Skip to main content
sharethis

‘อาจารย์ธรรมศาสตร์’ ชี้รัฐสวัสดิการและประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกัน แต่แนวคิดพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังเป็นการสงเคราะห์ ‘นักเศรษฐศาสตร์’ พาสำรวจความเหลื่อมล้ำของไทยด้านต่างๆ ‘นักรัฐศาสตร์’ เสนอบทเรียนจากพรรคแรงงานอังกฤษ-รัฐสวัสดิการกับการปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศเป็นองค์รวม ‘นักวิชาการ ม.รังสิต’ ระบุต้องมีกลุ่มการเมือง/ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง-ปฏิรูปภาษี-ไม่มีคอร์รัปชัน แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแนะภาคประชาชนต้องร่วมผลักดันกับพรรคการเมืองทุกพรรค

30 พ.ค. 2562 เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายวีแฟร์จัดงานเสวนาเชิงปฏิบัติการ เส้นทางสู่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จัดขึ้น ณ ห้องเอนกประสงค์ 107-108 คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ร่วมการเสวนาเส้นทางสู่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์, ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ประพิมพ์ฝัน เชียงกูล คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, บุญส่ง ชเลธร สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ ม.รังสิต และ สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

รัฐสวัสดิการและประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกัน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์กล่าวว่า ขณะนี้สื่อบางสำนักมักจับนโยบายรัฐสวัสดิการต่างๆ มัดรวมกับนโยบายประชานิยม นโยบายแจกเงิน แต่ความจริงแล้ววิธีการคิดที่เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการและประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกัน

หลายพรรคการเมืองแม้จะมีจุดยืนด้านประชาธิปไตย แต่ย้ำว่ารัฐสวัสดิการเป็นไปไม่ได้ มักจะบอกว่าต้องมีเงินก่อนถึงจะจัดรัฐสวัสดิการได้ เช่น ต้องพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ต้องเปลี่ยนประเทศเป็นอุตสาหกรรม ต้องมีเทคโนโลยี ต้องจัดเก็บภาษี ซึ่งวิธีการคิดแบบนี้มาพร้อมสวัสดิการแบบเสรีนิยม ถ้ารัฐจัดหาไม่ได้ ประชาชนต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองไปก่อน

ษัษฐรัมย์ เห็นว่า นโยบายต่างๆ เช่น หวยบำเหน็จของพรรคเพื่อไทย ให้ประชาชนรับผิดชอบชีวิตตัวเองผ่านระบบการออก ไม่ใช่ฐานแนวคิดของสวัสดิการ หรือพรรคภูมิใจไทย พูดถึงระบบบสวัสดิการว่าดีอยู่แล้ว แต่มีปัญหาจัดการ ไม่ต้องปฏิรูปภาษีมาก แก้ที่เทคนิคการจัดการ มีฐานคิดถ้าสร้างไม่ได้ก็เอาแบบสงเคราะห์ อย่างน้อยคนจนได้ประโยชน์ แม้จะเป็นการทำลายศักดิ์ศรี ระบบการสงเคราะห์ พิสูจน์ความจน นำออกมาใช้เป็นเครื่องมือพัฒนา แก้ไขปัญหาความยากจนได้ แต่เงิน 200-300 บาทต่อเดือน ไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตผู้มีรายได้น้อย

ษัษฐรัมย์ อ้างถึง สมชัย จิตสุชน ซึ่งเคยกล่าวว่าปัญหาพิสูจน์ความจนใหญ่มาก ต้องสร้างเงื่อนไขเพื่อกันคนไม่จนจริงออกมา แต่พอกันคนก็ต้องควบคุมสิทธิต่างๆ ภายใต้แนวคิดกลัวคนจนจะถูกเลี้ยงดูอย่างอิ่มหมีพีมัน ระบบราชการก็จะวนอยู่กับการพิสูจน์คนจน สร้างภาระงานที่ไม่จำเป็น

