Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

“คอร์รัปชั่น”  เป็นคำแสลงหูสำหรับปัญญาชนคนรุ่นใหม่ผู้ยึดถือภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูดีเป็นที่ตั้ง  แต่ก็เป็นปัญหาที่สะสมเรื้อรังมานานจนส่งผลกระทบต่อภาพรวมของระบบเศรษฐกิจและสังคม  แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความใกล้ชิดและเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาเนิ่นนานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไปแล้ว  ทำให้คนไทยบางส่วนมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับได้  คำนี้มีความหมายที่เข้าใจตรงกันว่า เป็นการทุจริตคดโกง , การไม่ซื่อสัตย์สุจริต , การฉ้อราษฎร์บังหลวง  เป็นต้น

เหตุใดและทำไม  การคอร์รัปชั่นจึงเป็นสิ่งที่คนไทยรู้จักมักคุ้นมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่  สิ่งใดคือรากเหง้าหรือเงาสะท้อนที่แท้จริงที่ทำให้การคอร์รัปชั่นดำรงอยู่ได้  โดยที่สังคมส่วนใหญ่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่  เสแสร้งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น  ไม่สนใจใยดี  และไม่ได้จริงจังในการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด  และสิ่งนั้นก็คือ  ระบบอุปถัมภ์  ซึ่งเป็นระบบที่ก่อตัวมาจากความสัมพันธ์ทางเครือญาติในระดับย่อยของสังคม  จนพัฒนามาเป็นระบบพวกพ้องน้องพี่ที่ใหญ่ขึ้นในระดับประเทศ  สิ่งนี้เป็นหนึ่งในต้นตอของปัญหาทั้งมวล  การทำงานที่มีปฏิสัมพันธ์สอดคล้องอย่างราบรื่น  และมีประสิทธิภาพระหว่างคนในแต่ละชนชั้นเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกัน เป็นเครื่องตอกย้ำว่า ทำไมการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงยืนยงอยู่ได้ในสังคมไทย
 

1. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นล่าง - ชนชั้นกลาง

ชนชั้นล่าง  ในปัจจุบันรวมความถึงประชาชนรากหญ้าที่เป็นเกษตรกรรายย่อย , ลูกจ้างทั่วไป , คนงานในโรงงานอุตสาหกรรม , คนจนในเมือง , ผู้มีรายได้น้อยหรือคนหาเช้ากินค่ำ , ผู้ด้อยโอกาสในสังคม เป็นต้น  กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ  มักโดนรังแกและเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เสมอ  เช่น  เข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมายจราจร  (ตรวจจับเฉพาะคนขับขี่รถจักรยานยนต์ , รถปิกอัพ , รถสิบล้อเท่านั้น) , ต้องจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา (สินบน , เงินใต้โต๊ะ) เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อหน่วยงานราชการ  เป็นต้น  ถือเป็นเรื่องทุจริตเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน  ในขณะที่ชนชั้นกลางซึ่งตีความได้ว่า  เป็นข้าราชการพลเรือนและทหาร , นักธุรกิจ , เจ้าของกิจการ , นักวิชาการ , สื่อมวลชน , พนักงานบริษัทเอกชน , ดารา นักร้อง นักแสดง , ผู้มีรายได้ปานกลางจนถึงชนชั้นกลางระดับบน  เป็นต้น  กลุ่มคนเหล่านี้มีทั้งกำลังเงินและความสามารถ  มีความเชี่ยวชาญการใช้เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ทั้งภาพและเสียงในการโน้มน้าวจิตใจ  ปลุกปั่นสร้างกระแส , เบี่ยงเบนประเด็น  และชี้นำสังคมได้อย่างมีนัยสำคัญ  เห็นได้จากผลลัพธ์การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา

