Skip to main content
sharethis

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-คิวบา วิเคราะห์ถึงการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ของคิวบา แทนราอูล คาสโตร ท่ามกลางปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า และการขาดความชอบธรรมที่ทำให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของคิวบาไม่สามารถอ้างตัวบุคคลหรืออุดมการณ์แบบเดิมๆ อย่างสมัยฟีเดลได้ มีข้อเสนอว่าพวกเขาควรจะเปลี่ยนแปลงระบบให้รวมศูนย์อำนาจที่พรรคคอมมิวนิสต์น้อยลงและทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ประธานาธิบดีคนใหม่ของคิวบา มิเกล ดิแอซ-คาเนล แบร์มูเดซ 

28 มิ.ย. 2561 สื่อฝ่ายซ้ายจากสหรัฐฯ มีบทวิเคราะห์เกี่ยวกับประธานาธิบดีคนใหม่ของคิวบา มิเกล ดิแอซ-คาเนล แบร์มูเดซ ที่ได้รับการแต่งตั้งและมีการลงมติรับรองจากรัฐสภา ตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกในหลายทศวรรษที่คิวบาไดัรับผู้นำที่ไม่ได้มาจากตระกูลคาสโตร ถึงแม้จะมีการประเมินว่าราอูล คาสโตร จะยังคงมีบทบาทอยู่เบื้องหลังต่อไป โดยที่ประธานาธิบดีคนใหม่นี้เป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนน้อยมาก ทำให้หลายๆ คน หรืออาจจะแม้แต่เจ้าตัวเองมองไม่ออกว่าการสืบทอดตำแหน่งต่อจากคาสโตรจะมีผลอะไรต่อคิวบาบ้าง

อันเดรส แปร์เทียร์รา ผู้จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งฮาวานาที่เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-คิวบา วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ในนิตยสารฝ่ายซ้ายของสหรัฐฯ 'จาโคบิน' ระบุถึงประวัติของ ดิแอซ-คาเนล ที่มีบทบาทเป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์คิวบามาโดยตลอด รวมถึงประธานาธิบดีคนใหม่นี้จะต้องฝ่าด่านการตรวจสอบอำนาจแต่ฝ่ายเดียวจากหลายภาคส่วนมากในระบบการเมืองปัจจุบันของคิวบา อีกทั้งยังมีเรื่องที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาเริ่มอ้างความชอบธรรมในการดำรงอำนาจด้วยข้ออ้างแบบเดิมๆ ตั้งแต่สมัยปฏิวัติของฟีเดล คาสโตร ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง สหรัฐฯ-คิวบา มองว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัด โดยตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้ราอูล คาสโตร จะเลิกเป็นประธานาธิบดีแล้วแต่ก็ยังคงมีบทบาททางการเมืองอยู่ในฐานะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาและมีเส้นสายครอบครัวเขาอยู่ในที่ต่างๆ ของสถาบันการเมืองคิวบา ทำให้ราอูลจะยังมีอำนาจอยู่

