Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความชิ้นนี้เป็นตอนที่ 2 ที่ผู้เขียนได้อธิบายและวิเคราะห์ถึงการเหยียดสีผิวคนผิวดำอย่างเป็นระบบในสหรัฐอเมริกา ในตอนที่แล้วผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงระบบทาสและการกดขี่คนผิวดำ แม้หลังสงครามกลางเมือง ระบบทาสจะหมดไป แต่ก็มีการสถาปนากฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับคนผิวดำ คำตัดสินของศาลสูงในคดี Plessy v. Ferguson, 1896 ได้สถาปนาหลักการ ‘แบ่งแยกแต่เท่าเทียม’ (separate but equal) ซึ่งมีผลทำให้กฎหมายแบ่งแยกกีดกันคนผิวดำของรัฐทางใต้เป็นสิ่งที่ทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย


ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ (Systematic Violence)

นอกจากการแบ่งแยกสีผิวในด้านต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดคความไม่เท่าเทียมกันแล้ว คนผิวดำในรัฐทางใต้ยังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากคนผิวขาวอีกด้วย ความรุนแรงนี้ไม่ใช่แค่ความรุนแรงที่เกิดจากความไม่พอใจของคนผิวขาวบางคน แต่เป็นความรุนแรงที่ถูกสร้างและธำรงไว้อย่างเป็นระบบเพื่อให้คนผิวดำตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคนผิวขาว

แม้กลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดคนผิวขาวเป็นใหญ่ (White Supremacy) มีอยู่หลายกลุ่ม แต่ที่คนทั่วไปรู้จักมากที่สุดและมีสมาชิกมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกลุ่มคูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan) การเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้จะมีอยู่ 2 ช่วงหลัก คือ ช่วงแรก หลังสงครามกลางเมืองระหว่างกลางทศวรรษที่ 1860 – 1870 และช่วงที่สอง คือ ช่วงกลางทศวรรษที่ 1910 – 1940 กลุ่มคูคลักซ์แคลนมีจุดกำเนิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มอดีตทหารของฝ่ายใต้ที่แพ้สงคราม เป้าหมายในช่วงแรกคือ การพยายามต่อต้านนโยบายฟื้นฟูที่พยายามผลักดันโดยรัฐบาลกลาง แต่ในช่วงหลังเป้าหมายของกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่กดขี่คนผิวดำ แต่รวมถึงการกอบกู้ศักดิ์ศรีของคนผิวขาวที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นชาวอเมริกันที่แท้จริง (nativist)[1]

เครื่องมือที่สำคัญที่กลุ่มคูคลักซ์แคลนใช้ในการเคลื่อนไหว คือ ความรุนแรง สมาชิกคูคลักซ์แคลนจะใช้กำลังในการข่มขู่ ทำร้าย หรือฆ่าคนผิวดำที่เคลื่อนไหวปกป้องสิทธิของตนเอง คนผิวขาวที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนผิวดำเองก็อาจจะตกเป็นเหยื่อได้ สมาชิกของกลุ่มคูคลักซ์แคลนจะมีอยู่ทั่วไป แต่มากสุดจะอยู่ในรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐฯ สมาชิกกลุ่มมีตั้งแต่อาชีพเกษตรกร แรงงาน ทนาย พ่อค้า แพทย์ และผู้นำทางศาสนา แม้แต่ตำรวจจำนวนมากก็เป็นสมาชิกของกลุ่ม ซึ่งทำให้หลายคดีที่คนผิวดำเป็นเหยื่อของคนผิวขาวไม่ได้รับความสนใจจากตำรวจ ในบางกรณีแม้ตำรวจเองอาจจะไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มคูคลักซ์แคลน แต่พวกเขาก็ไม่ค่อยกล้าเข้าไปยุ่งกับคดีแบบนี้ หรือในหลายคดีที่เหยื่อผิวดำแจ้งความกับคนผิวขาว แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถดำเนินคดีได้ เพราะไม่มีคนกล้ามาเป็นพยาน นั่นทำให้กลุ่มคูคลักซ์แคลนสามารถใช้ความรุนแรงกับคนผิวดำได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะถูกจับหรือลงโทษตามกฎหมาย[2]

