Skip to main content
sharethis

แบบทดสอบความรู้เกี่ยวกับการปฏิวัติสยาม 2475 ที่ออกแบบมาสำหรับท้าดวลทั้งผู้เชี่ยวชาญและไม่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ ใครได้คะแนนน้อยด่าได้แต่อย่าแรง 

สุขสันต์วันเริ่มต้นประชาธิปไตย

1.กบฏครั้งใดเป็นแรงบันดาลใจให้กับคณะราษฎร

ก. กบฏผีบุญ หรือกบฏผู้มีบุญ ในอีสาน
ข. กบฏชาวนา ในจีน
ค. กบฏ ร.ศ. 130 ในไทย
ง. กบฏบวรเดช ในไทย
จ. กบฏศาสดา ในเพลง

_____________________

เฉลย > ค. กบฏ ร.ศ. 130
_____________________

รู้จัก กบฏ ร.ศ. 130

ต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 6 หลังขึ้นครองราชย์ได้ราวปีเศษ ทางการสืบทราบว่ามีคณะนายทหารและพลเรือนกลุ่มหนึ่งจัดตั้งสมาคม "อานาคิช" (Anarchist) หรือคณะ ร.ศ. 130 นายทหารจำนวน 91 คน วางแผนจะก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองและแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญแบบประเทศตะวันตก หรือแม้แต่จะเปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐ

ฐานข้อมูลการเมืองไทยของสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า ทหารกลุ่มนี้มีเป้าหมายในการเปลี่ยนประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือถ้าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงยินยอม ก็จะดำเนินการทูลเชิญเจ้านายพระองค์อื่น เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐไทย

อย่างไรก็ตาม หลายคนถือว่า การปฏิวัติของคณะราษฎรเป็นสายธารต่อเนื่องมาจากกลุ่มกบฏ ร.ศ. 130 และพวกเขาก็ยังอยู่ร่วมสมัยเดียวกัน

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เล่าถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองกลุ่มนี้ไว้ ดังนี้

ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน ราวบ่ายโมงกว่า มีกลุ่มบุคคลคณะหนึ่งได้รับเชิญจากหัวหน้าคณะราษฎรให้มาพบเพื่อแสดงความเคารพและขอบคุณคณะปฏิวัติประชาธิปไตยผู้มาก่อน นั่นคือ ผู้แทน

คณะปฏิวัติ ร.ศ. 130 ได้แก่ ร.อ.นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์ หรือ หมอเหล็ง หัวหน้าคณะ ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง รองหัวหน้าคณะ ร.ต.บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ เลขาธิการคณะ

คณะปฏิวัติ ร.ศ. 130 (ถูกเรียกชื่อตามปีที่ถูกจับกุมซึ่งยังใช้ระบบปีแบบเดิม) ส่วนใหญ่เป็นทหารบก ต้องการที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ มีสภา มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่ถ่วงดุลตรวจสอบได้ของประชาชน ซึ่งมีทั้งที่เรียกว่าระบอบแบบ “ลีมิตเต็ดมอนากี้” และแบบ “รีปับลิ๊ก”

หมอเหล็งได้เขียนด้วยลายมืออธิบายสภาพที่ดำรงอยู่และระบอบการเมืองของไทยขณะนั้น ในเอกสารชื่อ “ว่าด้วยความเสื่อมทรามแลความเจริญของประเทศ” ว่าประเทศที่ปกครองในแบบ “แอ๊บโซลู๊ตมอนนากี้” ทั้งในยุโรปและอเมริกา “ก็ได้ช่วยกันคิดกำจัดประเพณีที่ชั่วร้ายอย่างป่าเถื่อนนั้นให้หมดสิ้นไป ประเทศเหล่านั้นจึงได้มีความศรีวิลัยยิ่งขึ้นเป็นอันดับมา”

แนวคิดสำคัญของคณะปฏิวัติประชาธิปไตยนี้คือการทำให้คนเท่ากัน ไม่ใช่คนนั้นเป็นคนตระกูลสูง คนนี้เป็นคนตระกูลต่ำ ทุกคนทุกตระกูลเป็นคนเท่ากัน ประเทศที่เป็นแบบอย่างที่คณะปฏิวัตินี้ชื่นชมคือ ญี่ปุ่น คณะปฏิวัตินี้ต้องการใช้วิธีเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันโดยใช้กำลังทหาร ดังนั้น ฝ่ายก่อการจึงขยายสมาชิกออกไปในกรมกองทหารต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยมียุทธวิธีว่า หากได้ทหารมาเป็นพวกมากเท่าไหร่ โอกาสแห่งชัยชนะก็มากเท่านั้น

คณะปฏิวัติคณะนี้ถูกกวาดจับเพราะความลับแตกจากสมาชิกที่เพิ่งรับเข้ามา 1 คน ที่ได้เข้าร่วมประชุมแล้วกลับใจนำความไปบอกฝ่ายรัฐบาลรัชกาลที่ 6 นายคนนี้ชื่อ ยุทธ หรือ แต้ม คงอยู่ ได้รับความดีความชอบยศถาบรรดาศักดิ์จากรัฐบาลให้เป็น พันเอก พระยากำแพงราม แต่หลังปราบกบฏบวรเดช 2476 ได้แขวนคอตายในห้องขัง

“ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม!” นายพันเอก พระยาพหล ได้กล่าวแก่ผู้แทนคณะปฏิวัติ ร.ศ. 130 พร้อมกับยื่นมือไปสัมผัสกระชับกับทุกคน และได้ถามความเห็นว่าแต่ละคนนั้นมีต่อการปฏิวัติในวันนี้ประการใดบ้าง หมอเหล็ง ศรีจันทร์ กล่าวตอบทันทีว่า “เป็นการสมใจตามทางของคณะ ร.ศ. 130 ด้วยความตื่นเต้น แต่ขอได้โปรดยึดอุดมคติและอำนาจตอนต้นนี้ไว้จนกว่าจะปลอดภัย โดยโปรดดูตัวอย่างหมอซุนยัตเซ็นที่เสียทีแก่ยวนไซไซไว้ด้วย”

2. อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ก. เศรษฐกิจฝืดเคืองอย่างหนัก
ข. เกิดชนชั้นกลางและข้าราชการรุ่นใหม่
ค. ผลการปฏิรูปการเมืองในอดีต
ง. ถูกทุกข้อ
จ. ผิดทุกข้อ

_____________________

เฉลย > ง. ถูกทุกข้อ

_____________________

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ 2475

หนังสือ ปฏิวัติ 2475 ของชาญวิทย์ เกษตรศิริ ระบุว่าความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของสังคมไทยก่อนหน้านั้นทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เป็นปัจจัยที่นำไปสู่การปฏิวัติ 2475

