Skip to main content
sharethis

กรณีกองทัพพม่ากวาดล้างชาวโรฮิงญาเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2560 จนเป็นเหตุให้มีอพยพมากกว่าเจ็ดแสนคน ล่าสุดศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ลงความเห็นว่าเรื่องนี้อยู่ในเขตอำนาจศาล ICC ซึ่งแม้พม่าจะไม่ได้เป็นสมาชิก แต่ศาล ICC มีอำนาจพิจารณาคดี "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" เนื่องจากเหตุที่เกิดขึ้นมีลักษณะข้ามพรมแดนและขยายไปสู่บังกลาเทศที่เป็นสมาชิกของ ICC

ภาพจากดาวเทียมในปี 2018 แสดงส่วนหนึ่งของค่ายผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ Kutupalong เมืองค็อกซ์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ ใกล้ชายแดนรัฐยะไข่ของพม่า (ที่มา: Googlep Maps)

ผู้พิพากษาที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ตัดสินให้ทาง ICC มีอำนาจพิจารณาสืบสวนสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องที่กองทัพพม่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาจนส่งผลให้มีชาวโรฮิงญาหลายแสนคนถูกบีบให้กลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากบ้านเกิดตัวเอง

ICC ระบุในแถลงการณ์ว่าหัวหน้าอัยการจะต้องนำคำตัดสินพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศไปใช้ประกอบกับคดีด้วย ในขณะที่เธอยังคงดำเนินการสืบพยานหลักฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับอาชญากรรมที่มีการกล่าวหาว่ากระทำต่อชาวโรฮิงญา

ICC ระบุอีกว่าการสืบพยานหลักฐานเบื้องต้นดังกล่าวเป็นไปเพื่อพิสูจน์ว่ามีหลักฐานมากพอที่จะทำการสืบสวนสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีข้อสรุปภายในระยะเวลาที่สมเหตุสมผล

สื่อเอบีซีระบุว่าพม่าไม่ได้เป็นสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศ ขณะที่บังกลาเทศเป็นสมาชิก ทาง ICC ให้เหตุผลที่พวกเขามีอำนาจพิจารณาคดีในข้อกล่าวหา "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ของพม่าได้เพราะว่าเหตุที่เกิดขึ้นมีลักษณะข้ามพรมแดนและขยายไปสู่รัฐที่เป็นสมาชิกของ ICC อย่างบังกลาเทศ

พม่าจำคุก 7 ปี 2 นักข่าวรอยเตอร์เปิดโปงสังหารหมู่โรฮิงญา, 3 ก.ย. 2561

5 เรื่องควรรู้หลังยูเอ็นจัดหนักพม่าด้วยรายงานที่ดุดันในกรณีโรฮิงญา, 29 ส.ค. 2561

แอมเนสตี้เปิดชื่อนายทหารพม่าเอี่ยวโจมตีชาวโรฮิงญา-เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, 29 มิ.ย. 2561

"400 ลายนิ้วมือ" ประจักษ์พยานหญิงโรฮิงญาฟ้องศาลโลกเปิดโปงความโหดเหี้ยมกองทัพพม่า, 5 มิ.ย. 2561

ก่อนหน้านี้เมื่อ 27 ส.ค. องค์การสหประชาชาติออกแถลงการณ์สืบเนื่องจากรายงานของคณะทำงานอิสระค้นหาความจริงกรณีพม่าขององค์การสหประชาชาติ (IIFFMM) เรียกร้องให้มีการนำตัวผู้นำของกองทัพพม่าขึ้นไต่สวนที่ศาลอาญาระหว่างประเทศในความผิด 3 ข้อหา ได้แก่อาชญากรสงคราม อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

รายงานของ IIFFMM ได้กล่าวหาบุคคลเหล่านี้ว่าเป็นผู้ก่อการนำโดย พล.อ.อาวุโส มิ่น อ่อง หล่าย ผบ.สส.กองทัพพม่า และผู้บัญชาการหน่วยที่ลดหลั่นลงมาในฐานะผู้ที่ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ปฏิบัติงานโดยตรง โดยรายนามผู้ถูกกล่าวหาฉบับเต็มจะถูกส่งไปอยู่กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

นอกจากนี้ในรายงานยังได้กล่าวถึงรัฐบาลพลเรือนพม่าว่าแม้จะมีอำนาจควบคุมกิจการกองทัพอยู่น้อย แต่ก็ไม่เห็นว่าอองซานซูจี ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลในทางปฏิบัติ จะใช้อำนาจที่มีอยู่ทั้งในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และอำนาจที่เธอมีในทางศีลธรรมในการควบคุมความรุนแรงที่เกิดขึ้น นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่พลเรือนยังทำหน้าที่แพร่กระจายข้อมูลเท็จ ช่วยกองทัพพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ และยังช่วยดูแลการทำลายหลักฐานอีกด้วย รัฐบาลพลเรือนจึงถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นด้วย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

เรียบเรียงจาก

Judges rule ICC has jurisdiction over Rohingya deportations, ABC News, 06-09-2018

ICC Pre-Trial Chamber I rules that the Court may exercise jurisdiction over the alleged deportation of the Rohingya people from Myanmar to Bangladesh, ICC, 06-09-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net