การรุมประชาทัณฑ์ (lynching) ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่มักถูกใช้ในการจัดการกับคนผิวดำ ในสหรัฐฯ การรุมประชาทัณฑ์เป็นการลงโทษผู้ที่ถูกเชื่อว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยการใช้ ‘ศาลเตี้ย’ นั่นคือ การตัดสินลงโทษโดยกลุ่มคนที่รุมประชาทัณฑ์ (lynching mob) ด้วยความรุนแรงโดยไม่ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย การรุมประชาทัณฑ์มักจะทำเป็นหมู่คณะจำนวนมากและทำในพื้นที่สาธารณะ ในบางกรณีมีคนเข้าร่วมมากถึงหลักหมื่น แม้การรุมประชาทัณฑ์นี้จะถูกใช้กับคนทุกสีผิว แต่เหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นคนผิวดำ จากข้อมูลที่ถูกรวบรวมโดย NAACP (National Association for the Advancement of Colored People) ในช่วงปี ค.ศ. 1882 ถึง 1968 มีการรุมประชาทัณฑ์ถึง 4,743 ครั้ง ในจำนวนนี้ 3,446 ครั้ง เหยื่อเป็นคนผิวดำ หรือ 72.7% ของจำนวนทั้งหมด เหยื่อจากการรุมประชาทัณฑ์ที่เป็นคนผิวขาวมีทั้งหมดเพียง 1,297 คน หรือ 27.3% โดยคนผิวขาวที่ถูกรุมประชาทัณฑ์ หลายครั้งเป็นเพราะพวกเขาได้ช่วยเหลือคนผิวดำหรือมีท่าทีต่อต้านการรุมประชาทัณฑ์[3]

การรุมประชาทัณฑ์เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้กดขี่คนผิวดำอย่างเป็นระบบ การรุมประชาทัณฑ์มักมีสาเหตุจากข้อกล่าวหาว่าคนผิวดำข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงผิวขาว ข้อกล่าวหานี้หลาย ๆ ครั้งเกิดขึ้นโดยไม่มีพยานหรือหลักฐาน หลังจากนั้นก็จะมีการพยายามแพร่กระจายข่าวไปด้วยข้อมูลที่บิดเบือนหรือไม่ครบถ้วนเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกโกรธและต้องการล้างแค้น บางครั้งสื่อท้องถิ่นก็มีบทบาทในการช่วยแพร่กระจายข่าวสารที่บิดเบือนนี้ด้วย บางครั้งหากผู้ต้องสงสัยถูกตำรวจจับกุม ก็จะมีการรวมตัวเรียกร้องให้มีการรุมประชาทัณฑ์คนผิวดำที่กระทำผิด บางครั้งตำรวจก็พยายามห้ามปรามผู้ชุมนุม แต่หลายครั้งตำรวจก็ปล่อยให้การรุมประชาทัณฑ์เกิดขึ้นโดยไม่ห้ามปรามแต่อย่างใด วิธีที่มักใช้บ่อยครั้งที่สุดในการรุมประชาทัณฑ์คือ การแขวนคอ โดยก่อนแขวนคอก็จะมีการรุมทุบตีทรมานเสียก่อน เมื่อแขวนคอเสร็จก็อาจจะมีการเผาตามด้วย การเผาเหยื่อมีทั้งแบบเผาทั้งเป็นและแบบเผาหลังจากที่ชีวิตแล้ว หลังจากนั้นก็จะมีการถ่ายรูปเป็นที่ระลึกคู่กับศพที่เต็มไปด้วยบาดแผลหรือรอยไหม้เกรียม บางครั้งมีการนำรูปเหล่านี้มาทำเป็นโพสต์การ์ดและวางขายในร้านขายของที่ระลึกด้วย ไม่เพียงแต่ภาพเท่านั้น บางครั้งมีการหั่นเอาชิ้นส่วนอวัยวะต่าง ๆ ของเหยื่อผิวดำมาแจกจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมเพื่อนำไปเป็นของที่ระลึกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ความรุนแรงต่อคนผิวดำไม่ได้มีแต่ผู้ชายผิวขาวเท่านั้น แต่ยังมีผู้หญิงและเด็กที่เข้าร่วมการรุมประชาทัณฑ์ด้วย ผู้ที่เข้าร่วมในการรุมประชาทัณฑ์จะมีการแต่งตัวดีและจะมีท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนได้ไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อนฝูง[4]