 การพึ่งพิงและพึ่งพานั้นก็ต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันด้วย  อย่างแรกที่ผู้ใต้อุปถัมภ์ต้องทำ  คือ  ฝากตัวรับใช้นายหรือยอมรับอำนาจที่เหนือกว่าของผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนเสียก่อน  หลังจากนั้นผู้อุปถัมภ์จึงให้รางวัลหรือผลประโยชน์เป็นการตอบแทน เช่น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ , การสนับสนุนทางการเมือง  เป็นต้น  ซึ่งความสัมพันธ์ลักษณะนี้อธิบายได้คร่าวๆ ดังนี้

(1) สิ่งแลกเปลี่ยนให้ชนชั้นกลาง  คือ  แรงงาน , เงิน (ส่วย) , ความอ่อนน้อม , การเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ , ความภักดีต่อเจ้านาย

 ชนชั้นล่างต้องออกแรงกายทำงานรับใช้หรือปรนนิบัติเพื่อหวังพึ่งใบบุญและบารมีจากชนชั้นกลาง  โดยส่งเงินหรือติดสินบนเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายบางประการ  ขณะที่ชนชั้นล่างก็ต้องเสาะแสวงหาเจ้านายที่มีเส้นสายใหญ่เพียงพอที่จะอำนวยประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด  เฉกเช่นดียวกับในอดีตที่ไพร่ต้องสังกัดมูลนายตามกฎหมายกำหนด  และต้องทำงานรับใช้มูลนายโดยที่ไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

(4) สิ่งแลกเปลี่ยนให้ชนชั้นล่าง  คือ  การปกป้องคุ้มครอง , การช่วยเหลือเกื้อกูล , การชี้นำสังคม , การควบคุมสั่งการ

ชนชั้นกลางจะตอบแทนชนชั้นล่างด้วยการให้คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากชนชั้นกลางกลุ่มอื่นที่จะมาเอาเปรียบหรือหาผลประโยชน์  หรือช่วยฝากลูกหลานเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐหรือฝากเข้าโรงเรียนรัฐบาล  เป็นต้น  ถือเป็นการขยายอิทธิพลและสร้างบารมี  โดยสะสมทั้งกำลังเงินและกำลังคนเพื่อตั้งตัวขึ้นเป็นมาเฟียในชุมชน , ผู้กว้างขวางในท้องถิ่น  หรือเป็นชนชั้นสูงในอนาคต


 2. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกลาง - ชนชั้นสูง

(2) สิ่งแลกเปลี่ยนให้ชนชั้นสูง  คือ  ความรักและศรัทธา , การสรรเสริญเยินยอ , ความนอบน้อมและเคารพเชื่อฟัง (หมอบกราบ คลานเข่า) , ความภักดีต่อผู้เป็นเจ้านาย , ความสามารถเฉพาะทาง (แรงสมอง) , เงิน (ส่วย) , แรงงาน

ชนชั้นกลางนอกจากจะออกเงินและแรงกายเพื่อทำงานรับใช้  หรือให้ความเคารพนอบน้อมและเชื่อฟังคำแนะนำจากผู้ใหญ่แล้ว  สิ่งหนึ่งที่แตกต่างก็คือ  การเป็นคลังสมองวิเคราะห์ข้อมูลและใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างอัตลักษณ์เชิงรูปธรรมให้ชนชั้นสูง  ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะอิจฉาริษยากันเอง  แก่งแย่ง  ชิงดีชิงเด่นกัน  ประจบสบพลอ  เอาอกเอาใจเจ้านายเพื่อให้กลุ่มของตนเองเด่นกว่า  ดีกว่า  หรือได้ประโยชน์มากกว่ากลุ่มอื่น  ซึ่งการสรรเสริญเยินยอนี้จะเป็นการสร้างความรัก  ความศรัทธา  และสร้างบารมีให้ดำรงอยู่ในสถานะที่เหนือกว่า  สุดท้ายแล้วจะใช้ชนชั้นสูงบังหน้าเพื่อหาประโยชน์จากชนชั้นล่าง  รวมทั้งอ้างสิทธิ์อันชอบธรรมที่ได้รับการรับรองจากชนชั้นสูงในการปกครองชนชั้นล่างต่อไป

