Skip to main content
sharethis

จากเพลง 'ยาใจคนจน' ที่หาทางออกของความลำบากผ่านการมีคนรักไว้เคียงคู่ฝัน สู่เพลง 'หนาวแสงนีออน' ที่สะท้อนความเหงาของแรงงานอพยพในเมืองและความฝันที่จะกลับบ้านโดยมองชีวิตในเมืองเป็นชีวิตชั่วคราว และเพลง 'พลังงานจน' ที่พลิกมุมมองว่าความจนเป็นพลังในการขับเคลื่อน

รายการ Soundtrack of Life ตอนนี้  ‘ดีเจเดน’ และ ‘ปลา’ ได้หยิบยกบทเพลงที่พูดถึงความฝันและความหวังของคนจน คนทำงาน ที่มาสู้ชีวิตทำงานในเมือง ซึ่งเพลงที่พูดถึงแรงงานหรือคนทำงานนั้นมีจำนวนมาก เนื่องจากในฐานะหนึ่งของคนงานยังเป็นผู้บริโภคในระบบเศรษฐกิจที่เป็นผู้มีกำลังซื้อจำนวนมากด้วย โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งที่มักพูดถึงวิถีชีวิตคนทำงาน โดย ‘ดีเจเดน’ และ ‘ปลา’ ยังมองว่าปัจจุบันเพลงลูกทุกก็ขยายกลุ่มผู้ฟังที่คนในส่วนอื่นๆ ของสังคมก็สามารถฟังได้แล้ว 

โดยเพลงแรกที่หยิบยกมาพูดถึงคือเพลง 'ยาใจคนจน' ที่ขับร้องโดย ไมค์ ภิรมย์พร โดยเพลงดังกล่าว อยู่ในอัลบั้มชุดที่ 5 ของเขา ออกวางจำหน่าย 30 ก.ค. 2541 แต่งโดย  สลา คุณวุฒิ ถือได้ว่าเป็นเพลงอมตะที่ยังถูกร้องในงานต่างๆ จนถึงทุกวันนี้

สำหรับที่มาของเพลงนี้ ดีเจเดน เล่าว่า มาจากการที่ครูสลา ชอบไปอยู่ในร้านขายเทปแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้โรงงาน โดยจะเห็นปรากฏการณ์ที่หลังเลิกงานก็จะมีการรอรถกลับบ้าน ซึ่งมีอยู่วันหนึ่งเกิดฝนตก คนงานก็ทยอยกลับบ้าน จนกระทั่งเหลือผู้หญิงคนหนึ่งที่รอรถอยู่ ท่ามกลางสายฝน จากนั้นแฟนก็ขี่มอเตอร์ไซค์มารับกลับบ้าน จนเป็นแรงบรรดาลใจให้แต่งเพลงดังกล่าวขึ้นมา ที่เห็นว่าเมื่อคนเราลำบาก แต่หากมาใครที่คอยอยู่ด้วยกันสักคนหนึ่งก็คงดี โดยเพลงนี้ความน่าสนใจนอกจากการพูดถึงความยากจน ความลำบากลำบนและความโรแมนติก และมันจะดีแค่ไหนที่เราไม่ลำบากอยู่คนเดียวมีคนมาลำบากเป็นเพื่อนมาคอยช่วยเหลือเรา โดยที่เพลงมีข้อสรุปว่าสร้างความฝันด้วยกันให้มันเป็นจริง

‘ดีเจเดน’ และ ‘ปลา’ ผู้ดำเนินรายการ

"มันเป็นการรวมกันระหว่างการบรรยายความทุกข์ยากที่เข้าถึงคนกับความรักที่เป็นอุดมคติของคน" ปลา กล่าว พร้อมยกตัวอย่างท่อนที่น่าสนใจในเพลงว่า

"ลำบากยากเข็ญ เช้าเย็นขอให้เห็นหน้า เมื่อเจอปัญหา น้องอย่าตัดสายสัมพันธ์ อยู่เป็นแรงใจ เติมไฟให้กันและกัน เพียงเรามีเราเท่านั้น สร้างฝันให้สมดังใฝ่"

เมื่อพูดถึงความยากลำบากในเมือง มีเพลงที่ได้รับความนิยมอีกเพลงคือเพลง 'หนาวแสงนีออน' ร้องโดย ตั๊กแตน ชลดา ในอัลบั้มชุดที่ 1 ของเธอ ซึ่งออกเมื่อ 29 ส.ค. 2549  เป็นเพลงที่แต่งโดย วสุ ห้าวหาญ

