Skip to main content
sharethis
  • เรื่องราวการเดินทางไกลของอดุล การขนย้ายชาวโรฮิงญาโดยกลุ่มการค้ามนุษย์ ขณะที่ผู้ประสานงานระหว่างองค์กรช่วยเหลือกับชาวโรฮิงญาที่เข้ามาในประเทศไทย สะท้อนสถานการณ์จาก 2015 ถึง 2023 รูปแบบการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาที่เปลี่ยนแปลงไป
  • กับโจทย์ชีวิตที่ไม่มีทางเลือกของชาวโรฮิงญา บทบาทของนานาชาติในการยุติการค้ามนุษย์ ขณะที่ประเทศไทย ประตูทางผ่านและที่หลบภัยของชาวโรฮิงญา

“มีนายหน้าคนหนึ่งมาถามว่าอยากไปมาเลเซียไหม เดินทางโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ค่อยจ่ายเงินตอนที่ถึงประเทศมาเลเซีย” 

ภายใต้ห้องเช่าขนาดเล็กติดริมถนนใจกลางเมืองกรุงเทพฯ อดุล ชายชาวโรฮิงญาวัย 21 ปีใช้ชีวิตอาศัยอยู่กับภรรยาและลูกสาวของพวกเขาที่เพิ่งเกิด เขาเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากขบวนการค้ามนุษย์ โดยได้รับการช่วยเหลือจากชุมชนชาวโรฮิงญาในฝั่งไทยเมื่อเขาข้ามชายแดนเมียนมาร์มาได้

“การค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญายังมีอยู่แต่เปลี่ยนรูปแบบ พวกเขาไม่กักขังคนไว้   ที่ฝั่งไทย แต่จะกักขัง ทรมาน ไถ่เงิน ให้เสร็จเรียบร้อยจากฝั่งเมียนมาร์”

สุไรมาน พฤฒิ​มณีรัตน์ ผู้ประสานงานและช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่เข้ามาในประเทศไทยกล่าว เขาเป็นคนที่ได้พบเจออดุล และชาวโรฮิงญาอีกหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ จากการพูดคุยกับชาวโรฮิงญา สุไรมานบอกว่ากลุ่มค้ามนุษย์พยายามหลีกเลี่ยงการกระทำที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ในเขตประเทศไทย เพราะบทลงโทษที่หนักกว่าในฝั่งประเทศเมียนมาร์

โดยคำจำกัดความของการค้ามนุษย์ ตามที่กำหนดในมาตรา 3 ของพิธีสารของสหประชาชาติ ระบุว่าการค้ามนุษย์ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบคือ 1. การกระทำ (การจัดหา ขนส่ง ส่งต่อ และการจัดให้อยู่อาศัยหรือการรับไว้ซึ่งบุคคล) 2.วิธีการกระทำผิด (ใช้การขู่เข็ญ หรือด้วยการใช้กำลัง หรือด้วยการบีบบังคับในรูปแบบอื่น เช่น การลักพาตัว การหลอกลวง ด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือการให้หรือรับเงินหรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งความยินยอม ของบุคคลผู้มีอำนาจควบคุมบุคคลอื่น) และ 3.มุ่งประสงค์ในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ (การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณี  การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การทำให้ตกอยู่ใต้บังคับหรือการตัดอวัยวะออกจากร่างกาย)

ในส่วนของประเทศไทยนั้นพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ก็ใช้หลักการคล้ายคลึงกันกับสหประชาชาติในการจำกัดความการค้ามนุษย์ โดยกำหนดบทลงโทษสำหรับความผิดฐานการค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบสองปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงหนึ่งล้านสองแสนบาท ทั้งนี้โทษสามารถเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขการกระทำผิด หากการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต

“เขาจะพามาถึงชายแดนไทย-เมียนมาร์และขังไว้เพื่อไถ่เงิน ถ้าไม่ให้ก็ถูกตีด้วยไม้ และส่งวิดีโอดังกล่าวไปให้ครอบครัวของชาวโรฮิงญาดู”