“ความจริงแล้วไทยมีทรัพยากรเพียงพอจะดูแลผู้คน ทำให้สวัสดิการเป็นเหมือนน้ำ อากาศ เราเดินทางไกลมามากพอแล้ว มีความเป็นไปได้วันนี้วันพรุ่งนี้ ถ้าเราสามารถจัดระบบภาษี งบประมาณต่างๆ มันมีความเป็นไปได้ทางการเศรษฐกิจ สิ่งที่ท้าทายต่อไปคือในทางปรัชญาและการเมือง ทำอย่างไรที่เราจะกดดัน ส.ส. ในสภาให้เขาหลุดพ้นจากระบบพิสูจน์ความจนที่ฝังรากลึกในสังคมไทย” ษัษฐรัมย์กล่าว

ษัษฐรัมย์ ชี้ถึงอีกฐานความคิดหนึ่งคือบอกว่าประเทศต้องมีเงินก่อน ต้องมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ คนต้องมีความรับผิดชอบ แนวคิดนี้นำสู่การประนีประนอมกับชนชั้นนายทุน การบอกให้เอไอเข้ามาทำแทนเพื่อตัดต้นทุนสวัสดิการต่างๆ โยนคนไข้ นักเรียนให้อยู่กับกูเกิล โยนคนแก่ให้อยู่กับหุ่นยนต์ สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดของอภิชนเท่านั้น เป็นการเพิ่มโอกาสแก่กลุ่มทุน แต่ความจริงมนุษย์ยังต้องการหมอ จึงยังต้องยกระดับสถานีอนามัย

“เรามองไปตึกศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ตึกสูงใหญ่ ภายใต้คำโกหกที่บอกว่าถ้าตึกนี้สูงขึ้น ใหญ่ขึ้น เงินก็จะกลับมาช่วยตึกศิริราชยากจน แต่เวลาผ่านไปนับ 10 ปี มันไม่เกิดขึ้นจริง ศิริราชสำหรับคนรวย ตึกสูงขึ้น หมอมากขึ้น คิวน้อยลง แต่ศิริราชสำหรับคนที่ใช้สิทธิ 30 บาท คิวยาวมากขึ้น สวัสดิการต่างๆ แย่ลง นี่คือแนวทางเทคโนโลยี นวัตกรรมทางการเงิน เสรีภาพทางการเลือก เป็นข้ออ้างให้กลุ่มทุนต่างๆ มาแสวงหาผลประโยชน์มากขึ้น เป็นวิธีการว่าด้วยการสร้างลำดับชั้นของสวัสดิการ ซึ่งผมมองว่าแนวทางนี้ล้มเหลว ใช้ไม่ได้ โลกปฏิเสธ” ษัษฐรัมย์ กล่าว

ษัษฐรัมย์กล่าวถึงแนวทางสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนารัฐสวัสดิการในฐานะสิทธิ แบบเดียวกับน้ำ อากาศ การไม่พูดถึงจุดคุ้มทุน ประสิทธิภาพ ไม่ได้พูดถึงในฐานะการเพิ่มทุนมนุษย์ สร้างกำไร คุณภาพ แต่พูดถึงสวัสดิการในฐานะเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของคนในสังคม พรรคสามัญชนปักธงพูดถึงแนวคิดนี้ เช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ ที่มีสัญญาณที่น่าสนใจที่ส่งสหภาพแรงงานเข้าสภาได้ 4 คน ต้องกดดันให้สัญญาว่าด้วยแนวคิดสังคมประชาธิปไตยอยู่ได้

“ถ้าไทยปรับสู่รัฐสวัสดิการแบบนอร์ดิก เราจะใช้งบเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ประมาณ 40% ของงบรายจ่ายประจำปี มันเยอะ แต่หัวใจรัฐสวัสดิการ เป้าหมายแรกของรัฐคือการดูแลชีวิตมนุษย์ ทุกคนได้ประโยชน์ในอัตราที่แตกต่างกันตามฐานะทางเศรษฐกิจ มีกลุ่มที่เสียประโยชน์คือคน 1% ที่รวยที่สุด แต่เขาเสียประโยชน์เพียง 2% ของรายได้ที่เขามี

ธงที่ก้าวหน้าทางประชาธิปไตยจะนำมาสู่ธงที่ก้าวหน้าทางสวัสดิการ เป็นสิ่งที่เราต้องเฝ้าดูในสภาและผลักดันการต่อสู้นอกสภาขบวนการภาคประชาชน เครือข่ายนักวิชาการ” ษัษฐรัมย์กล่าว

สำรวจความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ ของไทย

ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินในประเทศไทย จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ค่าจีนี รายจ่ายดูเหลื่อมล้ำไม่มาก เพราะคนอาจไปกู้ยืมมาจ่าย แต่ค่าจีนีรายได้อยู่ที่ 0.4-0.5 และค่าจีนีทรัพย์สินอยู่ที่ 0.6 ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง แต่ฐานข้อมูลนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมไปถึงคนที่รวยจริงๆ ถ้าเข้าถึงได้ก็จะทำให้ค่าเหล่านี้แย่กว่านี้อีก

นอกจากนี้ยังพบว่าครัวเรือน 10% ถือครองทรัพย์สินประมาณ 50% และคน 1% ที่มีทรัพย์สินมากที่สุดมีแหล่งรายได้มาจากธุรกิจและการลงทุน เขตเมืองมีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าเขตชนบท ในช่วง 30 ปี ตัวเลขไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ที่ 0.4-0.5 ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะมีการพัฒนา ความเหลื่อมล้ำยังอยู่

ชายแดนใต้เหลื่อมล้ำสูงสุด 0.485 และถ้าดูเป็นภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหลื่อมล้ำสูงสุด 0.432

คน 10% รวยสุด กับ 10% จนสุด ในชายแดนใต้ต่างกันถึง 20 เท่า รวมทั้งประเทศต่างกัน 17 เท่า

ดวงมณีระบุว่าสาเหตุมาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจและครอบครัว คนที่เกิดในครอบครัวร่ำรวย ก็มีโอกาสพัฒนาทักษะความรู้ประกอบอาชีพหารายได้ได้มากกว่า อีกสาเหตุคือความแตกต่างทางโครงสร้างเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค ปัจจัยทรัพยากรมีไม่เท่ากันในแต่ละภาค ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน มูลค่าผลิตภัณฑ์แต่ละภาค ภาคตะวันออก 400,000 ต่อปี ขณะที่ชายแดนใต้ 70,000 กว่าบาท

โครงสร้างการกระจายรายได้จากการผลิตในแต่ละภูมิภาค เกินกว่าครึ่งกระจายอยู่ในภาคกลาง (ร้อยละ 56.1 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ทั่วประเทศ) รองลงมาอยู่ในภาคตะวันออกร้อยละ 17.6 สำหรับภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน มีการกระจายรายได้จากการผลิตไปสู่แต่ละภาคน้อยกว่าร้อยละ 10 โดยเฉพาะภาคใต้ชายแดนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ทั่วประเทศ

ความแตกต่างของการพัฒนาคนของแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะการพัฒนาคนด้านการศึกษาซึ่งคือการสร้างคน โอกาสในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ดูจากผลการทดสอบโอเน็ต ใน 4 วิชาหลัก ภาคกลางดีที่สุด และภาคใต้ชายแดนแย่ที่สุด

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ผ่านระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ข้อมูลจากปี 2555 ผู้ยื่นแบบในขั้นเงินได้สูงสุด (มากกว่า 20 ล้านบาท) มีเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายมากกว่าผู้ที่อยู่ในขั้นเงินได้ต่ำสุด (ต่ำกว่า 5 แสนบาท) 114 เท่า ซึ่งดีขึ้นแล้วจากก่อนหน้านี้

ถ้าแบ่งคนเป็น 10 กลุ่ม กลุ่มที่ 10 มีรายได้มากกว่ากลุ่มที่ 1 ประมาณ 58 เท่า และผู้ที่มีเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายมากที่สุด Top 10% มีสัดส่วนเงินได้ประมาณ 45% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย

ดวงมณีอ้างถึงรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2559 พบความเหลื่อมล้ำในหลายประเด็นดังนี้

ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

พบว่าการเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับของคนไทยอยู่ในสัดส่วนที่สูง แต่ยังคงมีเด็กในวัยเรียนบางส่วนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และแนวโน้มอัตราการเข้าเรียนลดลงตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น อัตราการเข้าเรียนสุทธิ ระดับประถมศึกษา ร้อยละ 87.3 ระดับมัธยมศึกษา ร้อยละ 67.4 อัตราการเข้าเรียนระดับอนุบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 72.3)

อัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (รวม ปวช.) และระดับปริญญาตรี (รวม ปวส.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าระดับชั้นอื่นๆ อัตราการเข้าเรียนในแต่ละภาคจำแนกตามระดับชั้น ไม่แตกต่างกันมาก

