Skip to main content
sharethis

แม้ ‘การไฟฟ้า-ก.พลังงาน’ หารือได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ‘บริษัท RPS’ จะตั้งเพียงโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลเท่านั้น การจำหน่ายกระแสไฟฟ้ายังคงเป็นหน้าที่ของ กฟภ. เช่นเดิม แต่สหภาพแรงงาน กฟภ. ยังคงจับตาอย่างใกล้ชิด และคัดค้านการแปรรูปนี้อย่างเต็มกำลัง

 24 มิ.ย. 2561 สืบเนื่องจากการประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2561 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางพลังงาน และการบริหารจัดการกิจการด้านพลังงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อที่ประชุม ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบการนำเสนอรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการใหม่และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกระทรวงพลังงานสนับสนุนผ่านกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ดำเนินการให้เร็ว เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาการบริหารงานของรัฐบาลนี้ให้ได้

จากนโยบายนี้มีการคาดการกันว่าจะมีการจัดตั้งในรูปแบบของ 'บริษัท RPS' หรือ Regional Power System Company โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้นในอัตรา 24.5% และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ถือหุ้นในอัตรา 24% และกลุ่มทุนในนามของวิสาหกิจชุมชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือหุ้นในอัตรา 51%

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.) ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 เรื่องการคัดค้านแผนการก่อตั้งบริษัท RPS โดยระบุว่าตามที่คณะผู้บริหารระดับสูงของ กฟภ. ได้หารือร่วมกับ สร.กฟภ. เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2561 ณ ห้องประชุม กฟภ. ชั้น 23 อาคาร LED กฟภ. สำนักงานใหญ่ ซึ่งได้ข้อสรุป จำนวน 4 ข้อ (ในแถลงการณ์ฉบับที่ 2) สำหรับนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบ และจะนำไปชี้แจงให้คณะกรรมการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกระทรวงพลังงานที่จะดำเนินแผนการก่อตั้งบริษัท RPS ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลใจของประชาชนและพนักงาน กฟต.3 (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 3 จังหวัดชายแดนใต้) อย่างกว้างขวางนั้น

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561 เวลา 14.00 น. ผู้บริหารระดับสูง 3 ฝ่ายประกอบด้วย กฟภ., กฟผ. และผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน ได้หารือกันที่ห้องประชุมชั้น 23 อาคาร LED กฟภ. สํานักงานใหญ่ โดย กฟภ. เป็นเจ้าภาพในการประชุม ซึ่งมีผลสรุปจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ยืนยันว่าท่านผู้ว่าการ กฟภ. ได้ชี้แจงใน 4 ประเด็น ดังกล่าวให้ผู้บริหารของ กฟผ. และกระทรวงพลังงานทราบอย่างละเอียดพร้อมทั้งตอบข้อซักถามและข้อกังวลใน ผลกระทบด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และพนักงาน กฟต.3 ในพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องจนเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายในที่ประชุม โดยการร่วมทุนของทั้ง 3 ฝ่ายจะทำได้เพียงการตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลเท่านั้น การจำหน่ายกระแสไฟฟ้ายังคงเป็นหน้าที่ของ กฟภ. เช่นเดิม โดยผู้แทนจากกระทรวงพลังงานจะนำประเด็นนี้เข้าไปรายงานให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงพลังงานรับทราบต่อไป

จากประเด็นการหารือของผู้บริหารทั้ง 3 ฝ่าย ครั้งนี้ สร.กฟภ. ยังมีความกังวลและยังไม่ไว้วางใจเพราะความชัดเจนยังไม่ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น สร.กฟภ. จึงได้ร่วมกับเครือข่ายไฟฟ้า-ประปา และยา เพื่อชาติ ประชาชน กำหนดมาตรการการเคลื่อนไหวคัดค้านการตั้งบริษัท RPS โดยเครือข่ายฯ จะรวบรวมผลกระทบต่างๆ ที่มีต่อประเทศชาติและประชาชนขององค์กรสมาชิกเครือข่ายฯ ทั้ง 6 องค์กร ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งนี้ นำเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2561 นี้

โดย สร.กฟภ.จึงขอเชิญชวนผู้ที่รักในความเป็นรัฐวิสาหกิจของ กฟภ. สวมใส่เสื้อดำและแสดงพลังไปก่อน จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ และเดือนหน้า ก.ค. เป็นเดือนมหามงคล สร.กฟภ. ขอเชิญชวนสวมใส่เสื้อสีเหลือง เพื่อแสดงถึงความเคารพและความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ของไทย

 

แถลงการณ์ฉบับที่ 1-3 ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

 

 



 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net