ระบบการเมืองในคิวบามีการแบ่งระหว่าง "คณะรัฐมนตรี" (The Council of Ministers) ซึ่งมาจากกระทรวงต่างๆ ซึ่งเป็นสายบริหารเรื่องเศรษฐกิจ กับ "คณะกรรมการแห่งรัฐ" (The Council of State) ที่เป็นฝ่ายกำกับนโยบายและการตัดสินใจต่างๆ ให้คณะรัฐมนตรีต้องทำตาม ขณะที่สภาแห่งชาติคิวบาจะประชุมกันแค่ปีละสองครั้งเท่านั้น และระบบก็มีลักษณะเน้นศูนย์กลายที่ตัวผู้นำมากมาตั้งแต่สมัยฟีเดล ลดลงมาบ้างช่วงสมัยราอูล การที่ดิแอซ-คาเนลไม่ใช่คนเด่นแบบตระกูลคาสโตรอาจจะทำให้ถูกบีบจากฝ่ายคณะกรรมการแห่งรัฐได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามราอูลเองก็มีความพยายามจะผลักดันให้ตัวแทนภาครัฐมีกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้นรวมถึงพยายามทำให้มีตัวแทนที่หลากหลายทางเชื้อชาติและเพศสภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตามในแง่ของการบริหารนโยบายภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่นี้ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างที่คิวบาเผชิญอยู่ในปัจจุบันรวมถึงเป็นสื่งตกทอดมาจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ แม้ว่าเราอาจจะเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นว่าดิแอซ-คาเนล จะจัดการกับปัญหาและปัจจัยต่างๆ อย่างไรในอีกหลายเดือนถัดจากนี้ แต่บทวิเคราะห์ของแปร์เทียร์ราก็ประเมินเรื่องต่างๆ ไว้ดังนี้

ปัจจัยทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ : ปัญหาหลังเวเนซุเอลาเกิดวิกฤต

ประเด็นแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับคิวบา จากที่สมัยรัฐบาลบารัค โอบาม่ามีการพยายามปรับความสัมพันธ์กับคิวบาให้ดีขึ้น แต่ในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เขาเคยประกาศว่าจะยุบนโยบายของโอบามาที่มีต่อคิวบา และเมื่อพิจารณาจากบุคคลรอบตัวของทรัมป์แล้วก็เห็นได้ชัดเจนว่าเขาจะทำให้สหรัฐฯ แข็งกร้าวต่อคิวบามากขึ้น 

ทรัมป์ยังเคยกล่าวอ้างว่าคิวบาเคยพยายาม "ทำลายสุขภาพ" ของทูตสหรัฐฯ กับทูตแคนาดาด้วยเทคโนโลยีคลื่นเสียง แต่ข้ออ้างนี้ไม่ได้รับการยอมรับแม้กระทั่งจากหน่วยสืบสวนของสหรัฐฯ อย่างเอฟบีไอ โดยตรวจสอบแล้วระบุว่าเป็นแค่อาการที่มาจากการตั้งเครื่องดักฟังจากหลายฝ่ายที่ส่งสัญญาณขัดกันเองจนทำให้หูมนุษย์ได้ยินเสียงเท่านั้น อีกทั้งแคนาดาถือเป็นประเทศคู่ค้าที่ดีกับคิวบามายาวนาน คิวบาจึงไม่มีแรงจูงใจโจมตีทูตแคนาดาเลยหรือแม้แต่แคนาดาเองก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะแสร้งทำเป็นว่าตัวเองถูกโจมตีทางสุขภาพเลย อย่างไรก็ตามข้อกล่าวหานี้จากปากทรัมป์แสดงให้เห็นว่าเขามีจุดยืนอย่างไรต่อกรณีความสัมพันธ์กับคิวบา

นอกจากความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แล้ว ในแง่เศรษฐกิจ ประเทศที่ส่งผลกระทบต่อคิวบามากคือเวเนซุเอลา คิวบาได้รับผลกระทบอย่างหนักหลังจากที่เวเนซุเอลาประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2557 เพราะคิวบาต้องพึ่งพาเวเนซุเอลาในฐานะแหล่งน้ำมันราคาถูก คิวบาเองมีแหล่งน้ำมั่นที่ขุดมาใช้เองอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้มีมากรองรับความต้องการได้ คิวบาเองก็เคยฟื้นตัวได้หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตจากการมีความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจร่วมกับเวเนซุเอลา แต่วิกฤตในเวเนซุเอลาทำให้ชาวคิวบาหลายคนบอกกับแปร์เทียร์ราว่าพวกเขากลัวคิวบาจะกลับไปสู่ช่วงเวลาที่ขาดแคลนในยุคหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายใหม่ๆ อีกครั้ง