ซายิด  มาลัม ประธานชมรมโรฮิงญาแห่งประเทศไทยกล่าว พร้อมเปิดวิดีโอการทำร้ายร่างกายของกลุ่มค้ามนุษย์ให้ผู้สื่อข่าวดู เขากล่าวว่าหมดหนทางในการช่วยเหลือ เพราะเมื่อส่งวิดีโอดังกล่าวไปให้ตำรวจหรือองค์กรช่วยเหลือด้านการค้ามนุษย์ การช่วยเหลือก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาร์ 

อดุลเป็นหนึ่งในคนที่ถูกทำร้ายโดยกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์และรอดออกมาได้ เขาได้เล่าเรื่องราวการเดินทางของเขา ตั้งแต่การถูกหลอกให้ออกจากหมู่บ้านในเมืองซิตตเว รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ในวันที่ 27 ตุลาคม 2565 จนมาถึงกรุงเทพฯ ในเดือนมิถุนายน 2566

ซายิด  มาลัม

การเดินทางไกลของอดุล การขนย้ายชาวโรฮิงญาโดยกลุ่มการค้ามนุษย์

“ผมเรียนจบชั้นประถม และไม่สามารถเรียนต่อได้ ผมโตขึ้นอยากเป็นวิศวกร แต่ไม่มีโอกาสได้เรียน งานก็หาทำไม่ได้ จึงตัดสินใจเดินทางออกมา”

อดุลเริ่มต้นเล่าเรื่องราว ด้วยความยากลำบากในการใช้ชีวิตในเมืองซิตตเว รัฐยะไข่ 

ประเทศเมียนมาร์ เขาตัดสินใจเชื่อนายหน้าคนที่มาชักชวนเขาไปทำงานประเทศมาเลเซีย โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินค่าเดินทางก่อน สำหรับชาวโรฮิงญาที่เดินทางไปยังประเทศมาเลเซียส่วนใหญ่ ไปเพื่อทำงานด้านการเกษตร งานก่อสร้าง หรือทำงานบ้าน และหากเป็นผู้หญิงมักจะเดินทางเพื่อไปแต่งงานกับชายชาวโรฮิงญาที่เดินทางมาก่อนหน้า

 เขาและนายหน้าขึ้นรถมาที่เมืองชองโด (Chaungdo) ในรัฐยะไข่ ก่อนที่จะโดยสารรถยนต์อีก 5-6 ชั่วโมงมาที่ริมแม่น้ำแห่งหนึ่ง

จากนั้นมีรถสามล้อมารับตัวเขา ก่อนเดินทางอีก 3-4 ชั่วโมงเพื่อพาไปขึ้นเรือโดยสารขนาดเล็ก เรือแล่นไปทั้งคืน อดุลถูกส่งตัวไปยังนายหน้าอีกกลุ่ม พวกเขาพาอดุลขึ้นเรือลำใหญ่ ใช้เวลาเดินทางอีก 1 วัน เข้าสู่เมืองแห่งหนึ่งในรัฐยะไข่

"พวกแกมาทำไม ที่นี่เขาจะทุบตี ถ้าแกจ่ายเงินให้พวกเขาไม่ได้"

ชาวโรฮิงญาคนหนึ่งบอกกับอดุล เมื่อเขาถูกพามาถึงที่พักแห่งหนึ่งในป่า ในนั้นมีชาวโรฮิงญาที่อยู่ก่อนหน้าเขา แบ่งเป็นชาย 17 คน และผู้หญิง 21 คน

“เขาให้ผมโทรหาพ่อแม่ และขอเงิน 3.5 ล้านจัต (ประมาณ 57,000 บาท) พ่อแม่ผมไม่มี ผมจึงถูกทุบตี วันต่อมาผมจึงตัดสินใจหนี”

อดุลกับวัยรุ่นชายอีก 2 คน ตัดสินใจหนีเข้าป่า จนไปเจอเข้ากับกระท่อมแห่งหนึ่งที่มีชายชราอาศัยอยู่ พวกเขาเข้าไปขอความช่วยเหลือ จนได้รับอาหารและที่พัก วันต่อมาชายชราคนดังกล่าว ติดต่อกลุ่มกองทัพอาระกัน (Arakan Army) ให้เข้ามาตรวจสอบคนแปลกหน้ากลุ่มนี้