อัตราการเข้าเรียนระดับปริญญาตรีของกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนสูงกว่าภาคอื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 40.4 ส่วนภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 19.2 ของไทย เกือบจะดี ชั้น 1 2 3 ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงกว่า 4 กับ 5 (ซึ่งฐานะดีกว่า) แต่ไปรวมอยู่ที่ 3

ข้อมูลที่สำรวจโดยยูเนสโกพบว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนที่สุด 20% ของประเทศ มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยแค่ประมาณ 5% เท่านั้น เทียบกับเด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวยที่สุด 20% แรก ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย 100%

ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข

เกิดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการบริการทางสาธารณสุข เนื่องจากการกระจายบุคลากรทางการแพทย์มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค

จำนวนแพทย์ต่อประชากรที่่ต้องดูแลมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น การกระจุกตัวของแพทย์ต่างกัน ที่กทม. ประชากร 716 คนต่อแพทย์ 1 คน บึงกาฬน้อยสุดคือประชากร 5,906 ต่อแพทย์ 1 คน มากกว่าภูมิภาคอื่นส่งผลต่อระยะเวลาในการรอคิวตรวจรักษา และคุณภาพการให้บริการ

ความเหลื่อมล้ำด้านการคุ้มครองทางสังคม

มีการขยายสวัสดิการครอบคลุมถึงกลุ่มเด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจน คือโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดในครัวเรือนที่ยากจนโดยให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเป็นเวลา 3 ปี จำนวน 600 บาทต่อคนต่อเดือน

แต่แรงงานนอกระบบจำนวนมากยังขาดการคุ้มครองทางสังคมอย่างเป็นระบบ แม้มีการขยายความคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ โดยการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมภาคสมัครใจตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 แต่มีผู้สนใจเข้าสู่ระบบเพียง 2.24 ล้านคน (ร้อยละ 10.52 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมดในปี 2559) และแรงงานนอกระบบได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่าแรงงานในระบบประมาณ 2.2 เท่า

ความเหลื่อมล้ำด้านกระบวนการยุติธรรม

รายงานความเป็นธรรมโลก ปี 2559 พบว่า ดัชนีหลักนิติธรรม (RULE OF LAW INDEX) ในภาพรวมของประเทศไทยมีคะแนน 0.51 เป็นลำดับที่ 46 จาก 113 ประเทศทั่วโลก และอยู่ลำดับที่ 10 และ 15 ประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

• คะแนนสูงสุดในด้านการมีความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย (0.70)

• คะแนนน้อยที่สุดในด้านกระบวนการยุติธรรรมทางอาญา (0.45) โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพในการสอบสวน การปราศจากการเลือกปฏิบัติและกระบวนการที่ถูกต้องทางกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาทั้งจากกระบวนการยุติธรรมมีค่าใช้จ่ายสูง ปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ปัญหาความไม่เท่าเทียมจากกระบวนการยุติรรมสองมาตรฐาน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย และประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย

ความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดิน

ผู้ถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินร้อยละ 1 ที่มีที่ดินสูงสุด ถือครองที่ดินประมาณ 1 ใน 4 ของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินทั้งหมด ที่คนถือครองที่ดินมากเพราะอัตราการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดิน เพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี คนที่มีทรัพย์สินมากจึงซื้อที่ดินเพื่อการเก็งกำไร

ร้อยละ 50 ของผู้ถือครอง ถือครองไม่เกิน 1 ไร่, ร้อยละ 22 ของผู้ถือครอง ถือครอง 1-5 ไร่ และร้อยละ 28 ของผู้ถือครอง ถือครองมากกว่า 5 ไร่

หากแบ่งคนเป็น 10 กลุ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างคนกลุ่มที่ 10 ซึ่งรวยที่สุด และคนกลุ่มที่ 1 ที่จนที่สุด พบว่า รายได้ต่างกัน 19 เท่า รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย(ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)ต่างกัน 59 เท่า ทรัพย์สินต่างกัน 375 เท่า ที่ดินต่างกัน 855 เท่า

