Skip to main content
sharethis

เครือข่ายองค์กรพุทธฯ ร้อง สนช.ระงับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เข้าชื่อนำส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ เปิดผลการรับฟังความเห็นประเด็นพระราชอำนาจ ขณะที่ 'วิษณุ' เผย ส่งถึง สนช.เรียบร้อยแล้ว ไม่เปิดความคิดเห็น ตามกระแสเรียกร้องบางฝ่าย

 
 
4 ก.ค.2561 เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความปกป้องพระพุทธศาสนา และองค์กรสื่อสารมวลชนพระพุทธศาสนา พร้อมด้วย ประพันธุ์ กิตติฤดีกุล ผู้ประสานงานชมรมพิทักษ์พระพุทธศาสนา และเครือข่ายองค์กรพุทธทั่วประเทศยื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานสภานิติบัญญํติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้ สนช. ระงับการพิจารณา ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และเข้าชื่อนำส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.77 และ ม.148 แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 
 
สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานถึง เหตุผลที่กลุ่มดังกล่าวเรียกร้องให้ยุติการพิจารณาและตีตกร่างกฎหมายดังกล่าวไป เพราะมีเนื้อหาที่ผิดวินัยสงฆ์อย่างร้ายแรง ซึ่งพระราชบัญญัติสงฆ์ จะต้องให้คณะสงฆ์เป็นผู้ร่าง ในลักษณะ “สงฆ์ต้องปกครองสงฆ์” เท่านั้น และยังเห็นว่า การยกร่างกฎหมายที่บังคับใช้กับคณะสงฆ์นั้น ควรประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในภาวะบ้านเมืองปกติ จึงจะชอบด้วยกฎหมาย
 
นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงการ การแต่งตั้งสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ โดยให้พระสงฆ์ผู้มีพรรษาน้อย มาปกครองสงฆ์ที่มีพรรษามาก จะผิดต่อหลักพระธรรมวินัย จึงกังวลว่า อาจเกิดการแย่งตำแหน่งวงการสงฆ์ และอาจมีการซื้อขายสมณศักดิ์ตามมา ซึ่งเห็นว่า การแต่งตั้งของพระสงฆ์ จะต้องผ่านการคัดเลือกจากคณะสงฆ์ชั้นพระราชาคณะ และให้สมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้ทูลเกล้าฯ และรับสนองพระราชโองการ เพื่อให้ปลอดอำนาจการเมือง

ผลการรับฟังความเห็นจากกฤษฏีกา ต่อประเด็นพระราชอำนาจ

ทั้งนี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา (www.krisdika.go.th) รายงานผลการรับฟั งความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นระยะเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 - 27 มิ.ย. 2561 คณะกรรมการกฤษฎีกาได้รับหนังสือแสดงความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป สํานักงานพระสงฆ์ และองค์กรเครือข่าย สรุปความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ ได้ว่า การแก้ไข กฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์โดยการกําหนดให้กรรมการมหาเถรสมาคมที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ จะทําให้ได้มาซึ่งพระภิกษุผู้มีความรู้ มีจริยวัตรที่ดีและมีพรรษาที่เหมาะสมได้เข้ามาปกครองดูแลคณะสงฆ์ ลดการเกิดระบบอุปถัมภ์ในหมู่คณะสงฆ์ อีกทั้งจะทําให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปอย่างคล่องตัว และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยว่าการบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมจะเป็นการเพิ่มพระราชภาระแก่พระมหากษัตริย์โดยไม่สมควร หรือไม่ และต้องระมัดระวังไม่ให้นักการเมืองเข้ามามีอํานาจในการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งหรือถอดถอน กรรมการมหาเถรสมาคม เนื่องจากนักการเมืองอาจใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ ทางการเมือง รวมทั้งควรคํานึงถึงหลักพระธรรมวินัยในการแต่งตั้งพระภิกษุผู้มีพรรษาน้อยหรือลําดับชั้น ของสมณศักดิ์ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้มาทําหน้าที่ในการปกครองดูแลคณะสงฆ์

ในการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้รับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ผู้แทนมหาเถรสมาคม รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ) และผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อนํามาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)

สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้นําความเห็น ที่ได้รับข้างต้นทั้งหมดมาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว อาจสรุปในส่วนที่เป็นสาระสําคัญได้ดังนี้ กรณีที่มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .จะเป็นการเพิ่ม พระราชภาระของพระมหากษัตริย์โดยไม่สมควร นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า บทบัญญัติที่กําหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอํานาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอน สมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ รวมถึงการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม นั้น เป็นพระราชอํานาจมาแต่โบราณกาลตามโบราณราชประเพณี ซึ่งรัฐธรรมนูญตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็ได้บัญญัติรับรองไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก กรณีจึงเป็นพระราชอํานาจที่มีอยู่ ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่พระราชภาระที่กําหนดขึ้นเพิ่มเติมแต่ประการใด ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) จึงได้แก้ไขถ้อยคํา ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว

สําหรับความคิดเห็นของพระภิกษุและประชาชนทั่วไปที่ให้ความเห็นว่า ไม่ควรให้
นักการเมืองมีอํานาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม เนื่องจากนักการเมืองอาจใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่กําหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นั้น เป็นบทบัญญัติที่จะต้องกําหนดขึ้นในกรณีที่พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการซึ่งจําเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเช่นเดียวกับกฎหมายทั่วไปที่ได้กําหนดให้มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน 

'วิษณุ' เผย ส่งถึง สนช.เรียบร้อยแล้ว ไม่เปิดความคิดเห็น ตามกระแสเรียกร้องบางฝ่าย

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า 2 ก.ค.61 ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ว่า หลังจากที่คณะกรรมการฎีกากฤษฎีกา ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว และได้มีการปรับแก้ไขร่างดังกล่าว ขณะนี้ได้ส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และจะไม่มีการเปิดความคิดเห็นตามที่มีกระแสเรียกร้องของบางฝ่าย
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net