ซึ่ง ปลา มองว่าเป็นเพลงที่ตั้งชื่อได้ดีมาก เป็นสภาพแวดล้อมที่ทันสมัยในเมืองมีแส่งไฟนีออน ที่ควรเป็นตัวแทนของความสว่างสไวและความอบอุ่น แต่กลับหนาว จึงแสดงให้เห็นความขัดแย้งและกินใจ

โดย ดีเจเดน มองว่าเป็นเพลงที่สะท้อนมายาคติและความคิดของคนทำงานหรือแรงงานอพยพหลายๆ คน ที่มองว่าการมาทำงานในเมืองคือการเสี่ยงโชคชั่วคราวเพื่อเก็บเงินสักก้อนแล้วก็กลับต่างจังหวัด 

"มันสะท้อนสภาวะที่เขาไม่รู้สึกว่าเมืองหลวงหรือกรุงเทพที่เขามาอยู่ท่ามกลางความยากลำบากมันจะเป็นบ้านของเขาได้ บ้านของเขาก็คือหมู่บ้านของเขา คือมาอาจจะมาชั่วคราว แต่ชั่วคราวบางทียาวมากนะ" ปลา กล่าว โดยดีเจเดน กล่าวเสริมด้วยว่า บางคนใช้ชีวิตในเมือง 20-30 ปี เมื่อถึงเวลาจะกลับบ้านก็อาจจะกลับไม่ได้ก็ได้ อาจถูกมองว่าล้มเหลวหรือกลับไปแล้วไม่มีงานทำ

โดยเฉพาะท่อนที่ว่า

"อยู่เมืองหลวง ยามเหงาทนหนาวโดยเดียวดาย ตากแสงไฟนีออนก็ไม่สร่าง ดั่งเศษดาวลอยในฟ้ากว้าง พรุ่งนี้เส้นทางจะเป็นอย่างไร..
..เฝ้าฝันถึงวันได้ดี มีงานที่ ตามวาดหวังไว้ คือวันหนึ่งที่หัวใจ จะหอบรักไปซบอุ่นไอดิน"

เป็นเพลงที่ทำให้เรานึกถึงฝันเพื่อปลอบประโลมให้มีความหวังและแรงทำงานต่อไป แม้จะรู้สึกเหนื่อยท้อหรือหนาวตามนัยของเพลง

ขณะที่เพลงล่าสุดที่เพิ่งเผยแพร่ไปเมื่อปีที่ผ่านมานี้คือเพลง 'พลังงานจน' ของวง ลาบานูน แต่งโดย โป โปษยะนุกูล ที่สะท้อนว่าความจนมันมีแรงผลักดันอะไรบางอย่างที่ต่างจากเพลงก่อนหน้าที่ไม่มีการพูดถึงการกลับบ้าน แต่เป็นการบอกให้ต่อสู้ดิ้นรนต่อไป แม้จะลำบากขนาดไหนต้องสู้ต่อไป 

"ความเป็นจริงแม้อยากกลับบ้าน แต่ก็กลับไม่ได้ ก็ได้แต่คิดถึงบ้าน เพราะว่าอยู่ในเมืองมันก็เหงา อยากกลับบ้าน แต่ก็ไม่ได้กลับเพราะยังต้องสู้กันต่อ ความจนมันทำให้เรามีพลังดิ้นรน" ดีเจเดน กล่าว

โดยเฉพาะท่อนที่ว่า

"ฉันรู้ว่าความจน มันมีพลังดิ้นรน ก็ไม่เป็นไรเมื่อเกิดมาอย่างนี้ เมื่อมีเท่าที่มีก็ทำมันให้ดี แลกมันด้วยเหงื่อสู้เพื่อคนที่รัก พิสูจน์ให้ได้ดู ถึงหนักหนาเท่าไร ยังไงหัวใจยังดีอยู่"

"เพลงเพื่อคนงาน เพลงเพื่อคนใช้แรงงาน เพลงที่พูดถึงชีวิตการทำงานอันยากลำบาก ของชนชั้นล่างส่วนใหญ่ เขาไม่มีพูดเรื่องให้สู้กับระบบ เขาให้สู้กับตัวเองเสียมากกว่า อย่างมากก็ดึงคนรักมาสู้ด้วย" ปลา กล่าว พร้อมแนะนำให้ ดีเจเดน ว่าน่าจะเขียนเพลงแนวสู้กับนายจ้าง หรือการตั้งสหภาพแรงงาน

โดยในตอนท้ายมีการแนะนำตอนที่พูดถึงเพลงแรงงานที่ตั้งคำถามและต่อสู้กับระบบ จากการสัมภาษณ์ ‘วิชัย วงภราดร’ (ดู)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net