Skip to main content
sharethis

<--break- />


ภาพจากเพจพลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่

เพจเฟซบุ๊กพลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่รายงานว่า วันพรุ่งนี้ (16 ก.พ.) ตัวแทนประชาชนจังหวัดสงขลา ปัตตานี ร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้หยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพ โดยในวันนี้ (15 ก.พ.) ได้เดินทางไปยื่นเรื่องกับรัฐสภาและสำนักงานนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก่อนแล้ว

ขณะเดียวกันระหว่างการเดินทางสายคัดค้านโครงการของกลุ่มชาวบ้านและนักศึกษา ฝ่ายความมั่นคงก็เดินหน้าสร้างความเข้าใจในโครงการ โดยในวันนี้ (15 ก.พ.) ศูนย์ประชาสัมพันธ์ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกหนังสือเชิญสื่อมวลชนจังหวัดสงขลาให้เข้าร่วมเวทีที่มณฑลทหารบกที่ 42 จะจัดชี้แจงทำความเข้าใจการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในวันที่ 16 ก.พ. เวลา 9.00 น. ที่โรงแรมเทพาบัชรีสอร์ท อ.เทพา จ.สงขลา

สำหรับแถลงการณ์เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้า มีรายละเอียดดังนี้

เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS)

การไม่ปกป้องสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญฉบับร่างและบทเรียนจากความฉ้อฉล ไม่เคารพสิทธิชุมชน

กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559

เรื่อง ขอให้คืนสิทธิชุมชนในร่างรัฐธรรมนูญ และยุติความฉ้อฉลไม่เคารพสิทธิชุมชนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

เรียน ประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัย ฤชุพันธุ์
 

รัฐธรรมนูญที่ประชาชนคาดหวังต้องมีหลักการสำคัญประการหนึ่งคือ การปกป้องสิทธิชุมชนเพราะชุมชนคือฐานชีวิตฐานวัฒนธรรมและฐานทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของสังคมไทย แต่ปรากฏว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยกลับละเลยและไม่ได้มีการระบุถึงสิทธิชุมชนอย่างเพียงพอสำหรับการส่งเสริมให้ชุมชนมีภูมิต้านทานต่ออำนาจรัฐและอำนาจทุนที่จะเข้ามาฉกชิงวิ่งราวทรัพยากรธรรมชาติและวิธีวัฒนธรรมอันดีงามไปจากชุมชน

บทเรียนจากการผลักดัน “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้น สะท้อนชัดเจนว่า ชุมชนต้องการการระบุสิทธิชุมชนที่ชัดเจนและต้องได้รับการปกป้องในรัฐธรรมนูญ หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า “ขอให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เห็นหัวของชาวบ้านและชุมชนบ้าง อย่าเห็นแต่หัวรัฐราชการและนายทุน” 

โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เป็นต้นกำเนิดมลพิษขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ แต่การผลักดันโครงการของ กฟผ.ไม่มีการเคารพสิทธิชุมชนแม้แต่น้อย ต้องมีการย้ายประชาชนกว่า 240 ครัวเรือน กระทบต่อมัสยิดและกุโบร์(สุสาน) 2 แห่ง วัด 1 แห่ง และโรงเรียนปอเนาะอีก 1 แห่ง ซึ่งต้องย้ายออกไป กระทบต่อหลักศรัทธาของประชาชนในพื้นที่อย่างยิ่งทะเลจะถูกทำลาย ประมงพื้นบ้านอาจสาบสูญ มลพิษทางอากาศจะแพร่กระจายไปไกล โครงการดังกล่าวยังได้สร้างแตกแยกในชุมชน กฟผ.ใช้เงินซื้อทุกอย่าง ใช้อำนาจอิทธิพลข่มขู่ อีกทั้งพื้นที่เทพาและชายแดนใต้ที่มีปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบอยู่แล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะเป็นภัยแทรกซ้อนที่สำคัญเป็นเงื่อนไขใหม่ต่อการปะทุของสถานการณ์ความไม่สงบได้

ในขณะที่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่ามาทั้งการทำ ค.1 ค.2 และ ค.3 ไม่มีการรับฟังกลุ่มเห็นต่าง และมีการใช้กำลังปิดกั้นการมีส่วนร่วม รวมทั้งไม่มีการจัดเวทีสร้างการรับรู้หรือการรับฟังความคิดเห็นใดๆ ในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แม้แต่ครั้งเดียว ทั้งๆที่ผลกระทบไปไกลถึง 100 กิโลเมตร

นี่คือบทเรียนแห่งความฉ้อฉลของการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาโดยไม่เคารพต่อสิทธิชุมชนเลยแม้แต่น้อย คำถามคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะสามารถแก้ปัญหาความฉ้อฉลในลักษณะดังกล่าวได้หรือ จะเป็นรัฐธรมนูญที่ชาวบ้านกินได้ได้อย่างไร ในเมื่อประเด็นสิทธิชุมชนไม่ได้มีความชัดเจนแต่อย่างใด

หากประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนไม่มีความชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภาคประชาชนก็ย่อมไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net