง ไม่ใช่ในอุดมคติ โดยดูจากสแกนดิเนเวียเป็นหลักก็เป็นบทเรียนว่าต้องมีพันธมิตรที่จะทำให้ภาคเกษตรกรและแรงงานเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายให้ได้ ที่สแกนดิเนเวียประสบความสำเร็จจนเป็นรัฐสวัสดิการได้ เพราะพรรคฝ่ายซ้ายมีฐานรองรับเป็นชนชั้นกลางร่วมกับเกษตรกร เวลาออกนโยบายมีเกษตรกรและแรงงานเข้าไปอยู่ในสมการ แล้วก็เป็นการสร้างฉันทามติใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย”

ในเชิงกลไกทางสถาบัน จะต้องเป็นรัฐที่ทั้งรวมศูนย์และกระจายอำนาจไปพร้อมๆ กัน วีระยุทธไม่ได้มองว่าการกระจายอำนาจเป็นคำตอบทั้งหมด ในเรื่องสำคัญๆ ยังจำเป็นต้องมีการรวมศูนย์ในการตัดสินใจ ขณะที่ด้านเศรษฐกิจปากท้องต้องเป็นเรื่องของท้องถิ่นให้มากที่สุด กลไกทางสถาบันจึงต้องมีสองส่วนนี้ไปพร้อมกัน

“ส่วนอุดมการณ์ก็ต้องมีความหลากหลายมากขึ้น ผมมองว่าเป็นได้หลายแบบขึ้นกับทิศทางของรัฐที่ต้องการ ถ้าต้องการสิ่งที่เรียกว่า inclusive แบบสแกนดิเนเวียซึ่งเป็นรัฐสวัสดิการที่ปัจเจกชนได้รับสวัสดิการในฐานะเป็นปัจเจกชนของชาตินั้น คุณก็ต้องมีอุดมการณ์ค่อนไปทาง social democratic ที่เชื่อว่าตลาดไม่สามารถทำงานด้วยตัวมันเองเพื่อทุกคนได้ ตลาดจะต้องถูกจัดการ”

การแข่งขัน

คุณเชื่อในตลาดไหม?

“ผมเชื่อในการแข่งขัน เพราะบางทีตลาดก็ไม่มีการแข่งขัน อย่างตลาดโซเชียลมีเดียที่นำโดย Facebook ถือว่าเป็นตลาดไหม ถามว่าอยู่ๆ มีใครอยากทำโซเชียลมีเดียรายใหม่ทำได้ทันทีไหม ทำได้ทันที มันเป็นตลาด คุณสามารถเข้าไปแข่งขันได้เลย แต่ถามว่ามันผูกขาดไหม มันมีการแข่งขันน้อยไปไหม ผมเชื่อในการแข่งขันมากกว่าตลาด”

และใช่, ทุนนิยมไทยเป็นทุนนิยมที่ขาดการแข่งขัน มีการแข่งขันน้อยเกินไปในหลายเซ็คเตอร์ แม้เรามักจะเห็นตามข่าวธุรกิจที่บริษัทเอกชนประชาสัมพันธ์การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในองค์กร แต่การซื้อเทคโนโลยีกับการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีก็เป็นคนละเรื่องกัน

“ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมที่ใหญ่มากตอนนี้ อย่างอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน ไทยแทบไม่มีส่วนร่วมในมูลค่าตลาด 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเลย อย่างจีนเข้าไปแชร์ปลายน้ำ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ 1 เปอร์เซ็นต์มูลค่ามันมหาศาลมาก และเขาสามารถเรียนรู้เพื่อก้าวกระโดดต่อไปได้

“แต่ของไทยไม่เคยคิด สิ่งเหล่านี้ไม่อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ ถึงจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ไม่มีเป้าหมายว่าจะเกาะไปกับ supply chain ของโลกอย่างไร ไปแชร์มูลค่า ยกระดับมูลค่าอย่างไร อันนี้ไม่เคยอยู่ในวิธีคิด และถ้าจะอยู่คุณต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง คุณจะไม่ใช่แค่ผู้ซื้อ”

ชาติที่ไม่มียุทธศาสตร์

“เรามียุทธศาสตร์ชาติ แต่เราเป็นชาติที่ไม่มียุทธศาสตร์ เพราะโดยแก่นของการมียุทธศาสตร์หมายความว่าคุณต้องกล้าที่จะเลือกจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย คุณจะเลือกอะไรมาก่อน คุณกล้าเลือกการกระจายรายได้ ความเท่าเทียมกันมาก่อนการเติบโตจริงหรือเปล่า เวลาเขียนแผนที่พยายามใส่คำสวยๆ กับสิ่งดีๆ มารวมกัน ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์อย่างแรกๆ คือคุณต้องรู้ว่า priority คืออะไร ความสำคัญของสิ่งที่คุณจะเลือกในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าคืออะไร คุณต้องแลกมาด้วยอะไร และคนในชาติยอมไหม

