Skip to main content
sharethis

ตัวแทนสมัชชาคนจนปากมูล-ชาวบ้านที่กระทบจากเขื่อนหัวนาเดินขบวนเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่าง ครม. สัญจรที่อุบลฯ ร้องแก้ปัญหาประเด็นเขื่อนหัวนา-เขื่อนปากมูล-น้ำลำโดมเน่าจากโรงงาน พกธนูไว้ยิงส่งหนังสือหากถูกสกัด ด้านภาครัฐ-สำนักนายกฯ รับข้อเรียกร้องไว้ดำเนินการต่อ

เมื่อ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา เวลา  7.30 น. ตัวแทนสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูลตั้งขบวนเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ม.อบ.) มุ่งหน้าไปยังโรงแรมยูเพลสอันเป็นสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่มีขึ้นในวันที่ 23-24 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

กฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูลกล่าวกับประชาไทว่า แต่เดิมจะมีผู้ร่วมเดินขบวนอีกกลุ่มคือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา ต.โนนสังข์ จ.ศรีสะเกษ เดินทางมาสมทบก่อนจะเดินขบวนที่ ม.อบ. แต่ต้องยกเลิกและเดินกันเพียง 13 คน เพราะกลุ่มจากศรีสะเกษถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามนั่งรถมาด้วย

กลุ่มตัวแทนสมัชชาคนจนได้นำธนู 18 คัน พร้อมไม้ใช้แทนลูกธนู เอาไว้ใช้ในกรณีที่เดินทางไปถึงแล้วถูกกั้นไม่ให้เข้าพบนายกฯ จะได้นำหนังสือข้อเรียกร้องพันกับลูกธนูแล้วยิงเข้าไป

ทั้งนี้ ขบวนเดินทางถึงแยกด้านหน้า ม.อบ. ที่จะทะลุไปยังโรงแรมยูเพลส ก็ถูกสกัดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นเกิดการต่อรองเพื่อเปิดการเจรจา ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดห้องเจรจาในที่ทำการสำนักงานเทศบาลตำบลศรีไค

กลุ่มประชาชนมีข้อเรียกร้องในประเด็นปัญหาสามประการ ดังนี้

1.  กรณีเขื่อนหัวนา ที่สร้างเมื่อปี 2535 เริ่มเก็บน้ำในปี 2536 จนบัดนี้ 26 ปี กระบวนการจ่ายค่าชดเชยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในพื้นที่ 725 แปลงยังไม่แล้วเสร็จ
a.    เรียกประชุมคณะอนุกรรมการสืบเสาะราคาค่าทดแทนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ โครงการฝายหัวนา เพื่อพิจารณากำหนดราคาค่าชดเชยที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์โดยเร็ว
i.    ที่ผ่านมามีการจัดทำรายชื่อราษฎรที่ถูกเขตชลประทานโครงการฝายหัวนา ตามแผนที่ ร.ว. 43 ก. ในเขต 114 ม.รทก. ในพื้นที่อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 725 แปลง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการดำเนินงานตรวจสอบพื้นที่เมื่อปี 2554-2556 โดยข้อมูลดังกล่าวสามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม คือที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ (โฉนด) และที่ดิน “ทค.” (ที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์)
ii.    ที่ดิน ทค. นั้นกำหนดอัตราค่าชดเชยที่ดินแล้วที่ 45,000 บาท แต่ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ยังไม่มีการกำหนดค่าชดเชยไว้
b.    ให้ปรับปรุงองค์ประกอบในคณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา โดยมีตัวแทนของกลุ่มราษฎรบ้านโนนสังข์เข้าร่วมด้วยคณะละสามคน
c.    ให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เร่งดำเนินการตรวจสอบที่ดินที่ยังตกหล่นจำนวน 34 แปลงโดยเร็ว
 

2. ปัญหาน้ำลำโดมเน่าเสีย เนื่องจากปี 2558 เกิดปัญหาคันบ่อบำบัดน้ำเสียของบริษัทอุบลเกษตรพลังงาน จำกัดแตกทำให้น้ำเสียปริมาณ 500,000 ลูกบาศก์เมตรไหลลงสู่ลำโดมใหญ่ ส่งผลให้น้ำในลำโดมใหญ่เน่าเสียทั้งลำน้ำและทำให้สัตว์น้ำจำพวกปลา กุ้งตายลงเป็นจำนวนมาก  แม้ต่อมามีการตรวจสอบและให้บริษัทฯ แก้ไข ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียและฟื้นฟูลำโดมใหญ่ แต่ก็ยังมีปัญหาน้ำเน่าในช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. ของทุกปี ทำให้สัตว์น้ำตายจำนวนมาก  น้ำเน่าจากลำโดมใหญ่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของแม่น้ำมูน ระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำมูน มีผลกระทบโดยตรงต่อคนหาปลาปากมูน

สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ข้อเรียกร้องให้ รัฐบาลดำเนินการ ดังนี้
1.    ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างบริษัทฯ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เข้าร่วมเป็นกรรมการในสัดส่วนที่เท่ากัน
2.    ให้บริษัทเปิดเผยแผนงานการแก้ไขปัญหา รวมถึงมาตรการลดผลกระทบที่เกิดจากความผิดพลาดของโรงงาน
3.    ให้บริษัทฯ เปิดให้สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย นักวิชาการ และสื่อมวลชน เข้าไปตรวจดูระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานได้