ภาพที่ 1: ภาพการแขวนคอ Elias Clayton, Elmer Jackson, และ Isaac McGhie
ด้วยข้อหาว่าข่มขืนผู้หญิงผิวขาว ในปี ค.ศ. 1920 ในเมือง Duluth รัฐ Minnesota.
ที่มา: https://cvltnation.com/nsfw-american-terrorism-lynching-postcards/


ภาพที่ 2: ภาพโปสต์การ์ดการแขวนคอ Allen Brooks
บริเวณกลางเมืองในปี ค.ศ. 1910 ในเมือง Dallas รัฐ Texas.
ที่มา: https://cvltnation.com/nsfw-american-terrorism-lynching-postcards/

ความรุนแรงที่เกิดกับคนผิวดำเป็นสิ่งที่ถูกทำขึ้นอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน มีการกระทำอย่างเปิดเผย มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก แม้บางครั้งจะมีการดำเนินคดี มีทั้งหลักฐานและพยาน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำได้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ทำให้คนผิวดำและคนผิวขาวที่เห็นใจคนผิวดำจำนวนมากไม่กล้าเรียกร้องความเท่าเทียม ยอมรับชะตากรรมในโครงสร้างความอยุติธรรมนี้


ขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement)

อย่างไรก็ตาม มีคนผิวดำจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมจำนนและพยายามต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตนเอง กลุ่มนักเคลื่อนไหวนี้มักจะใช้การต่อสู้ใน 2 รูปแบบหลัก คือ การต่อสู้ผ่านช่องทางกฎหมาย (legal challenge) และการต่อสู้ผ่านขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movements) โดยใช้ 2 แนวทางเคลื่อนไหวนี้ไปพร้อม ๆ กัน พวกเขาเชื่อว่าการเคลื่อนไปพร้อม ๆ กันนี้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า เพราะหากจะเน้นการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเดียว แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้ แต่หากจะเคลื่อนไหวทางกฎหมายอย่างเดียวโดยไม่กดดันสังคม การแก้ไขกฎหมายก็อาจจะไม่เกิดขึ้น

เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายจึงได้มีการก่อตั้งกลุ่มและองค์กรในการเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีสมาชิก เป้าหมาย และวิธีการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเช่น สมาคมส่งเสริมความก้าวหน้าของคนผิวสีแห่งชาติ (National Association for the Advancement of Colored People, NAACP) ที่ก่อตั้งมาตั้งปี ค.ศ. 1909 เพื่อเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิคนผิวดำในด้านต่าง ๆ กลุ่มผู้นำชาวคริสต์ทางตอนใต้ Southern Christian Leadership Conference, SCLC) ที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิการเลือกตั้งร่วมกับ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง (Dr. Martin Luther King) และกลุ่มแบล็คแพนเธอร์ (The Black Panthers) ที่มีเป้าหมายในการช่วยเหลือและปกป้องคนผิวดำ แต่กลุ่มนี้มักจะถูกมองว่าใช้วิธีการที่รุนแรง[5]

การเคลื่อนไหวเพื่อท้าทายนโยบายการแบ่งแยกในรัฐทางใต้เริ่มได้รับความสนใจจากสังคมในช่วงทศวรรษที่ 1950 คนผิวดำเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ 1939 – 1945) ในช่วงนี้รัฐบาลออกกฎหมายรับรองความเท่าเทียมของค่าแรงคนผิวดำและยอมให้คนผิวดำเข้าร่วมกองทัพเพื่อสู้รบในสงครามโลก ในช่วงทศวรรษที่ 1950 การต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมของคนผิวดำได้ถูกยกระดับขึ้น กรณีที่รู้จักกันดี คือ การต่อต้านการแบ่งแยกที่นั่งบนรถประจำทาง