รัฐบาลราอูลก่อนหน้านี้ก็พยายามแก้ปัญหาตรงจุดนี้อยู่ เช่นการสร้างโครงการส่งผู้เชี่ยวชาญจากคิวบาไปเพื่อแลกกับการช่วยเหลือเรื่องลดราคาน้ำมันและทรัพยากรอื่นๆ มีการเชื่อมสัมพันธ์เรื่องการนำเข้าน้ำมันจากประเทศอื่นๆ อย่าง แอลจีเรีย ไนจีเรีย และแองโกลา มีการพยายามสานสัมพันธ์กับรัสเซียและจีนทั้งในแง่การค้าและยุทธศาสตร์เพื่อคานอำนาจกับสหรัฐฯ ทำให้สามารถนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มได้อีกและมีความช่วยเหลือทางการทหารจากจีน

ขณะเดียวกันคิวบาก็มีโครงการดึงดูดการลงทุนจากประเทศพันธมิตรตะวันตกอย่างสเปน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส บราซิล เม็กซิโก เกาหลีใต้ คือโครงการเขตพัฒนาพิเศษมาริเอล (ZEDM) ที่ต้องการเปลี่ยนท่าเรือมาริเอลให้เป็นฮับอุตสาหกรรม แต่การลงทุนโดยรวมแล้วก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลคิวบา

อย่างไรก็ตามคิวบาก็ยังคงมีความพยายามสานสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในบางภาคส่วน โดยเฉพาะภาคส่วนที่พวกเขาเห็นว่าจะมองเห็นเรื่องผลประโยชน์ในการลงทุนกับคิวบาโดยไม่สนใจว่าจะมีอุดมการณ์อย่างไร และก็มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลคิวบาจะสานสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับสหรัฐฯ ในเรื่องนี้

ปัจจัยภายในประเทศที่รุมเร้า และการเข้าสู่ยุคที่รัฐไม่สามารถคุมการสื่อสารได้ในระดับเดิมอีกต่อไป

แปร์เทียร์ราระบุว่าขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจจะมีทั้งปัญหาและโอกาส แต่ปัญหาภายในประเทศดูมืดมนหาทางออกยากกว่า หนึ่งในนั้นคือปัญหาเรื่องค่าแรงของคนส่วนมากในคิวบาไม่มากพอแม้แต่จะจับจ่ายความต้องการขั้นพื้นฐานได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากการใช้ค่าเงินสองแบบในคิวบา

ในปี 2559 เงินเดือนโดยเฉลี่ยของคนทำงานในคิวบาทั้งในภาครัฐ และภาคผสมระหว่างภาครัฐกับเอกชนอยู่ที่ 740 เปโซคิวบาเท่านั้น (ราว 24,400 บาท) เมื่อเทียบกับราคาค่าครองชีพแล้วต้องอยู่ด้วยความยากลำบาก เมื่อพิจารณาจากราคาเนื้อ ผัก และน้ำมันทำอาหารที่ราคาสูงกว่าหรือเกือบจะเท่าค่าแรงต่อวัน ทำให้แรงงานภาครัฐต้องหันไปพึ่งตลาดมืดที่นำของผลิตจากภาครัฐออกมาขายใหม่อีกครั้ง หรือพึ่งบริการที่อาศัยทรัพยากรจากภาครัฐเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการทุจริตคอร์รัปชันไปในตัว นอกจากนี้ยังเคยมีกรณีที่รัฐบาลคิวบาสั่งเลย์ออฟข้าราชการ 5 แสนคนในปี 2553 เพื่อพยายามชดเชยความสูญเสียในบริษัทภาครัฐ ซึ่งถ้านำมาทำอีกครั้งในยุคของดิแอซ-คาเนล ก็จะยากเพราะคนไม่ยอมรับมากเท่า

