Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

                  

1

พลันที่การยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่ปกครองโดยคณะทหารจากการรัฐประหาร เมื่อนับเวลาย้อนหลังไปจากจุดนั้นเพียงหนึ่งทศวรรษ ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 7 คน มีรัฐประหาร 2 ครั้ง มีการเมืองบนท้องถนนไม่ขาดสาย มีความรุนแรงและการบาดเจ็บล้มตายต่อเนื่อง ความสับสนอลหม่านของการเมืองไทยไม่ได้สร้างปัญหาแก่ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น ในแวดวงวิชาการเองก็มีข้อสงสัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าเราจะอธิบายปรากฏการณ์การเมืองไทยอย่างไรดี อะไรทำให้ประเทศที่เคยเป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและประชาธิปไตยของภูมิภาคเมื่อสองทศวรรษก่อนกลับกลายมาเป็นตัวอย่างต้องห้าม ทั้งยังเผชิญกับความชะงักงันทางเศรษฐกิจและ “ทศวรรษที่สูญหาย” ทางการเมือง ทฤษฎีประชาธิปไตยที่มีอยู่ช่วยอธิบายการเมืองไทยได้เพียงใด หรือจะไม่มีทฤษฎีใดๆ อธิบายความซับซ้อนของประเทศนี้ได้อีกต่อไปแล้ว
 

2

ข้อถกเถียงในแวดวงวิชาการนานาชาติเปลี่ยนไปตามกระแสธารของยุคสมัย หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โจทย์สำคัญของงานวิชาการรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมืองอยู่ที่ “กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย” (democratisation) และการวิเคราะห์ปัจจัยที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเมืองแบบประชาธิปไตย แต่นับตั้งแต่สหัสวรรษใหม่เป็นต้นมา หัวข้อวิจัยที่ท้าทายยิ่งยวดกลับกลายเป็นประเด็นเรื่อง “ความคงทนของระบอบเผด็จการ” (authoritarian persistence) และการค้นหาว่าเงื่อนไขอะไรที่ช่วยธำรงโครงสร้างอำนาจแบบเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการไว้ภายใต้หน้ากากประชาธิปไตย เช่นในหลายประเทศที่พรรคการเมืองเดียวสามารถอยู่ในอำนาจยาวนานหลายสิบปีและปกครองในลักษณะอำนาจนิยม แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งอยู่เป็นระยะๆ ก็ตาม

ในเอเชียอุษาคเนย์เอง มาเลเซียและสิงคโปร์กลายเป็นพื้นที่วิจัยของกลุ่มนักวิชาการสายเผด็จการศึกษา และนำไปสู่ข้อเสนอสำคัญว่า ระบอบเผด็จการซ่อนรูปเช่นนี้จะอยู่ได้อย่างมั่นคงก็ต้องอาศัยการมีสถาบันการเมืองที่แข็งแรง เช่น พรรคการเมือง มาคอยค้ำจุนให้เหล่าชนชั้นนำสามารถต่อรองผลประโยชน์และสืบทอดอำนาจกันได้อย่างเป็นระบบ โดยไม่ต้องทำลายฉากหน้าของประชาธิปไตย (เช่น ล้มเลือกตั้งหรือรัฐประหาร) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ยิ่งระบอบเผด็จการสามารถสร้างสถาบันที่ “ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตย” ให้แข็งแรงได้แค่ไหน ก็จะยิ่งทำให้ระบอบเผด็จการคงทนมากขึ้นเท่านั้น หากระบอบเผด็จการใดหมกมุ่นกับการสร้าง “ท่านผู้นำ” โดยปราศจากรากฐานทางสถาบันที่จะช่วยจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นนำอย่างเป็นระบบแล้ว เผด็จการนั้นย่อมมีความเปราะบางที่จะล่มสลายในไม่ช้า