Ø ปฏิรูปการบริหารราชการ 2435 อาจกล่าวได้ว่าเป็นความพยายามที่จะรวมอำนาจทางการเมืองไว้ที่สถาบันกษัตริย์ ทำให้อำนาจของขุนนางส่วนกลางและผู้นำท้องถิ่นต้องถูกตัดตอน ซึ่งได้สร้างข้อจำกัดและปัญหาสืบเนื่องในรัชกาลต่อๆ มาและนำไปสู่การตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ในที่สุด

Ø การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจก็มีผลเช่นกัน การลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริ่งทำให้ระบบการค้าของไทยจากที่เคยเป็นระบบผูกขาดโดยเจ้าและขุนนางเปลี่ยนเป็นระบบการค้าเสรี พร้อมกับเกิดเศรษฐกิจที่มุ่งส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเป็นสินค้าหลักในช่วงรัชกาลที่ 5 ในขณะเดียวกัน ความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกก็นำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ รวมถึงปัญหาการสะสมที่ดินของชนชั้นสูงในขณะที่ชาวนาไร้ที่ดินทำกิน

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้จากเดิมที่สังคมมี 2 ชนชั้นใหญ่ๆ คือเจ้าและขุนนาง กับ ไพร่และทาส ก็พลันเกิดชนชั้นใหม่ เพราะความต้องการแรงงานสูงขึ้น แรงงานอิสระที่ไม่ใช่ไพร่กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตทางการเกษตร เหตุนี้นำไปสู่การเลิกทาสซึ่งเริ่มต้นใน พ.ศ. 2411 และเลิกทาสทั้งหมดใน พ.ศ. 2448 ส่วนแรงงานไพร่ก็ได้สลายตัวไปโดยเหลือไว้แต่การเกณฑ์ทหารเท่านั้น

Ø ด้วยปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดข้าราชการ ราษฎร และชนชั้นกลาง ซึ่งน่าจะเป็นผู้ที่มีจิตสำนึกในแง่สิทธิของตนในความหมายของการเป็น “ราษฎร” ควบคู่และขนานไปกับการกระจุกตัวทางการเมืองในระดับของพระราชวงศ์

ชนชั้นกลางดังกล่าวอยู่คาบเกี่ยวระหว่างชนชั้นเจ้า-ข้าราชการชั้นสูงและราษฎร ส่วนหนึ่งอยู่ในวงราชการทหารและพลเรือนซึ่งชาญวิทย์เรียกว่าเป็นสถาบันข้าราชการใหม่ อีกส่วนอยู่นอกระบบราชการ เช่นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักธุรกิจ และผู้ประกอบการ และผู้นำของชนชั้นกลางคือผู้ที่กลายมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

“ผู้นำใหม่” เหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดชาตินิยม และเนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาในระบบใหม่ทั้งในและนอกประเทศ การเปรียบเทียบประเทศของตนกับประเทศอื่นที่ก้าวหน้ากว่า เช่น

· พระยาพหลพลพยุหเสนา : สำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายร้อยทหารบกปี 2447 ได้ทุนไปเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยปรัสเซียในกรุงเบอร์ลิน สำเร็จการศึกษาปี 2450

· พระยาทรงสุรเดช : สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกปี 2450 ได้ทุนไปศึกษาต่อวิชาทหารช่างที่เยอรมนีและต่อระดับสัญญาบัตร ได้รับพระราชทานยศร้อยตรีในการสำเร็จการศึกษาปี 2456

· พระประศาสน์พิทยายุทธ : สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกปี 2454 ได้ทุนไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกเยอรมัน และย้ายไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยโพลีเทคนิคที่สวิตเซอร์แลนด์ (ในอ้างอิงบอกว่าเรียนไม่จบ ขออาสาไปรบก่อน)

· ควง อภัยวงศ์ : ศึกษาวิชาวิศวกรรมโยธาที่เอกอล ซังตรัล เดอ ลียอง (มหาวิทยาลัยซังตรอล ลียองส์เนส) ประเทศฝรั่งเศส สำเร็จการศึกษาในปี 2470

คณะราษฎรถูกผลักดันโดยลัทธิชาตินิยมและแนวคิดประชาธิปไตย ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของ “ชนชั้นกลาง” ในสยามโดยทั่วไปในขณะนั้น และแนวคิดของลัทธิชาตินิยม ซึ่งมีรากฐานอยู่ในความคิดว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกันและมีส่วนได้ส่วนเสียกับการบริหารของรัฐบาลก็สะท้อนออกมาในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่ว่า “ประเทศเรานี้เป็นของราษฎรไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง”

เว็บไซต์ 101 ได้รวบรวมปัจจัยของการปฏิวัติเพื่อโต้แย้งคำกล่าวที่ว่า การปฏิวัติ 2475 เกิดจากประชาชนที่ขาดการศึกษา โดยระบุถึงปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ปัจจัยด้านสถาบันการเมืองที่ผูกขาดรวมศูนย์อำนาจในกลุ่มเจ้านายและขุนนางชั้นสูง จนการบริหารช้าและขาดประสิทธิภาพ, ปัจจัยด้านการแพร่หลายของแนวคิดใหม่ๆ ที่ทำให้คนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะประชาธิปไตยหรือชาตินิยมที่ล้วนท้าทายอุดมการณ์จารีตชาติกำเนิด บุญบารมี และความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น, ปัจจัยการก่อตัวของชนชั้นใหม่ เช่น ปัญญาชน นักเรียนนอกและนักหนังสือพิมพ์ ที่เชื่อเรื่องเสรีภาพ ความทันสมัยและความเสมอภาคเท่าเทียม, ปัจจัยด้านวิกฤตเศรษฐกิจ จนปรับข้าราชการชั้นกลางและล่างออกรวมทั้งขึ้นภาษีรายได้ที่กระทบคนชั้นกลางจนเกิดกระแสไม่พอใจรัฐบาล และปัจจัยภายนอกจากการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลก ทั้งจีน รัสเซีย เยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี

3. ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีข่าวลือหนาหูเรื่องการปฏิวัติในหน่วยทหาร จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มสอดส่องนายทหารที่อาจก่อการปฏิวัติขึ้น ชื่อว่าอะไร

ก. สมาคมเทพารักษ์
ข. หน่วยสายลับราชองค์รักษ์
ค. สมาคมแหนบดำ
ง. สมาคมทหารของพระราชา
จ. กลุ่มเสลี่ยงเงิน

_____________________

เฉลย > สมาคมแหนบดำ

_____________________

ความวิตกกังวลต่อการปฏิวัติ

ปี 2474 เศรษฐกิจไทยฝืดเคืองอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำรุนแรงด้วย รัฐบาลในรัชกาลที่ 7 ได้ปลดข้าราชการจำนวนมากออกจากราชการ ยุบหน่วยงาน ลดทอนค่าใช้จ่าย ปัจจัยนี้ได้ช่วยแพร่กระจายข่าวลือไปทุกมุมเมือง ว่ารัฐบาลกษัตริย์น่าจะต้องงดงานฉลองพระนคร 150 ปีไว้เสีย เพราะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศกำลังตกอยู่ในยุคฝืดเคือง

