Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนหัวนายื่นหนังสือ รมต.เกษตรฯ ค้านก่อสร้างผนังกั้นน้ำบริเวณเขื่อนหัวนา จี้ยุติการดำเนินการนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.สัญจร จนกว่าจะมีการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาให้ผู้เดือนร้อนอย่างเป็นรูปธรรม แสดงความจริงใจ

วันที่ 29 ก.ค.55 ตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนหัวนายื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างผนังกั้นน้ำบริเวณเขื่อนหัวนา ทั้งหมด ทุกพื้นที่ ต่อ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และขอให้ยุติการดำเนินการนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.สัญจร วันที่ 30 ก.ค.55 นี้ จนกว่าจะมีการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาให้ราษฎรผู้เดือนร้อนทุกคน ทุกกลุ่ม ให้แล้วเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบร่วมกันกับภาคประชาชนเสียก่อน เพื่อแสดงความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างแท้จริง

จดหมายดังกล่าว ระบุว่า จากการที่ชาวบ้านผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนหัวนา รับทราบข้อมูลจากนักข่าวภายในจังหวัดศรีเกษ ว่าจะมีการก่อสร้างผนังกั้นน้ำ (DIKE) บริเวณพื้นที่เขื่อนหัวนาจำนวนกว่า 21 จุด และบริเวณเขื่อนราษีไศลอีกหลายจุด ซึ่งเป็นเงินงบประมาณกว่า 1,391 ล้านบาท ตามเอกสารของสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นโครงการที่ถูกนำเสนอโดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง โดยกรมชลประทาน
 
ขณะนี้กรมชลประทานได้มีการจัดจ้างบริษัทเอกชนในการก่อสร้างทำนบดินกั้นลำน้ำมูล วงเงิน 78 ล้านบาท โดยที่ไม่ได้มีการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้กับทางเครือข่ายชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาได้รับทราบเรื่องมาก่อน ทั้งที่มีช่องทางการสื่อสารมีอยู่มากมาย ซึ่งหากจะนับระยะเวลาที่ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนหัวนาให้แล้วเสร็จก่อนจะมีการปิดประตูเขื่อน เป็นเวลานานกว่า 14 ปีมาแล้ว
 
“วันนี้เราเริ่มมีความเชื่อที่ว่ากรมชลประทานไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ร่วมกันอย่างแท้จริง เพราะวันนี้การก่อสร้างผนังกั้นน้ำบริเวณเขื่อนหัวนาที่เราได้พูดคุยเจรจากับกรมชลประทานและรัฐบาลมาตลอด ว่าจะไม่มีการสร้างผนังกั้นน้ำอย่างแน่นอน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานานอกอ่างเหมือนกรณีเขื่อนราษีไศลที่กำลังประสบปัญหาและแก้ไขไม่แล้วเสร็จมาจนถึงปัจจุบันนี้” จดหมายระบุ
 
จดหมายระบุด้วยว่า การดำเนินการเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาของกรมชลประทานที่ผ่านมากล่าวอ้างเสมอว่าไม่มีงบประมาณ ต้องรอให้มีงบประมาณก่อน แต่กรณีการถมลำน้ำมูนเดิมที่ใช้งบประมาณมากกว่า 78 ล้านบาท กลับมีงบประมาณในการก่อสร้างโดยไม่ต้องรอ และแผนการก่อสร้างผนังกั้นน้ำกรมชลประทานกลับมีช่องทางผันงบประมาณมาก่อสร้าง โดยการนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.สัญจร อนุมัติงบประมาณ วันที่ 30 ก.ค.55 ที่ จ.สุรินทร์
 
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมกรณีเขื่อนหัวนา ที่ผ่านความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรี วันที่ 27 เม.ย.53 ชี้ชัดว่าโครงการเขื่อนหัวนามีผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นและราษฎรในพื้นที่จริง พื้นที่กว่า 13,200 ไร่ จะถูกน้ำท่วมถาวร พื้นที่กว่า 37,900 ไร่ จะมีน้ำท่วมนานมากขึ้นเป็นระยะเวลา 1-3 เดือน เป็นต้น
 