แต่ข้อเสนอที่ทรงพลังนี้ก็ไม่สามารถนำมาใช้อธิบายกรณีของไทยได้ เพราะถึงแม้ประเทศไทยจะไม่เคยมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งและมีอายุยืนยาวเช่นในมาเลเซียและสิงคโปร์ แต่ระบอบเผด็จการหรืออุดมการณ์แบบเผด็จการก็ดูจะหยั่งรากและเติบโตมาได้อย่างต่อเนื่อง การมุ่งสนใจแต่เฉพาะสถาบันที่เป็นทางการอย่างพรรคการเมืองดูจะไม่ช่วยเพิ่มเติมความเข้าใจต่อการเมืองไทยมากนัก นอกจากนี้ งานวิชาการสายเผด็จการศึกษายังมีแนวโน้มจะมองเผด็จการเป็นขั้วตรงข้ามของประชาธิปไตย งานบางชิ้นถึงกับมี “เช็คลิสต์” วัดระดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศหนึ่งๆ จากดัชนีตายตัว เช่น มีเลือกตั้งหรือไม่ มีระดับการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองแค่ไหน ระบอบเผด็จการจึงยังไม่ได้รับความสนใจในฐานะ “ระบอบ” ของตัวมันเองที่สามารถมีวิวัฒนาการสืบเนื่องและแปรรูปไปได้ภายใต้ฉากหน้าประชาธิปไตยและแรงกดดันจากกระแสโลก

จุดบกพร่องนี้เองทำให้แนวคิดเรื่อง “เครือข่ายสถาบันกษัตริย์” (network monarchy) ของดันแคน แม็คคาร์โก ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลเหนือทฤษฎีอื่นๆ ในการวิเคราะห์การเมืองไทยนับแต่ยุคทักษิณเป็นต้นมา นอกจากแวดวงวิชาการแล้ว ในบรรดาสื่อมวลชนนานาชาติเอง เมื่อต้องการทำความเข้าใจความวุ่นวายทางเมืองของไทยในรอบสิบปีที่ผ่านมาก็สามารถใช้แนวคิดของแม็คคาร์โกในการสืบเสาะร่องรอยและเรื่องราวเบื้องหลังความขัดแย้งจนพอมองเห็นที่มาที่ไปของปมเงื่อนและจุดแตกหักต่างๆ

อย่างไรก็ดี แนวคิดเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ก็ยังมีความจำกัดอยู่หลายประการสำหรับการทำความเข้าใจมิติที่ลึกยิ่งขึ้นของการเมืองไทย ในด้านหนึ่ง แนวคิดนี้มีจุดสนใจจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มชนชั้นนำ แม้จะมีข้อดีแต่ก็มีข้อเสียคือการละเลยบทบาทของพลังทางสังคมกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือเครือข่ายดังกล่าว รวมถึงปัจจัยทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองระยะยาว ในอีกด้านหนึ่ง แนวคิดนี้ถูกนำเสนอในช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ จึงยังไม่ได้นำปรากฏการณ์ใหม่ๆ จากรัฐประหารสองครั้งหลังเข้ามาร่วมวิเคราะห์
 

3

เราสองคนในฐานะบรรณาธิการร่วมจึงตั้งคำถามนี้กับทีมนักวิจัยว่า เราจะก้าวข้ามข้อจำกัดของแนวคิดเครือข่ายสถาบันกษัตริย์และมีข้อเสนอที่ช่วยให้เราเข้าใจระบอบเผด็จการของไทยให้ดีขึ้นได้อย่างไร ในระดับแนวคิดเรามีข้อเสนอรวบยอดสามประการ

หนึ่ง เราจำเป็นต้องมอง “ระบอบเผด็จการ” ในฐานะระบอบของตัวมันเองที่สามารถมีวิวัฒนาการในทิศทางและรูปแบบเฉพาะตัว โดยไม่ควรมองเป็นคู่ตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตย หรือมองผ่านเช็คลิสต์ความเป็นประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล ความเป็นประชาธิปไตยที่เพิ่มขึ้น (หากวัดได้จริง) อาจไม่ได้ทำให้ความเป็นเผด็จการลดลงแต่อย่างใด การซ่อนรูปแปลงร่างทางอำนาจเกิดขึ้นได้เสมอ

สอง เราต้องมองกลไกทางสถาบันต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง พรรคการเมือง หรือรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจทางสังคมและวิวัฒนาการของทุนนิยมในประเทศนั้น ต่อให้ประเทศสองประเทศมีตัวบทกฏหมายหรือกติกาการเมืองบางอย่างที่เหมือนกัน การบังคับใช้และผลลัพธ์ก็ย่อมแตกต่างกันเสมอตามบริบทโครงสร้างอำนาจและลักษณะของระบบทุนนิยมที่แตกต่างกัน การศึกษาเฉพาะแต่ปัจจัยทางสถาบันที่เป็นทางการหรือเป็นลายลักษณ์อักษรย่อมไม่เพียงพอ ทั้งยังอาจบิดเบือนการทำความเข้าใจระบอบการเมืองของสังคมนั้นๆ ได้