ความล้มเหลวของรัฐบาลคิวบาในการจัดสรรค่าแรงที่ดำรงชีพได้ให้พนักงานยังทำลายความสำเร็จส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์การปฏิวัติเช่นระบบสวัสดิการสุขภาพและการศึกษาฟรีแบบถ้วนหน้า ปรากฏการณ์แบบนี้มีโอกาสทำให้เกิดภาวะ "สมองไหล" หรือคนที่มีความสามารถพากันออกไปนอกประเทศโดยเฉพาะกลุ่มงานสาธารณสุข แต่คิวบาก็พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการสกัดกั้นไม่ให้พวกหมอเดินทางออกนอกประเทศ ขณะเดียวกันระบบการศึกษาในคิวบาก็กำลังล้มเหลวทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษา ขณะที่ลูกคนรวยหาครูติววิชาให้ได้หรือบางครั้งก็มีการติดสินบนแลกเกรด แต่ถ้าหากไม่มีการจ่ายค่าแรงที่พอยังชีพได้โอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับสูงของเด็กก็น้อยมาก

ในประเด็นปัญหาค่าเงินของค่าของคิวบาที่ประกอบด้วยเปโซคิวบา (CUP) เปโซแบบ "แปลงค่าเงินได้" (convertible peso หรือ CUC) สาเหตุที่พวกเขาออกค่าเงินแบบที่สองมานี้เพราะหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายค่าเงินเดิมของพวกเขาแทบจะศูนย์มูลค่าเพราะขาดการลงทุนจากต่างชาติ จากนั้นบรรษัทที่รัฐบาลคิวบาเป็นเจ้าของต่างก็รับทั้งค่าเงินประจำประเทศและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จนกระทั่งต่อมาพวกเขาได้หยุดรับเงินดอลลาร์แล้วหันมาใช้ CUC แทน แต่มันก็ทำให้เกิดปัญหาเพราะบางแห่งก็รับแต่ CUP บางแห่งก็รับแต่ CUC มีปัญหาแบบนี้อยู่ระยะหนึ่งจนกระทั่งรัฐบาลราอูลออกมาตรการให้รับและเสนอราคาจากค่าเงินทั้งสองตระกูล

ทั้งนี้ปัญหาของค่าเงินสองแบบไม่ได้มีแค่เรื่องความไม่สะดวก แต่ยังมีเรื่องของการที่รัฐบาลประเมินค่าเงิน CUP สูงเกินไปจนสร้างภาพลวงตาว่าการนำเข้ามูลค่าถูกกว่าความเป็นจริงและภาพลวงตาที่ว่าเงินเดือนของคนงานดูสูงกว่าทั้งที่จริงๆ ต่ำมาก กลายเป็นเงื่อนปมปัญหายุ่งเหยิงที่ดิแอซ-คาเนลต้องรับภาระจัดการให้ได้ และในเมื่อรัฐบาลรวมศูนย์เศรษบกิจไว้ที่ตัวเองทั้งหมดทำให้บทบาทในการจะสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่ตัวรัฐบาลอย่างเดียว

การรวมศูนย์เช่นนี้ยังสร้างปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือระบบโครงสร้างพื้นฐานที่พังทลาย เกิดปัญหานี้ใหญ่มากในปี 2551-2556 มีปัญหาท่อประปาเก่าแตกจนในบางพื้นที่ไม่มีน้ำใช้ถึงขั้นต้องพึ่งรถบรรทุกขนน้ำมาใช้แทน นอกจากนี้ยังมีปัญหาการปฏิรูปภาคส่วนเอกชนที่ยังไม่เสร็จสิ้นในยุคสมัยของราอูลที่ส่งผลถึงปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนหนึ่งเพราะการทุจริตอย่างการที่ธุรกิจเอกชนมีการตกลงกันใต้โต๊ะกับร้านค้าที่เป็นของรัฐก็ทำให้สินค้าหายไปจากชั้นวางอย่างรวดเร็วหรือถึงขั้นอาจจะไม่ได้ขึ้นชั้นตั้งแต่แรกเพราะขายทอดไปก่อน

