Skip to main content
sharethis

วงวิพากษ์ 'หยุดขบวนการล้มบอลไทย เคลียร์พนันห่างไกลคนกีฬา' นักวิชาการชี้ พนันบอลผลประโยชน์มหาศาล ค่าจ้างสูง ต้องแยกให้ขาดจากคนกีฬา ผลแข่งขันต้องขาวสะอาด สร้างมาตรการกลไกที่แข็งแรง ด้านเครือข่ายฯหยุดพนัน จ่อเข้าพบ รมต.คนใหม่ ชงหาโมเดลล้อมคอกก่อนบอลไทยไปพนันโลก

30 พ.ย. 2560 วันนี้ เมื่อเวลา 13.00 น. ที่โรงแรมแมนดาริน ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จัดเวทีระดมความเห็น "หยุดขบวนการล้มบอลไทย เคลียร์พนันห่างไกลคนกีฬา" โดยมีนักวิชาการ เยาวชน สื่อมวลชนสายกีฬา และภาคประชาชนเข้าร่วม โดยในเวทีครั้งนี้ได้มีการวิพากษ์ถึงกรณีจับกุมการล็อคผลการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก ของสมาคมฟุตบอลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นวลน้อย ตรีรัตน์ รองศาสตราจารย์จาก ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขบวนการล้มบอลเมื่อ10ปีที่แล้ว นักวิชาการต่างประเทศ แสดงความกังกลใจต่อเรื่องนี้อย่างมาก คนเอเชียหันมาเล่นพนันบอลมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยพัฒนาด้านอาชีพกีฬาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะฟุตบอลทำให้โด่งดังสร้างสื่อเสียงมาโดยตลอด แต่การพัฒนากีฬา ถ้ามีคนเข้าไปเปลี่ยนผลบอลได้มันจะสร้างปัญหาใหญ่ต่อวงการกีฬา เพราะผลการแข่งขันควรขาวสะอาด จึงไม่ควรมีพนันในกีฬามันจะเสี่ยงต่อการล้มกีฬาได้ หลังจากนี้ทางศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จะมีการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อทำวิจัยในเรื่องนี้ต่อไป

ธนิต โตอดิเทพย์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า การพนันและการล้มบอลเป็นเรื่องเดียวกัน และตอนนี้กลายเป็นธุรกิจไปแล้ว จะให้แยกออกจากกันจึงเป็นเรื่องยาก เพราะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ระบบการพนันอยู่ในโลกออนไลน์ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่จับกุมยาก เพราะน่าจะเป็นนายทุนต่างชาติร่วม หรือผ่านนายทุนที่อยู่ในเมืองไทย  รายได้จากการล้มบอลอาจสูงกว่าค่าตัว ทำให้มีแรงจูงใจในการล้มบอลมากขึ้น ฉะนั้น การแก้ปัญหาต้องพัฒนา ยกระดับฟุตบอลให้เป็นอาชีพที่มั่นคง ที่ต่อให้จ้างล้มบอลก็ไม่คุ้มกับสิ่งที่จะเสียไป รวมถึงต้องปฎิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง เพราะกฎหมายการพนันยังล้าสมัยอยู่มาก อีกทั้งต้องสร้างการรับรู้จริยธรรมของกีฬาว่าด้วยการล้มบอล แต่ยังไม่ค่อยมีใครรับรู้ว่ามี ซึ่งหากมีการนำมาเผยแพร่ ตีแผ่กฎหมายให้เห็น การพนันออนไลน์ การพนันบอล ล้มบอล อาจไม่เกิดขึ้น

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า  การล้มบอล ถือเป็นกลยุทธ์ของโต๊ะพนันบอล ซึ่งถ้ามองวิกฤตให้เป็นโอกาส จะช่วยกระตุกต่อมให้ผู้เล่นพนันรู้ว่าไม่มีใครรวยไปกว่าเจ้ามือโต๊ะบอล ผู้เล่นจึงไม่ควรเสี่ยง เพราะเป็นกับดักที่รออยู่ จากการศึกษา พบว่า แนวโน้มผู้เล่นพนันบอลที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะอายุ18- 20 ปี อายุน้อยสุด12 ปี อีกทั้งเด็กมีโอกาสกลับไปเล่นซ้ำมากกว่าผู้ใหญ่ โดยช่องทางที่เข้าไปเล่นพนันบอลมากที่สุดคือ ทางออนไลน์ หรือแค่มีโทรศัพท์เครื่องเดียวก็เล่นได้แล้ว และการพนันกีฬา มีโอกาสติดค่อนข้างมาก เพราะตื่นเต้น สนุก เร้าใจ ดังนั้น การพนัน การล้มบอล จึงไม่ใช่เรื่องขำๆ ใครติดต้องได้รับการบำบัดรักษา ส่วนรัฐต้องมีกฎหมายที่เข้มงวด เพราะไม่ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป  

วิเชษฐ์  พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อมวลชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การพนัน ต้องแยกออกจากกีฬา ซึ่งมีหลายฝ่ายที่เห็นด้วย เพราะมันจะช่วยแก้ปัญหาการล้มบอลได้มาก แต่หลายคนก็กังวลว่าจะเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีการทำต่อเนื่อง เช่น การจับกุมผู้ต้องหา ล้มบอลก็อาจจับได้เพียงจำนวนที่เป็นข่าว ส่วนผู้ที่อยู่เบื้องหลัง นายทุนที่มีบทบาทจริงๆอาจไม่สามารถจับกุมได้ ฉะนั้น ต้องทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่องอย่าทำแค่ไฟไหม้ฟางแล้วหายไป  หากไม่เอาจริงเอาจัง อาจทำให้คนที่ชอบฟุตบอลจริงๆ เสื่อมศรัทธา ที่สำคัญ คือ ต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง จัดทำยุทธศาสตร์วางแนวทางแก้ปัญหา อย่าง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่ดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ แม่บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเล่นพนันบอล กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ออกใบอนุญาต และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับกุมปราบปรามการพนันต่างๆ และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง  กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควรร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดูแลกฎกติกาต่างๆ บนสื่อออนไลน์ และสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อกีฬา ไม่ควรชี้นำ หรือชักนำให้เล่นพนันบอล  

ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ปรากฎการณ์นี้ชี้ว่า ฟุตบอลไทยลีคได้เป็นที่นิยมของนักพนันต่างชาติแล้ว  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะปัญหาจะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น สิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันทำให้เกิดคือ การสร้างมาตรการกลไกที่ช่วยให้การพนันกับการกีฬาแยกห่างออกจากกันมากที่สุด ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 พูดถึงการกำหนดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของทุกฝ่ายที่หาเลี้ยงชีพกับการกีฬา โดยให้มีกลไกและระบบในการดำเนินงาน ซึ่งไม่แน่ใจว่าถึงขณะนี้สองเรื่องนี้ได้ถูกกำหนดออกมาแล้วหรือยัง อยากฝากไปยังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาท่านใหม่ ให้มีการศึกษาตัวอย่างของต่างประเทศที่ก้าวหน้าในการกำหนดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณ และระบบกลไกในการดำเนินงาน เช่น องค์กรทีไอยู ของวงการเทนนิสโลก เป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจเต็มในการตรวจสอบและดำเนินการกับผู้คนในวงการเทนนิสอาชีพของโลกในทุกระดับ รวมถึงการติดตั้งความรู้ให้แก่นักกีฬาทุกด้วย  ทั้งนี้เพื่อแยกอำนาจการตรวจสอบออกจากอำนาจของฝ่ายบริหารวงการกีฬา  เพราะหากเกิดกรณีที่ผู้บริหารการกีฬาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนันแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าใครจะตรวจสอบได้ และเร็วๆนี้เครือข่ายจะขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาคนใหม่ เพื่อหารือในเรื่องนี้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net