สาม เมื่อเรามองเผด็จการในฐานะระบอบของมันเองและมองสถาบันทางการเมืองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจแล้ว จุดสนใจหลักของการศึกษาระบอบทางการเมืองจึงไม่ได้อยู่การจำกัดความหรือจำแนกประเภทเผด็จการดังที่งานวิชาการรัฐศาสตร์กระแสหลักให้ความสนใจ แต่ควรเป็นการมุ่งทำความเข้าใจต่อคุณลักษณะและพื้นที่ต่างๆ ที่มีความขัดแย้งแก่งแย่งตีความและปะทะประสานทางอำนาจ (nature and sites of political contestation)

กล่าวอย่างรวบรัด เราเรียกร้องว่าการศึกษาระบอบเผด็จการจะต้องก้าวพ้นความสนใจระดับตัวบุคคลและเครือข่ายไปสู่การทำความเข้าใจโครงสร้างอำนาจและวิวัฒนาการของระบบทุนนิยมที่ช่วยเกื้อหนุนค้ำจุนให้กลไกต่างๆ ในระบอบสามารถเติบโต แปรรูป และกลายพันธุ์ไปได้อย่างแยบยล โดยระบอบการเมืองนั้นอาจไม่ได้พัฒนาไปในทิศทางประชาธิปไตยแต่อย่างใด – การเปลี่ยนผ่านอาจไม่มีอยู่จริง
 

4

ทีมนักวิจัยปรับข้อเสนอรวบยอดดังกล่าวไปสู่คำถามวิจัยที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากบทนำที่วิพากษ์ประเด็นทางทฤษฎีโดยบรรณาธิการสองคนแล้ว ในวารสาร Journal of Contemporary Asia ฉบับที่สาม ของปี 2559 นี้ ยังมีบทความอีก 8 ชิ้น ซึ่งสามารถจัดได้เป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ศึกษาเชิงโครงสร้าง-ประวัติศาสตร์ กลุ่มที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงในชนบทและประชาสังคม กลุ่มที่ศึกษาพลวัตตัวแสดงสำคัญของรัฐไทย และกลุ่มที่ศึกษาปรากฏการณ์ใหม่ของรัฐประหารครั้งล่าสุด สามารถสรุปประเด็นสั้นๆ ของแต่ละกลุ่มได้ดังนี้

กลุ่มที่หนึ่งเน้นการศึกษาเชิงโครงสร้าง-ประวัติศาสตร์ เสนอภาพวิวัฒนาการระยะยาวทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทยที่ช่วยค้ำจุนระบอบเผด็จการ คริส เบเคอร์ (2016) ศึกษาย้อนอดีตที่มาของ “เสาหลัก” ระบอบเผด็จการไทยที่สามารถปรับตัวยืดหยุ่นและสร้างพันธมิตรใหม่เพื่อรักษาอำนาจไว้ได้ยาวนานข้ามศตวรรษ ส่วน ผาสุก พงษ์ไพจิตร (2016) ชี้ให้เห็นลักษณะคณาธิปไตย (oligarchy) ของทุนนิยมไทยที่ทวีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายด้าน แม้แต่ในโครงสร้างอำนาจของคณะปกครองปัจจุบันก็สะท้อนลักษณะดังกล่าวเช่นกัน

กลุ่มที่สองศึกษาการเปลี่ยนแปลงในชนบทและประชาสังคม สมชัย ภัทรธนานันท์ (2016) ให้ภาพพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของชาวอีสานที่เกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม รวมถึงความตื่นตัวต่อต้านรัฐประหารในครั้งก่อน ส่วน ธร ปีติดล (2016) ศึกษาการใช้และตีความวาทกรรมประชาธิปไตยในภาคประชาสังคมไทยที่แตกต่างไปจากความหมายทั่วไป แต่เกื้อกูลการธำรงอยู่ของระบอบเผด็จการในประเทศไทย

