Skip to main content
sharethis

สนช.ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 3 วาระรวด ถวายคืนพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม

การประชุม สนช. (แฟ้มภาพ)

5 ก.ค.2561 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยมี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงสาระสำคัญของการจัดทำร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ต่อที่ประชุม สนช. จากนั้นที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์ 217 คะแนน เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยการพิจารณาของ สนช.นั้นไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาเป็นการเฉพาะ แต่ได้พิจารณาสามวาระทั้งวาระรับหลักการ การพิจารณาเป็นรายมาตรา และให้ความเห็นชอบไปในคราวเดียวกัน

    โพสต์ทูเดย์ รายงานมีสาระสำคัญ ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า คือ มาตรา 3 ที่บัญญัติว่า เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแลการปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่หลักของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)

    องค์ประกอบของมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควรและจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองสงฆ์ ซึ่งการแต่งตั้งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้

    สำหรับกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจะได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ ส่วนการพ้นจากตำแหน่งนั้นนอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว ยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมรณภาพ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ ลาออก พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้ออก

    วานนี้ (4 ก.ค.61) มีกลุ่มเครือข่ายองค์กรพุทธเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อขอให้ สนช. ระงับการพิจารณา ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และเข้าชื่อนำส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.77 และ ม.148 แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ด้วย

    ทั้งนี้ เมื่อ 29 ธ.ค.2559 สนช. ก็มีมติผ่าน 3 วาระรวด เห็นชอบการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ แล้วครั้งหนึ่ง โดยถวายคืนพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยเป็นการแก้ไขจากกฎหมายฉบับเดิมคือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ในมาตรา 7 ที่กำหนดให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช จะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมก่อน โดยให้ที่ประชุมมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ร่างที่ สนช.เสนอแก้ไขนี้ เสนอมาตรา 3 ให้เป็นการแก้ไขมาตรา 7 ดังกล่าว บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

    ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

    ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net