Skip to main content
sharethis

นักศึกษาสวีเดนผู้โดยสารเที่ยวบินประท้วงในเครื่องที่กำลังจะส่งผู้ขอลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานกลับประเทศ โดยเธอไม่นั่งจนกว่าจะยกเลิกการส่งตัวกลับไปเผชิญชะตากรรมเลวร้ายในประเทศต้นทาง โฆษกตำรวจเผย ไม่ส่งวันนี้ก็หาทางส่งกลับวันหน้า ประท้วงได้ไม่ผิดกฎหมายอาญา แต่สายการบินอาจฟ้องแพ่ง

เอลิน แอร์สัน นักศึกษาที่ประท้วงบนเครื่องบิน (ที่มา: BBC)

เมื่อ 26 ก.ค. 2561 เดอะการ์เดียนรายงานว่านักศึกษาอายุ 21 ปีชาวสวีเดนที่ชื่อ เอลิน แอร์สัน ประท้วงบนเครื่องบินที่สนามบินโกเธนเบิร์ก หลังจากทราบว่าบนเครื่องบินที่เธอโดยสารมีการส่งตัวผู้ขอลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานคนหนึ่งกลับประเทศโดยทางการสวีเดน ทำให้แอร์สันประท้วงเรื่องนี้ด้วยการไม่ยอมนั่งลงในที่นั่งของตัวเองจนกว่าจะมีการยกเลิกส่งตัวชายคนนี้กลับประเทศ

วิดีโอของแอร์สันขณะที่เธอไลฟ์สด (ที่มา: Youtube/ Atila Altuntas)

ขณะที่การประท้วงของเธอประสบผลสำเร็จโดยการที่ทางเครื่องบินไม่ส่งตัวชายคนดังกล่าวกลับประเทศ อีกทั้งวีรกรรมของเธอยังมีการนำเสนอแพร่หลายอย่างรวดเร็วไปทั่วอินเทอร์เน็ตจากการที่เธอไลฟ์สดการประท้วงของเธอบนเครื่องบินมีผู้รับชมมากกว่า 4 ล้านวิว ในขณะเดียวกันก็สะท้อนปัญหาระบบการขอลี้ภัยที่เข้มงวดเกินไปของสวีเดน

แอร์สันให้สัมภาษณ์ต่อเดอะการ์เดียนว่าเธอหวังว่าผู้คนจะเริ่มตั้งคำถามว่าประเทศพวกเขาปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยอย่างไร และพวกเขาควรจะมองเห็นว่านโยบายผู้อพยพของประเทศพวกเขาทำลายชีวิตใครไปบ้าง

การประท้วงของเธอเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมาก็มีทั้งผู้โดยสารที่เห็นด้วยและต่อต้าน แต่แอร์สันก็พยายามรักษาท่าทีของตัวเองและปกป้องจุดยืนในการประท้วงของตัวเองไปด้วย ตอนที่เจ้าหน้าที่บนเครื่องบินบอกให้เธอหยุดถ่ายไลฟ์ แอร์สันก็บอกว่าเธอแค่กำลังพยายามช่วยชีวิตคน มีผู้โดยสารที่ไม่พอใจพยายามแย่งโทรศัพท์เธอทำให้แอร์สันบอกว่าสิ่งที่เธอทำคือเธออยากเปลี่ยนกฎเกณฑ์ของประเทศตัวเอง "ฉันไม่ชอบมัน คนเราไม่มีสิทธิจะส่งคนไปนรก"

หลังจากการเผชิญหน้าอย่างตึงเครียดเจ้าหน้าที่สนามบินก็ไม่ยอมใข้กำลังเพื่อนำตัวแอร์สันออกไป และผู้ขอลี้ภัยก็ถูกนำตัวออกจากเครื่องบินไม่ถูกส่งตัวกลับทำให้ผู้โดยสารพากันปรบมือ

แอร์สันบอกว่าเธอเคยทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับกลุ่มผู้ลี้ภัยมาก่อน การที่เธอได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ลี้ภัยนั้นทำให้เธอรับรู้ว่าประชาชนในอัฟกานิสถานใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่ปลอดภัยในระดับที่ไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้พวกเขาจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ เธอบอกอีกว่าประเทศที่ร่ำรวยกว่าโดยเฉพาะสวีเดนควรจะทำได้ดีกว่านี้ในการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัย

มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลพรรคแนวร่วมฝ่ายซ้ายกลางของสวีเดนเริ่มมีท่าทีปฏิเสธผู้ลี้ภัยมากขึ้นหลังเกิดเหตุมีคนขับรถบรรทุกพุ่งชนกลุ่มคนในสต็อกโฮล์มที่ทำให้มีคนเสียชีวิต 5 ราย โดยมีการกล่าวหาว่าชาวอุซเบกิสถานที่ต้องการขอลี้ภัยเป็นผู้ก่อเหตุ ทั้งนี้ผู้ถูกกล่าวหาได้ให้การปฏิเสธ หลังจากที่การโจมตีของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานหนักข้อขึ้นรัฐบาลก็พยายามมีท่าทีผ่อนปรนลง แต่กรรมการฝ่ายคนเข้าเมืองของสวีเดนก็ยังคงยืนยันว่าอัฟกานิสถานเป็น "ประเทศที่ปลอดภัย" ถึงแม้ว่าจะมีเหตุก่อการร้ายวางระเบิดรถพยาบาลในกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน จนมีผู้เสียชีวิตไป 95 รายก็ตาม

ในสวีเดนมีการโอนงานด้านการส่งตัวผู้ขอลี้ภัยไม่สำเร็จกลับประเทศให้กับตำรวจ โดยหลังจากที่มีผู้ขอลี้ภัยในสวีเดน 163,000 ราย ในปี 2558 เมื่อปี 2560 ก็มีการส่งตัวคนกลับประเทศ 12,500 ราย และในปีนี้จำนวนการส่งตัวกลับได้เพิ่มมากขึ้นเล็กน้อย

โฆษกของตำรวจท้องที่ตะวันตกในสวีเดนกล่าวว่าส่วนใหญ่แล้วการส่งตัวกลับประเทศจะเป็นไปอย่างสงบ เว้นแต่มีบางกรณีที่ผู้ขอลี้ภัยขัดขืนหรือมีการประท้วงแบบแอร์สัน ถ้าเกิดกรณีเช่นนี้พวกเขาก็จะหาทางส่งตัวกลับประเทศในภายหลังด้วยการเช่าเครื่องบินส่วนตัว อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ทางการสวีเดนมองว่าการประท้วงของแอร์สันไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายอาญา แต่เป็นกรณีคดีแพ่งที่ต้องให้สายการบินเองเป็นผู้พิจารณาว่าจะฟ้องร้องเธอหรือไม่

เรียบเรียงจาก

Swedish student's plane protest stops Afghan man's deportation 'to hell', The Guardian, Jul. 26, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net