“จ่ายมาคนละ 2 ล้านจัต (ประมาณ 32,000 บาท) เพื่อที่จะหาเรือไปส่งพวกแกถึงบ้าน”

กลุ่มกองทัพอาระกันกล่าวกับอดุลและพวก แต่พวกเขาไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ พวกเขาจึงถูกไล่ให้ออกจากบ้านหลังนั้น และเดินออกมาเจอกับชายอีกคนที่กำลังขี่มอเตอร์ไซต์

อดุลเล่าเรื่องราวที่เขาหนีออกมาให้ชายคนดังกล่าวฟัง ก่อนที่เขาจะพาอดุลและพวกขึ้นมอเตอร์ไซต์กลับมาส่งให้นายหน้ากลุ่มเดิม โดยชายคนที่พาอดุลมาส่งได้รับเงินจากกลุ่มนายหน้า 500,000 จัต (ประมาณ 8,000 บาท) อดุลและเด็กหนุ่มอีก 2 คน ถูกซ้อมตลอดทั้งคืน เด็กชายวัย 14 โดนตีจนกระอักเลือดออกมาจากปาก

พวกเขาทั้ง 3 คนถูกมัดตากฝนไว้ด้านนอก จนจังหวะที่กลุ่มนายหน้าออกไปข้างนอก อดุลเล่าว่าเขาใช้ไฟแช็กที่มีอยู่ติดตัวเผาเชือกที่มัดเขา หลังจากนั้นใช้เศษแก้วมาแก้มัดให้อีก 2 คนที่เหลือ ก่อนจะหลบหนีกันออกมาอีกครั้ง 

พวกเขาเดินไปในป่าจนถึงเช้า จนไปเจอเข้ากับหญิง-ชายคู่หนึ่ง ที่กำลังเดินทางออกมาจากป่า พวกเขาไปขอความช่วยเหลือ และได้รับรู้ว่าเป็นคนของกองทัพอาระกัน ทั้งสองให้ข้าวและน้ำแก่อดุล ก่อนที่จะพาพวกเขาไปส่งให้กับนายหน้ากลุ่มเดิม

รอบนี้พวกเขาไม่ถูกทำร้ายร่างกาย แต่ถูกส่งตัวไปให้นายหน้ากลุ่มใหม่ และถูกบีบบังคับให้หาเงิน 3 ล้านจัตเพื่อแลกกับการปล่อยตัว พวกเขาไม่สามารถหาเงินมาได้ จึงถูกส่งตัวกลับไปให้กับนายหน้าชุดเดิม

เมื่อกลับไปอดุลพบว่าชาวโรฮิงญากลุ่มก่อนหน้านี้ไม่อยู่แล้ว โดยมีชาวโรฮิงญาชุดใหม่เข้ามา 30 คน และทั้งหมดพูดภาษาเมียนมาร์ไม่ได้ นายหน้าจึงใช้ประโยชน์จากอดุลในการให้เป็นล่ามสื่อสารภาษาเมียนมาร์ ส่วนวัยรุ่นชายอีก 2 คนที่หลบหนีกับอดุล ครอบครัวของพวกเขาส่งเงินมาไถ่ตัวทั้งสอง โดยที่อดุลเล่าว่า มีคนหนึ่งเสียชีวิตหลังจากถูกส่งตัวกลับบ้าน เนื่องจากอาการบาดเจ็บจากการถูกทุบตี

อดุลเดินทางมาถึงเมืองย่างกุ้งช่วงต้นเดือนธันวาคม 2565 เขาถูกส่งตัวให้กับนายหน้ากลุ่มใหม่ โดยถูกไถ่เงินอีก 2 ล้านจัต อดุลโทรหาแม่พร้อมบอกว่าตอนนี้เขาอยู่ที่เมืองย่างกุ้งแล้ว แม่เขาจึงตัดสินใจขายทองและส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้กับกลุ่มนายหน้าเพื่อแลกกับการปล่อยตัว

อดุลหางานทำในเมืองย่างกุ้งเป็นเวลา 2-3 เดือน โดยระหว่างนั้นเขาก็หาช่องทางในการเดินทางข้ามมายังฝั่งประเทศไทย