ในเย็นวันหนึ่งในปี ค.ศ. 1955 ในขณะที่โรซ่า พาร์คส กำลังนั่งรถประจำทางเพื่อจะกลับบ้าน ที่นั่งของพาร์คส อยู่ด้านหน้าของรถ ต่อมามีผู้ชายผิวขาวขึ้นมาบนรถ แต่ปรากฎว่าไม่มีที่นั่งด้านหน้าว่างเหลืออยู่เลย คนขับเลยบอกให้พาร์คสซึ่งเป็นคนผิวดำย้ายที่ไปนั่งด้านหลังตามกฎหมายของรัฐอลาบาม่า (Alabama) ที่จะสงวนที่นั่งด้านหน้าไว้ให้คนผิวขาว แต่พาร์คสไม่ยอมลุก ด้วยเหตุนี้คนขับจึงแจ้งตำรวจ พาร์คสถูกนำไปดำเนินคดีและเสียค่าปรับ ข่าวการจับกุมผู้หญิงผิวดำเพียงแค่ไม่ยอมลุกให้ชายผิวขาวนั่งกลายเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ความไม่พอใจถึงความอยุติธรรมนี้ได้นำไปสู่การประท้วงโดยการบอยคอท (boycott) ระบบรถประจำทางของเมืองมอนโกโมรี่ (Montgomery) รวมเวลา 381 วัน จนกระทั่งศาลสูงมีคำตัดสินในปี ค.ศ. 1956 ว่ากฎหมายการแบ่งแยกที่นั่งบนรถประจำทางไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ[6]


ภาพที่ 3: ภาพโรซ่า พาร์คส ในตอนที่ถูกดำเนินคดีที่ไม่ยอมลุกให้ชายผิวขาวนั่งบนรถประจำทาง
ที่มา: https://time.com/4130791/rosa-parks-sixty-years-obama-tribute/

การต่อสู้เรื่องแบ่งแยกโรงเรียนคนผิวขาวและผิวดำเป็นอีกประเด็นที่สำคัญในการเคลื่อนไหวสิทธิพลเมือง ตัวอย่างการต่อสู้ที่คนรู้จักกันมากที่สุดในเรื่องนี้ คือ คำตัดสินของศาลสูงในคดี Brown v. Board of Education of Topeka ในปี ค.ศ. 1954 สาเหตุของการฟ้องร้องนี้เกิดจากพ่อแม่ของเด็กผู้หญิงที่ชื่อ ลินดา บราวน์ (Linda Brown) อายุ 11 ขวบ ต้องการให้ลูกตัวเองเข้าเรียนโรงเรียนคนผิวขาวที่อยู่ใกล้บ้าน แต่เนื่องจากโรงเรียนไม่อนุญาตให้เข้าเรียน จึงจำเป็นต้องไปเรียนโรงเรียนคนผิวดำที่อยู่ไกลออกไปมาก พ่อแม่นักเรียนผู้นี้จึงยื่นฟ้องศาล สุดท้ายศาลสูงสหรัฐฯ ได้มีคำตัดสินที่ถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญในการต่อสู้สิทธิคนผิวดำ ศาลตัดสินด้วยเสียงเอกฉันท์ (9-0) ให้กฎหมายแบ่งแยกสีผิวไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาเธอร์กู๊ด มาร์แชล (Thurgood Marshall) ได้ระบุในคำพิพากษานี้ไว้อย่างชัดเจนว่ากฎหมายการแบ่งแยกโรงเรียนคนผิวดำและผิวขาวนี้เป็นสิ่งที่ไม่เท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ (inherently unequal) ดังนั้น จึงผิดรัฐธรรมนูญตามบัญญัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 (14th Amendment) คำตัดสินนี้ถือว่าได้กลับคำตัดสินในคดี Plessy v. Ferguson (1896) ที่ระบุว่าการแบ่งแยกนั้นทำได้ แต่ต้องทำให้เท่าเทียม ในขณะที่ในคำตัดสินนี้ศาลได้ระบุไว้ชัดเจนว่าการแบ่งแยกในตัวมันเองคือ ความไม่เท่าเทียม[7]   


ภาพที่ 4:
หลังจากคำตัดสินของศาล แม่ผู้หนึ่งได้นั่งอยู่หน้าศาล
และอธิบายให้ลูกฟังถึงความสำคัญของคำตัดสินนี้
ที่มา: https://www.gse.harvard.edu/news/ed/14/06/brown-60-milliken-40