“สมมุติถ้าคุณต้องการความเท่าเทียมจริง คุณต้องแลกมาด้วยต้นทุนบางอย่าง การเติบโตอาจจะช้าลง นักลงทุนบางเซ็คเตอร์อาจจะถอย ทั้งประเทศมีฉันทามติในการแลกหรือเปล่า ถ้ามี นั่นแหละคือยุทธศาสตร์ชาติ แต่ถ้าไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ คนไม่รู้ต้นทุนที่ต้องแลก และคนไม่มีฉันทามติในสังคมว่ากำลังทำอะไรอยู่ ผมถือว่าไม่มียุทธศาสตร์”

วีระยุทธยกตัวอย่างว่า ถ้าจะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นก็ต้องมาคุยกันบนโต๊ะว่าเอสเอ็มอีไทยไม่ค่อยจ่ายภาษี ดังนั้น ถ้าอยากให้รัฐช่วยเหลือ มาสร้างสมดุลใหม่กันไหม เอสเอ็มอีจ่ายภาษีจริงจังและรัฐก็ช่วยเหลืออย่างจริงจังด้วย นี่คือสมดุลใหม่ คือต้นทุนที่ต้องแลก จะใช้ความเคยชินแบบเดิมๆ เรียกขอจากรัฐไม่ได้อีกแล้ว ฉันทามติต้องเกิดจากทั้งสองทาง

platform state

วีระยุทธเชื่อในการแข่งขันมากกว่าเชื่อในตลาด เช่นกัน เขาก็ไม่ค่อยเชื่อมั่นในรัฐ เขาอธิบายว่าวิวาทะในเรื่องการเปลี่ยนแปลงรัฐตอนนี้มีอยู่ 2 ทางเลือก คือการเป็นรัฐพัฒนาอย่างในเอเชียตะวันออกที่รัฐเข้ามาจัดการตลาด ชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าเดิม กับอีกทางคือรัฐสวัสดิการที่ประชาชนในประเทศได้รับสิทธิในฐานะพลเมือง

“ผมกลับคิดว่ามันมีปัญหาทั้ง 2 ทาง หนึ่งคือถ้าคุณเป็นรัฐพัฒนามากขึ้น รัฐเข้ามาชี้นำมากขึ้น มันมีแนวโน้มจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะรัฐไทยไม่มีความสามารถพอที่จะทำอุตสาหกรรมของตัวเอง กระบวนการให้คุณ ให้โทษ และตรวจสอบก็จะมีปัญหามาก จะยิ่งสูญเปล่ามากกว่าเดิม สอง-รัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่ควรจะมี อาจไม่ถึงกับต้องเป็น state แต่สวัสดิการของประชาชนต้องมีมากขึ้นเพื่อให้คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่ามีทางเลือก แต่โดยตัวรัฐสวัสดิการเองมันไม่ได้ตอบโจทย์ว่าเศรษฐกิจจะพัฒนาไปทางไหน ถ้าเราคิดแค่ส่วนนั้นส่วนเดียว มันจะแยกส่วนมากเกินไป”

บททดลองเสนอโมเดลการพัฒนาของวีระยุทธคือ platform state หมายถึงรัฐส่วนกลางทําหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการดำเนินนโยบายมหภาคใหม่ เปลี่ยนตัวชี้วัดใหม่ และไปให้ไกลกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ อีกด้านหนึ่งก็เพิ่มการดูแลสวัสดิการของประชาชน เขาขยายความเพิ่มเติมว่า

“ในเรื่องเศรษฐกิจควรจะตอบโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่และการผูกขาดทางธุรกิจไปพร้อมกัน โดยรัฐส่วนกลางประมวลผลและเลือกว่าใน 5-10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ 5 อุตสาหกรรมคืออะไร ทำข้อมูลอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีวิธีคิดชัดเจน เข้าใจ supply chain โลก เสร็จแล้วไม่ควรจะเป็นผู้ทำเอง ควรจะให้รัฐท้องถิ่น เช่น อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) เป็นผู้เข้ามาแข่งขันกัน (bid) ตรงนี้ ว่าทำไม อบจ. นี้ถึงควรได้รับภารกิจอุตสาหกรรมนี้ไปทำ