เขาจ่ายเงิน 3 แสนจัต  (ประมาณ 5,000 บาท) แลกกับการให้คนขับรถพาเขามาส่งที่เมืองเมียวดี เมืองชายแดนด้านตะวันออกของประเทศพม่า ติดกับอ.แม่สอด จ.ตากของประเทศไทย ที่นั่นเขาพบกับนายหน้าที่บอกให้เขาจ่ายเงิน 2 ล้านจัตเพื่อแลกกับการพาข้ามฝั่ง แต่แล้วเขาก็ถูกนายหน้าโกงเงินหนีไป จนกระทั่งเขาได้ไปพบกับทหารจากกองทัพพม่าคนหนึ่งที่พาเขาไปที่โกดัง ที่นั่นมีชาวพม่าผสมรวมกับชาวโรฮิงญาหลักร้อยคน รอข้ามฝั่งมายังประเทศไทย อดุลจ่ายเงินให้แก่ทหารคนดังกล่าว 3,000 บาท ก่อนถูกส่งตัวมาให้กับคนไทยมุสลิมคนหนึ่ง ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก 

อดุล ณ ห้องเช่า ในกรุงเทพฯ เขาพยายามหางานทำเพื่อความอยู่รอดของตัวเขาและครอบครัว

ชายคนดังกล่าวพาอดุลมาส่งที่มัสยิดแห่งหนึ่ง ที่มีชุมชนชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ อดุลได้รับความเหลือ เขาทำงานอยู่ที่แม่สอด โดยในระหว่างนั้นเขาได้เจอกับสุไรมาน ผู้ประสานงานและช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่เข้ามาในประเทศไทย อดุลและภรรยาของเขาที่พบเจอกันตั้งแต่ที่เมืองย่างกุ้ง ตัดสินใจเดินทางต่อมาหางานทำที่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาไม่สามารถหางานได้ในพื้นที่ อ.แม่สอด

จาก 2015 ถึง 2023 รูปแบบการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาที่เปลี่ยนแปลงไป

สุไรมานเป็นชาวโรฮิงญาที่เกิดและเติบโตในเมืองไทย เขาทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมเป็นคนกลางในการช่วยประสานงานระหว่างองค์กรช่วยเหลือกับชาวโรฮิงญาที่เข้ามาในประเทศไทย

เขากล่าวว่าชายแดนฝั่งพื้นที่ อ.แม่สอด มีการเข้ามาของชาวโรฮิงญาเกือบทุกวัน ตั้งแต่ก่อนช่วงวิกฤตโควิด โดยตัวเลขลดลงในช่วงโควิด และกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

“ชาวโรฮิงญา 90% ที่ข้ามมาฝั่งไทยมีจุดหมายอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย” สุไรมานเล่า  “ส่วนที่เหลือเลือกที่จะพักอาศัยและหางานทำในประเทศไทย”

สุไรมานอธิบายว่า การเดินทางของชาวโรฮิงญาเกือบทั้งหมดจำเป็นต้องใช้นายหน้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดวงและปัจจัยอื่นๆ ว่าจะไปเจอเข้ากับกลุ่มที่มีการทำร้ายร่างกายหรือไถ่เงินหรือไม่ สุไรมานกล่าวว่าชาวโรฮิงญาที่เป็นเหยื่อกลุ่มค้ามนุษย์ส่วนใหญ่คือกลุ่มคนอายุน้อย ที่รีบร้อนเดินทางออกมาโดยไม่มีเงินติดตัวและไม่ได้หาข้อมูลให้ดีเสียก่อน

โดยหลังจากที่ประเทศไทยเกิดกรณีค้นพบการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาครั้งใหญ่เมื่อปี 2558 สุไรมานเล่าว่าหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้เครือข่ายกลุ่มค้ามนุษย์พยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ที่ฝั่งประเทศไทย โดยพวกเขาจะทำร้ายร่างกาย และไถ่เงินชาวโรฮิงญาที่ประเทศเมียนมาร์แทน จึงทำให้หลังจากเหตุการณ์ในปี 2558 ประเทศไทยมักจะเจอเพียงเหตุการณ์ลักลอบข้ามพรมแดนของชาวโรฮิงญา