(3) สิ่งแลกเปลี่ยนให้ชนชั้นกลาง  คือ  อำนาจบารมีแผ่ไพศาล , การปกป้องคุ้มครองหรือช่วยให้พ้นผิดจากคดีความ , การสนับสนุนทางการเมืองอย่างลับๆ , ผู้กำหนดมาตรฐานจริยธรรม , ผู้แต่งตั้งรัฐบาล

ชนชั้นสูง  เช่น  ข้าราชการระดับสูงทั้งทหารและพลเรือน , กลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่ เป็นต้น  ซึ่งจะแผ่ขยายเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ชนชั้นกลางได้เกาะเกี่ยวห้อยโหน  และจะตอบแทนความซื่อสัตย์ภักดีด้วยตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ , สัญญาจัดซื้อจัดจ้างโครงการภาครัฐ  หรือช่วยให้พ้นผิดด้วยอภินิหารทางกฎหมายในคดีการเมือง  เป็นต้น  สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ  การถือสิทธิ์กำหนดมาตรฐานคุณธรรมภายใต้หลักศาสนาพุทธ  หรือสร้างบรรทัดฐานจริยธรรมตามจารีตประเพณี  เพื่อใช้กำกับสังคมทั้งในแง่การปกครองและทางจิตวิญญาณอีกชั้นหนึ่ง  รวมถึงรับรองความชอบธรรมให้ชนชั้นกลางบางกลุ่มกลายเป็นอภิสิทธิ์ชนเพื่อให้มีบทบาทควบคุมชนชั้นล่างต่อไปเป็นทอดๆ

อย่างไรก็ตาม  ชนชั้นกลางบางส่วนและชนชั้นสูงมักดูถูกดูแคลนชนชั้นล่างเสมอว่า  ชอบทำผิดและหลีกเลี่ยงกฎหมาย  ซึ่งที่จริงแล้วก็เลียนแบบและเอาอย่างมาจากผู้ดีจอมปลอมพวกนี้นั่นเองที่มักทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย  มีสองมาตรฐานและมีข้อยกเว้นสำหรับพวกตนเสมอ  รวมถึงสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดที่เกิดขึ้น เช่น ลูกของกลุ่มทุนใหญ่ขับรถชนตำรวจจนเสียชีวิต  แต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถนำตัวมาลงโทษได้  ทำให้บางคดีหมดอายุความด้วยเทคนิคทางกฎหมาย  โดยที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 157  แห่งประมวลกฎหมายอาญา  ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  ถือเป็นความบกพร่องโดยสุจริต  จึงไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ  แต่ถ้าเป็นคดีความของชาวบ้านทั่วไปจะมีลักษณะตรงกันข้าม

โครงสร้างระบบอุปถัมภ์นี้  ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทั้งในแง่การกระจายรายได้และความไม่เป็นธรรมในสังคม  จนเกิดสภาพการรวยกระจุกในหมู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางบางส่วน  และสภาพความจนที่กระจายอยู่ในชนชั้นล่างและชนชั้นกลางที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่  จึงสร้างความยากลำบาก  ความแร้นแค้น  ขาดแคลน  และขัดสนในปัจจัยการผลิต  ส่งผลให้ชนชั้นล่างเกิดความเดือดร้อน  คร่ำครวญโหยหา  จนต้องบนบานศาลกล่าว  ขอร้องอ้อนวอนเทวดาฟ้าดินและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยดลบันดาลทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น  จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับชนชั้นสูงที่จะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยเหลือแบบโปรยทานเป็นครั้งคราวไป  และกลายเป็นบุญคุณอันล้นพ้นที่ชนชั้นล่างต้องตอบแทนอยู่เรื่อยไป  โดยมีวิธีการที่แยบยลก็คือ  การใช้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างวาทกรรมเชิงนามธรรม  เช่น  วาทกรรมตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน  เพื่ออบรมกล่อมเกลาให้ผู้ใต้อุปถัมภ์ทำงานรับใช้ผู้อุปถัมภ์ด้วยความเต็มใจโดยปราศจากเงินรางวัลหรือค่าตอบแทนใดๆ  ส่วนดอกผลหรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะเป็นสิทธิ์ขาดของผู้อุปถัมภ์