ความมั่งคั่งของเศรษฐีไทย

ปี 2561 87% ของจำนวนบัญชีเงินฝาก มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท เปรียบเทียบ 18 เงินฝากมากกว่า 500 ล้านบาท

ในปี 2561 สัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินรวมของเศรษฐีไทย 40 อันดับแรกคิดเป็น 32% ของจีดีพี ขณะที่หนี้สาธารณะของไทยประมาณ 40% ของจีดีพี เท่ากับว่าความมั่งคั่งของเศรษฐีเหล่านี้เกือบจะใช้หนี้ได้

มูลค่าทรัพย์สินรวมของ 40 อันดับแรกมหาเศรษฐีไทย เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 สูงกว่าปี 2552 6 เท่า

มูลค่าทรัพย์สินรวมของมหาเศรษฐีไทยที่เป็น billionaire เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 61 สูงกว่าปี 52 11 เท่า

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

1. ต้องทำให้ข้อมูลทั้งทางด้านรายได้และทรัพย์สินเป็นข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้

2. รัฐต้องมุ่งลดการผูกขาดทางธุรกิจ และส่งเสริมการแข่งขัน

3. ส่งเสริมให้การกระจายอำนาจทั้งการเมืองและการคลัง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ

4. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่างฯ ที่ผ่านสภาฯ ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำได้ใน 2 มิติ คือ เป็นการบั่นทอนการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจทางการคลัง และไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินในรูปของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้

รัฐบาลควรลดการยกเว้นภาษีลง ปรับการลดหย่อน และอัตราภาษีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อเป็นแหล่งรายได้ที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน

5. สำหรับภาษีมรดก ควรลดการยกเว้นภาษีลง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินในระยะยาว

6. ควรมีการขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น และมีมาตรการที่จะทำให้ผู้มีเงินได้เข้ามาในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในแนวนอน

7. ควรมีการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มของทุน เช่น กำไรจากการซื้อขายหุ้น กำไรจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

8. ลดรายจ่ายทางภาษีที่เกิดจากมาตรการลดหย่อนภาษีและการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์กับผู้ที่มีความมั่งคั่ง และไม่ควรใช้มาตรการทางการคลังที่หวังผลเพียงในระยะสั้น

9. ส่งเสริมให้มีการจัดทำฐานข้อมูลคนยากจนอย่างเป็นระบบ ทั่วถึง และโปร่งใส เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณทางด้านสวัสดิการต่าง ๆ ลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด

10. มุ่งส่งเสริมการใช้จ่ายของรัฐบาลทางด้านสวัสดิการที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ดี เช่น การศึกษา สาธารณสุข การสร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม การอุดหนุนคนที่มีรายได้น้อย และการอุดหนุนคนสูงอายุ

• สำหรับสวัสดิการด้านการศึกษาควรพยายามลดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณ และควรเพิ่มงบประมาณรายหัวสำหรับเด็กด้อยโอกาส

• ในด้านการประกันสังคม ควรขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบและแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

แนวคิดพรรคแรงงานในอังกฤษ: รัฐสวัสดิการกับการปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศเป็นองค์รวม

ประพิมพ์ฝัน เชียงกูล คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัญหารัฐสวัสดิการในประเทศอังกฤษ ซึ่งเดิมนั้นเริ่มต้นเป็นรูปร่างหลังสงครามโลกสอง มีการรักษาฟรี เรียนฟรี แต่ระบบรัฐสวัสดิการถูกท้าทายหลายครั้ง ในยุคของมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ซึ่งสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมใหม่ พยายามบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนในระบรัฐสวัสดิการ แต่ก็ไม่สามารถเอาสถาบันรัฐสวัสดิการสำคัญออกไป เพราะคนยังสนับสนุนอยู่

ปัจจุบันระบบรัฐสวัสดิการในอังกฤษประสบปัญหามาก ผลจากการใช้มาตรการรัดเข็มขัด จากวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกตั้งแต่ปี 2008 อังกฤษจึงหันมาเน้นการตัดงบประมาณสวัสดิการทางด้านสังคม ทำให้เพิ่มความเหลื่อมล้ำและความยากจนในสังคมเป็นอย่างมาก