เมื่อเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอดุล กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2558 ก็พบว่ามีการใช้เส้นทางการเดินทางขนย้ายชาวโรฮิงญาที่แตกต่างกัน อ้างอิงจากรายงานการสอบสวนคดีอาญาที่ 148/2558  คดีการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาของพลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ พบว่า

ในช่วงเวลาดังกล่าวขบวนการค้ามนุษย์จะเริ่มต้นจากนายหน้าฝั่งเมียนมาร์ หลอกล่อชาวโรฮิงญาที่ต้องการเดินทางออกจากเมียนมาร์ โดยเมื่อได้คนจำนวนหนึ่งแล้วทางนายหน้าฝั่งเมียนมาร์ จะติดต่อมายังนายหน้าฝั่ง จ.ระนอง ประเทศไทย เพื่อนำเรือไปรับชาวโรฮิงญาที่ท่าเรือฝั่งเมียนมาร์ หรือบังกลาเทศจากนั้นจึงแล่นเรือมาขึ้นที่ท่าเรือ จ.ระนอง/ จ.พังงา / จ.สตูล และนายหน้าจะจัดหารถขนชาวโรฮิงญาไปยัง จ.สงขลา เพื่อไปกักขังไว้ที่แคมป์ จากนั้นจึงติดต่อไปยังนายหน้าฝั่งมาเลเซีย เพื่อยืนยันว่าชาวโรฮิงญามาถึงเขตชายแดนไทย-มาเลเซียแล้ว โดยระหว่างการกักขังจะมีการทำร้ายร่างกาย และไถ่เงินด้วยวิธีการที่ไม่ต่างจากที่อดุลโดนกระทำ

โดยพลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาเมื่อปี 2558 ที่ต้องลี้ภัยจากการที่เขาเปิดโปงขบวนการดังกล่าว ที่มีนายทหารระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง จนทำให้เขาไม่ได้รับความปลอดภัยในประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวต่อเรื่องการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาไว้ว่า 

“ประเทศไทยไม่สามารถป้องกันไม่ให้การค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเกิดขึ้นซ้ำได้ เพราะองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ หนำซ้ำยังมีเจ้าหน้าที่รัฐที่รู้เห็นเป็นใจกับเรื่องดังกล่าว”

ทางด้านสุไรมานได้อ้างอิงข้อมูลจากชาวโรฮิงญาที่เขาได้พูดคุยมาหลายคนว่า ณ ตอนนี้ทางฝั่งประเทศเมียนมาร์จะมีโกดังขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ที่กักคนไว้นับพันคนทั้งชาวเมียนมาร์และชาวโรฮิงญา รอส่งข้ามมายังฝั่งไทย ซึ่งสถานที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับชายแดนประเทศไทย ในพื้นที่ อ.แม่สอด เพียงแค่แม่น้ำกั้น 

ด้านกองต่อต้านการค้ามนุษย์ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ข้อมูลกับทางผู้สื่อข่าวว่า ปัจจุบันกองต่อต้านการค้ามนุษย์ได้คุ้มครองช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้งหมด 3 ราย โดยแต่ละรายถูกแสวงหาประโยชน์จากการเอาคนมาเป็นทาส, การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการนำคนมาขอทาน

โดยกองต่อต้านการค้ามนุษย์ระบุกับผู้สื่อข่าวว่า หน่วยงานมีกลไกที่ให้การคุ้มครองผู้เสียหายทั้งหมด 7 ด้านคือ

1. ผู้เสียหายทั้งคนไทยและต่างชาติมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น

2. สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเพื่อความปลอดภัย ในสถานคุ้มครองฯ ของกระทรวง พม. ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 9 แห่ง โดยเป็นสถานคุ้มครองฯ หญิง 4 แห่ง ชาย 4 แห่ง และเด็กชาย 1 แห่ง รวมทั้งการส่งกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย 

3. ในระหว่างเข้ารับการคุ้มครอง ผู้เสียหายจะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมถึงเพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหาย เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าการบำบัดฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจ เป็นต้น

4. สิทธิที่จะได้ทำงานและได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ โดยหากเป็นบุคคลต่างด้าว จะดำเนินการขอผ่อนผันให้ผู้เสียหาย อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว (ตามมาตรา 37) จากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเมื่อได้รับอนุญาตจะประสานไปยังกรมการจัดหางาน เพื่อหาตำแหน่งงานที่เหมาะสม 