งานฉลองพระนคร 150 ปีก็คืองานฉลองราชวงศ์จักรี 150 ปี มีขึ้นในวันที่ 6 เมษายน 2475 เป็นงานเปิดสะพานพุทธ และเปิดอนุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้า รัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่สมัยรัชกาลที่ 7
ทูตญี่ปุ่นชื่อ ยาสุกิจิ ยาตาเบ บันทึกไว้ว่า ข่าวลือเหล่านี้มีมาตั้งแต่ก่อนหน้างานฉลองพระนครอยู่ราวหนึ่งเดือน ว่าจะมีคนวางแผนก่อการไม่สงบ โดยอาศัยความชุลมุนวุ่นวายของงานฉลองพระนคร 150 ปี อีกทั้ง กบฏ ร.ศ. 130 ก็เพิ่งเกิดก่อนหน้าเพียง 20 ปีก่อน ทำให้เกิดความระแวงกันอย่างมาก

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ระบุว่า ในหน่วยทหารมีการกำชับและติดตามสอดส่องนายทหารฝ่ายเสนาธิการว่ามีใครคิดกระทำตามข่าวลือนี้หรือไม่ แต่ยิ่งกำชับ ข่าวลือก็ยิ่งแพร่สะพัดออกไป จึงมีการตั้ง “สมาคมแหนบดำ” มีสมาชิกเป็นนายทหาร มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ขึ้นด้วย เพื่อสอดส่องนายทหารที่อาจคิดปฏิวัติ

หลังเสร็จพระราชพิธีที่สะพานพุทธก็มีพระราชพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สนามหลวง พระปกเกล้าฯ ก็เสด็จไปพักอิริยาบถ ณ วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนเกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนายน

4. ทำไมการรวมตัวครั้งแรกของผู้ก่อตั้งคณะราษฎรจึงเกิดขึ้นในฝรั่งเศส

ก. กลุ่มผู้ก่อตั้งพยายามออกนอกประเทศเพื่อประชุมลับ
ข. กลุ่มผู้ก่อตั้งไปท่องเที่ยวยุโรป
ค. กลุ่มผู้ก่อตั้งเดินทางไปศึกษาต่อและทำงานอยู่ในยุโรป
ง. กลุ่มผู้ก่อตั้งกำลังอยู่ในช่วงถูกเนรเทศออกจากประเทศ
จ. กลุ่มผู้ก่อตั้งตระเวนหาทุนจากต่างประเทศเพื่อทำการปฏิวัติ

_____________________

เฉลย > ค. กลุ่มผู้ก่อตั้งเดินทางไปศึกษาต่อและทำงานอยู่ในยุโรป

_____________________

การก่อตัวของคณะราษฎร

การรวมตัวของผู้ก่อตั้งคณะราษฎรเกิดขึ้นในปี 2469 ณ หอพักในกรุงปารีสโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 7 คน คือ

1. ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ลาออกจากราชการมาศึกษาด้านรัฐศาสตร์ในฝรั่งเศส

2. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนการทหารที่ฝรั่งเศส

3. นายแนบ พหลโยธิน เรียนเนติบัณฑิตที่อังกฤษ และเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ฝรั่งเศส

4. นายตั้ว ลพานุกรม ศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์

5. นายจรูญ สิงหเสนี เป็นข้าราชการต่างประเทศ เป็นเอกคราชทูตที่อิตาลีและหลายประเทศ

6. ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี มาศึกษาต่อโรงเรียนนายทหารม้าในฝรั่งเศส

7.นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับทุนศึกษาต่อด้านกฎหมายในฝรั่งเศส

ทั้งหมดล้วนเป็นคนหนุ่มทั้งพลเรือนและนายทหารชั้นผู้น้อย ส่วนประเทศฝรั่งเศสนั้น ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้กลายเป็นมหาอำนาจโลก จึงเริ่มนิยมให้นักศึกษาเข้ามาศึกษาต่อในประเทศมากขึ้น

การประชุมครั้งแรกเกิดขึ้นที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอเมอราร์ (Rue Du Sommerard) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ติดต่อกันนานถึง 5 วัน ที่ประชุมมีมติตกลงเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยตกลงใช้วิธีการ "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการนองเลือดเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติรัสเซีย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงจากมหาอำนาจบริเตนและฝรั่งเศสที่มีดินแดนติดกับสยามในเวลานั้น

ระหว่างปี 2470–2572 ร้อยโทประยูรสามารถหาสมาชิกเพิ่มได้อีก 8 นาย รวมทั้งพระยาทรงสุรเดชขณะเดินทางไปดูงานที่ประเทศฝรั่งเศส ต่อมากลายเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในคณะราษฎร และหลวงสินธุสงครามชัยซึ่งเป็นนักเรียนนายเรือที่ประเทศเดนมาร์ก นอกจากนี้ยังมีควง อภัยวงศ์ และทวี บุณยเกตุ ด้วยการก่อตัวของคณะดังกล่าว 15 คนแรกมาจากความสัมพันธ์ส่วนตัว คือเป็นศิษย์ร่วมสถาบันหรือเป็นเครือญาติกัน แม้สมาชิกคณะราษฎรจะเป็นนักเรียนนอกหลายคน แต่บางคนก็ไม่เคยศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ เช่น พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)

การสมัครสมาชิกของคณะราษฎรนั้นถือว่ารัดกุมกว่าเมื่อเทียบกับเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 เนื่องจากไม่ปรากฏว่าข่าวรั่วไหลจนถูกจับได้ มีหลักฐานว่าบางคนปฏิเสธเข้าร่วมแต่สัญญาว่าจะไม่บอกรัฐบาล

นอกจากนี้ ในการประชุมผู้ก่อตั้งคณะราษฎรครั้งแรกได้มอบหมายให้นายแนบ พหลโยธิน เป็นผู้รับผิดชอบดูแลครอบครัวของสมาชิกหากการปฏิวัติไม่สำเร็จด้วย เนื่องจากมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าคนอื่นเพราะได้รับมรดกจากบิดา โดยจะไม่ให้นายแนบออกหน้ามากนักในการปฏิวัติ

แกนนำได้ใช้เวลาศึกษา วางแผนปฏิวัติสยามและหาทุนดำเนินการ โดยเริ่มหาพรรคพวกและผู้สนับสนุนซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในหน่วยงานราชการทั้งสายทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน รวมทั้งสิ้น 114 คน (อ้างอิงตัวเลขจากวิกิพีเดีย)