เพื่อแก้ไขปัญหาการแบ่งแยกสีผิว ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) ได้พยายามผลักดันกฎหมายสิทธิพลเมือง (Civil Rights Act) ที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) แต่ถูกสังหารไปเสียก่อน ในสมัยประธานาธิบดีจอห์นสันได้มีความพยายามจากกลุ่มวุฒิสมาชิกจากรัฐทางใต้ที่พยายามขัดขวางกฎหมายฉบับนี้ แต่สุดท้ายมีการต่อรองกันจนกระทั่งกฎหมายฉบับนี้สามารถผ่านในสภาคองเกรสได้ในปี ค.ศ. 1964 กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้การกีดกันคนผิวดำในพื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย พื้นที่สาธารณะนี้รวมถึงธุรกิจเอกชนที่ต้องให้บริการกับคนทั่วไป เช่น ร้านอาหาร โรงแรม หรือโรงภาพยนตร์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อสอบสวนและลงโทษการกีดกันการจ้างงานด้วย และ กฎหมายฉบับนี้ยังมีการกำหนดว่ารัฐบาลกลางจะไม่ให้เงินสนับสนุนนโยบายกีดกันคนผิวดำของรัฐต่าง ๆ อีกด้วย[8]    


ภาพที่ 5: ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสันลงนามผ่านกฎหมาย Civil Rights Act
พร้อมด้วย มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ผู้นำนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนผิวดำมาร่วมเป็นพยาน
ที่มา: https://www.britannica.com/event/Civil-Rights-Act-United-States-1964

แม้ในทางกฎหมายศาลสูงสหรัฐฯ จะตัดสินมาแล้วว่าการแบ่งแยกเท่ากับความไม่เท่าเทียม แต่ในความเป็นจริงรัฐต่าง ๆ ทางใต้ก็ยังพยายามคงนโยบายแบ่งแยกสีผิวไว้ โดยรัฐต่าง ๆ ไม่ยอมแก้ไขระเบียบ กฎหมาย หรือนโยบายให้สอดคล้องกับคำตัดสินของศาลสูง โรงเรียนคนผิวขาวในรัฐทางใต้ก็ยังไม่เปิดให้คนผิวดำเข้ามาเรียน ในปี ค.ศ. 1965 มีความพยายามที่เปิดโอกาสให้คนผิวดำสามารถเรียนโรงเรียนคนผิวขาวได้ โดยการส่งอาสาสมัครผิวดำ 9 คนเข้าไปเรียนในโรงเรียน Central High ซึ่งเป็นโรงเรียนคนผิวขาวในเมืองลิตเทิลร็อก รัฐอาร์คันซอ (Little Rock, Arkansas) เหตุการณ์นี้คนทั่วไปรู้จักกันในนาม ‘Little Rock Nine’ ในการเข้าไปเรียนในวันแรก ผู้ว่าการรัฐในตอนนั้นได้สั่งให้กองกำลังรักษาดินแดนของรัฐ (National Guard) มายืนขวางทางเข้าโรงเรียน เขายังขู่อีกว่าอาจมีการนองเลือดขึ้นถ้านักเรียนผิวดำได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนคนผิวขาว ในวันนั้นยังมีคนผิวขาวจำนวนมากมายืนปิดล้อมและตะโกนด่าเพื่อจะไม่ให้นักเรียนผิวดำทั้ง 9 คนสามารถเข้าไปเรียนได้ สุดท้ายรัฐบาลกลางโดยประธานาธิบดี ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ได้สั่งให้ทหาร 1,200 นายอารักขานักเรียนทั้ง 9 คนให้สามารถเข้าไปเรียนหนังสือได้ อย่างไรก็ตาม นักเรียนทั้ง 9 คนต้องพบกับการข่มขู่คุกคามตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียนแห่งนี้[9]


ภาพที่ 6: หนึ่งในนักเรียนผิวดำที่อาสาสมัครเข้าไปเรียนในโรงเรียนคนผิวขาว
กำลังถูกกลุ่มผู้หญิงผิวขาวตะโกนด่าในขณะที่กำลังเดินเข้าโรงเรียน
ที่มา: https://www.history.com/topics/black-history/central-high-school-integration