“สมมุติว่าเราจะมีรถเมล์ไฟฟ้าก็ให้ อบจ. มาแข่งขันกันว่า ทำไม อบจ. นั้นควรได้รับสิทธิการสนับสนุนจากรัฐส่วนกลางในเชิงข้อมูล องค์ความรู้ การจัดความสัมพันธ์เข้าไปสู่ supply chain โลก แต่ อบจ. ต้องไประดมสมองว่าท้องถิ่นมีกำลังคนพร้อมแค่ไหน มีคนเป็นวิศวกรที่ทำงานอยู่กรุงเทพฯ แต่พร้อมจะกลับบ้านเกิดอยู่เท่าไหร่ พูดง่ายๆ คือ ทำให้มันเกิดพลังจากท้องถิ่น แล้วเขาก็อาจออกพันธบัตรท้องถิ่นหรืออาจไปร่วมทุนกับธนาคารท้องถิ่นของญี่ปุ่นก็ได้ มาเสนอแข่งขันกันว่าต้องการเป็นผู้รับผิดชอบในอุตสาหกรรมนี้ แล้วรัฐส่วนกลางก็เป็นผู้ตัดสินใจบนฐานคิดแบบรัฐ ไม่ใช่ฐานคิดแบบบริษัทหรือธุรกิจ คิดว่ามันจะสร้างงานในพื้นที่เท่าไหร่ จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงของมูลค่าเท่าไหร่ แล้วค่อยตัดสินใจ และอาจออกแบบให้มีการแข่งขันระหว่าง อบจ. ด้วย เป็นการแก้ปัญหาตรงนี้ไปพร้อมกับความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ ลดอำนาจรวมศูนย์ด้วย platform state”

เศรษฐกิจสามสี

เราถามวีระยุทธว่า ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในเศรษฐกิจสามสีที่เขานำเสนอ เขาตอบว่ามีปัญหาอยู่ทุกจุด

“รัฐไทยเก่งกับการนำคำทันสมัยในกระแสโลกมาใช้ แต่ผมเห็นว่าการคิดนโยบายต้องตอบหลายโจทย์ไปพร้อมกันมากกว่าที่เป็นอยู่ ถ้าคุณจะไป green economy หมายความว่าคุณต้องตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการสร้างงานใหม่ พร้อมกับการมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ไม่ใช่แค่เขียวเพื่อเขียว ผมคิดว่ารัฐไทยแตะเฉพาะความเขียวบางด้าน เช่นให้มีการประมูลอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน แต่การจ้างงานเกิดมากน้อยแค่ไหน เกิดการกระจายรายได้จากการจ้างงานในเชิงพื้นที่มากน้อยแค่ไหน สุดท้ายเรามีความสามารถในการไล่กวดเทคโนโลยีนี้แค่ไหน มันยังไม่ได้ตอบโจทย์รอบด้าน

“สีเงินก็เหมือนกัน จริงๆ ถือว่าสีเงินง่ายที่สุดเพราะเราพร้อม เราเป็นสังคมสูงวัยแล้ว แต่ก็ไม่มีการคิดเรื่องนี้จริงจังว่าถ้าเราพัฒนาผลิตภัณฑ์บางอย่างแล้วกลายเป็นผู้นำในตลาดระดับโลกได้ เพราะผู้สูงวัยมีความต้องการเฉพาะ แต่เราไม่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จริงจัง และไม่ได้วางแผนว่าจะเชื่อมโยงกับ supply chain ในตลาดภูมิภาคอย่างไร

“ส่วนสีทองที่ผมหมายถึงการเชื่อมโยงกับบริบทโลก ของเราถือว่าน้อยลงเรื่อยๆ ในแง่หนึ่งก็เป็นปัญหาขององค์กรระหว่างประเทศเพราะว่าองค์การการค้าโลกลดบทบาทลง แม้แต่องค์การอนามัยโลกในวิกฤตโควิด-19 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะ แต่ถามว่าไทยมีข้อเสนอหลักการอะไรไหม ผมคิดว่าน้อย แล้วก็ไม่รู้จะไปอย่างไรด้วย

“ผมคิดว่ามันต้องเชื่อมทั้ง 2 ทาง ในขาหนึ่ง เราต้องคิดเรื่อง supply chain สมมติว่าเราจะทำรถเมล์ไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้า ก็อาจจะผลิตไม่ได้ในประเทศของเราทั้งหมด เราต้องเชื่อมระดับอาเซียน บางชิ้นส่วนไปผลิตที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย เราจะทำอย่างไร ไม่ใช่ว่าเราจะทำเองทั้งหมด เราสามารถคิดในกรอบ supply chain ระดับภูมิภาคได้ อันนี้คือการเชื่อมต่อกับบริบทโลกในทางเศรษฐกิจ”

อ่านถึงตรงนี้คุณต้องประเมินเองว่า แผนที่กำหนดในยุทธศาสตร์ชาติจะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่มากกว่าแค่การเติบโตได้หรือไม่

หรือเรายังคงเป็นชาติที่ไม่มียุทธศาสตร์?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net