สำหรับแรงจูงใจที่ทำให้ผู้คนลุกขึ้นมาปฏิวัติครั้งนี้ กรณีพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร เขาระบุว่า ระบอบเก่าไม่สามารถสร้างกองทัพไทยให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพได้แท้จริง ถูกชี้นำโดยผู้ใหญ่ จึงต้องปฏิวัติสร้างประเทศไทยใหม่ ดังที่ตัวเขาได้ไปเห็นต้นแบบการทหารจากยุโรปหลังได้ทุนไปเรียนทหารที่เยอรมัน 10 ปีเต็ม

ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมพูดถึงสาเหตุของการปฏิวัติ โดยระบุคำกล่าวของปรีดี พนมยงค์ว่า การยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เริ่มเกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกตอนปลายในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผ่านการอภิวัฒน์ทางอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการต้องการแรงงานจึงต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้มีเสรีภาพมากขึ้น เมื่อไทยเปิดประเทศกับโลกตะวันตกในรัชกาลที่ 4 และ 5 ทุนนิยมเข้ามามีอิทธิพล คนจึงเรียกร้องให้เปลี่ยนจาก สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

การปฏิรูปมีเค้าลางตั้งแต่ปี 2427 เมื่อเจ้านายและข้าราชการสถานทูตไทยในยุโรปตะวันตกได้ทำหนังสือทรงพิจารณาปฏิรูปการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เกิดเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ขึ้นแต่ไม่สำเร็จ ดังที่ปรีดีได้เล่าไว้ใจความว่า ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ได้เล่าให้ฟังถึงความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาฯ และเสียงเรียกร้องของราษฎรในสยามที่ต้องการให้เปลี่ยนระบอบ ฉะนั้นใน ค.ศ. 1925 หลังได้สนทนากับ ร.ท. ประยูรฯ หลายครั้งจึงชวนเขาไปเดินเล่นที่ถนน Henri Martin ปรารภกันว่าได้ยินผู้ที่ต้องการเปลี่ยนระบอบสมบูรณาฯ หลายคน แต่ยังไม่มีใครจะตัดสินใจเอาจริง ฉะนั้นเราจะไม่พูดแต่ปากแต่ต้องทำจริง จากน้อยไปสู่มากแล้ววางวิธีการชวนเพื่อนที่ไว้ใจได้ร่วมเป็นหน่วยแรก

5. คณะราษฎรใช้เทคนิคอะไรในการประชุมวางแผนปฏิวัติ เพื่อเป็นข้อแก้ตัวหากถูกจับกุม

ก. จัดปาร์ตี้บนเรือ
ข. มีสำรับไพ่วางไว้
ค. ปลอมตัว
ง. เล่นเครื่องดนตรีเสียงดังกลบเกลื่อน
จ. สนทนาในระหว่างตีกอล์ฟ

_____________________

เฉลย > ข. มีสำรับไพ่วางไว้

_____________________

การวางแผน

เมื่อพระปกเกล้าไม่อยู่กรุงเทพฯ โดยย้ายไปประทับที่วังไกลกังวล หัวหิน แผนปฏิวัติที่จะให้พระองค์ลงนามในรัฐธรรมนูญโดยตรงจึงกลายเป็นความกดดันของฝ่ายปฏิวัติแทน เพราะพวกเขามีจำนวนกันเพียงหลักร้อย และอาจสำเร็จครึ่งไม่สำเร็จครึ่ง อีกทั้งคณะก่อการยังต้องการให้ดำเนินการทั้งหมดหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อและไม่กระทบพระเกียรติของพระมหากษัตริย์เกินไป

นับจากกลุ่มคณะราษฎรเริ่มก่อตั้งโดย 7 คนหนุ่มที่ปารีส เมื่อปี 2469 ก็ขยายเชื่อมผู้นำทหารอาวุโส และขยายสมาชิกทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่การประชุมผู้นำคณะราษฎรเพื่อวางแผนนั้นเพิ่งเริ่มเมื่อเดือนเมษายน 2475

การประชุมแต่ครั้งจะมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 8 คน และจะวางเครื่องมือเล่นการพนันไว้ด้วย เผื่อว่าหากถูกจับกุมก็ให้ยอมรับว่ามีการมั่วสุมลักลอบเล่นการพนัน การประชุมแต่ละครั้งยังใช้เทคนิคอีกหลายอย่าง เช่น การเสนอรายชื่อผู้ก่อการปฏิวัติในรูปแบบของบัญชีสินค้า การมีคนดูต้นทาง เป็นต้น

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เล่าว่า แผนของพวกเขาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งใกล้วันลงมือจริงก็ยังมีเปลี่ยน โดยเมื่อครั้งประชุมครั้งที่ 2 มีการเสนอให้จู่โจมยึดพระราชวังในตอนดึกและบังคับให้พระเจ้าอยู่หัวลงนาม แต่ก็มีคำแย้งว่า แผนนี้หวาดเสียวเกินไป อยากได้แผนที่ละมุนละม่อมมากขึ้น ในการประชุมครั้งต่อมา มีแผนว่า การบังคับให้พระเจ้าอยู่หัวลงนามนั้นอาจก่อให้เกิดการนองเลือด จึงเสนอให้วางแผนใหม่เพื่อให้กระทบพระเกียรติน้อยที่สุด

วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน 2475 ผู้นำคณะราษฎร 8 คนประชุมกันที่บ้านนายประยูรหลังสถานีรถไฟสามเสน 4 คนเป็นทหารชั้นผู้ใหญ่ ได้แก่ พระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์ และพระประศาสน์ ฝ่ายคณะราษฎรหนุ่ม ได้แก่ หลวงพิบูลฯ หลวงประดิษฐ์ฯ นายตั้ว และนายประยูร โดยพระยาทรงได้เสนอ 3 แผนปฏิวัติคือ

แผนแรก ให้นัดประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่กระทรวงกลาโหมหรือกรมยุทธศึกษา แล้วประกาศว่าคณะราษฎรยึดอำนาจเปลี่ยนระบอบการปกครอง หากทหารคนไหนไม่เห็นด้วยก็คุมตัวไว้ และให้ทหารเข้าควบคุมตัวบุคคลสำคัญตามวังเจ้านายและบ้านข้าราชการผู้ใหญ่มาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

แผนที่สอง ให้ควบคุมเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ตัดการสื่อสารทั้งหมด รวบรวมกำลังทหารมาชุมนุมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า สับเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาหน่วยทหาร แล้วประกาศเปลี่ยนระบอบการปกครอง

แผนที่สาม ให้หน่วยทหารเข้าควบคุมสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อประกันความปลอดภัยของคณะราษฎร ที่เหลือปฏิบัติตามแผนที่สอง

ที่ประชุมมติเลือกแผนสาม และกำหนดวันปฏิวัติคือวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2475

