Skip to main content
sharethis

รายการ Soundtrack of Life ตอนนี้  ‘ดีเจเดน’ และ ‘ปลา’ ได้หยิบยกบทเพลงที่สะท้อนชีวิตของผู้ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศ (sex workers) ผ่าน 2 บทเพลงที่น่าสนใจโดยเพลงแรก ‘นางงามตู้กระจก’ ของวงคาราบาว ในอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ปี 2527 ขับร้องโดย เทียรี่ เมฆวัฒนา แต่งโดยแอ๊ด คาราบาว เป็นเพลงที่บอกเล่าถึงความจำเป็นของการมาประกอบอาชีพนี้ โดยเฉพาะปัญหาความยากจน เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว โดยเฉพาะท่อนที่ว่า

“สังคมทราม ทรามเพราะคน ความยากจนใครทนได้ พ่อก็แก่แม่ไม่สบาย น้องหญิงชายวัยกำลังหม่ำ ช้ำเพราะความที่เธอจน นี่หรือคนสังคมรังเกียจ ช่วยผู้ชายระบายความเครียด สิบร้อยพันยันรัฐมนตรี”

สำหรับอีกเพลงเป็นเพลง ‘สมศรี 1992’ ขับร้องโดย ยิ่งยง ยอดบัวงาม เดิมชื่อเพลง ‘สมศรีขายตัว’ แต่งโดยวุฒิ วรกานต์ ซึ่งให้ยิ่งยงเอาไปบันทึกเสียง หลังบันทึกเสียงเสร็จช่วงนั้นเป็นปี 2535 ภมร อโนทัย จึงเปลี่ยนชื่อเพลงนี้เป็น ‘สมศรี 1992’ เนื้อเพลงเป็นการเล่าผ่านทัศนะของชายหนุ่มที่เขามาตามหาหญิงสาวที่จากบ้านนาเพื่อเข้ามาเสี่ยงโชคในเมืองกรุง โดยได้มาประกอบอาชีพให้บริการทางเพศหรือที่เนื้อเพลงเรียกว่า “ขายตัว” โดยเพลงเล่าถึงความผิดหวังของชายหนุ่มคนดังกล่าว ซึ่งมีมุมมองต่อการประกอบอาชีพนี้ว่าเป็นเรื่องผิดบาปหรือ ‘คาว’ ตามเนื้อเพลงโดยเฉพาะท่อนที่ว่า

“โอ้เป็นเพียงนี้ เชียวหรือแฟนเรา ศรีไม่น่ามัวเมา กลิ่นคาวน้ำกามกามา พี่ต้องตะลึง คาดไม่ถึงว่าศรีจะกล้า ติดเบอร์เขียนคิ้วเขียนตา ในตู้ กระจกติดแอร์”

เนื้อเพลงยังสะท้อนทัศนะคติผ่านการตั้งคำถามถึงการทำอาชีพนี้ว่าเป็นการทำไปเพราะถูกหลอกลวงหรือเต็มใจ พร้อมเสนอทางออกให้กับหญิงสาวคนดังกล่าวให้กลับบ้านนา อย่างท่อนที่ว่า

"กลับนาเถิดศรี หนีไปด้วยกัน แล้วไปสร้างสวรรค์ อยู่บ้านท้องนาน่ามล อย่าหลงไฟแดง ส่งสีแสงเผาหน้าเหี่ยวย่น จะพาไปรดน้ำมนต์ ล้างคาวเป็นดาวบ้านนา”

‘ปลา’ และ  ‘ดีเจเดน’ ผู้ดำเนินรายการ 

จาก 2 เพลงที่ยกมาสะท้อนทัศนคติต่ออาชีพให้บริการทางเพศ 3 มุมมองด้วยกัน 1. ต้องถูกบีบมาทำเพราะความยากจน 2. ถูกหลอกลวงมาทำงานนี้ และ 3. เป็นเรื่องความผิดบาป แม้เพลง  ‘นางงามตู้กระจก’ จะไม่ตีตราว่าเป็นความผิดบาปชัดๆ อย่างเพลง ‘สมศรี 1992’ แต่ก็สะท้อนว่าอาชีพดังกล่าวทำไปด้วย “ดวงใจแหลกเหลวระบม”

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเพลงที่พูดถึงชีวิตอาชีพให้บริการทางเพศ ซึ่งไม่ได้ถูกหยิบมานำเสนอในรายการ เช่น เพลง ‘แม่สาย’ ของคาราบาว และร้องโดยเทียรี่ เช่นกัน ใน อัลบั้มทับหลัง ปี 2531 เป็นเพลงที่เล่าถึงชีวิตอาชีพให้บริการทางเทศเป็นการถูกพ่อแม่ขายหรือตกเขียวมาจากต่างจังหวัดเพื่อทำงาน เช่นเดียวกับเพลง ‘ไถ่เธอคืนมา’  ของ พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ในอัลบั้มมาตามสัญญา ซึ่งถูกพ่อแม่พาไปขายเช่นกัน โดยทางออกของเพลงที่เสนอคือกลับบ้านมาทำนา

พงษ์สิทธิ์ ยังมีเพลง โยโกฮาม่า ซึ่งไม่ได้เคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทเพื่อมาทำงานในกรุงเทพหรือสุไหงโกลกแล้ว แต่ไปประเทศญี่ปุ่น เช่นเดียวกับเพลง ‘สาวน้อยกลับบ้าน’ ของ อ้อย กะท้อน ที่ไปให้บริการทางเพศที่ญี่ปุ่นเช่นกัน

บทเพลงเกี่ยวกับชีวิตคนทำงานให้บริการทางเพศ ที่หยิบยกมานั้น สิ่งที่พบคือการสะท้อนทัศนคติที่มาอาชีพนี้ มาจาก ความจำเป็นจากปัญหาความยากจนต้องมาประกอบอาชีพ หรือไม่ก็ถูกหลอกลวงถูกขายเพื่อมาทำ มองเป็นอาชีพที่ผิดบาป เป็นต้นทางของสภาพชีวิตที่ไม่ดีต่อมา ไม่ว่าจะติดยาหรือโรคติดต่อ พร้อมทั้งหลายเพลงยังเสนอทางออกโดยการกลับไปใช้ชีวิตที่ชนบท มีเพียงเพลง 'หนุ่มบาว สาวปาน' ของ คาราบาว และ ปานธนพร แวกประยูร ที่ทางออกของเพลงคือเปลี่ยนอาชีพเป็นผู้ประกอบการเปิดร้านเหล้าแทนอาชีพขายบริการ แต่ยังไม่พบเพลงที่เสนอให้เรียกร้องสวัสดิการในเมืองหรือความปลอดภัยในการทำงาน และยังไม่พบเพลงที่สะท้อนลักษณะการเข้าสู่อาชีพนี่ด้วยความภาคภูมิใจหรือสมัครใจที่จะเป็นการสร้างมุมมองใหม่ต่ออาชีพนี้ด้วยเช่นกัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net