จากอดีตที่ผ่านมา  ประเทศไทยถูกชนชั้นสูงหรือผู้กุมอำนาจรัฐพยายามปลุกปั่นและสร้างกระแสสังคม  เพื่อครอบงำความคิดประชาชนว่า  การทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น  เกิดจากนักการเมืองในระบบเลือกตั้งเท่านั้น  ดังนั้นการแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานานจึงต้องให้คนดีเข้ามามีอำนาจ  มีตำแหน่งเป็นรัฐบาลเพื่อปกครองคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ  สังคมจึงได้ยินเสียงพร่ำบอกอย่างสม่ำเสมอว่า  ถึงระบบการปกครองจะไม่ดี  แต่ถ้าได้คนดี (ไม่ว่าจะมาด้วยวิธีการใดก็ตาม) ก็ไม่เป็นไร  ยอมรับได้  ดังนั้นสังคมไทยจะปกครองด้วยระบอบอะไรก็ได้ที่ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี , เชื่อฟังและอยู่ในโอวาทผู้ใหญ่  ตั้งอยู่ในความสงบเรียบร้อยก็เพียงพอแล้ว  รวมถึงชนชั้นสูงจะเป็นผู้คัดเลือกคนดีมีคุณธรรมมาเป็นรัฐบาล  พร้อมทั้งรับรองความถูกต้องชอบธรรมและการันตีความซื่อสัตย์สุจริตอีกด้วย

นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน  ศาสตราจารย์โรเบิร์ต คลิตการ์ด (Robert Klitgaard) ได้นำเสนอกรอบแนวคิดในการอธิบายพฤติกรรมคอร์รัปชั่นไว้ว่า

จากสมการข้างต้นแสดงให้เห็นว่า  การทุจริตคอร์รัปชั่นจะเพิ่มขึ้นหากระบบเศรษฐกิจมีการผูกขาด  ไม่เกิดการแข่งขัน  มีการรวบอำนาจไว้กับคนๆ เดียว  และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลยพินิจให้คุณให้โทษได้  แต่ในทางตรงกันข้าม  การทุจริตคอร์รัปชั่นจะลดลงหากสังคมมีกลไกความรับผิดชอบที่เข้มแข็งมากขึ้น

จริงๆ แล้วสมการนี้ไม่สามารถอธิบายสถานการณ์ในประเทศไทยได้ถูกต้องแม่นยำนัก  เนื่องจากสังคมไทยมีความสลับซับซ้อนของระบบอุปถัมภ์ที่ซ่อนอยู่อีกหนึ่งชั้นหลังฉาก  มีมือที่มองไม่เห็นคอยกำกับบงการเจ้าหน้าที่รัฐในทางพฤตินัย  และเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ยินยอมพร้อมใจเป็นมือเป็นไม้ให้ด้วย  ทั้งนี้เพื่อ

1) ทดแทนบุญคุณที่เคยช่วยเหลือกันมาในอดีต

2) สร้างบุญคุณไว้เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์  หากต้องการก้าวหน้าในอนาคต

3) ขอฝากตัวเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์

ถึงแม้ทุกคนจะรับรู้ถึงปัญหาเหล่านี้ดีแต่ก็ไม่มีใครกล้าทำอะไร  จึงเกิดพฤติกรรมและวัฒนธรรมกินตามน้ำเพื่อความอยู่รอด  โดยยึดหลักที่ว่า “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง”  ในกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน  เช่น  การตัดสินใจของภาครัฐที่ทำตามกรอบระเบียบกฎหมายแต่มีผลลัพธ์เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นกรณีพิเศษแล้ว  สังคมก็ไม่สามารถตรวจสอบได้เลย  หรือเมื่อหน่วยงานปราบทุจริตเข้ามาตรวจสอบพอเป็นพิธี  หลังจากนั้นก็รับรองความถูกต้องว่าเป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง  ยกตัวอย่าง  การถูกกระแสสังคมกดดันให้รื้อฟื้นตรวจสอบโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200   และเรือเหาะตรวจการณ์ของกองทัพบกขึ้นมาอีกครั้ง  แต่สุดท้ายก็ไม่มีรายงานข้อสรุปและปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปตามกาลเวลา , ส.ต.ง. รับรองว่าไม่พบสิ่งผิดปกติในโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน , การเลื่อนสืบพยานโจทก์คดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  ชุมนุมปิดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 2551  เป็นต้น  แต่ถ้าเป็นคดีความของฝ่ายตรงข้ามมักจะเกิดการเลือกปฏิบัติ  โดยตัดสินอย่างเคร่งครัดตามตัวบทกฎหมาย  เช่น  คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว  มีการตีความว่า  เป็นพฤติการณ์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และส่อแสดงเจตนาแสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริตจากโครงการ  รวมถึงเร่งรัดการสืบพยานและพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วโดยเปรียบเทียบ  เป็นต้น 

ปัจจุบันมีองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก  ได้แก่  สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ตรวจการฯ) , สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) , สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.) , สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ในส่วนกระบวนการยุติธรรม  ก็มีการจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย  แต่ก็เกิดคำถามตามมาจากสังคมว่า 1) องค์กรเหล่านี้ทำงานอย่างสุจริต เที่ยงตรง และเป็นธรรมใช่หรือไม่  2) มีการปฏิบัติต่อทุกคดีด้วยมาตรฐานเดียวกันใช่หรือไม่  3) เป็นกลไกทางการเมืองเพื่อกำจัดพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามใช่หรือไม่     4) ทำไมอัตราการคอร์รัปชั่นจึงยังไม่มีแนวโน้มลดลงทั้งๆ ที่มีองค์กรอิสระจำนวนมากเช่นนี้  เมื่อพิจารณาข้อมูลจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ปรากฎว่า  คะแนนและอันดับความโปร่งใสของประเทศไทยลดลงมาเรื่อยๆ หลังจากรัฐประหาร ปี 2557

หากพิจารณางานวิจัยของ ผศ.ดร.ธานี  ชัยวัฒน์  ตามกรอบแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและเศรษฐศาสตร์สถาบันแล้ว  ได้บทสรุปว่า  สถาบันทางสังคม  เช่น บ้าน , วัด , โรงเรียน  ได้หล่อหลอมพฤติกรรม  วิธีคิด  และทัศนคติเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น  ทำให้พฤติกรรมการทุจริตฝักรากลึกอยู่ในดีเอ็นเอแบบไม่รู้ตัว  คุ้นเคยและชาชิน  พร้อมทั้งรับมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตโดยปริยาย

จากงานวิจัยพบว่า  คนไทยให้ความหมายและคุณค่าความดีและคนดีแตกต่างกัน  ความดี (ความซื่อสัตย์สุจริต , ไม่คดโกง)  เป็นเรื่องผลประโยชน์สาธารณะ  แต่คนดี (กตัญญู , เชื่อฟังพ่อแม่และผู้ใหญ่)  เป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวหรือคนใกล้ชิด  สิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้แนวคิดนี้ก็คือ  ความรู้สึกเป็นครอบครัวหรือเครือญาติเดียวกัน  ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวพันทางสายเลือดก็ได้  เป็นความผูกพันในลักษณะเพื่อนร่วมสถาบันการศึกษา , รุ่นพี่รุ่นน้องที่นับถือ , เป็นคนจังหวัดเดียวกัน  พูดภาษาเดียวกัน , ทำงานในวิชาชีพเดียวกัน  หรือผู้ใหญ่ที่มีบุญคุณที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย  ทำให้คนๆ นั้นมีความเอนเอียงที่จะเลือกปฏิบัติ , ย่อหย่อนกฎเกณฑ์ , ผ่อนหนักเป็นเบา หรืออะลุ้มอล่วยช่วยเหลือกัน  สุดท้ายแล้วเป็นการทุจริตในความรู้สึกที่ยอมรับกันได้แบบหยวนๆ ว่า  ไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม  และกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน

