Skip to main content
sharethis

พนักงานตรวจแรงงานสตูลสั่งนายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่สองแรงงานประมงชาวพม่า 209,600 แต่หลังศาลไกล่เกลี่ยแรงงานได้รับเพียงคนละ 70,000 บาท


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพประชาไท ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าวนี้

31 มี.ค. 2562 โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2562 ศาลแรงงานภาค 9 ได้นัดไกล่เกลี่ยและสืบพยาน คดีแรงงานประมงชาวพม่า 2 คน ยื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดสตูลว่าไม่ได้รับค่าจ้างหลังจากสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่แรงงานทั้งสองเป็นจำนวนเงิน 105,200 และ 104,400 บาท โดยจำนวนนี้เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของมูลค่าที่คำนวณได้ในเบื้องต้นจากค่าจ้างขั้นต่ำ และเวลาทำงานที่แรงงานมีสิทธิได้รับจากการทำงานตั้งแต่เดือน ส.ค. 2559 ถึง ธ.ค. 2560 โดยหักเงินจ่ายล่วงหน้าออกแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังได้รับคำสั่งนี้ นายจ้างได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อคัดค้านคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าว

ในการไกล่เกลี่ยแรงงานยืนยันว่าตนมีสิทธิได้รับเงินตามจำนวนที่พนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำสั่งไว้ แต่นายจ้างเสนอจะจ่ายให้เพียงคนละ 30,000 บาท โดยอ้างว่าได้จ่ายเงินค่าจ้างใช้หนี้ของแรงงานที่ค้างชำระนายจ้างคนเดิม  และหนี้ค่านายหน้าจัดหางาน ซึ่งแรงงานโต้แย้งว่าตนเองไม่ได้เข้ามาทำงานผ่านนายหน้าและมีหนี้กับนายจ้างเดิมเพียง 3,500 บาทซึ่งได้มีการหักเงินจำนวนนี้ไปตั้งแต่แรกเข้ามาทำงานแล้ว โดยตลอดเวลาการไกล่เกลี่ยแรงงานยืนยันที่จะขอรับเงินตามจำนวนที่พนักงานตรวจแรงงานออกคำสั่งไว้ แต่เมื่อได้ทราบถึงความเป็นไปได้ที่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลแรงงานจะมีความยืดเยื้อและซับซ้อน แรงงานทั้งสองจึงตกลงรับเงินเพียงคนละ 70,000 บาท

อนึ่งในกรณีเดียวกันนี้ ได้มีแรงงานประมงชาวพม่าอีก 6 คน ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน เรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้างรายเดียวกันพร้อมแรงงาน 2 คนในคดีนี้ เพื่อเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายเช่นกัน แต่หลังจากพวกเขาร้องเรียนแล้ว นายจ้างคนดังกล่าวได้ติดต่อกับกับนายจ้างใหม่ที่แรงงานทำงานอยู่ด้วยในปัจจุบัน ทำให้แรงงานทั้ง 6 คน จำเป็นต้องถอนข้อร้องเรียนเพราะเกรงว่านายจ้างใหม่จะให้พวกตนออกจากงาน จึงเหลือแรงงานเพียง 2 คนในคดีนี้ ที่ยังเรียกร้องต่อไปจนคดียุติด้วยการไกล่เกลี่ยดังกล่าว

จากกรณีที่เกิดขึ้นในคดีนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติ ยังไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิของตนได้อย่างเต็มที่ การดำเนินคดีแรงงานที่ยุ่งยากซับซ้อนและใช้เวลาที่ยาวนาน ทำให้รัฐไทยไม่สามารถให้ความคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติอย่างได้ผล โดยคดีมักจบลงด้วยการไกล่เกลี่ยของเจ้าหน้าที่หรือศาล ที่แรงงานข้ามชาติจำใจต้องยอมรับค่าจ้างหรือค่าชดเชยที่ต่ำกว่าสิทธิที่ตนพึงได้รับ และต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมาย

นอกจากนี้ การขาดแคลนแรงงานในกิจการประมง เมื่อแรงงานต้องการเปลี่ยนงานใหม่ นายจ้างมักหน่วงเหนี่ยวแรงงานไว้ให้ทำงานต่อไป โดยอ้างว่าแรงงานมีหนี้สินต่างๆ ค้างชำระแก่นายจ้าง รวมทั้งเงินที่นายจ้างได้จ่ายให้แก่นายหน้าจัดหาแรงงานไปแล้ว และค่าจัดทำเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการทำงาน โดยนายจ้างได้ยึดเอกสารประจำตัวแรงงานไว้ ทำให้แรงงานจำยอมต้องสละสิทธิในการเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายที่นายจ้างไม่ยอมชำระแก่แรงงาน หรือ จำใจต้องทำงานให้กับนายจ้างต่อไป หรือ ขอให้นายจ้างใหม่ชำระเงินให้นายจ้างเดิม โดยตนจำยอมเป็นลูกหนี้ของนายจ้างใหม่ มีลักษณะเป็นการซื้อขายแรงงานขัดหนี้กันเป็นทอดๆ

การเอารัดเอาเปรียบแรงงานในลักษณะดังกล่าวแม้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และทำให้แรงงานข้ามชาติต้องตกอยู่ในสภาพเป็นแรงงานบังคับ หรือเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์อย่างเป็นระบบ แต่ทางการไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ  

ที่มาของคดี

แรงงานประมงชาวเมียนมา 8 คน ได้ร้องขอความช่วยเหลือต่อเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานประมง เนื่องจากตนเองไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา เครือข่ายฯ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและประสานมายังมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาเพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานในคดีนี้ ต่อมาแรงงานจำนวน 6 คนได้ยื่นถอนคำร้องที่ศูนย์แจ้งเรือเข้า - ออก คุระบุรี เนื่องจากแรงงานทั้ง 6 คน กลัวว่าหากยังคงร้องเรียนให้มีการดำเนินคดี พวกเขาอาจไม่ได้ทำงานต่อไปกับนายจ้างคนใหม่ที่จังหวัดระนอง จึงเหลือแรงงานเพียง 2 คนที่ดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายกับนายจ้างจนเป็นที่มาของคดีนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net