TCIJ: แกะตัวเลข 'บิลค่าไฟฟ้า' เราจ่ายค่าอะไรไปบ้าง

รายงานพิเศษจาก TCIJ แกะตัวเลขในบิลค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายทุกเดือน พบว่าคิดคำนวณมาจากต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง ระบบจำหน่าย ค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งนโยบายด้านพลังงานต่าง ๆ  และแม้เดือนไหนไม่ได้ใช้ไฟฟ้า ก็ยังต้องจ่ายค่าบริการรายเดือน ด้าน กกพ. เผยเตรียมปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ปี 2560-2563 ประกาศใช้ปี 2561

ใบแจ้งค่าไฟฟ้าหรือบิลค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  ซ้ายมือเป็นรูปแบบเก่าที่ใช้มาก่อนเดือน มิ.ย. 2558 ส่วนขวามือคือรูปแบบใหม่

หลังจากที่ปี 2558 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้เริ่มใช้ใบแจ้งค่าไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ที่มีการระบุรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นนั้น เป็นกระแสซึ่งสังคมพูดถึงในวงกว้างมาช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะการปรากฏขึ้นของ  ตัวเลข‘ค่าบริการ’ ที่นอกเหนือจากค่าการใช้พลังงานไฟฟ้าในแต่ละเดือน

ซึ่งในเรื่องนี้คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทำการศึกษาพิจารณาโดยได้เรียกผู้เกี่ยวข้องทั้ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มาชี้แจง และได้ออกรายงาน ‘พิจารณาหลักเกณฑ์และรายละเอียดที่ระบุในใบแจ้งค่าไฟฟ้า’  เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน สนช. ระบุว่า สืบเนื่องจากการประกาศหรือ ประชาสัมพันธ์  เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และรายละเอียดที่ระบุในใบแจ้งค่าไฟฟ้า มีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ แผ่นป้ายประกาศ แผ่นพับและสื่อต่าง ๆ ที่เนื้อหาบางส่วนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ไม่ถูกต้องครบถ้วน อาจจะทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารคลาดเคลื่อน โดยทางคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าจากกรณีดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป จึงพิจารณาหลักเกณฑ์และรายละเอียดที่ระบุในใบแจ้งค่าไฟฟ้า รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหวังว่าผลการพิจารณาจะสามารถใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาตามที่กล่าวมาได้อย่างเป็นรูปธรรม

มีอะไรบ้างในบิลค่าไฟฟ้ารูปแบบใหม่

จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ พบว่าการไฟฟ้าฯได้พัฒนารูปแบบใบแจ้งค่าไฟฟ้าแบบใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยการเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลค่าไฟฟ้า พร้อมแจกแจงค่าบริการรายเดือนและประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง ซึ่งค่าบริการรายเดือนเป็นส่วนหนึ่งของค่าไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว ตามอัตราโครงสร้างไฟฟ้าที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน โดยรายละเอียดที่ระบุในใบแจ้งค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัย ประกอบไปด้วย

1. ค่าพลังงานไฟฟ้า คิดมาจากต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง ระบบจำหน่าย และค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าที่คงที่ระดับหนึ่ง จะจัดเก็บอัตราต่อหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละเดือน

2. ค่าบริการรายเดือน คิดมาจากต้นทุนประจำที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนของผู้ประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้า จะจัดเก็บอัตราคงที่ในแต่ละเดือน แม้ว่าจะไม่มีการใช้ไฟฟ้าเกิดขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ค่าบริการรายเดือน ประกอบด้วยค่าใช้จ่าย 4 กิจกรรม คือ 1) การจดหน่วยไฟฟ้า (Meter Reading) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าตอบแทนตัวแทนจดหน่วย และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการจดหน่วย 2) การพิมพ์และการจัดส่งใบแจ้งค่าไฟฟ้า (Billing) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าตอบแทนตัวแทนแจ้งหนี้ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์บิล 3) การรับชำระเงิน (Collection) เช่น เงินเดือนพนักงานรับชำระเงิน ณ สำนักงาน ค่าตอบแทนตัวแทนเก็บเงิน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการเก็บเงิน และ 4) การดูแล การให้ข้อมูลลูกค้า (Customer Handling) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าใช้จ่าย Call Center และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้า

