Skip to main content
sharethis

LEMPAR นำร่องจัดตั้งเครือข่ายชุมชนสันติธรรม (Kampong Damai) ในชุมชนพุทธและมุสลิม 4 พื้นที่ในชายแดนใต้มุ่งหวังสร้างสันติภาพระยะยาวโดยมาจากเจตจำนงของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยโครงการเครือข่ายชุมชนสันติธรรม ได้รับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ ระยะขยาย(ช.ช.ต.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และธนาคารโลก

ตูแวตานียา ตูแวแมแง 

 นายตูแวตานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา หรือ LEMPAR (Lembaga Patani Raya untuk kedamaian dan pembangunan) ดำเนินโครงการจัดตั้งเครือข่าย Kampong Damai (ศูนย์การเรียนรู้วิชาการสันติภาพชุมชน) หรือ “ชุมชนสันติธรรม” ใน 4 ชุมชนนำร่องของโครงการได้แก่ 1.บ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 2.บ้านบาเจาะ ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา 3.บ้านบลูกาแปเราะ ต.ปะลุกาสาเมาะ จ.นราธิวาส และ 4.บ้านนอก ต.บ้านนอก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นชุมชนไทยพุทธ

สำหรับการใช้คำว่า “สันติธรรม” ของตูแวตานียา ไม่ใช้ “สันติภาพ” และ “สันติสุข” ด้วยเหตุผลคือ หากใช้คำว่าสันติสุขจะถูกมองว่าสนับสนุนหรือเอียงข้างให้ฝ่ายรัฐ และหากใช้คำว่าสันติภาพจะถูกมองจากฝ่ายความมั่นคงของรัฐว่าเป็นผู้สนับสนุนหรือเอียงเข้าข้างฝ่ายขบวนการ “สันติธรรม” จึงเป็นคำใหม่ที่มีความเป็นกลางหมายถึง ความยุติธรรม และบริบทชุมชนตามโครงการชุมชนสันติธรรมที่ต้องการเปิดพื้นที่ทางการเมืองและมีพื้นที่เรียนรู้เรื่องการสร้างสันติภาพและสันติสุข โดยชาวบ้านเป็นคนขับเคลื่อนในระดับชุมชน มีการใช้ชุดความรู้เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีองค์กรในระดับชุมชนและบริหารโดยคนในชุมชน

“เราเชื่อมั่นว่าพลังของชุมชนเป็นรากฐานที่มีความสำคัญในการสร้างสันติภาพระยะยาวและเป็นหลักประกันที่จะเกิดสันติภาพในอนาคตได้ สันติภาพต้องมาจากเจตจำนงของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง เปิดพื้นที่ทางการเมืองระดับชุมชน โดยมีกระบวนการคือ ผู้ก่อตั้งสามารถเข้าถึงในชุมชนระดับลึกได้ ต้องยอมรับว่าเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนที่นี่คือต้องการมีตัวตน มีหลักประกันความปลอดภัย ยอมรับอัตลักษณ์และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ชุมชนสันติธรรมจึงพยายามที่จะดึงเจตจำนงของประชาชนออกมาให้มากที่สุดเพื่อตอบโจทย์กระบวนสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้มีความต้องการของประชาชนเข้าไปอยู่ในกระบวนการสันติภาพด้วย เมื่อรากฐานชาวบ้านมีวุฒิภาวะทางการเมือง เป้าหมายสูงสุดขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นคนตัดสิน เป็นหลักคิดสำคัญของโครงการที่ออกแบบโดยการลงในพื้นที่แล้วให้ชาวบ้านทำกิจกรรมด้วยตัวเอง LEMPAR เป็นเพียงวิทยากรกระบวนการ ไปเอื้ออำนวยความสะดวก เป็นตัวเชื่อมกับผู้นำ เจ้าหน้าที่รัฐ ชุมชน แหล่งทุน เพื่อให้เนื้อหาคือผลลัพธ์ เกิดสันติภาพอย่างแท้จริง ซึ่งต้องอยู่ที่ชุมชนเป็นตัวชี้ขาด”