ในช่วงทศวรรษที่ 1960 คนผิวดำหลายกลุ่มเน้นการเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องสิทธิในการเลือกตั้ง หนึ่งในผู้นำคนสำคัญในการเคลื่อนไหวประเด็นนี้คือ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) ในสหรัฐฯ ก่อนจะลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งทุกคนจำเป็นต้องลงทะเบียนก่อน ในหลายรัฐทางใต้ยังมีกฎหมายที่กีดกันคนผิวดำไม่ให้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ได้ สิทธิ์การเลือกตั้งมีความหลายประการต่อคนผิวดำ การที่คนผิวดำได้ใช้สิทธิแปลว่านักการเมืองและพรรคการเมืองจำเป็นต้องมีนโยบายที่เอาใจคนผิวดำหรือเพิ่มสิทธิ์อื่น ๆ ให้ นอกจากนี้ การที่คนผิวดำใช้สิทธิ์เลือกตั้งก็ทำให้พวกเขามีคุณสมบัติในการถูกเลือกเป็นคณะลูกขุนในการตัดสินในศาลได้ ที่ผ่านมาในการพิจารณาคดีต่าง ๆ ส่วนใหญ่คณะลูกขุนเป็นคนผิวขาว ซึ่งส่งผลให้คนผิวดำมักจะแพ้ในคดีความระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำ การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิการเลือกตั้งนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ที่มีการพูดถึงมากที่สุดคือ การเคลื่อนไหวในเมืองมอนโกโมรี่ รัฐอลาบาม่า ซึ่งมีการเดินขบวนครั้งใหญ่ข้ามสะพาน Edmund Pettus Bridge และมีการใช้กำลังกับผู้เดินขบวนในเหตุการณ์ ‘วันอาทิตย์เลือด’ (Bloody Sunday) ในปี ค.ศ. 1965 ซึ่งกลายเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ การเคลื่อนไหวในครั้งนี้นำไปสู่การกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีจอห์นสัน ในสภาคองเกรสเพื่อกดดันให้สภาออกกฎหมายรับประกันสิทธิในการเลือกตั้งของคนผิวดำ จากนั้นไม่นาน สภาคองเกรสก็ผ่านกฎหมาย Voting Rights Act (1965) ที่มีคณะกรรมการในการเข้าไปตรวจสอบและลงโทษรัฐต่าง ๆ ที่กีดกันสิทธิการเลือกตั้งของคนผิวดำ[10]

กฎหมายฉบับสุดท้ายที่ผ่านสภาคองเกรสในยุคเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิพลเมือง คือ กฎหมายที่ป้องกันการกีดกันเรื่องที่อยู่อาศัย (Fair Housing Act) ในปี ค.ศ.1968 กฎหมายฉบับนี้ได้ถูกต่อต้านอย่างมากในสภาคองเกรส แต่ไม่กี่วันก่อนหน้านั้นแกนนำคนสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวคนผิวดำ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ถูกสังหารโดยมือปืนคนผิวขาว เหตุการณ์นี้นำไปสู่การประท้วงและจลาจลทั่วสหรัฐฯ ประธานาธิบดีจอห์นสันได้ถือโอกาสนี้กดดันให้คองเกรสผ่าน Fair Housing Act อย่างรวดเร็ว[11]

แม้ในช่วงการเคลื่อนไหวสิทธิพลเมืองจะมีคำตัดสินของศาลสูงที่สำคัญในหลายเรื่องและมีการออกกฎหมายที่สำคัญต่อสิทธิคนผิวดำหลายฉบับ แต่ใช่ว่าคนผิวดำในปัจจุบันจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม คนผิวดำยังคงต้องต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมที่แฝงอยู่ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และกฎหมาย ในทางเศรษฐกิจ ทุกวันนี้คนผิวดำยังประสบกับปัญหาการจ้างงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งสูง ๆ ในองค์กร รายได้เฉลี่ยของคนผิวดำยังน้อยกว่าคนผิวขาว แม้จะเป็นงานตำแหน่งเดียวกัน คนผิวดำยังมีโอกาสทางการศึกษาน้อยกว่าคนผิวขาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไปดูในมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ในสหรัฐฯ ที่ยังมีสัดส่วนคนผิวดำอยู่น้อยมาก ภาพตัวแทนคนผิวดำที่ปรากฏในสื่อยังคงเป็นภาพในแนวลบ เช่น ภาพของอาชญากรและพวกชอบความรุนแรง ในทางการเมืองยังมีความพยายามจากนักการเมืองฝ่ายขวาที่จะกีดกันคนผิวดำให้ได้ใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งผ่านวิธีการต่าง ๆ และในทางกฎหมาย อย่างที่เราเห็นในกรณี จอร์จ ฟลอยด์ คนผิวดำมักตกเห็นเหยื่อความรุนแรงโดยตำรวจ คนผิวดำไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรม คนผิวดำมักได้รับการลงโทษที่หนักกว่าคนผิวขาว เป็นต้น