ประพิมพ์ฝันอธิบายว่า ไม่นานมานี้ผู้เชี่ยวชาญด้านความยากจนของยูเอ็นออกแถลงประณามอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจของอังกฤษที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ประชาชน 1 ใน 5 ของอังกฤษอยู่ในภาวะยากจน นับ 14 ล้านคนยากลำบาก ภายในปี 2021 เด็ก 14% ในประเทศจะอยู่ในภาวะยากจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจของอังกฤษใหญ่อันดับ 5 ของโลก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นบอกว่ารัฐบาลอังกฤษอยู่ในภาวะปฏิเสธความจริงว่านโยบายที่ตัวเองทำก่อให้เกิดผลกระทบขนาดนี้

คำถามคือทำไมประชาชนยังทนอยู่ได้ ไม่ออกมาประท้วง และทำไมเลือกพรรคอนุรักษ์นิยมกลับมาเป็นรัฐบาลซ้ำแล้วซ้ำอีก

จากการศึกษาของประพิมพ์ฝันพบว่า วิธีหนึ่งที่ชนชั้นนำทางการเมืองใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้นโยบายคือพยายามสร้างความเชื่อว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรัฐบาลพรรคแรงงานชุดเก่าใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่า วิกฤติเศรษฐกิจปี 2008-2009 เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาความเปราะบางทางการเงินและอื่นๆ สอง-ชนชั้นนำพยายามสร้างวาทกรรม โปรโมทมุมมองแบ่งแยกคนในสังคม คนที่ชอบรับเงินจากรัฐเป็นพวกขี้เกียจ เอาเปรียบคนทำงาน ทั้งที่ควรจะเป็นคนทำงานหนัก แต่จริงๆ แล้วผลจากนโยบายรัดเข็มขัดส่งผลกระทบต่อคนรายได้ต่ำ 50% ที่จน สาม-นักการเมืองฝ่ายขวาและประชาชนบางส่วนพยายามโทษผู้อพยพว่ามาใช้รัฐสวัสดิการของเขาจนเกินงบประมาณ ทำให้เกิด Brexit และอื่นๆ

ประพิมพ์ฝันชี้ว่า การแย่งชิงพื้นที่ การอธิบายปรากฎการณ์เศรษฐกิจการเมือง การสร้างวาทกรรมทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อสภาพทางเศรษฐกิจ กลุ่มต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดชี้ให้เห็นว่านโยบายรัดเข็มขัดไม่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เป็นทางเลือกรัฐบาลเองที่เลือกจะบ่อนทำลายระบบรัฐสวัสดิการ

ประพิมพ์ฝันเสนอว่า ถ้าไทยจะพัฒนารัฐสวัสดิการ ควรให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจกับประชาชน สร้างอุดมการณ์ สร้างฉันทามติทางการเมืองเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ เพราะจะช่วยคานอำนาจกับกลุ่มทุนและชนชั้นนำบางกลุ่ม

ประพิมพ์ฝันชี้ว่า สิ่งที่รัฐบาลอังกฤษกังวลคือพลเมืองสูงอายุเพิ่มขึ้น วัยแรงงานน้อยลง กลัวให้สวัสดิการแล้วประเทศจะไม่แข่งขัน เศรษฐกิจไม่เติบโต ขณะที่พรรคแรงงานต่อต้านนโยายรัดเข็มขัด เสนอปฏิรูประบบรัฐสวัสดิการใหม่ ต้องเชื่อมโยงกับการปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศเป็นองค์รวม สนับสนุนการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ามากขึ้น เน้นเก็บจากคนรวยสุด 5% หรือเน้นเก็บจากบริษัทที่เคยหนีภาษี หรือเก็บภาษีการเก็งกำไรในภาคการเงิน และทดลองเรื่องเงินเดือนขั้นต่ำให้ประชาชนทุกคน

ทั้งนี้ไม่ได้เน้นเก็บภาษีมาใช้นโยบายด้านสังคมอย่างเดียว เขาสนใจเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต ถ้าเศรษฐกิจแข็งแรง รัฐก็เก็บภาษีได้มากขึ้น แต่เศรษฐกิจอังกฤษที่ผ่านมาไม่สมดุล ภาคการเงินมีน้ำหนักมากเกินไป ต้องกระตุ้นภาคอุตสาหกรรม เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานที่ดี