ห้วงเวลาที่ผ่านมาทุกพื้นที่ในชายแดนใต้รู้จัก ตูแวตานียา ในฐานะผู้ประสานงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ชาวบ้านในพื้นที่ จึงมีการลงไปจัดเวทีสาธารณะ แลกเปลี่ยนกับผู้นำชุมชนซึ่งมีการเสนอว่า ขอให้มีการให้ความรู้กับชาวบ้านที่ไม่จำกัดเวลา ทำให้เป็นต้นคิดของโครงการนี้

“ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่สามารถที่จะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องเมื่อมีการปิดล้อม ตรวจค้น หรือจับกุมผู้ต้องสงสัยในชุมชน เพราะชาวบ้านไม่มีพื้นฐานทางการเมืองที่เข้มแข็งพอหรือมีผู้นำ 4 เสาหลักที่พูดคุยหรืออธิบายกับเจ้าหน้าที่ได้ รวมทั้งผู้นำศาสนาอาจถูกกดดันให้รับผิดชอบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งที่ในแง่มิติความมั่นคงแล้วผู้นำ 4 เสาหลักต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน เครือข่ายชุมชนสันติธรรมจะเป็นศูนย์รวมของทุกฝ่ายในชุมชนทั้งชาวบ้านและผู้นำ 4 เสาหลัก ที่เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานอื่นๆ สามารถติดต่อประสานงานได้ทันที หากมีเจ้าหน้าที่มาปิดล้อม ตรวจค้นในชุมชน ก็สามารถประสานงานที่เครือข่ายชุมชนสันติธรรม โครงสร้างบริหารที่ชาวบ้านออกแบบเอง โดยไม่ต้องไปกดดันผู้นำศาสนา”

ตูแวตานียา ย้อนถึงเริ่มแรกในการจัดเวทีที่บ้านตันหยงเปาว์ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้เชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยเฉพาะกิจมารับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน รวมทั้งการที่มีชุมชนไทยพุทธในโครงการด้วยมาจากวิถีชีวิตของการปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนปฏิเสธไม่ได้ว่า มุสลิมและพุทธมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รวมทั้งยังมีความหวาดระแวงและบาดแผล กระบวนการที่จะทำให้เกิดสันติภาพได้ต้องตอบโจทย์การคลี่คลายปมประวัติศาสตร์บาดแผลระหว่างมุสลิมและพุทธด้วย ซึ่งชาวบ้านชุมชนบ้านนอกของพี่น้องไทยพุทธสามารถก้าวข้ามประวัติศาสตร์และบาดแผลที่ผ่านมาได้ มองอนาคตเพื่อพัฒนาชุมชนให้อยู่ได้ท่ามกลางความขัดแย้งกับหมู่บ้านรายรอบที่เป็นพี่น้องมุสลิม ได้ทั้งความรู้แก่ชาวบ้านในการขับเคลื่อนระดับชุมชน และพื้นที่ทางการเมืองในเชิงโครงสร้าง โดยใช้ความรู้เป็นตัวประสานให้เป็นองค์กร

“เริ่มจากการรู้จักกับผู้ใหญ่บ้านบ้านนอก มีการแลกเปลี่ยนกันว่าอยากให้แกนนำในชุมชนมีความเข้าใจในการสร้างสันติภาพด้วย ในเวทีนี้ได้ดึงชุดปัญหาของ ต.บ้านนอกและสิ่งที่ชาวบ้านอยากรู้มาเพิ่ม นำชุดข้อมูลนี้มาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน วิเคราะห์กับนักวิชาการ”

ในระยะแรกของการจัดตั้งเครือข่ายชุมชนสันติธรรมจะเป็นหลักสูตรเฉพาะชุมชน ความรู้เกี่ยวกับสันติภาพในระดับชุมชนเพื่อให้ทุกคนสามารถมองเห็นว่าอนาคตของชุมชนจะเป็นอย่างไร ก้าวข้ามปัญหาความมั่นคง ปัญหายาเสพติด ปัญหาอบายมุขและการขาดความรู้เรื่องสถานการณ์ปัจจุบัน