กลุ่มที่สามศึกษาพลวัตตัวแสดงสำคัญของรัฐไทย พอล แชมเบอร์ และ นภิสา ไวฑูรเกียรติ (2016) เสนอแนวคิด“รัฐคู่ขนาน” (parallel state) สำหรับอธิบายวิวัฒนาการทหารกับอำนาจการเมืองเครือข่ายเก่า ในขณะที่เออเจนี เมริโอ (2016) เสนอแนวคิด “รัฐพันลึก” (deep state) เพื่ออธิบายการทำงานด้านอุดมการณ์ของกลไกรัฐซ้อนรัฐโดยเฉพาะบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ แนวคิดทั้งจากสองบทความนี้จะช่วยให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงภายในรัฐไทยหลังยุครัฐราชการได้ดียิ่งขึ้น

กลุ่มที่สี่ศึกษาปรากฏการณ์ใหม่ในรัฐประหารครั้งล่าสุด นอกจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงระยะยาวแล้ว รัฐประหารครั้งนี้ยังมีลักษณะสำคัญบางด้านที่ต่างจากอดีต ประจักษ์ ก้องกีรติ (2016) ศึกษากระบวนการล้มการเลือกตั้งในปี 2557 อันนับเป็นความรุนแรงชนิดใหม่ในสังคมไทยและมีนัยยะต่อการต่อสู้ทางการเมืองไทยของในอนาคตอย่างลึกซึ้ง ส่วน วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร (2016) เสนอแนวคิด “reign-seeking” เพื่ออธิบายแรงจูงใจของชนชั้นนำเครือข่ายใหม่ที่ร่วมกันเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลเลือกตั้งผ่านสมาคมธุรกิจและวิชาชีพเพื่อแลกกับการได้รับตำแหน่งในองค์กรอิสระและคณะกรรมการต่างๆ ภายใต้ระบอบรัฐประหาร

โดยสรุปแล้ว งานวิจัยชุดนี้นำเสนอความขัดแย้งและการปะทะประสานทางอำนาจทั้งในมิติทางประวัติศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจระยะยาว รวมถึงพลวัตของตัวแสดงและการเปลี่ยนแปลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา องค์ประกอบทางโครงสร้าง ทางสถาบัน และทางอุดมการณ์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการค้ำจุนเกื้อหนุนวิวัฒนาการอันมีลักษณะเฉพาะตัวของระบอบเผด็จการไทย ถึงแม้งานชุดนี้จะไม่สามารถอภิปรายระบอบเผด็จการไทยได้ครบทุกแง่มุม แต่เราก็หวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้การถกเถียงเรื่องพัฒนาการทางการเมืองไทยมีแง่มุมที่หลากหลายและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างกรอบแนวคิดใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจพัฒนาการของระบอบเผด็จการได้อย่างแหลมคมและรอบด้านยิ่งขึ้น.

 

เชิงอรรถ

  • ตัววารสารฉบับนี้จะตีพิมพ์ในเดือนกรกฎาคม 2559 แต่เปิดให้อ่านออนไลน์ได้แล้วบนเว็บไซต์ http://www.tandfonline.com/action/showAxaArticles?journalCode=rjoc20
  • n   วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS, Tokyo)
  • n   เควิน เฮวิสัน เป็นศาสตราภิชานด้านเอเชียศึกษาที่ University of North Carolina at Chapel Hill, USA
  • n   รายชื่อบทความในวารสารฉบับพิเศษ Journal of Contemporary Asia: “Military, Monarchy and Repression: Assessing Thailand's Authoritarian Turn”

1.  Veerayooth Kanchoochat & Kevin Hewison (2016) Introduction: Understanding Thailand’s Politics.

2.Chris Baker (2016) The 2014 Thai Coup and Some Roots of Authoritarianism.

3.Pasuk Phongpaichit (2016) Inequality, Wealth and Thailand’s politics.

4.Paul Chambers & Napisa Waitoolkiat (2016) The Resilience of Monarchised Military in Thailand.

5.Eugénie Mérieau (2016) Thailand’s Deep State, Royal Power and the Constitutional Court.

6.Prajak Kongkirati (2016) Thailand’s Failed 2014 Election: The Anti-Election Movement, Violence and Democratic Breakdown.

7. Veerayooth Kanchoochat (2016) Reign-seeking and the Rise of the Unelected in Thailand.

8.Somchai Phatharathananunth (2016) Rural Transformations and Democracy in Northeast Thailand.

9.Thorn Pitidol (2016) Redefining Democratic Discourse in Thailand’s Civil Society.

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net