Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นานมาแล้วมิตรสหายท่านหนึ่งเคยแลกเปลี่ยนในเฟสบุ๊คว่า “ผมคิดว่าศาสนาคือกลุ่มผลประโยชน์ประเภทหนึ่งเท่านั้นเอง” ตอนนั้นผมยังไม่ได้คิดอะไรจริงจัง แต่ข้อความดังกล่าวยังอยู่ในความทรงจำของผม เมื่อวันเวลาผ่านไปผมกลับมาคิดทบทวนยิ่งพบว่ามุมมองของเขาตรงกับความเป็นจริงอยู่มาก

เพราะเมื่อเรามองศาสนาตามที่ปรากฏอยู่จริง หรือทำงานอยู่จริงในสังคมสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงกลุ่มผลประโยชน์หลากหลายเข้าด้วยกัน จะพบว่าศาสนาคือกลุ่มผลประโยชน์ประเภทหนึ่ง เหมือนกลุ่มผลประโยชน์ประเภทอื่นๆ เช่นกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง กลุ่มนายจ้าง กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และอื่นๆ

คำว่า “กลุ่มผลประโยชน์” ไม่ได้มีความหมายในแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง กลุ่มศาสนา หรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ ก็เป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์ประเภทหนึ่งๆ ที่ไม่ได้มีความหมายเชิงลบ มันจะมีความหมายในแง่ลบก็ต่อเมื่อขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่น เช่นเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอภิสิทธิ์หรือกดขี่ เอาเปรียบกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ในสังคม

ที่ผ่านมาเราไม่ได้มองศาสนาว่าเป็นกลุ่มผลประโยชน์ เรามองศาสนาเป็นสิ่งสูงส่ง สะอาด เป็นอิสระจากกลุ่มผลประโยชน์ หรืออยู่เหนือกลุ่มผลประโยชน์ เรามองศาสนาในมิติเดียวว่าศาสนา “ดี” ไม่ “ชั่ว” หรือมองว่าศาสนามีแต่ด้านบวกไม่มีด้านมืด ดังที่เราพูดเสมอๆ เป็นสูตรสำเร็จว่า “ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี” เราจึงมองศาสนาเป็นสถาบันทางศีลธรรมของสังคม หากไม่มีศาสนา ศีลธรรมทางสังคมอาจพังทลายลง

แต่นักปรัชญาตะวันตกยุคสว่างทางปัญญาและยุคสมัยใหม่กลับมองว่า ความเจริญทางปัญญาของมนุษย์สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับ “จิตวิญญาณแห่งการวิจารณ์ศาสนา” (spirit of religious criticism) บางคนเน้นว่าไม่เพียงเราควรจะมีเสรีภาพในการวิจารณ์ศาสนาเท่านั้น แต่การวิจารณ์ศาสนายังถือเป็น “หน้าที่” (duty) ที่ต้องทำด้วย เพราะการวิจารณ์ศาสนานำมาซึ่งเสรีภาพทางความคิดความเชื่อของปัจเจกบุคคล และการวิจารณ์ศาสนาก็เป็นเรื่องเดียวกับการปกป้องเสรีภาพในการพูด (free speech) หรือเสรีภาพในการแสดงออกซึ่ง “อัตลักษณ์” (identity) ของปัจเจกบุคคลที่เชื่อและไม่เชื่อในศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน

นักโลกวิสัย (secularist) บางคนวิจารณ์ศาสนาแรงๆ ว่า “ศาสนาชั่วมากกว่าดี เพราะมันเป็นศัตรูที่ร้ายกาจของความจริงและเหตุผล” (ริชาร์ด โรบิสัน) นักปรัชญาบางคนว่า “พระเจ้าตายแล้ว” (นิทเช่) บางคนว่า “ความเชื่อว่ามีพระผู้สร้างเป็นอันตรายอย่างสิ้นเชิงต่อเสรีภาพของมนุษย์” (ซาตร์) บางคนว่า “ศาสนาพรากเราจากชีวิตทางโลก” (มารกซ์)

ประเพณี (tradition) วิจารณ์ศาสนาในโลกตะวันตกไล่มาตั้งแต่โสเครตีสจนถึงนักปรัชญาสมัยใหม่ ถือเป็นประเพณีที่ปกป้องเสรีภาพของมนุษย์ แน่นอนว่า หลายคนที่วิจารณ์ศาสนามักประสบชะตากรรมที่ไม่ดีนัก แต่เพราะการวิจารณ์ของพวกเขา การกดขี่เสรีภาพในนามศาสนาที่เคยมีอย่างเข้มข้นจึงค่อยๆ ถูกทำลายลง