5. สิทธิในการเรียกร้องค่าแรงค้างจ่าย ในกรณีผู้เสียหายกลุ่มที่ถูกบังคับใช้แรงงาน

6. สิทธิที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนฐานะพยานในคดีอาญา การบังคับค้าบริการทางเพศถือได้ว่าเป็นความผิดอาญา หากผู้เสียหายให้ความร่วมมือในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนในฐานะพยานในคดีอาญา ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะเป็นผู้จ่ายให้ภายในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท

7. สิทธิที่จะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องเงินค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำผิดได้ โดยผู้เสียหายแจ้งความประสงค์ต่อกระทรวง พม. ซึ่งจะได้แจ้งต่อพนักงานอัยการให้ดำเนินการในระหว่างการดำเนินคดี จำนวนเงินที่จะได้รับขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาล

 

สุไรมาน (ทางซ้าย) กำลังพูดคุยกับชาวโรฮิงญาที่หนีรอดจากขบวนการค้ามนุษย์ 

ชีวิตที่ไม่มีทางเลือกของชาวโรฮิงญา บทบาทของนานาชาติในการยุติการค้ามนุษย์

“หากพวกเขามีความหวังว่าจะสามารถกลับไปยังเมียนมาร์ได้ พวกเขาจะไม่เสี่ยงพาตัวเองไปประเทศไทย มาเลเซีย หรือที่อื่นๆ แต่เมื่อพวกเขาไม่เห็นความหวัง  พวกเขาก็พร้อมที่จะเสี่ยงชีวิตเพื่อไปทุกที่ เพราะพวกเขาต้องการมีชีวิตอยู่”

ซอ วิน (Zaw Win) ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรพัฒนาเอกชน Fortify Rights  เขาทำงานคลุกคลีอยู่กับชุมชนชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศและเมียนมาร์ เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและสถานะพลเมืองให้กับชาวโรฮิงญา

สถานการณ์ในค่ายผู้ลี้ภัยเมือง Cox's Bazar ตอนนี้ซอวินเล่าว่า ชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยถูกจำกัดสิทธิ์ในหลายเรื่องยกตัวอย่างเช่นการเดินทาง หากมีใครเกิดเจ็บป่วยและไม่สามารถเข้ารับการรักษาภายในแคมป์ของตน พวกเขาไม่สามารถไปรักษาตัวในสถานพยาบาลอื่นๆ ได้ ถ้าไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในเรื่องการศึกษา ชาวโรฮิงญาได้รับอนุญาตให้มีการศึกษาได้ถึงแค่ระดับประถมเท่านั้น ปัจจัยเหล่านี้จึงดึงดูดให้ชาวโรฮิงญาหลุดออกจากระบบการศึกษา ทั้งชาวโรฮิงญาไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน รวมทั้งทำการค้าขายภายในค่ายผู้ลี้ภัย 

“ปัจจัยเหล่านี้บีบบังคับพวกเขาให้ออกจากแคมป์ ไม่มีงาน ไม่มีการศึกษา ไม่มีสิทธิ์ในการเดินทาง  บางคนบอกกับว่าสถานการณ์ในแคมป์แย่กว่าในเมียนมาร์ สิ่งเหล่านี้บีบบังคับพวกเขาให้เสี่ยงชีวิตไปประเทศไทยหรือมาเลเซีย”

ซอวินได้วิพากษ์บทบาทของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ต่อการเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องชาวโรฮิงญาว่า นโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก เป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐเมียนมาร์สามารถกระทำอย่างไรก็ได้กับประชากรของตนเอง โดยที่ประเทศอื่นๆ อ้างแต่เพียงว่าไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงปัญหาเหล่านั้นได้

“มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย เหล่านี้เป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลในอาเซียน” ซอวินกล่าว “พวกเขาควรใช้มาตรการที่กดดันรัฐบาลเมียนมาร์มากกว่านี้ เพื่อให้ชาวโรฮิงญาได้กลับไปอยู่ที่บ้านเกิดของพวกเขาอย่างสงบสุข”