ความแตกต่างของชุดคุณธรรมที่มีการสอนกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศไทย

สังคมที่พัฒนาแล้วจะสอนให้ประชาชนมองออกไปข้างนอก  คิดถึงผู้อื่นเป็นลำดับแรก  โดยเน้นย้ำเรื่องสิทธิและหน้าที่เป็นสำคัญ  ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

สังคมไทยสอนให้ประชาชนมองเข้ามาข้างในหรือเน้นความสัมพันธ์ส่วนตัว เช่น เชิดชูตัวบุคคลเป็นหลัก , ยึดกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย , แยกไม่ออกระหว่างส่วนรวมกับส่วนตัว , ขาดจิตสาธารณะ , มองคนไม่เท่าเทียมกัน , มีลำดับชั้นความสัมพันธ์สูงต่ำ , ยึดมั่นระบบอาวุโส , ไม่กล้าคิดแตกต่าง  จึงเป็นสาเหตุให้ระบบอุปถัมภ์อยู่คู่กับสังคมไทยเรื่อยมา

ถ้ามองผิวเผินแบบฉาบฉวยแล้ว  การตราหน้าว่านักการเมืองเป็นต้นเหตุสำคัญของการทุจริตคอร์รัปชั่นแต่เพียงฝ่ายเดียว  ก็ดูเหมือนเป็นการป้ายสีและจงใจทำให้สังคมเข้าใจผิดและหลงประเด็น  จนไม่ต้องสืบหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งระบบ  ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว  คนทุกคนในสังคมล้วนมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อยในการสนับสนุนส่งเสริมการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ดำรงอยู่ได้โดยปราศจากการตรวจสอบและตั้งคำถาม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นสูงหรือผู้มีอำนาจรัฐที่เป็นต้นตอของปัญหาทั้งมวลที่อยู่บนสุดในโครงสร้างระบบอุปถัมภ์  ซึ่งไม่มีใครกล้ากล่าวถึงมาก่อน  และถึงแม้สังคมจะมองเห็นปัญหาแต่ก็ทำเมินเฉยมาตลอด ชนชั้นสูงเป็นกลุ่มคนอนุรักษ์นิยมที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบอุปถัมภ์แต่อย่างใด  เพราะความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้  เปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้ชนชั้นสูงมีสถานะที่แตะต้องไม่ได้  ดำรงความศักดิ์สิทธิ์  และมีสิทธิพิเศษหรืออภิสิทธิ์อยู่เหนือกฎกติกาบ้านเมือง 

ทางออกที่ดีที่สุดในการลดระดับการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น  อย่างแรกที่ต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมก็คือ  การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ส่งผลในทางปฏิบัติ  ต้องสร้างให้คนรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง  รวมทั้งไม่ไปละเมิดสิทธิและหน้าที่ของคนอื่นด้วย  ทั้งนี้ต้องเปิดกว้างให้คนทุกชนชั้นได้เข้ามาแบ่งปันอำนาจการบริหารและจัดการทรัพยากรร่วมกัน  พร้อมทั้งสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลโดยให้ภาคธุรกิจ  ภาคสังคม  และสื่อมวลชนเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน  โดยสร้างพื้นฐานการเมืองแบบเปิดให้มีความเป็นธรรมและมีมาตรฐานเดียวกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ  เพียงเท่านี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการสร้างสังคมที่มีความซื่อสัตย์สุจริต  โปร่งใส  และมีธรรมาภิบาล  เพื่อขจัดระบบอุปถัมภ์แบบศักดินาสวามิภักดิ์ให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว  โดยมีเป้าหมายสุดท้ายก็คือ  การสร้างสังคมให้มีสันติสุขต่อคนทุกชนชั้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net