ส่วนนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมของพรรคแรงงาน เป็นการคิดด้วยว่าตอบโจทย์ทางสังคมหรือไม่ ช่วยการจ้างงานหรือเปล่า และการเปลี่ยนผ่านมาสู่เศรษฐกิจสีเขียว รูปธรรมเช่น ให้มีธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศ ธนาคารท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา เพื่อไม่ให้การพัฒนากระจุกตัวที่ลอนดอน สนับสนุนเรื่องการศึกษาด้วย คือให้โอกาสคนเรียนฟรี ให้คนพัฒนาทักษะได้ตลอดชีวิต สนับสนุนองค์กรทางเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตย เช่น สหกรณ์ที่คนงานมีส่วนเป็นเจ้าของ เป็นการช่วยกระจายรายได้ นโยบายทั้งหมดมีความเชื่อมโยงในลักษณะการพยายามสร้างเศรษฐกิจใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่ใช่ระบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ให้คนเกื้อกูลกัน

ประพิมพ์ฝันชี้ข้อสังเกตว่า ถึงแม้พรรคแรงงานจะสนใจการเติบโตเศรษฐกิจ แต่เน้นวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ตั้งคำถามว่าการเจริญเติบโตมาจากไหน ผลกระทบต่อคนในท้องถิ่นเป็นไง คนได้ประโยชน์คือใคร ช่วยการจ้างงานที่ดีไหม สร้างสินค้าบริการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไหม ต้องออกแบบเศรษฐกิจตั้งแต่แรกให้เป็นธรรม มีส่วนแบ่งที่เป็นธรรม ถ้าคนมีงานที่ดีทำ เขาก็อาจไม่ต้องพึ่งรัฐมาก ค่าใช้จ่ายรัฐสวัสดิการก็จะน้อยลง และต้องคิดด้วยว่าระบบเศรษฐกิจผูกขาดรึเปล่า

แม้พรรคแรงงานจะเป็นฝ่ายค้านตอนนี้ แต่ก็พยายามสร้างเครือข่ายนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว สมาชิกพรรค เพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจ โปรโมทความคิดใหม่ในสังคม ต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัด

ประพิมพ์ฝันกล่าวว่า ไทยสามารถเรียนรู้ได้จากเรื่องนี้ นั่นคือ การสร้างรัฐสวัสดิการให้เข้มแข็งและยั่งยืนนอกจากเรื่องเชิงเทคนิค ต้องมองว่าเราจะต้องสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ฉันทามติทางการเมือง ที่ทุกคนเข้าใจความสำคัญของรัฐสวัสดิการ และเป็นสิทธิของประชาชน ไม่ได้เป็นบุญคุณจากรัฐ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันทางการเมือง และในอนาคตจะไม่ถูกบ่อนทำลายได้ง่าย สอง ถ้าจะคิดเรื่องรัฐสวัสดิการต้องเชื่อมกับการวิเคราะห์ปัญหาโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจของไทย ต้องเชื่อมโยงกับการวางแผนการเติบโตภายใต้ปัจจัยที่ท้าทายในปัจจุบัน เช่น การเอาเอไอมาใช้ พูดง่ายๆ คือถ้าสร้างรัฐสวัสดิการต้องมีระบบเศรษฐกิจที่แข็งแรง ด้วยวิธีการที่ยั่งยืน และเป็นธรรมทางสังคม คำนึงถึงคนที่ได้เปรียบและเสียเปรียบ

ต้องมีกลุ่มการเมือง/ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง-ปฏิรูปภาษี-ไม่มีคอร์รัปชัน

บุญส่ง ชเลธร สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ ม.รังสิตกล่าวว่า รัฐสวัสดิการคือระบบดูแลคนตั้งแต่เกิดจนตาย การศึกษา สาธารณสุข สังคม ไทยมีความเหลื่อมล้ำในสังคม โอกาสคนจึงไม่เท่าเทียมกัน ต้องแก้ไข เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา จึงต้องมีรัฐสวัสดิการ แก้ไขความเหลื่อมล้ำ คนจนมีสิทธิจะพัฒนาตัวเองได้