3. ค่าไฟฟ้าผันแปร (หรือค่า Ft) คำนวณจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงจากค่าไฟฟ้าฐานคือ ค่าเชื้อเพลิงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), ค่าซื้อเชื้อเพลิงจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) รวมทั้งบริษัทลูกของ กฟผ.,ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP), การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐบาลที่คณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนด (ตัวอย่างนโยบายก็เช่น ค่า Adder, กองทุนพัฒนาไฟฟ้า, การใช้น้ำมันปาล์มดิบมาผสมน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น) ทั้งนี้โดยปกติแล้วค่า Ft นี้จะมีการปรับทุก 4 เดือน

4. ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดร้อยละ 7 ของค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าผันแปร เนื่องจากไฟฟ้าฯถือเป็นสินค้าและบริการ โดยการไฟฟ้าฯจะเป็นผู้รวบรวมเงินส่วนนี้เพื่อส่งให้สรรพากร

ต้นทุนจริงในการบริการรายเดือนประเภทบ้านอยู่อาศัย ของ กฟน. และ กฟภ.

ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าก็ถูกนับรวมเข้าไปในค่าบริการที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายด้วย

องค์ประกอบหลักของค่าบริการรายเดือน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัยขนาดเล็ก (มีประมาณ 10.45 ล้านราย) มิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะมีต้นทุนเฉลี่ย 40.90 บาทต่อรายต่อเดือน แต่ภาครัฐมีนโยบายอุดหนุนราคาต่ำกว่าทุน -32.71 บาทให้ จึงมีการเรียกเก็บเหลือเพียง 8.19 บาท ส่วนประเภทที่ 2 คือ บ้านอยู่อาศัยขนาดใหญ่ (มีประมาณ 8.89 ล้านราย) มิเตอร์เกิน 5 แอมป์ หรือมีการใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ต้นทุนเฉลี่ย 40.90 บาทต่อรายต่อเดือน ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าบริการรายเดือนที่ 38.22 บาท เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

จากการชี้แจงของของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แสดงถึงรายละเอียดรายการต้นทุนจริงสำหรับการบริการรายเดือนให้แก่ผู้บริโภคประเภทบ้านอยู่อาศัยของ กฟน. มีดังนี้ 1) การจดหน่วยไฟฟ้า (Meter Reading) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าตอบแทนตัวแทนจดหน่วย และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการจดหน่วย จำนวน 13.28 บาทรายต่อเดือน 2) การพิมพ์และการจัดส่งใบแจ้งค่าไฟฟ้า (Billing) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าตอบแทนตัวแทนแจ้งหนี้ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์บิล จำนวน 14.69 บาทต่อรายต่อเดือน 3) การรับชำระเงิน (Collection) เช่น เงินเดือนพนักงานรับชำระเงิน ณ สำนักงานค่าตอบแทนตัวแทนเก็บเงิน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการเก็บเงิน จำนวน 18.34 บาทต่อรายต่อเดือน และ และ 4) การดูแล การให้ข้อมูลลูกค้า (Customer Handling) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าใช้จ่าย Call Center และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้า จำนวน 29.20 บาทต่อรายต่อเดือน

ส่วนการชี้แจงของของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่แสดงถึงรายละเอียดรายการต้นทุนจริงสำหรับการบริการรายเดือนให้แก่ผู้บริโภคประเภทบ้านอยู่อาศัยของ กฟภ. มีดังนี้ 1) การจดหน่วยไฟฟ้า (Meter Reading) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าตอบแทนตัวแทนจดหน่วย และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการจดหน่วย จำนวน 4.50 บาทต่อรายต่อเดือน 2) การพิมพ์และการจัดส่งใบแจ้งค่าไฟฟ้า (Billing) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าตอบแทนตัวแทนแจ้งหนี้ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์บิล จำนวน 5.89 บาทต่อรายต่อเดือน 3) การรับชำระเงิน (Collection) เช่น เงินเดือนพนักงานรับชำระเงิน ณ สำนักงานค่าตอบแทนตัวแทนเก็บเงิน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการเก็บเงิน จำนวน 15.86 บาทต่อรายต่อเดือน และ และ 4) การดูแล การให้ข้อมูลลูกค้า (Customer Handling) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าใช้จ่าย Call Center และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้า จำนวน 1.03 บาทต่อรายต่อเดือน