ทั้งนี้คิวบาเองก็ยังดูเหมือนจะขาดความสามารถในการสื่อสารแผนการของพวกเขาให้ประชาชนรับรู้ ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงใในเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารเองก็ทำให้ผู้คนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเซนเซอร์ของรัฐบาลแบบเปิดต่อสาธารณะมากขึ้นแทนการแอบพูดกันแบบในอดีต ในยุคสมัยนี้เองที่รัฐบาลไม่สามารถจะเป็นผู้ผูกขาดสื่อได้อีกต่อไปแบบยุค 40 ปีก่อนหน้านี้

คนรุ่นต่อไปที่ไม่เหมือนยุคฟีเดล - คิวบาต้องเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นการปฏิวัติถึงจะเกรียงไกร

แม้ว่าคิวบาจะเต็มไปด้วยปัญหา แต่รัฐบาลสมัยราอูลก็มีความพยายามอย่างหนึ่งแบบที่ปัญญาชนคิวบา ราฟาเอล แฮร์นันเดซ เคยกล่าวไว้คือพวกเขากำลังพยายามทดลองระบบใหม่ๆ ในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกระบวนการตัดสินใจ โดยการจัดอีเวนต์ระดับท้องถิ่นเพื่อให้ช่วยกันร่วมกันร่างสิ่งที่เรียกว่า "ลิเนียเมนตอส" (lineamentos) หรือ "แนวทาง" ที่เป็นเป้าหมายทางกรเมืองและเศรษฐกิจอย่างกว้างๆ รวมถึงมีแผนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญในเดือน ก.ค. นี้

แปร์เทียร์ราระบุว่าจากตัวแปรต่างๆ มีความเป็นไปได้ที่คิวบาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ เพราะต้องตามโลกทุนนิยมให้ทัน หรือไม่เช่นนั้นก็จะพยายามทวนกระแสโลกแล้วปล่อยให้ตัวเองจมลงไปเรื่อยๆ

เรื่องนี้เป็นเพราะชาวคิวบายุคใหม่ๆ ไม่ยอมรับการที่รัฐบาลเป็นสิ่งที่แปลกแยกจากประชาชนและอาศัยแต่วิธีการอ้างความชอบธรรมเดิมๆ ให้ตัวเองแบบในยุคของฟีเดล คาสโตร อีกแล้ว ชาวคิวบาหนุ่มสาวบอกว่าพวกเขาต้องการเห็นความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ นั่นทำให้คิวบาต้องเอาตัวเองเข้าไปสู่พลวัติของทุนนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในยุคของฟีเดลอาจจะอาศัยแต่เรื่องความนิยมตัวบุคคล การสนับสนุนอุดมการณ์สังคมนิยม รวมถึงการอ้างอธิปไตยของคิวบาจากจักรวรรดิ์นิยมต่างชาติ แต่ในยุคนี้คิวบาจำต้องหันมาหาความชอบธรรมในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ทว่าแปร์เทียร์ราก็มองว่าการสร้างความชอบธรรมทางเศรษฐกิจแต่โดยผิวเผิน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองในแง่โครงสร้างอำนาจ ก็ทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลดูคลอนแคลน แปร์เทียร์ราเสนอให้คิวบาควรจะสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองด้วยการให้รัฐสภาที่มาจากเสียงของประชาชนได้ทำงานบริหารและตัดสินใจแทนการเป็นแค่ตราปั้ม การปฏิรูปสถาบันทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยเท่านั้นถึงจะทำให้การปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลบาติสตาประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง

 

เรียบเรียงจาก

Slow Train Coming, Andres Pertierra, Jacobin, 21-06-2018

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Miguel_D%C3%ADaz-Canel

https://en.wikipedia.org/wiki/Embassy_attack_accusations_in_Cuba

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net