บุญส่งเล่าว่า ที่สวีเดนมีเงินให้เด็กทุกคนตั้งแต่เกิด ประมาณ 5,000 บาท เขาเคยลองให้เฉพาะเด็กยากจนพักหนึ่ง ปรากฎว่าเกิดปัญหาแบ่งเด็กในห้องเรียนเป็นสองกลุ่ม เด็กที่พ่อแม่จนและรวย เด็กจนโดนประทับตรา มีการดูถูกกันลึกๆ ดังนั้นเขาเลยเปลี่ยน ให้เด็กทุกคนได้เท่าเทียม สวีเดนเมื่อป่วยไม่เคยต้องกังวลเรื่องเงิน ที่ต้องทำคือแค่ต้องไป รพ.ให้ได้เท่านั้น ขณะเดียวกันสวีเดนจ่ายภาษี 30-61%

เงื่อนไขที่ทำให้เกิดรัฐสวัสดิการ บุญส่งเห็นว่า หนึ่ง ต้องมีพรรคหรือกลุ่มการเมืองเป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อนำการเปลี่ยนแปลง ตราบใดไม่มีการก่อตั้งเป็นระบบก็ยากที่จะเกิดรัฐสวัสดิการ เช่น ในยุโรปแทบทุกประเทศมีพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยนำการเปลี่ยนแปลง สอง ต้องมีการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี ต้องทำให้คนในประเทศเชื่อว่าจ่ายภาษีไปแล้วทุกบาทจะนำไปใช้ในระบบรัฐสวัสดิการ ไม่มีการคอร์รัปชัน สาม กำจัดคอร์รัปชันอย่างเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้เงินรั่วไหล เอามาสร้างประโยชน์ให้ประชาชนโดยตรง สี่ เปิดโอกาส สนับสนุนการเมืองภาคประชาสังคมให้เข้มแข้ง เพราะประชาชนรู้ว่าต้องการอะไร และจะช่วยพิทักษ์รักษาระบบรัฐสวัสดิการ อย่าไปทำลายองค์กรภาคประชาสังคม เราจะเป็นปากเสียง เป็นคนคอยเตือนรัฐตลอด

ภาคประชาชนต้องร่วมผลักดันกับพรรคการเมืองทุกพรรค

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกล่าวว่า ตอนเปิดสภาเราพอเห็นแล้วว่าคนมีอำนาจในการจัดการระบบสวัสดิการ เขาเตรียมบัตรคนจนไว้แล้วกับคน 14.5 ล้านคน ออกกฎหมายรองรับการจัดการประชารัฐสวัสดิการไว้แล้ว เป็นการออกกฎหมายง่ายๆ ขณะที่เราเคลื่อนไหวเรื่องกฎหมายบำนาญแห่งชาติตั้งแต่ปี 53 แต่ไม่ผ่านเป็นกฎหมาย ตอนนี้ต่างคนจึงต่างเดิน เป็นคำถามที่สงสัยว่าทำไมผู้บริหารประเทศถึงไม่เลือกสวัสดิการถ้วนหน้า

สุรีรัตน์ชี้ว่า เราอยู่ในสังคมที่ชอบการสงเคราะห์ การสงเคราะห์ใช้เงินแค่ 30,000 ล้านบาท แต่สวัสดิการใช้ 300,000 ล้านบาท แต่ 300,000 ล้านบาทนั้นทำได้จริง นักวิชาการตรงนี้ก็บอกแล้วว่าทำได้ ใครก็ทำกัน ตนสบายใจว่าการต่อสู้ไม่โดดเดี่ยว ต้องเริ่มกดดันพรรคที่เข้าไปในสภา อาจจำเป็นต้องทำงานกับพรรคทุกพรรค หากพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล ระบบหลักประกันสุขภาพจะสั่นคลอนทันทีภายใต้แผนปฏิรูประบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นการรวบอำนาจกลับไปไว้ที่กระทรวง อย่างไรก็ต้องเข้าไปร่วมผลักดัน

“ปัญหาประกันสังคมมีแค่แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบเข้าไปก็ต้องจ่ายให้ตัวเองทั้งหมด ส่วนระบบหลักประกันสุขภาพ ก็ดันมีระบบราชการ ระบบประกันสังคม ระบบบำนาญของประชาชนที่นอกเหนือจากข้าราชการและประกันสังคมก็บังคับให้คนออมเอง มีมากก็ออมมาก มีน้อยก็ออมน้อย สิ่งเหล่านี้สร้างความเหลื่อมล้ำ” สุรีรัตน์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net