Skip to main content
sharethis

รายงานของสภาสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชียประจำปี 2560-2561 รายงานสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนใน 18 ประเทศทั่วเอเชีย พบ นักปกป้องสิทธิฯ และครอบครัวรวมเกือบ 5 พันคนถูกคุกคามสารพัดแบบ ตั้งแต่ฟ้องปิดปากยันฆ่าทิ้ง เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำมากที่สุด เหยื่อที่ถูกคุกคามมากที่สุดคือนักปกป้องสิทธิทางการเมือง

ภาพเวทีนำเสนอรายงานประจำปี

31 พ.ค. 2562 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (FORUM-ASIA) เปิดตัวรายงานสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในเอเชียประจำปี 2560-2561 เป็นรายงานที่เก็บข้อมูลจาก 18 ประเทศทั่วเอเชียได้แก่บังกลาเทศ กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย มัลดีฟส์ พม่า เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม

สำหรับนิยามของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้น FORUM-ASIA ใช้นิยามตามมาตรฐานของสหประชาชาติ โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติให้นิยามคร่าวๆ ไว้ว่า เป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รณรงค์และปกป้องหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งการอธิบายอาจจะดูได้ทั้งจากสิ่งที่พวกเขาทำ หรือบริบทแวดล้อมการทำงานของเขา

จากผลสำรวจที่รวบรวมมาจากเครือข่าย ผู้ได้รับผลกระทบ นักปกป้องสิทธิฯ และหน้าข่าวพบว่าใน 18 ประเทศมีนักปกป้องสิทธิฯ และครอบครัวของพวกเขาทั้งสิ้น 688 กรณี นับเป็นจำนวนคนได้ 4,854 คน ระดับการถูกคุกคามมีความรุนแรงขึ้น ในขณะที่พื้นที่การทำงานอย่างปลอดภัยมีน้อยลง (อ่านรายงานฉบับเต็ม)

เมื่อจำแนกภัยคุกคามเป็นประเภทจะพบว่า 327 กรณีเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรเป็นเครื่องมือคุกคาม รองลงมาเป็นการจับกุมและคุมขัง 249 กรณี การข่มขู่ 148 กรณี ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ 164 กรณี ปฏิเสธการเข้าถึงการไต่สวนที่เป็นธรรม 61 กรณี และฆาตกรรม 61 กรณี

ในส่วนของการฆาตกรรมนั้นเกิดขึ้นในเก้าประเทศได้แก่บังกลาเทศ อินเดีย มัลดีฟส์ พม่า เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ครึ่งหนึ่งของกรณีการสังหารในรอบสามปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังเบนนี อากุส ปรีมา เจ้าหน้าที่ของ FORUM-ASIA ว่าได้รวมกรณีการหายตัวไปของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ภูชนะ และสหายกาสะลอง สามนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 คนที่หายตัวไปและมาพบทีหลังว่าถูกสังหารไปแล้วเมื่อปี 2561 หรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่ากรณีทั้งสามถูกรวมอยู่ในรายงานด้วย

'ฮิวแมนไรท์วอทช์' จี้รัฐบาลลาวสอบสวน อ.สุรชัย-คนสนิท และคนอื่นๆ ที่หายตัวไป

ส่วนวิธีการคุกคามอื่นๆ ที่ถูกใช้ก็มีการคุกคามผ่านกระบวนการฝ่ายบริหาร (39 กรณี) การจำกัดการเดินทาง (36 กรณี) การขู่ฆ่า (30 กรณี) และการลักพาตัว (30 กรณี) นอกจากนั้น นักปกป้องสิทธิฯ ที่เป็นผู้หญิงจำนวนมากยังต้องเจอกับการคุกคามภายใต้โครงสร้างอำนาจที่อิงกับเพศสภาพ การคุกคามออนไลน์ในประเด็นเพศสภาพเป็นวิธีการคุกคามที่ใช้อย่างแพร่หลายในกรณีนี้ มีการยกตัวอย่างกรณีของอัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ถูกโจมตีบนโลกออนไลน์ในประเด็นเหตุการณ์ในพื้นที่สาม จ.ชายแดนใต้

รายงานยังระบุว่า รัฐเป็นผู้กระทำการละเมิดนักปกป้องสิทธิฯ มากที่สุดถึงร้อยละ 75 (520 จาก 688 กรณี) การละเมิดดังกล่าวกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายยุติธรรม และในหลายประเทศที่ทำการสำรวจนั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดต้องรับผิดชอบกับการละเมิดดังกล่าว นอกจากนั้นยังมี 66 กรณีการละเมิดที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มสุดโต่ง กองกำลังติดอาวุธ บรรษัทข้ามชาติและสถาบันการเงินด้วย

ในส่วน 688 กรณีการถูกคุกคามนั้น พบว่า 210 กรณีนั้นเกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิฯ ด้านประชาธิปไตยที่มักถูกดำเนินคดีจากความพยายามใช้เสรีภาพการแสดงออก หนึ่งในกรณีตัวอย่างที่ปรากฏในรายงานคือกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในประเทศไทยที่ชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง จนผู้ร่วมชุมนุมเกินหนึ่งร้อยคนถูกคุกคามทางกฎหมายทั้งจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 กฎหมายยุยงปลุกปั่น (ม.116) ไปจนถึง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ทั้งยังมีบางคดีที่ถูกนำขึ้นไต่สวนบนศาลทหารด้วย

รองลงมาคือนักปกป้องสิทธิฯ ด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อม (135 จาก 688 กรณี) ซึ่งในหลายกรณี เหยื่อคือชาวบ้านหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นเหยื่อของโครงการพัฒนา การคุกคามส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ (94 กรณี) และมีจำนวนถึง 59 กรณีที่เป็นการใช้ความรุนแรง ซึ่งจบลงด้วยการเสียชีวิตของนักปกป้องสิทธิฯ ถึง 34 กรณี และประเทศที่คุกคามนักปกป้องสิทธิฯ ด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อมมากที่สุดคือประเทศฟิลิปปินส์ (39 กรณี) รายงานยังได้ยกตัวอย่างกลุ่มชาวบ้าน อ.เทพา ในประเทศไทยที่รณรงค์คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่จนถูกดำเนินคดี

FORUM-ASIA มีข้อเสนอให้รัฐปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล โดยเฉพาะปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าด้วยกรณีนักปกป้องสิทธิฯ และยังเรียกร้องให้สหประชาชาติและบรรษัทข้ามชาติลุกขึ้นมาปกป้องนักปกป้องสิทธิฯ ในเอเชีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net