แต่ต่อมาวันปฏิวัติต้องเลื่อนเพราะวันเสาร์อาทิตย์เป็นวันพักผ่อนของกรมพระนครสวรรค์ที่จะนั่งเรือพระที่นั่งบนลำน้ำเจ้าพระยา จึงกำหนดวันปฏิวัติใหม่เป็นวันอังคารที่ 21 และถูกเลื่อนเป็นพฤหัสที่ 23 จนกระทั่งได้มติว่าเป็นวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย.อย่างแน่นอนเพราะตอนนี้ตำรวจฝ่ายรัฐบาลก็เริ่มสงสัยและติดตามสอบสวนอย่างใกล้ชิด หากไม่รีบฝ่ายคณะราษฎรจะถูกจับกุมก็คงล้มเหลวเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน

6.ประกาศยึดอำนาจที่เขียนด้วยลายมือในกระเป๋าเสื้อของพระยาพหลฯ ถูกเขียนด้วยภาษาอะไร

ก. ไทย
ข. ฝรั่งเศส
ค. เยอรมัน
ง. โปรตุเกส
จ. ภาษาลู

_____________________

เฉลย > ค. เยอรมัน
_____________________

วันปฏิวัติ

ตี 4 ของเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พระยาพหลและพระประศาสน์เดินทางออกจากบ้านพักที่บางซื่อไปยังที่นัดหมายริมทางรถไฟสามแพร่ง หรือปัจจุบันคือถนนประดิพัทธ์ฝั่งสะพานควายตัดกับทางรถไฟ เพื่อเจอกับนายทหารคนอื่น เช่น พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์, พ.ท.พระประศาสตร์พิทยายุทธ, พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม, ร.อ.หลวงทัศไนยนิยมศึก และพ.ต.หลวงสฤษฎ์ยุทธศิลป์ โดยจะทำตามแผนการปฏิวัติตามที่ตกลงกันในที่ประชุมคณะราษฎรเมื่อ 4 วันก่อน หลังจากผ่านการเลื่อนมาหลายต่อหลายรอบ

6 โมง 5 นาที ขบวนรถหุ้มเกราะและทหารจากพลทหารจากกรมทหารม้า กรมทหารปืนใหญ่ กองพันทหารช่าง พร้อมอาวุธและลูกปืนจำนวนมากถูกนำโดยทหารบกคณะราษฎร 20 คนมาถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ที่นั่นกองร้อยนักเรียนนายร้อยทหารบกและกองร้อยนักเรียนนายดาบรออยู่แล้ว และมีผู้บังคับการกองพันนำทหารมาดูการฝึกซ้อมยุทธวิธีในการรบอยู่ด้วย อีกทั้งทหารเรือจากกองนาวิกโยธินกว่า 100 คน ตอนนี้ทหารราบ 6 กองพันถูกลวงให้มารวมพลแล้ว 3 กองพัน ส่วนกรมทหารม้า กรมทหารปืนใหญ่ ทหารช่างและการสื่อสาร ฝ่ายคณะราษฎรยึดกุมไว้แล้ว

พระยาพหลพลพยุหเสนายืนท่ามกลางทหารที่ลานนั้น หยิบกระดาษโน้ตที่นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อกันว่าเป็นภาษาเยอรมันออกมาจากกระเป๋าเสื้อแล้วอ่าน ทั้งนี้เพื่อป้องกันกรณีที่อาจถูกจับกุมเสียก่อน ใจความสำคัญระบุว่า คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองไว้แล้วโดยเด็ดขาด เปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ ขอความสนับสนุนจากทหารและห้ามไม่ให้ผู้ใดขัดขืนหรือสู้ ไม่อย่างนั้นจะลงโทษขั้นรุนแรง

เมื่อสิ้นเสียงประกาศปฏิวัติ สมาชิกคณะราษฎรก็พากันเปล่งเสียง “ไชโย” ดังกึกก้อง พระยาพหลและพระยาทรงเดินนำทหารจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังรั้วพระที่นั่งอนันตสมาคมที่ซึ่งควบคุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงไว้

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ระบุว่า แต่เดิมเชื่อกันว่า พระยาพหลได้อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับแรกที่เป็นฉบับยาว และมีนโยบาย 6 ข้อของคณะราษฎรที่จะเป็นนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาสร้างประเทศชาติ แต่จากงานศึกษาในระยะหลังชี้ว่า พระยาพหลน่าจะประกาศยึดอำนาจการปกครองที่ลานพระบรมรูปทรงม้าอย่างสั้นกระชับ เพราะถ้าอ่านจากประกาศคณะราษฎรฉบับยาวจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสิบนาที และตรงจุดที่พระยาพหลยืนอ่านประกาศตรงลานนั้น อีก 4 ปีต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม 2479 คณะราษฎรได้วาง “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือ หมุดคณะราษฎร ทำจากทองสำริดไว้เป็นที่รำลึกการปฏิวัติ ปัจจุบันหมุดนี้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

อย่างไรก็ดี ในช่วงเช้าวันนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสนาบดีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการสื่อสารได้หลบหนีทางรถไฟเพื่อไปกราบบังคมทูลเตือนพระมหากษัตริย์ที่หัวหิน แต่ปฏิบัติการยึดอำนาจได้เสร็จสิ้นและผู้ก่อการประสบความสำเร็จไปแล้ว

ตลอดการยึดอำนาจ เจ้าหน้าที่รัฐทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนส่วนใหญ่ต่อสู้ขัดขืนเล็กน้อย แต่ได้รับความร่วมมือทั้งด้านโฆษณาชวนเชื่อ การกระจายเสียงทางวิทยุที่ช่วยกันเผยแพร่ โดยมีน้ำเสียงที่แตกต่างจากโทรเลขที่ส่งให้พระปกเกล้าอย่างมาก ในโทรเลขมีการใช้คำราชาศัพท์ใจความว่า หากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ปรารถนาที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรจะเต็มใจถอดพระองค์ออกและแทนที่ด้วยพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น และหากสมาชิกคณะราษฎรคนใดได้รับบาดเจ็บ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ถูกคุมขังก็จะทรงทรมานไปด้วย จนในช่วงเย็น ผู้ก่อการรู้สึกมั่นใจแล้วจึงเรียกประชุมรัฐมนตรีอาวุโสเพื่อให้สนับสนุนคณะราษฎรและขอให้กระทรวงการต่างประเทศส่งข่าวไปยังทูตต่างประเทศทั้งหมด โดยให้คำมั่นว่าจะคุ้มครองชีวิตและธุรกิจของชาวต่างชาติและบรรลุพันธกรณีตามสนธิสัญญาของสยามด้วย

วิกิพีเดียอ้างอิงงานศึกษาที่ระบุว่า 26 มิ.ย. 2475 พระปกเกล้าเรียกผู้ก่อการเข้าพบ และทักทายว่า "ข้าพเจ้ายืนขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่คณะราษฎร" นับเป็นอิริยาบถที่สำคัญเนื่องจากโดยปกติพระมหากษัตริย์จะประทับนั่งเสมอและประชาชนจะถวายบังคม ปรีดีทูลขอโทษที่หมิ่นพระเกียรติในประกาศคณะราษฎร พระปกเกล้าเจ้าจึงประทับตราอภัยโทษแก่สมาชิกคณะราษฎรทุกคนจากการปฏิวัติ