ภาพที่ 7: กลุ่มประท้วงถือป้าย “Black Lives Matter” เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนผิวดำที่เป็นเหยื่อความรุนแรงของตำรวจในเมือง Minneapolis ในวันที่ 29 เมษายน ปี ค.ศ. 2015
ที่มา:
https://www.startribune.com/black-lives-matter-group-to-rally-disrupt-operations-at-minnesota-state-fair/322479171/

คงไม่เกินเลยไปนักถ้าผู้เขียนจะสรุปว่า การออกมาเรียกร้องในกรณี จอร์จ ฟลอยด์ แม้จะเป็นการออกมาท้าทายครั้งสำคัญต่อระบบที่กดทับคนผิวดำอยู่นาน แม้จะมีคนเข้าร่วมจำนวนมาก และแม้จะได้รับการสนับสนุนจากคนอเมริกันส่วนใหญ่ แต่มันคงจะไม่ใช่การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของคนผิวดำในสหรัฐฯ อย่างแน่นอน คนอเมริกันเคยเห็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในประเด็นนี้มาแล้วหลายครั้ง ทั้งในช่วงขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงเวลากว่าทศวรรษ การจลาจลในคดีของ Rodney King ในปี ค.ศ. 1992 หรือการประท้วงของขบวนการ Black Lives Matter ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ความอยุติธรรมที่แฝงอยู่ในโครงสร้างต่าง ๆ ของสังคมอเมริกันก็ยังคงอยู่ ยังมีคนผิวขาวจำนวนมากที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างนี้ และพวกเขาก็ยังพยายามจะปกป้องระบบนี้ไว้ บทสรุปของผู้เขียนจึงอาจจะไม่เหมือนการสรุปเท่าใดนัก เพราะบทสรุปที่แท้จริงของการต่อสู้ในครั้งนี้คงยังอีกยาวไกลนัก

 

อ้างอิง

[1] “Ku Klux Klan.” History. 21 February 2020, Accessed on 6 June, https://www.history.com/topics/reconstruction/ku-klux-klan.

[2] “The Ku Klux Klan in the 1920s.” PBS. Accessed on 9 June, https://www.pbs.org/wgbh/americanexperience/features/flood-klan/.

[3] “History of Lynchings.” NAACP. Accessed on 6 June 2020, https://www.naacp.org/history-of-lynchings/.

[4] Lartey, Jamiles and Morris, Sam. “How White Americans Used Lynchings to Terrorize and Control Black People.” The Guardian. 26 April 2018, Accessed on 9 June 2020, https://www.theguardian.com/us-news/2018/apr/26/lynchings-memorial-us-south-montgomery-alabama.

[5] ดูรายชื่อกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงรายละเอียดของกลุ่มได้ที่ “Groups During the American Civil Rights Movement.” PBS. Accessed on 9 June 2020. https://www.pbs.org/wgbh/americanexperience/features/eyesontheprize-groups-during-american-civil-rights-movement/.

[6] “Civil Rights Movement.” 5 June 2020. Accessed on 9 June 2020. https://www.history.com/topics/black-history/civil-rights-movement.

[7] “History - Brown v. Board of Education Re-enactment.” US Courts. Accessed on 9 June 2020. https://www.uscourts.gov/educational-resources/educational-activities/history-brown-v-board-education-re-enactment.

[8] “Civil Rights Act of 1964.” History. 10 February 2010, Accessed on 9 June 2010, https://www.history.com/topics/black-history/civil-rights-act.

[9] Mai, Lina. “I Had a Right to Be at Central': Remembering Little Rock's Integration Battle.” 22 September 2017, Accessed on 6 June 2020. https://time.com/4948704/little-rock-nine-anniversary/.

[10] Wallenfeldt, Jeff. “Selma March.” Encyclopædia Britannica. Accessed on 9 June 2020, https://www.britannica.com/event/Selma-March.

[11] “Fair Housing Act.” 12 September 2018, Accessed on 6 June 2020, https://www.history.com/topics/black-history/fair-housing-act.

อ่านเพิ่มเติม:

ณรุจน์ วศินปิยมงคล: ประวัติศาสตร์การเหยียดสีผิวอย่างเป็นระบบในสหรัฐอเมริกา
ตั้งแต่ยุคทาสจนถึงยุคเรียกร้องสิทธิพลเมือง (1) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net