การวิจารณ์ศาสนาของบรรดานักคิดเสรี ไม่เพียงแต่ทำให้มนุษย์ในยุคสมัยใหม่มีเสรีภาพจากอำนาจศาสนา (อำนาจศาสนจักร, ผู้นำศาสนา, คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์, ระบบเผด็จการของกษัตริย์ที่ใช้อำนาจเทวสิทธิ์) เท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่า คือทำให้สังคมเป็นอิสระจาก “อำนาจศีลธรรมแบบศาสนา” เพราะเป็นการเปิด “โฉมหน้าที่แท้จริง” ของศีลธรรมศาสนาว่าหลายๆ เรื่องมัน “ไม่ใช่ศีลธรรม” เช่น ทุกศาสนาล้วนแต่ไม่ยอมรับความเท่าเทียมทางเพศ

แปลว่า “ศาสนากับศีลธรรมเป็นคนละเรื่องกัน” ศีลธรรมอาจจะมีในศาสนาหรือนอกศาสนาก็ได้ เช่นศาสนาอาจจะมีคำสอนศีลธรรมพื้นๆ อย่างห้ามทำชั่ว ทำดี ให้มีความรัก ให้อภัยและอื่นๆ แต่นี่เป็นศีลธรรมในความหมายเฉพาะหนึ่งๆ ที่พัฒนาขึ้นภายในตัวบุคคลผ่านการฝึกฝนของแต่ละคน ไม่ใช่ศีลธรรมที่สามารถถือเป็น “หลักการทั่วไป” ที่คนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนายึดถือปฏิบัติร่วมกันได้อย่างยุติธรรมบนฐานของการเคารพความเป็น “คนเท่ากัน” เช่นหลักสิทธิมนุษยชนสากล

บางคนอาจบอกว่า ศีลธรรมไม่ใช่เรื่องของหลักการทั่วไปแบบนั้น แต่เป็นเรื่องของ “จิตวิญญาณ” และจิตวิญญาณย่อมมาจากศาสนา แต่ประเด็นนี้มิเชล ฟูโกต์มองว่า จิตวิญญาณอาจมีในหรือนอกศาสนาก็ได้ เพราะจิตวิญญาณเป็นวิถีปฏิบัติที่ปฏิเสธสถานะผู้อยู่ใต้บงการของตนเอง   พูดง่ายๆ คือจิตวิญญาณเป็นเรื่องของการปลดปล่อยตนเองให้มีอิสรภาพ ซึ่งอาจมีในหรือนอกศาสนาก็ได้

ขณะเดียวกันศาสนาที่สร้างระบบชนชั้น ไม่เคารพความเท่าเทียมทางเพศ หรือสถาบันศาสนาต่างๆ ที่มีอำนาจรัฐ เป็นกลไกสนับสนุนอุดมการณ์รัฐ ก็อาจเป็นพันธนาการ เป็นอำนาจครอบงำทางจิตวิญญาณ หรือเป็นอุปสรรคต่อการมีเสรีภาพและความเสมอภาคของมนุษย์ ในแง่นี้ศาสนาจึงทั้งเป็นอำนาจครอบงำและทำลายศีลธรรมในความหมายของหลักการทั่วไปที่ปกป้องเสรีภาพและความเสมอภาคของมนุษย์เสียเอง

เมื่อนำกรอบคิด (concept) ศีลธรรมในความหมายของหลักการทั่วไปที่เคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ และจิตวิญญาณในความหมายของการปลดปล่อยตนเองให้มีอิสรภาพจากการกดขี่ครอบงำทุกรูปแบบมาวิเคราะห์ศาสนาในบ้านเราในฐานะ “กลุ่มผลประโยชน์ประเภทหนึ่ง” จะเห็นว่า กลุ่มผลประโยชน์ทางศาสนาในบ้านเราล้วนสวม “เสื้อคลุมศีลธรรม” แต่กลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการมีศีลธรรมบนฐานของการเคารพความเป็นคนเท่ากันเสียเอง ยิ่งกว่านั้นยังขาดมิติจิตวิญญาณอันเป็นวิถีปฏิบัติที่ปลดปล่อยตนเองให้มีอิสรภาพจากอำนาจครอบงำทุกรูปแบบอีกด้วย

หลายวันมานี้ ผมสังเกต “ปฏิกิริยา” ของชาวพุทธ-มุสลิมบางส่วนในโลกโซเชียลต่อข้อเสนอ “แยกศาสนากับรัฐ” ชัดเจนว่าพวกเขาไม่เอาด้วย

แท้จริงแล้ว การแยกศาสนาจากรัฐ ก็คือการสร้างความเป็นธรรม (fairness) โดยให้คนทุกศาสนา ทุกความเชื่อ และคนไม่เชื่อหรือไม่นับถือศาสนาอยู่ร่วมกันภายใต้กาติกาที่ฟรีและแฟร์ รัฐต้องไม่ให้ “อภิสิทธิ์” แก่ศาสนาหรือความเชื่อใดๆ ไม่ขัดขวางศาสนาหรือความเชื่อใดๆ ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลอื่น