ในส่วนของนโยบายในประเทศไทย พุทธณี กางกั้น ผู้อำนวยการ The Fort พื้นที่สำหรับผู้นำการเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอดีตเธอเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรพัฒนาเอกชน Fortify Rights ที่เคยติดตามสถานการณ์การค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2558 อย่างใกล้ชิด

พุทธณีกล่าวว่าหลังเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลไทยมีพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ เพราะถูกกดดันจากนานาชาติ  มีการตั้งศูนย์ป้องกันการค้ามนุษย์ในหลายๆ หน่วยงานรัฐ แต่อย่างไรก็ตามพุทธณีมองว่าประเทศไทยยังคงถูกใช้เป็นทางผ่านสำหรับกลุ่มค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเสมอมา ด้วยหลายปัจจัยเช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ เพราะประเทศไทยอยู่ตรงกลางของภูมิภาค มีพรมแดนติดกับ 4 ประเทศคือ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ทั้งยังติดทะเล 2 ฝั่ง จึงถูกใช้เป็นทางผ่านสำคัญ

ต่อมาคือแรงผลักดันจากประเทศต้นทาง ทั้งสถานการณ์การณ์ความรุนแรงในเมียนมาร์ และสภาพความเป็นอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ  และสุดท้ายคือสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในประเทศไทย ก็เป็นอีกปัจจัยดึงดูดให้ชาวโรฮิงญาเข้ามาแสวงหาโอกาสในการทำงาน

“มันมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์เหมือนปี 2558 ซ้ำ”  พุทธณีกล่าว  “เพราะว่าแรงผลักยังคงอยู่ ยังมีชาวโรฮิงญาอีกนับล้านคน ที่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ฉะนั้นไทยจะถูกใช้เป็นพื้นที่ของขบวนการค้ามนุษย์ ถ้ารัฐบาลยังปิดตาอยู่แบบนี้”

พุทธณีกล่าวเสริมว่า รัฐบาลไทยมีอิทธิพลต่อรัฐบาลประเทศเมียนมาร์  เพราะพวกเขาต้องพึ่งพารัฐบาลไทยในหลายมิติทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยจึงควรใช้ข้อได้เปรียบตรงนี้ในการกดดันรัฐบาลเมียนมาร์ให้แก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญา 

ในอีกแง่หนึ่งพุทธณีก็บอกว่าการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเป็นปัญหาที่ท้าทายสำหรับทุกภาคส่วน เพราะตัวชาวโรฮิงญาเองก็ยอมให้ถูกละเมิดสิทธิ์ ขอเพียงแค่ตัวพวกเขาได้ไปถึงจุดหมายปลายที่ต้องการ ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลจากรายงาน Evolving Patterns, Unchanged Suffering: Rohingya Trafficking Trends in  2022 ของ Center For Operational Analysis And Research (COAR)  ที่ระบุว่า ชาวโรฮิงญาเต็มใจที่จะอนุญาตให้สมาชิกในครอบครัวเดินทางไปกับกลุ่มนายหน้าที่มักจะแสวงประโยชน์จากพวกเขา เพื่อแลกกับผลลัพธ์ที่จะได้กลับมา ทั้งภาระทางการเงินของครอบครัวที่ลดลง แหล่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นหากได้งานทำที่ต่างประเทศ แม้ว่าหลายคนรู้ดีถึงความเสี่ยงที่จะถูกจับกุม ถูกทุบตีและถูกข่มขืน

“พวกเขาขอแค่ไปถึงตรงนั้น เพื่อให้ได้มีชีวิตใหม่ ถ้าเลือกได้มันก็ไม่มีใครอยากถูกละเมิดสิทธิ์หรอก แต่คำว่าไปตายเอาดาบหน้ามันมีอยู่ เพราะถ้าพวกเขาไม่ไปมันก็ตายอยู่ดี” พุทธณีกล่าวในตอนท้าย

 

ชายชาวโรฮิงญาคนหนึ่งที่รอดจากขบวนการค้ามนุษย์ ปัจจุบันเขากำลังหาทางเดินทางไปพบกับพ่อและพี่ชายของเขาที่อาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประเทศไทย ประตูทางผ่านและที่หลบภัยของชาวโรฮิงญา