ในด้านการว่าจ้างเอกชนหรือพนักงานภายนอก (Out Source) เป็นตัวแทนจดหน่วยมิเตอร์จะมี 2 ระบบคือ ระบบที่ 1 กลุ่มชุมชนเมือง จะมีตัวแทนไปจดหน่วยมิเตอร์ โดยจะเป็นการจดหน่วยและแจ้งหนี้ทันที ประชาชนต้องไปชำระที่สำนักงาน บริษัทหรือพนักงานภายนอก จะมีต้นทุนที่ออกใบแจ้งหนี้จำนวน 6.15 บาทต่อราย ระบบที่ 2 กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าในชนบท จะมีตัวแทนไปจดหน่วยและกลับมาเข้ากระบวนการออกใบแจ้งหนี้ที่สำนักงาน จะมีต้นทุน 3.37 บาทต่อราย เมื่อออกใบแจ้งหนี้แล้วก็จะนำใบแจ้งหนี้ไปเรียกเก็บค่าไฟตามบ้าน โดยจ้างตัวแทนเก็บเงินที่เป็นคนละคนกับตัวแทนจดหน่วยเพื่อป้องกันการทุจริต โดยการจ้างตัวแทนเก็บเงินมีต้นทุนรายละ 8.68 บาท

ทั้งนี้วิธีการเรียกเก็บค่าบริการนั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คำนวณจากข้อมูลต้นทุนค่าบริการในโครงสร้างอัตราไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมกับมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดอัตราเรียกเก็บให้มีความเหมาะสม

 

ต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแต่ละชนิดไม่เท่ากัน

ที่มาภาพ : การไฟฟ้าฝ่ายผลิต

ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ระบุว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้านั้น เฉลี่ยมาจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและซื้อไฟฟ้าที่อยู่ในระบบทั้งหมดตามปริมาณการผลิตจริง ข้อมูลเบื้องต้น ณ เดือน ม.ค. 2559 นั้นพบต้นทุนการผลิตจากพลังงานทดแทน มีราคาสูงสุด เฉลี่ย 6.37 บาทต่อหน่วย แต่เนื่องจากมีการผลิตในสัดส่วนร้อยละ 6 จึงยังไม่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้ามากนัก ต้นทุนการผลิตที่แพงรองลงมา คือ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก แบบใช้ไอน้ำและความร้อนร่วมกัน ที่มีต้นทุนการผลิต 3.24 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาดใหญ่ ต้นทุนการผลิต 2.83 บาทต่อหน่วย ซึ่งระบบผลิตไฟฟ้า มีการใช้ก๊าซธรรมชาติรวมกันราวร้อยละ 67 จึงมีผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด การผลิตจากถ่านหินนำเข้า ลิกไนต์หงสาประเทศลาว และลิกไนต์แม่เมาะ ต้นทุนต่ำที่สุด คือ 2.02 บาทต่อหน่วย 1.63 บาทต่อหน่วย และ 1.25 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ มีการใช้ผลิตไฟฟ้ารวมกันราวร้อยละ 20 ส่วนการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้งในประเทศ และนอกประเทศ ที่มีต้นทุนราว 1.60 บาทต่อหน่วย ใช้ผลิตไฟฟ้ารวมกัน ราวร้อยละ 6

เตรียมปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ปี 2560-2563 ประกาศใช้ปี 2561

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยเมื่อเดือน ส.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่า กกพ.เตรียมปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ปี 2560-63 เพื่อประกาศใช้ปี 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะแผนการลงทุน ของ 3 การไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินและระบบสายส่ง รวมไปถึงจะมีการพิจารณาอัตราค่าบริการที่รวมเก็บอยู่ในบิลค่าไฟประชาชน 38 บาทต่อเดือนเพื่อให้โครงสร้างค่าไฟมีความเป็นธรรมต่อทั้งผู้ลงทุนและผู้บริโภค

กกพ. ระบุว่าโครงสร้างค่าไฟฐานที่ปรับใหม่จะปรับทุก ๆ 3-5 ปี ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง  ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยปรับไปแล้วเมื่อ พ.ย. 2558 แต่ครั้งนั้นประกาศใช้ค่อนข้างช้า โดยครั้งนั้นค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.27 บาทต่อหน่วย เมื่อรีเซ็ตค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เป็นศูนย์ ทำให้ค่าไฟฐานจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 3.7556 บาทต่อหน่วย ซึ่งค่าไฟฐานใหม่ที่เตรียมจัดทำก็ต้อง     รีเซ็ตค่า Ft เป็นศูนย์เช่นกัน ส่วนค่าไฟฐานจะปรับขึ้นหรือไม่คงต้องดูหลายปัจจัย แต่ยอมรับว่ามีการลงทุนของ 3 การไฟฟ้า (กฟผ., กฟภ. และ กฟน.) นั้นจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะระบบสายส่ง ซึ่งน่าจะมีการลงทุนไม่น้อยกว่า 5-6 แสนล้านบาท 

อ่าน 'จับตา': “ประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าของไทยปี 2552-2558"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6592

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท