Skip to main content
sharethis
แอมเนสตี้ประกาศผลรางวัลสื่อเพื่อสิทธิฯ ปี 59 พร้อมปาฐกถาหัวข้อ “สื่อป้องสิทธิ” นักเรียน ม.ปลายเล่าปมลุกขึ้นมาทำข่าว-ถูกฟ้องหมิ่นฯ บ.ก.สปริงนิวส์ ชี้นักข่าวมักตกหลุมพรางตัวเอง เมื่อทำข่าวสิทธิฯ ปธ.แอมเนสตี้ ชี้สื่อเป็นเหมือนครูบ่มเพาะคนในสังคมตระหนักถึงสิทธิฯ

26 ม.ค. 2560 ที่  โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานประกาศผลมอบรางวัล สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2559 พร้อมปาฐกถาหัวข้อ “สื่อป้องสิทธิ” จาก วันเพ็ญ คุณนา หรือ น้องพลอย  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและนักข่าวพลเมืองผู้รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ของบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดเลย และ สุรชา บุญเปี่ยม บรรณาธิการข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์

นักเรียน ม.ปลายเล่าปมลุกขึ้นมาทำข่าว-ถูกฟ้องหมิ่นฯ

วันเพ็ญ คุณนา กล่าวว่าการที่ตนได้ออกไปพูดนั้นถือว่าได้ทำหน้าที่สื่อสารเล่าเรื่องราวบ้านเกิด ให้สังคมภายนอกรู้ว่า บ้านนาหนองบง เกิดอะไรขึ้นกับชาวบ้านบ้าง ทั้งกรณีชาวบ้านไปขึ้นศาล ไปประชุมการขอต่ออายุป่าไม้ของบริษัทที่มีประเด็นตั้งคำถามต่อองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ว่ามีการละเมิดสิทธิชาวบ้านหรือไม่ เหล่านี้มีข้อเท็จจริงอะไรบ้างที่คนภายนอกยังไม่รู้ ถ้าไม่มีสื่อ ตอนนี้บ้านนาหนองบงคงไม่ได้รับการแก้ปัญหา ผลกระทบ การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่ง คืนวันที่ 15 พ.ค. 2557 ที่ตนถือว่าเป็นวันขนแร่เถื่อนแห่งชาติ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ที่ชายชุดดำหลายร้อยคนเข้ามาทำร้ายร่างกายชาวบ้านมือเปล่าในตอนกลางคืน โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเข้ามาสนใจ ทำให้คนในพื้นที่จำเหตุการณ์นี้จนวันตาย

“เพียงเพราะอยากเล่าเรื่องบ้านเกิดของตัวเองให้สังคม พื้นที่อื่นๆ ได้รับรู้ มันผิดขนาดนั้นเลยหรือ” วันเพ็ญ ตั้งคำถาม เนื่องจากตนเองถูก บริษัททำเหมืองแร่ ฟ้องหมิ่นประมาท

วันเพ็ญกล่าวต่อว่า หลังจากที่ตนโดนบริษัทฟ้อง เพียงเพราะเด็กคนหนึ่งอยากเล่าเรื่องบ้านเกิดของตัวเอง ก็รู้สึกท้อ เสียใจมาก แต่เพราะกำลังใจจากพ่อๆ แม่ๆ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย และทุกคนทำให้มีกำลังใจสู้ต่อ พร้องทั้งฝากกำลังใจถึง พิธีกรรายการนักข่าวพลเมืองที่ถูกฟ้องจากบริษัทเช่นเดียวกับตนด้วย   

สำหรับ วันเพ็ญ เธอเป็นเยาวชนนักข่าวพลเมือง ของ ThaiPBS ซึ่งเป็นผู้ร่วมผลิตและนำเสนอข่าวพลเมืองตอนค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ได้ถูกบริษัททำเหมืองแร่เป็นโจทก์ฟ้องในคดีอาญาความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งต่อมาสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย มีหนังสือลงวันที่ 2 มิ.ย.2559 ถึง เยาวชนนักข่าวพลเมือง ระบุมีความเห็นไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องวันเพ็ญต่อศาลเยาวชนและครอบครัว

บ.ก.สปริงนิวส์ ชี้นักข่าวมักตกหลุมพรางตัวเอง เมื่อทำข่าวสิทธิฯ

สุรชา บุญเปี่ยม บรรณาธิการข่าวอาวุโสสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ กล่าวว่า สื่อคืนฐานันดรที่ 4 ทำหน้าที่แทนประชาชนในการนำเสนอข่าวสารออกไป การทำข่าวดีที่สุดอันดับแรกที่สื่อควรคำนึงคือ เรื่องจริง เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ในอดีตมีข่าวสิทธิมนุษยชนมากมายที่ปรากกฎในข่าวอาชญากรรม การเมือง ข่าวอื่นๆ แต่ความแปลกในปัจจุบันนักข่าวและผู้รับข่าวเองมักนึกถึงแต่ผู้ที่มีชื่อเสียงทางสังคม ข่าวจึงได้แค่ความคิดเห็นไม่ใช่ข้อเท็จจริง 

สุรชา กล่าวต่อว่าข่าวสิทธิมนุษยชน เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งนักข่าวต้องปกป้องสิทธิเหล่านี้ เพราะการต่อสู้ของแหล่งข่าวผู้ด้อยโอกาสทางสังคมกับนายทุน ภาครัฐเป็นเรื่องยาก เรื่องบางอย่างนักข่าวมักตกหลุมพรางตัวเอง ทำให้ทำข่าวไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรมกับแหล่งข่าว เช่นกรณีทำข่าวสืบสวนสอบสวนเมื่อเข้าตามสถานีตำรวจ ได้รับปัจจัย สินบน สนิทถึงขนาดเรียกตำรวจว่า "นาย" "ท่าน" ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับแหล่งข่าวมากเกินไป จากนักข่าวจึงไม่ต่างจากนักประชาสัมพันธ์ขององค์กรนั้นๆ 

สุรชา ระบุด้วยว่า ทุกวันนี้นักข่าว บรรณาธิการ มีความกลัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐทำให้ไม่กล้านำเสนอ จนลืมวิชาชีพของตนหรือการทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะ อีกทั้งการละเมิดสิทธิผู้อื่นไม่ว่า เด็ก ผู้ต้องหา การใช้ภาพต่างๆ ที่สื่อมักทำละเมิดผู้อื่นโดยที่ตั้งใจหรือไม่ต้องใจก็ตาม

ปธ.แอมเนสตี้ ชี้สื่อเป็นเหมือนครูบ่มเพาะคนในสังคมตระหนักถึงสิทธิฯ

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า สื่อมวลชนเปรียบเสมือน “ครู” ผู้ทำหน้าที่ในการร่วมกันบ่มเพาะคนในสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น  จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างกำลังใจให้กับสื่อมวลชนที่ทำงานอย่างหนักในการนำเสนอข่าวสารในแง่มุมที่คำนึงถึงการเคารพ ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยการจัดมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคม และสื่อมวลชนจะได้มีพลังในการยืนหยัดที่จะทำงานเพื่อปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนต่อไป ในส่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเคารพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ต้องได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกข่มขู่และคุกคาม

ผลรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน 59 

ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการตัดสินผลงานรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2559 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสายสื่อมวลชนและสายสิทธิมนุษยชน จากการคัดสรรและตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด ผลการตัดสินมีดังนี้
 
รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติ  ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 2 รางวัลๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ข่าวชุด “พิพาทที่ดินราไวย์ ปมละเมิดสิทธิ์ไล่ชาวเลพ้นแผ่นดินเกิด” หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  สารคดีเชิงข่าว "Forest clampdown hurts poor" หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์    
 
รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่น  ประกอบด้วยรางวัลชมเชย 2 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ข่าวชุด “คนบ้านแหง ต้านการเมือง โค่นป่า ระเบิดภูเขา ถมลำธาร ทำเหมือง” หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ข่าว “ชาวเลย์ราไวย์ ฮึดสู้! รักษาสิทธิ์ที่ทำกิน " หนังสือพิมพ์ปักษ์ใต้ทูเดย์
 
รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์  ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 1 รางวัล ๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “มหากาพย์ "จีที 200" กับบาดแผลในใจของคนจังหวัดชายแดนใต้” เว็บไซด์ข่าวไทยพีบีเอส และรางวัลชมเชย 3 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “บาดแผลที่บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง คำขอโทษของรัฐและน้ำตาของผู้สูญเสีย” เว็บไซด์ข่าวไทยพีบีเอส สารคดีเชิงข่าว “คนไม่มีสิทธิ์”...40 ปีที่ไร้ตัวตนของชาวลาวอพยพ” เว็บไซด์โพสต์ทูเดย์ และสารคดีเชิงข่าว “สั่งซ่อมพลทหาร พลาดพลั้งถึงตาย ใครต้องรับผิดชอบ” เว็บไซด์ไทยรัฐออนไลน์
 
รางวัลข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 2 รางวัล ๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่สารคดีเชิงข่าว "สิทธิเด็ก...สิทธิปกป้องชุมชน” สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี สารคดีเชิงข่าว "เบื้องหลังคดีเผานั่งยางบ้านผือ...กับพยานที่ยังมีชีวิต" สถานีโทรทัศน์ NOW26 และรางวัลชมเชยอีก 3 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “ซ้อมทรมาน คำสารภาพสุดท้ายที่ปลายด้ามขวาน” สถานีโทรทัศน์ TNN24 สารคดีเชิงข่าว " ‘ฉุด’ กระชากชีวิต” สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี และสารคดีเชิงข่าว "เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้...บาดแผลจากความรุนแรง" สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี
 
รางวัลข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ในระบบเคเบิลทีวี ไม่มีผลงานใดได้รับรางวัลดีเด่น แต่มีรางวัลชมเชย 1 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “แพะทุ่งกุลา” สถานีโทรทัศน์เสียงไทยแลนด์เคเบิลทีวี          
 
พรเพ็ญ กล่าวต่อว่าในปีนี้ มินาร์ พิมเพิล ผู้อำนวยการอาวุโสงานปฏิบัติการระดับโลกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลให้แก่สื่อมวลชน

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพวาด การแสดงเชิงสัญลักษ์และมอบรางวัล “สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2559 จากการคัดสรรผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด     

    

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net