“พวกเราในนามกลุ่มองค์กรเครือข่ายชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา ถือว่าการนำเสนอโครงการก่อสร้างผนังกั้นน้ำ ในครั้งนี้ พวกเรากำลังถูกละเมิดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการ และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกขั้นตอนอีกครั้ง ทั้งที่เรื่องดังกล่าวมีผลกระทบต่อพวกเราโดยตรง และมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเรา
 
วันนี้ปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนาทำให้พวกเรานอนไม่หลับ เกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก สุขภาพจิตไม่ปรกติ พวกเรามีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ปกติสุขเรื่อยมา เราต้องเสียเวลา เสียทรัพย์สินส่วนตัว เพื่อออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เรา “ไม่ได้เป็นคนสร้าง” มานานกว่า 14 ปี หากหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชน รัฐบาลและหน่วยงานราชการที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้ควรที่จะให้ความสำคัญในความเดือดร้อนของพวกเราให้มากกว่านี้” จดหมายระบุ
 
 
 
 
สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา
๔๔ ม.๔ บ.ใหญ่ ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ๓๓๑๖๐
 
ที่ สคจ.หัวนา ๑/๒๕๕๕
 
๒๙ มกราคม ๒๕๕๔
 
เรื่อง ขอคัดค้านการก่อสร้างผนังกั้นน้ำ (DIKE) บริเวณเขื่อนหัวนาทั้งหมด ทุกพื้นที่ ทุกอำเภอ
           
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายธีระ วงศ์สมุทร)
 
จากการที่ชาวบ้านผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนหัวนา ในนามกลุ่มองค์กรเครือข่ายชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา ได้ทราบเรื่องจากนักข่าวภายในจังหวัดศรีเกษ ว่าจะมีการก่อสร้างผนังกั้นน้ำ (DIKE) บริเวณพื้นที่เขื่อนหัวนาจำนวนกว่า ๒๑ จุด และบริเวณเขื่อนราษีไศลอีกหลายจุด ซึ่งเป็นเงินงบประมาณกว่า ๑,๓๙๑ ล้านบาท (ตามเอกสารของสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ) ซึ่งพวกเราเชื่อว่าเป็นโครงการที่ถูกนำเสนอโดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง โดยกรมชลประทาน อย่างแน่นอน ขณะนี้กรมชลประทานได้มีการจัดจ้างบริษัทในการก่อสร้างทำนบดินกั้นลำน้ำมูล วงเงิน ๗๘ ล้านบาท โดยที่กรมชลประทานไม่ได้มีการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้กับทางกลุ่มองค์กรเครือข่ายชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาได้รับทราบเรื่องมาก่อน ทั้งที่มีช่องทางการสื่อสารมีอยู่มากมาย ซึ่งหากจะนับระยะเวลาการออกมาเคลื่อนไหวในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนหัวนาให้แล้วเสร็จก่อนจะมีการปิดประตูเขื่อน เป็นเวลานานกว่า ๑๔ ปีมาแล้ว
 
วันนี้เราเริ่มมีความเชื่อที่ว่ากรมชลประทานไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ร่วมกันอย่างแท้จริง เพราะวันนี้การก่อสร้างผนังกั้นน้ำบริเวณเขื่อนหัวนาที่เราได้พูดคุยเจรจากับกรมชลประทานและรัฐบาลมาตลอด ว่าจะไม่มีการสร้างผนังกั้นน้ำอย่างแน่นอน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานานอกอ่างเหมือนกรณีเขื่อนราษีไศลที่กำลังประสบปัญหาและแก้ไขไม่แล้วเสร็จมาจนถึงปัจจุบันนี้
 
การดำเนินการเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาของกรมชลประทานที่ผ่านมากล่าวอ้างเสมอว่าไม่มีงบประมาณ ต้องรอให้มีงบประมาณก่อน แต่กรณีการถมลำน้ำมูนเดิมที่ใช้งบประมาณมากกว่า ๗๘ ล้านบาท กรมชลประทานกลับมีงบประมาณในการก่อสร้างโดยไม่ต้องรอ และแผนการก่อสร้างผนังกั้นน้ำกรมชลประทานกลับมีช่องทางผันงบประมาณมาก่อสร้าง โดยการนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.สัญจร อนุมัติงบประมาณ วันที่ ๓๐ ก.ค.๕๕ ที่ จ.สุรินทร์ ต่อจากนี้ไปเราจะสามารถเชื่อถือหน่วยงานกรมชลประทาน ซึ่งนำการบริหารกระทรวง โดย ท่านธีระ วงศ์สมุทร ได้มากน้อยเพียงใด ?
 
ปัจจุบัน การแก้ปัญหาเรื่องจ่ายค่าชดเชย และปัญหาอื่นให้ราษฎร ผู้ที่คาดว่าจะเดือนร้อนน้ำท่วมที่ดินทำกินจากการสร้างเขื่อนหัวนา ยังไม่มีความคืบหน้า และยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชย ถ้าหากมีการก่อสร้างผนังกั้นน้ำ (DIKE) ก็จะทำให้เกิดปัญหา “นานอกอ่าง” เหมือนกับเขื่อนราษีไศล ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกันไม่สิ้นสุด และทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการแก้ไขปัญหามากกว่างบประมาณในการก่อสร้าง นับว่าไม่คุ้มทุนในการก่อสร้าง ซึ่งเงินงบประมาณเหล่านั้นก็มาจากเงินภาษีของพวกเราด้วยเช่นกัน
 
จากผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมกรณีเขื่อนหัวนา ที่ผ่านความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ ชี้ชัดว่าโครงการเขื่อนหัวนามีผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นและราษฎรในพื้นที่จริง พื้นที่กว่า ๑๓,๒๐๐ ไร่ จะถูกน้ำท่วมถาวร พื้นที่กว่า ๓๗,๙๐๐ไร่ จะมีน้ำท่วมนานมากขึ้นเป็นระยะเวลา ๑-๓ เดือน เป็นต้น
 
พวกเราในนามกลุ่มองค์กรเครือข่ายชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา ถือว่าเหตุการณ์นำเสนอโครงการก่อสร้างผนังกั้นน้ำ (DIKE) ในครั้งนี้ พวกเรากำลังถูกละเมิดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการ และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกขั้นตอนอีกครั้ง ทั้งที่เรื่องดังกล่าวมีผลกระทบต่อพวกเราโดยตรง และมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเรา วันนี้ปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนาทำให้พวกเรานอนไม่หลับ เกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก สุขภาพจิตไม่ปรกติ พวกเรามีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ปกติสุขเรื่อยมา เราต้องเสียเวลา เสียทรัพย์สินส่วนตัว เพื่อออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เรา “ไม่ได้เป็นคนสร้าง” มานานกว่า ๑๔ ปี หากหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชน รัฐบาลและหน่วยงานราชการที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้ควรที่จะให้ความสำคัญในความเดือดร้อนของพวกเราให้มากกว่านี้
 
ดังนั้นเราจึงคัดค้านการก่อสร้างผนังกั้นน้ำ (DIKE) บริเวณเขื่อนหัวนาทั้งหมด ทุกพื้นที่ ทุกอำเภอ ทุกตำบล และขอให้ยุติการดำเนินการนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. สัญจร วันที่ ๓๐ ก.ค.๕๕ นี้ จนกว่าจะมีการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาให้ราษฎรผู้เดือนร้อนทุกคน ทุกกลุ่ม ให้แล้วเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม และจะต้องมีการศึกษาผลกระทบร่วมกันกับภาคประชาชนเสียก่อน เพื่อแสดงความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างแท้จริง
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและโปรดพิจารณา
 
ขอแสดงความนับถือ
 
             (นายบุญเกิด กตะศิลา)                  (นางสำราญ สุรโคตร)                  
ประธานเครือข่ายฮักแม่มูน              สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา    
 
 
 (นางสุภาพร บุตรวงษ์)                              (น.ส.วันทอง บุตรวงศ์ )
สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา     สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net