พูดในแง่ศีลธรรมทางสังคมก็คือ การแยกศาสนากับรัฐเรียกร้องให้ศาสนาต่างๆ เคารพ “ศีลธรรมทางสังคมขั้นต่ำสุด” ซึ่งเป็น “หลักการทั่วไป” ที่ยุติธรรมแก่คนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนานั่นเอง การปฏิเสธการแยกศาสนากับรัฐ ก็แปลว่าศาสนาไม่สามารถเคารพหลักการที่ยุติธรรมแก่ทุกคนบนกติกาที่ฟรีและแฟร์ เมื่อศาสนาไม่เคารพหลักการเช่นนี้ได้ ศาสนาจึงไม่มีความหมายต่อการส่งเสริมสังคมให้มีศีลธรรมดังที่โฆษณาชวนเชื่อกัน

แต่ทว่าบรรดานักบวช, ผู้นำศาสนา, กูรูทางศาสนาทั้งพระและฆราวาสล้วนแสดงออกต่อสังคมว่า พวกเขาคือผู้เสียสละอุทิศตนเผยแผ่ศาสนาตามรอยพระศาสดา และการเผยแผ่ศาสนาเช่นที่ทำกันนั้นก็เพื่อส่งเสริมให้สังคมมีศีลธรรม แต่ความจริงแล้ว พวกเขาคือ “กลุ่มผลประโยชน์” เพราะแทบจะไม่มีอะไร “ให้ฟรี” ในตลาดศาสนาในโลกสมัยใหม่

พูดให้ชัดคือ ธรรมะหรือพระวัจนะของพระเจ้าในโลกปัจจุบันไม่ใช่ “ของให้เปล่า” แบบในยุคพระศาสดา ทุกอย่างกลายเป็น “สินค้า” คุณบรรยายธรรมะ,พระวัจนะของพระเจ้า คุณก็รับค่าบรรยาย เขียนหนังสือธรรมะหรือหนังสือศาสนาขาย คุณก็ได้ค่าตอบแทน ยิ่งเป็นนักเผยแผ่ศาสนาชื่อดัง มีคิวงานข้ามปี ยิ่งค่าตัวแพง รวยไม่รู้เรื่อง และไม่ต้องเสียภาษี นี่ยังไม่นับตลาดวัตถุมงคลพาณิชย์ และตลาดศรัทธาในรูปแบบอื่นๆ ที่สร้างผลประโยชน์มหาศาล

นอกจากศาสนาจะเป็นเรื่องกลุ่มผลประโยชน์แล้ว ยังเป็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองแบบหนึ่ง แต่ทำเนียนว่า “ไม่การเมือง” ความเป็นกลุ่มผลประโยชน์กับเป็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองนั้นสัมพันธ์กัน ดังนั้น พวกเขาจึงพยายามต่อสู้ต่อรองเพื่อให้ศาสนาของตนมีสถานะ อำนาจสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ จึงไม่มีกลุ่มศาสนากลุ่มใดอยากแยกจากรัฐเป็นเอกชน เพราะพวกเขาต้องการรักษาสถานะเดิม (status quo) ของพวกตนที่มี “อภิสิทธิ์” ต่างๆ

มองในแง่นี้ ศาสนาในฐานะกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มอำนาจแบบหนึ่ง จึงไม่มีอะไรสะอาด สูงส่งกว่ากลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง กลุ่มนายทุน และกลุ่มอื่นๆ

แท้จริงแล้ว ภายใต้สภาพที่รัฐกับศาสนาไม่ได้แยกจากกัน ศาสนาในฐานะกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอำนาจแบบหนึ่งในสังคมนี้ ก็คือ “กลุ่มผลประโยชน์ที่มีอภิสิทธิ์” และยังพยายามต่อสู้ต่อรองเพื่อเรียกร้องอภิสิทธิ์ด้านต่างๆ จากรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ

ในแง่นี้การดำรงอยู่และบทบาทต่างๆ ของศาสนาในฐานะกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอภิสิทธิ์ จึงไม่ได้ช่วยให้สังคมมีศีลธรรม แต่เป็นการดำรงอยู่ที่ขัดกับหลักศีลธรรมทางสังคมอันเป็นหลักการทั่วไปที่เป็นธรรมกับคนทุกศาสนา ทุกความเชื่อและความไม่ไม่เชื่อหรือไม่นับถือศาสนา ซ้ำยังไม่ได้ส่งเสริมจิตวิญญาณปลดปล่อยเพื่ออิสรภาพดังกล่าวมาแล้วแต่อย่างใด

พูดตรงไปตรงมาคือ การที่กลุ่มศาสนาต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอภิสิทธิ์ ไม่ยอมรับ หรือต่อต้านการแยกศาสนากับรัฐ เพื่อสร้างกติกาที่ฟรีและแฟร์ในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมของคนทุกศาสนา ทุกความเชื่อ และความไม่เชื่อหรือไม่นับถือศาสนา ก็เพราะพวกเขาต้องการปกป้องสถานะเดิมของพวกตนที่มีอภิสิทธิ์ อันเป็นการสะท้อนความเป็นจริงว่า พวกเขาทำให้ศาสนาของตนขัดกับการมีศีลธรรมบนฐานความเป็นคนเท่ากัน

  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net