3. กรณีให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูลที่ไม่ลุล่วง สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ได้พยายามประสานงานกับทางสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล มาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ด้วยข้อติดขัดที่อ้างว่าเขื่อนปากมูล เป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงพลังงาน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ได้เพียงแค่การประสานงานเท่านั้น

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล จึงได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงพลังงาน เพื่อขอเปิดการเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และต่อมาวันที่ 5 มิ.ย. 2561 กระทรวงพลังงานได้มีหนังสือที่ พน 0207/350  แจ้งผลการดำเนินการตามหนังสือยื่นของสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล โดยอ้างข้อมูลที่เป็นเท็จว่า “คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ยังดำเนินการอยู่” ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว คณะกรรมการอำนวยการ ฯ ไม่ได้มีการดำเนินการใด เลย นับตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.2559 จนถึงปัจจุบัน และเนื่องจากการที่คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล อยู่ในสภาพที่องค์ประกอบไม่สมบูรณ์ จึงทำให้ไม่สามารถประชุม หรือดำเนินการอะไรได้เลย ทำให้การแก้ไขปัญหาชะงักลง 

ในขณะที่การบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าคือเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เพื่อให้ปลาจากแม่น้ำโขง สามารถเดินทางข้ามเขื่อนปากมูล เข้ามาสู่แม่น้ำมูน ก็ดำเนินการไปตามอำเภอใจ ของกฟผ. และ จังหวัดอุบลราชธานี โดยไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการอำนวยการ ฯ กำหนดไว้เลย ดังเช่นการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในปีนี้ ( ปี 2561) ที่ควรจะต้องเปิดประตูระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2561 ซึ่งเป็นวันที่ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคาม มีระดับ 95 ม.รทก. ซึ่งตรงตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการอำนวยการ ฯ กำหนดไว้ แต่กลับมาเริ่มยกบานประตูเขื่อนปากมูลในวันที่ 21 ก.ค. 2561 ในขณะที่ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคาม มีระดับ 100.82 ม.รทก. และอัตราการไหลของน้ำที่สถานี M7 อยู่ที่ 804 ลบ.ม./วินาที อันเป็นการฉีกหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการอำนวยการ ฯ กำหนดและตกลงไว้อย่างชัดเจน จนทำให้ชาวบ้านจำนวนกว่า 5,800 ครอบครัวต้องขาดโอกาสในการจับปลากว่า 35 วัน เป็นรายได้ที่หายไปกว่า 101,500,000 บาท (5,800 ครอบครัว ๆ ละ 500 บาท จำนวน 35 วัน) อันเกิดจากการบริหารราชการที่ผิดพลาด ล้มเหลวของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีด้วย

นอกจากการเปิดประตูเขื่อนปากมูลล่าช้าแล้ว ประมงจังหวัดอุบลราชธานี ยังทำการคุกคามชาวบ้านด้วยการสั่งห้ามไม่ให้จับปลาอีกด้วย จึงนับได้ว่าเป็นการรังแกประชาชนทุกทาง โดยมีเจตนาปิดกั้น ตัดมือ ตัดตีน ชาวบ้านไม่ให้ทำมาหากิน เสมือนหนึ่งต้องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ให้คนหาปลาสิ้นซากไปจากแผ่นดินนี้

ดังนั้นหากรัฐบาลยังเห็นว่าชาวบ้านปากมูน ยังเป็นประชาชนคนไทย สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ขอเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการดังนี้ 1. เปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่าง รมว.พลังงาน กับตัวแทนสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เพื่อดำเนินการ ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังนี้ a. จ่ายค่าเยียวยาความเสียหายให้กับชาวบ้านครอบครัวละ 310,000  บาท b. ทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เป็นเวลา 5 ปี  และ 2. ให้รัฐบาลสั่งการให้ประมงจังหวัดอุบลราชธานี ยุติการคุกคามชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมง ทันที

กฤษกร ให้ข้อมูลว่า หลังจากเจรจากับหน่วยงานภาครัฐ ตัวแทนชาวบ้าน และสำนักนายกฯ ท่ามกลางการร่วมสังเกตการณ์ของทหารจากมณฑลทหารบกที่ 22 ได้ข้อสรุป ดังนี้

1. กรณีเขื่อนหัวนา  a. กำหนดให้มีการประชุมอนุกรรมการสืบเสาะราคาที่ดิน ที่มีเอกสารสิทธิ์ ในวันที่ 26 ก.ค. 2561  b. ให้ปรับปรุงองค์ประกอบในคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ โดยมีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มโนนสังข์ร่วมด้วยคณะละ 3 คน  และ c.จะดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ ที่ตกหล่น ในเดือนตุลาคม 2561 

2. กรณีปัญหาน้ำลำโดมใหญ่เน่าเสีย จะมีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ และชาวบ้านที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายใน ส.ค. 2561

3. กรณีเขื่อนปากมูล 3.1 จะมีการเจรจาระหว่างตัวแทนสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล กับกระทรวงพลังงาน ภายในเดือนสิงหาคม 2561 และ  3.2 จะผ่อนปรนประกาศห้ามจับปลาฤดูน้ำแดง (ฤดูที่ปลาวางไข่ ราวเดือน พ.ค.-ก.ย. ที่มา: กรมประมง) ให้กับชาวบ้านในพื้นที่อ.โขงเจียม อ.สิรินธร และ อ.พิบูลมังสาหารสามารถจับปลาได้ โดยให้งดจับปลาเดือนละ 4 วัน ทุกวันพระ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net