“ระหว่างที่ผมกำลังเดินทางออกมาจากออฟฟิศ เพื่อไปให้ความรู้ผู้คนที่อยู่ตามแคมป์ มีรถสีดำจอดและดึงตัวผมขึ้นรถ”

กระบวนการค้ามนุษย์โดยการลักพาตัวลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ อ้างอิงรายงานการสอบสวนคดีอาญาที่ 148/2558  คดีการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา พบข้อมูลว่ามีผู้เสียหายชาวโรฮิงญาจากการค้ามนุษย์อย่างน้อย 14 คน ที่ถูกลักพาตัว กระบวนการเช่นนี้ยังคงอยู่แม้เวลาจะผ่านมา 8 ปีแล้ว

มูฮัมหมัด (Muhammad) ชายชาวโรฮิงญาวัย 20 ปี คืออีกหนึ่งคนที่ถูกกลุ่มค้ามนุษย์ลักพาตัวออกมาจากค่ายผู้ลี้ภัย Cox's Bazar เพื่อหวังที่จะไถ่เงินและหยุดยั้งไม่ให้เขาทำงานอาสาสมัครให้ความรู้ผู้คนเรื่องการค้ามนุษย์ภายในค่ายผู้ลี้ภัย

มูฮัมหมัดไม่สามารถแยกแยะได้ว่ากลุ่มคนที่จับตัวเขามานั้นเป็นชนชาติใด แต่จากภาษาเขาสันนิษฐานว่าเป็นชาวบังกลาเทศหรือไม่ก็เป็นชาวโรฮิงญา 

เขาถูกลักพาตัวในช่วงเดือน พ.ย. 2565 ถูกส่งตัวจนมาถึงเมืองย่างกุ้ง และสามารถหลบหนีออกมาได้ เขาเข้าไปขอความช่วยเหลือจากชุมชนมุสลิมที่อยู่ในละแวกนั้น และได้ทำการติดต่อลุงของเขาที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ประเทศไทย

“ผมจ่ายเงิน 2 ล้านจัต เพื่อที่จะข้ามมาฝั่งไทย”

มูฮัมหมัดบอกว่าถ้าเลือกได้เขาอยากกลับไปหาครอบครัวของเขาที่ค่ายผู้ลี้ภัย  Cox's Bazar แต่ด้วยจำนวนเงินที่ต้องจ่ายสูงถึง 5 แสนตากาบังกลาเทศ (ประมาณ 160,000 บาท) ทำให้เขาตัดสินใจข้ามมายังฝั่งประเทศไทยเพื่อความปลอดภัย

“ผมอยากกลับไปอยู่กับพ่อแม่ ผมภาวนากับพระเจ้าอยู่ตลอดให้ช่วยผมออกไปจากตรงนี้”

ชีวิตของมูฮัมหมัดในประเทศไทยเป็นไปด้วยความยากลำบาก ด้วยการที่ไม่มีสถานะพลเมือง ทำให้ไม่สามารถหางานประจำทำได้ เขาต้องเช่าห้องพักอยู่กับเพื่อนชาวโรฮิงญาอีก 4 คนในพื้นที่เขตชายแดนไทย-พม่า เพื่อหลบซ่อนจากเจ้าหน้าที่รัฐไทย มากไปกว่านั้นเขายังบอกเล่าถึงนิ้วมือข้างหนึ่งที่มีปัญหาจากการถูกกลุ่มค้ามนุษย์ทุบตี 

จากปี 2558 ถึง 2566 เป็นเวลาอย่างน้อย 8 ปีที่ชาวโรฮิงญาถูกล่อลวงจากกลุ่มการค้ามนุษย์ พวกเขาพยายามเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยคือความเจ็บปวดที่ชาวโรฮิงญาต้องถูกกระทำจากการค้ามนุษย์ 

หมายเหตุ : 

  • ทางผู้จัดทำได้มีการปกปิดชื่อ-นามสกุลจริง ของชาวโรฮิงญาที่เป็นผู้เสียหายในกระบวนการค้ามนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในงานชิ้นนี้ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
  • เรื่องราวนี้จัดทำขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิ Thomson Reuters เนื้อหาเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนและผู้จัดพิมพ์แต่เพียงผู้เดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net