จากนั้นคณะราษฎรได้ปล่อยตัวประกันทั้งหมด ยกเว้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งถูกมองว่า มีอำนาจมากเกินไป จึงกราบทูลขอให้พระองค์เสด็จออกนอกประเทศ

7.หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ประกอบด้วยอะไรบ้าง

ก. เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา
ข. เอกราช ประชาธิปไตย เสมอภาค จริยธรรม วินัย การศึกษา
ค. ความมั่นคง คุณธรรม ปัญญา เสรีภาพ ภราดรภาพ วัฒนธรรม
ง. รัฐสวัสดิการ ความหลากหลาย เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม
จ. ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กองทัพ ประชาชน รัฐธรรมนูญ

_____________________

เฉลย > ก.เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา
_____________________

ประกาศคณะราษฎรและหลัก 6 ประการ

ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑
ราษฎรทั้งหลาย
เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์หาเป็นไปตามหวังที่คิดไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณงามความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินทองของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้ในการตกต่ำในการเศรษฐกิจและความฝืดเคืองทำมาหากิน ซึ่งราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่าภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัวปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียภาษีราชการหรือภาษีส่วนตัว ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ใช้ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว
รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรรู้เท่าไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง ! บ้านเมืองกำลังอัตคัตฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดบ้านเมืองให้มีงานทำจึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินมีเท่าไหรก็เอาฝากต่างประเทศคอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองของแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความเห็นนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า

๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎร อดอยาก
๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎร เช่นที่เป็นอยู่)
๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๕ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันคงจะอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ยึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายพึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริย์" นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า

คณะราษฎร
๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ปรากฎอยู่ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 และกลายเป็นนโยบายของคณะกรรมการราษฎรชุดแรก ในระบอบประชาธิปไตยของไทย และให้ใช้หลัก 6 ประการฯในการปฏิญาณตนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนเข้ารับหน้าที่ด้วย

หลัก 6 ประการของคณะราษฎรมีใจความหลักได้คือ "เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา" และถูกนำไปใช้ทั้งในงานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และรัฐพิธีในสมัยนั้น เช่น เสา 6 ต้นในอาคารหรือซุ้มต่างๆ, บัวกลุ่ม 6 ชั้นที่เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน, ป้อมกลางของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีประตู 6 ช่องและพระขรรค์ 6 เล่ม หรืองานประติมากรรม เลี้ยงช้างน้อยด้วยอ้อยหก ของ ผิว ทิมสา ที่มีแม่ช้างเอางวงรัดอ้อย 6 ท่อนอยู่ และมีลูกช้างหลายตัวอยู่รอบ ๆ สื่อถึงประเทศไทยที่จะเติบโตขึ้นด้วยหลัก 6 ประการ นอกจากนี้ในงานรัฐพิธีสมัยนั้น ก็นิยมประดับธง 6 ผืนพร้อมกับประดับพานรัฐธรรมนูญ เพื่อสื่อถึงรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ

8. พระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยใน พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475 ของคณะราษฎรโดยต่อท้ายว่าอะไร

ก. ไม่เห็นด้วย
ข. ชั่วคราว
ค. ฉบับแรก
ง. อนุมัติ
จ. รอการปรับปรุง

_____________________

เฉลย > ข. ชั่วคราว
_____________________

รัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร vs. รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวา

หลังปฏิวัติ คณะราษฎรได้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่บัญชาการ และเชิญราชวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ บางคนมาควบคุมไว้เพื่อเป็นการประกันความปลอดภัยของคณะราษฎร

วันที่ 26 มิถุนายน รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าที่วังสุโขทัย หลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือปรีดี ผู้แทนคณะราษฎรจึงได้นำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475 และร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ที่เตรียมไว้ขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ลงพระปรมาภิไธย พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรม ส่วนพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามทรงรับไว้พิจารณา

1 วันถัดมา ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม โดยลงว่า “ชั่วคราว” กำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัติ เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นใหม่ภายใน 6 เดือน และให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันของพระมหากษัตริย์และคณะราษฎร พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 จึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศสยาม แต่บ้างก็ว่า คำว่า "ชั่วคราว" นั้นปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 โดยระบุว่าฉบับก่อนหน้านั้นเป็นฉบับชั่วคราว

พระราชบัญญัติธรรมนูญฉบับชั่วคราว ร่างขึ้นโดยแกนนำคณะราษฎร มี 39 มาตรา แบ่งเป็น 4 ส่วนได้แก่ อำนาจของกษัตริย์, อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร, อำนาจของคณะกรรมการราษฎรและอำนาจศาล

มาตรา 1 ความว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย" รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยยกเลิกพระราชอำนาจโบราณ เช่น การยับยั้งกฎหมาย การพระราชทานอภัยโทษ และพระราชสิทธิในการยืนยันผู้สืบราชสมบัติและรัชทายาท กล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญดังกล่าวจำกัดอำนาจทั้งหมดของพระมหากษัตริย์ โดยยังไม่ได้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งได้จัดตั้งคณะกรรมการราษฎรเป็นฝ่ายบริหาร และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาที่ได้มาจากการแต่งตั้ง 70 คนอีกด้วย

ช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 28 มิถุนายน ได้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารของคณะราษฎรแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 70 คน สภาผู้แทนฯเลือกประธาน และรองประธานสภาผู้แทนฯ ประธานคณะกรรมการราษฎรเลือกคณะกรรมการราษฎร 14 คนและได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการ 7 คนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่แทนรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งแล้วเสร็จในอีก 6 เดือนถัดมา กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาฯ

อันที่จริงก่อนหน้าการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังมีร่างรัฐธรรมนูญที่รัชกาลที่ 7 ดำริให้ที่ปรึกษายกร่างขึ้นแต่ไม่เคยประกาศ ฉบับแรกเป็นของพระยากัลยาณไมตรีหรือฟรานซิส บี.แซร์ มีทั้งหมด 12 มาตราเรียกว่า “Outline of Preliminary Draft ร่างเสร็จสิ้นในปี 2467 ให้อำนาจอธิปไตยและอำนาจสูงสุดทางนิติบัญญัติเป็นของพระมหากษัตริย์ โดยสามารถตั้งนายกรัฐมนตรี อภิรัฐมนตรีและถอดถอนองคมนตรีได้ และระบุให้นายกรัฐมนตรีต้องกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ เพื่อขอรับบรมราชวินิจฉัยโดยต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ

นอกจากนี้ยังมีร่างของพระยาศรีวิสารวาจาเมื่อปี 2474 โดยเรียกร่างนี้ว่า เค้าโครงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ร่างดังกล่าวได้กำหนดรูปแบบของการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ ตลอดจนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ด้วย มีใจความเช่น พระมหากษัตริย์สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติเลือกตั้งครึ่งหนึ่งและแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ไม่เกินครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ดีมีคนมองว่า ร่างรัฐธรรมนูญของพระยาศรีวิสารวาจาดังกล่าวเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกรูปแบบหนึ่งแต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยและร่างนี้ถูกคัดค้านเนื่องจากมองว่า ไทยไม่สมควรที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองในขณะนั้นเพราะประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปกครองตนเอง และมองว่าปัญหาขณะนั้นไม่ได้อยู่ที่มีหรือไม่มีนายกรัฐมนตรี แต่เป็นเรื่องการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่างนี้จึงไม่ได้ถูกพระราชทาน

ในที่สุดหลังใช้พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวปี 2475 ได้ 6 เดือน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 หรือเรียกว่า ฉบับ 10 ธันวาฯ ก็ถือกำเนิด โดยมีทั้งหมด 68 มาตราแบ่งเป็น 7 หมวด ได้แก่ หมวด 1 พระมหากษัตริย์ หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม หมวด 3 สภาผู้แทนราษฎร หมวด 4 คณะรัฐมนตรี หมวด 5 ศาล หมวด 6 บทสุดท้าย เป็นหมวดพิเศษเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหมวด 7 การใช้รัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาล โดยมีใจความบางส่วนว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ทรงมีพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม ลงนามในสัญญาสันติภาพ ทำสนธิสัญญา พระราชทานอภัยโทษ ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนยุบสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ยังสามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมี 2 ประเภท คือจากการเลือกตั้ง และจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ อีกทั้งกำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปอยู่เหนือการเมือง

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบ พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 กับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 พบความแตกต่างสำคัญ 3 ข้อคือ
1.ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจลดลง สามารถถูกยุบโดยพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา นอกจากนี้ยังกำหนดให้สภาฯ มีอำนาจในการตราพระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีด้วย

2.ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีมีอำนาจมากขึ้น ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีจำนวน 14 - 24 คน มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินและไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาฯ มีอำนาจในการตราพระราชกำหนด และกราบบังคมทูลขอให้พระมหากษัตริย์ตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย รวมทั้งพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร

3. ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 พระมหากษัตริย์ได้พระราชอำนาจคืนมากขึ้น ดังที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ละเมิดมิได้ อีกทั้งทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติทางสภา ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล มีพระราชอำนาจพระราชทานอภัยโทษและยกฐานะให้พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าอยู่เหนือการเมือง

9. สาเหตุที่ทำให้พระยามโนปกรณ์ฯ นายกรัฐมนตรีคนแรกปิดรัฐสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราคืออะไร

ก. ต้องการปฏิรูปการศึกษาก่อน
ข. มีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์
ค. มีปัญหาสุขภาพอย่างหนัก
ง. เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ
จ.ต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

_____________________

เฉลย > ง. เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ

_____________________

การรัฐประหารครั้งแรก

ต้นเหตุที่นำไปสู่การปิดสภาของพระยามนโนปกรณ์ฯ มาจากความขัดแย้งภายในสภา หลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอ “เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ” ที่ให้รัฐออกพันธบัตรซื้อที่ดินทำกินทั้งหมด ทำให้ชาวนาชาวไร่มีสภาพเป็นลูกจ้างรัฐ จึงถูกโจมตีอย่างหนักว่า เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ ดังพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7 ที่ว่า โครงการนี้เหมือนกับโครงการที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ หากแต่ในสมัยถัดมา นักประวัติศาสตร์หลายคนชี้ว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีมีลักษณะเป็นแบบสหกรณ์เต็มรูปแบบซึ่งไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน และยังมีหลักประกันสังคมให้แก่ประชาชนนับตั้งแต่เกิดจนถึงตาย อันเป็นหลักการของรัฐสวัสดิการก้าวหน้า มิใช่ระบอบคอมมิวนิสต์อย่างที่ถูกกล่าวหา

เหตุการณ์เริ่มขึ้นในระหว่างประชุมสภาวันที่ 31 มี.ค. 2476 พระยามโนปกรณ์และพระยาทรงสุรเดชอ้างเหตุว่า การประชุมวันก่อนมีสมาชิกพกอาวุธเข้าที่ประชุม จึงนำกำลังทหารประมาณหนึ่งกองร้อยมาควบคุมการประชุมของสภา จนคนโจมตีการใช้อำนาจของพระยามโนปกรณ์ว่าเป็นเผด็จการ

วันรุ่งขึ้น 1 เม.ย. 2476 เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามแบบเดิม รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ได้ออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ทำให้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติทั้งหมดไปขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจของกษัตริย์ในรูปของพระราชกฤษฎีกา และได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ โดยไม่ผ่านการพิจารณาของสภาเพื่อบีบให้หลวงประดิษฐ์ฯ ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ในช่วงนี้มีหนังสือพิมพ์หลายหัวไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจของพระยามโนปกรณ์และถูกสั่งปิดด้วยข้อหาเป็นเสี้ยนหนามต่อแผ่นดิน หรือผิดตาม พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์

นักประวัติศาสตร์นับว่า นี่คือการรัฐประหารครั้งแรกของประเทศ

หลังประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา รัฐบาลดูเหมือนจะควบคุมสถานการณ์การเมืองได้ดี จนกระทั่งกลางเดือน มิ.ย. 2476 ความตึงเครียดเริ่มเกิดขึ้นเมื่อ 4 ทหารเสือคณะราษฎรได้แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งโดยอ้างว่ามีอาการเจ็บป่วยและระบุวันลาออกล่วงหน้าเป็น 24 มิ.ย. 2476

หลังจากการลาออกมีการโยกย้ายตำแหน่งหลายครั้งตามความพอใจ จนสุดท้ายข่าวการย้ายล่าสุดเล็ดลอดออกมาว่า พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงครามจะออกคำสั่งด่วนย้ายนายทหารผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้พ้นไปจากการบังคับบัญชาหน่วยทหาร คณะราษฎรจึงรวมกำลังโดยมีหลวงพิบูลสงครามเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารบก หลวงศุภชลาศัยเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารเรือ และเชิญพระยาพหลพลพยุหเสนามาเป็นผู้นำของคณะทำการรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

การรัฐประหารเกิดขึ้นในเช้ามืดของวันที่ 20 มิ.ย. 2476 กำลังเข้ายึดและควบคุมที่ทำการรัฐบาลและจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในพระนคร เช่น วังปารุสกวัน พระที่นั่งอนันตสมาคม กระทรวงกลาโหม สำนักงานไปรษณีย์กลาง โดยมีหลวงโกวิท อภัยวงศ์ ตัดการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ และมีกำลังทหาร รถเกราะคุมประตูวิเศษชัยศรี พระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นทำเนียบรัฐบาลในขณะนั้น ส่วนหนึ่งบุกจับกุมพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและบุคคลสำคัญในรัฐบาลและบังคับให้ลาออก เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น

เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎรกราบบังคมทูลลงพระปรมาภิไธยในประกาศแต่งตั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 21 มิ.ย. 2476 และการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญก็เริ่มขึ้นอีกครั้งในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2476 หลังจากที่ปิดไปเป็นเวลากว่า 81 วัน การยึดอำนาจในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นจุดจบทางการเมืองของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

10. หลังความพ่ายแพ้ของฝ่ายกบฏบวรเดช พวกเขาถูกคุมขังที่ไหน

ก. เรือนจำบางขวาง
ข. โรงเรียนพลตำรวจบางเขน
ค. เขาชีจรรย์
ง. เนรเทศออกนอกประเทศ
จ. เกาะตะรุเตา

_____________________

เฉลย > ก. เรือจำบางขวาง และ จ.เกาะตะรุเตา

_____________________

กบฏบวรเดช

หรือ คณะกู้บ้านเมือง เกิดขึ้นเมื่อ 11 ต.ค. 2476 เป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช สาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ และข้อโต้แย้งในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจซึ่งเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" ระบุถึงแนวทางการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การถือครองและการเช่าที่ดิน การจัดรัฐสวัสดิการ การแทรกแซงเศรษฐกิจโดยรัฐบาลด้วยวิธีการต่างๆ

ชนวนเหตุของการก่อกบฏเกิดขึ้นตั้งแต่ความวุ่นวายเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชและนายพลโดนปลดจนเกิดความไม่พอใจรัฐบาล และมองว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 เป็นเพียงการรัฐประหารไม่ใช่การปฏิวัติ

ข้อเสนอของกบฏบวรเดชต่อรัฐบาลมี 6 ข้อคือ ต้องทำให้สยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน, ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง โดยเฉพาะการตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาล, ข้าราชการตำแหน่งประจำการต้องอยู่นอกการเมือง และไม่ตัดสิทธิข้าราชการในการยึดถือลัทธิการเมืองใดๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ให้ใช้อำนาจหรือโอกาสในตำแหน่งเพื่อสนับสนุนเผยแผ่, การแต่งตั้งบุคคลต้องถือคุณวุฒิความสามารถเป็นหลักโดยไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องทางการเมือง, ให้พระเจ้าอยู่หัวเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง และกองทัพต้องให้มีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น

เหตุการณ์กบฏบวรเดชเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทรงสละราชสมบัติในเวลาต่อมา

ปัจจุบันอนุสาวรีย์ที่รำลึกเหตุการณ์การปราบกบฏบวรเดชตั้งอยู่บริเวณหลักสี่ กรุงเทพฯ มักเรียกกันว่า "อนุสาวรีย์หลักสี่" โดยที่ชื่อจริงคือ อนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้น ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชและปัจจุบันอนุสาวรีย์ดังกล่าวได้ถูกเคลื่อนย้ายไปแล้วโดยไม่ทราบแน่ชัดว่าย้ายไปอยู่ที่ใด

หลังกบฏบวรเดชถูกปราบ พระองค์เจ้าบวรเดช หัวหน้าคณะกบฏและภรรยาบินหนีไปยังเวียดนาม

นักโทษคนอื่นถูกคุมขังในที่ต่างๆ จนเมื่อศาลพิเศษพิพากษาก็นำตัวมาจำคุกที่แดน6 มหันตโทษ(บางขวาง)ทั้งหมด จนกระทั่งราชทัณฑ์ตั้งนิคมนักโทษที่ตะรุเตาจึงย้ายนักโทษการเมืองบางส่วนไปไว้ที่นั่น
เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกจึงย้ายนักโทษการเมืองจากตะรุเตามาไว้ที่เกาะเต่า

หนังสือ 'ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อฯ' ของณัฐพล ใจจริง ระบุตอนหนึ่งว่า ศาลพิเศษ พ.ศ.2476 ตัดสินลงโทษบุคคลที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวครั้งนี้ฐานก่อกบฏ มีโทษถึงประหารชีวิต(แต่ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน) และจำคุกในระยะเวลาต่างๆ ตามแต่ความผิดของแต่ละคน มีจำนวนผู้ถูกตัดสินลงโทษทั้งหมด 250 คน ถูกปลดจากราชการ 117 คน

ข้อมูลของไทยรัฐระบุว่า เรือนพักนักโทษบนตะรุเตาเป็นเรือนขนาดใหญ่ อยู่หลายคน นักโทษหญิงจะอยู่ในพื้นที่จัดพิเศษ นักโทษต้องทำงานอย่างหนัก ถูกตีตรวน หากหลบหนีหรือขัดขืนก็จะถูกยิงตาย กระทั่งปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันที่ 1 ส.ค. 2487 นักโทษการเมืองจึงต่างพ้นมลทินในที่สุด ต่อมาในเดือนมีนาคม 2489 คุกตะรุเตาถูกปิดตัวลง รัฐบาลไทยประกาศถอนการหวงห้ามของกรมราชทัณฑ์ และกำหนดให้หมู่เกาะตะรุเตาเป็นอุทยานแห่งชาติ

ขอขอบคุณห้องเรียนประวัติศาสตร์ @LINE อาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

- ปฏิวัติ 2475 1932 REVOLUTION IN SIAM (ชุดประวัติศาสตร์ร่วมสมัย 2), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ
- เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475, ศรีบูรพา
- เหตุการณ์ รศ.130 https://bit.ly/3hYPgiq
- การปฏิวัติสยาม 2475 https://bit.ly/2VcZfXK , https://bit.ly/3hXPB5e
- คณะราษฎร https://bit.ly/2B26DhK
- คำกล่าวบังคมทูล https://bit.ly/319RsxH
- สาเหตุการปฏิวัติ https://www.silpa-mag.com/history/article_49539
- มายาคติเกี่ยวกับการปฏิวัติ https://www.the101.world/the-myths-of-2475/
- หลัก 6 ประการ https://bit.ly/3eyxdxC
- ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 https://prachatai.com/journal/2007/06/13231 , https://bit.ly/3805R0P
- ร่างรัฐธรรมนูญสมัยคณะราษฎร https://prachatai.com/journal/2017/04/71108
- พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครอง https://bit.ly/2Ytivm4
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับที่ 1 https://bit.ly/2CANKDc , https://bit.ly/2Bw4lYm
- รัฐประหาร 20 มิ.ย.2476 https://bit.ly/2Z0ybMw , https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_469
- กบฏบวรเดช https://bit.ly/37Y554l
- คุกตะรุเตา https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1614418
- เสวนาปฏิวัติ 2475 https://www.youtube.com/watch?v=RLQyk-TeNWQ
- 7 ผู้สถาปนาคณะราษฎร https://www.voicetv.co.th/read/qNSJoXBGl

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net