สำหรับหลักสูตรที่ใช้ในโครงการมาจากการระดมความคิดเห็นของชาวบ้าน ซึ่งพบว่าต้องการเรียนรู้ใน 3 หมวดวิชา คือ 1.หมวดความรู้เกี่ยวกับสันติภาพและการเมือง เช่น  ประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งระดับชุมชน บทเรียนสันติภาพ กระบวนการสันติภาพ การจัดกลุ่มคนเป็น Track 1,2,3, และชุมชนสันติธรรมอยู่ตรงไหนของกระบวนการสันติภาพ 2.หมวดความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน กฎหมายพิเศษและการเยียวยาทางด้านจิตวิทยาและศาสนา และ 3.หมวดความรู้เกี่ยวกับการจัดการองค์กรภาคประชาชน เป็นการสร้างรากฐานให้ประชาชนสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้

หลักสูตรนี้ใช้เวลาเรียน 3 เดือน ช่วง 2 เดือนแรกเป็นการเรียนในห้องเรียน ส่วนเดือนสุดท้ายเป็นการเรียนข้ามชุมชน ข้ามประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง โดยให้แต่ละชุมชนได้เรียนรู้ระหว่างกัน เมื่อเรียนครบหลักสูตร ผู้เรียนต้องทำ 2 กิจกรรม คือ 1.กิจกรรมทางการเมืองสันติวิธี รูปแบบเวทีสาธารณะโดยให้ผู้เรียนเป็นออกแบบเองในชุมชนของตัวเอง 2.กิจกรรมการรวบรวมข้อเสนอของผู้เรียนในแต่ละพื้นที่มาทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายโดยการจัดเวทีสาธารณะเป็นเวทีใหญ่ 1 เวที ข้อเสนอดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อเสนอในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพที่มาจากเจตจำนงของชาวบ้านอย่างแท้จริง จากนั้นจะนำข้อเสนอทั้งหมดเสนอต่อสาธารณะเพื่อนำไปขับเคลื่อนกระบวนสันติภาพต่อไป

“สันติภาพไม่ใช่เพียงแค่ยุติความรุนแรง ไม่มีเสียงปืนเสียงระเบิดเท่านั้น แต่สันติภาพต้องตอบโจทย์การกินดีอยู่ดีมีความสุขและความต้องการของชาวบ้านด้วย กลไกของรัฐต้องตอบสนองและต้องให้การคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งต้องยอมรับปัญหารากเหง้าของที่นี่ด้วย”

ตูแวตานียา บอกต่อว่า ปัญหาร่วมกันของพี่น้องพุทธและมุสลิมที่นี่คือ การทำนาที่ต้องอาศัยน้ำจากคลอง เมื่อชลประทานมาขุดลอกให้กว้างและลึกแต่ระดับน้ำต่ำกว่าที่นา จึงไม่มีน้ำทำนา มีการเรียกร้องรัฐให้สร้างประตูกั้นน้ำมาหลายปีแต่ยังไม่ได้ผล และปัญหาคนหนุ่มสาวที่ไม่ได้อยู่ในชุมชน ทิ้งคนแก่และเด็กไว้ ในชุมชนมุสลิมที่ลูกหลานไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ ส่งลูกไปเรียนปอเนาะ เมื่อโตขึ้นต้องไปทำงานที่มาเลเซีย ส่วนชุมชนไทยพุทธเมื่อเรียนจบก็ไปทำงานที่อื่นเพราะในชุมชนไม่มีงานรองรับ เหมือนชุมชนในแถบอีสาน ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในพื้นที่ แต่ถูกควันปืนและระเบิดบังไว้ทำให้มองไม่เห็น

สำหรับการต่อยอดของโครงการเขาบอกว่า  จากแกนหลักในของชุมชนที่มาเรียนรู้การขับเคลื่อนสันติภาพระดับชุมชนจะกลายเป็นวิทยากรจัดกระบวนการอย่างน้อยพื้นที่ละ 2 คน สามารถขยายไปยังหมู่บ้านและตำบลอื่นในอำเภอได้ รวมทั้งตัวอย่างชุมชนสันติธรรมทั้ง 4 ชุมชนสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่ชุมชนอื่นได้

ทั้งนี้ โครงการชุมชนสันติธรรมจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2558 นี้ โดยจะทยอยเปิดตัวทุกสัปดาห์ และจะเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดมาเป็นประธานในพิธีเปิดพิธี รวมทั้งเชิญเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่มาร่วมงานด้วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net