Skip to main content
sharethis

วานนี้(22 ก.ย. 58) นคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “แลอดีต เล็งอนาคต ทางออกการป้องกันปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 2559” โดยได้กล่าวถึง การดำเนินภารกิจของกระทรวงแรงงานเพื่อตอบสนองนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือช่วยกันดำเนินการ ซึ่งเป้าหมายไม่ใช่เพียงการแก้ข้อกล่าวหา หรือปลดล็อคเทียร์ 3 เท่านั้น แต่ประเทศไทยต้องช่วยกันขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ไม่ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ได้ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐเมื่อพบเห็นการกระทำผิด ให้รีบให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย ด้านแรงงานต่างด้าวต้องให้ความดูแล เนื่องจากเป็นผู้ช่วยสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศไทย การไม่ดูแลหรือมีกระบวนการบริหารจัดการในขั้นตอนการอนุญาตให้ทำงานที่ยุ่งยาก และทำให้ต้องใช้โปรกเกอร์มาดำเนินการ ก็จะทำให้ถูกกล่าวหาจากต่างประเทศได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องตระหนักถึงต้นทุนทางสังคม (Social cost) ที่ต้องมีการรักษาพยาบาล มีค่าคลอดบุตร มาแบ่งใช้สาธาณูปโภค ซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศด้วย ในการดูแลด้านแรงงานต้องคำนึงเรื่อง Decent work คือ การทำงานมีคุณค่า งานดี ลูกจ้างมีความสุข ให้สอดคล้องตามข้อกำหนดอนุสัญญาของ ILO  ซึ่งจะไม่ทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

นคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน

ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว โดยการรับจดทะเบียนต่างด้าว 1.6 ล้านคน ทำให้ได้รับความชื่นชมในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงาน แต่ยังมีสิ่งที่ถูกจับตามองว่ากระบวนการต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร จะสำเร็จแค่ไหน เป็นความท้าทายโดยเฉพาะการตรวจพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว ที่ขับเคลื่อนได้น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนที่รับจดทะเบียน เนื่องจากต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศต้นทาง และต่อไปเราต้องตระหนักถึงการใช้แรงงาน หากเรายังคงนำแรงงานต่างด้าวมาใช้จำนวนมาก คนไทยจะอยู่ตรงไหน ต้องมีการพิจารณาและวางกรอบทิศทางรองรับให้ดี

ขณะที่ อารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงประเด็นที่ถูกกล่าวในรายงานการค้ามนุษย์ (TIP Report) ซึ่งมีหลายประเด็น อาทิ ด้านการดำเนินคดี การบังคับใช้กฎหมายมีความล่าช้า ด้านการคุ้มครอง มีล่ามไม่เพียงพอ ด้านการป้องกัน การพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวล่าช้า ขาดระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการตรวจแรงงานต่างด้าวนั้น มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ การรายงานยังไม่ให้รายละเอียดที่มากพอ ซึ่งข้อเท็จจริงมีการดำเนินการเป็นจำนวนมาก แต่อาจเป็นเพราะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรให้มีการประสานงานทุกหน่วยงานเพื่อตรวจป้องกันปัญหาค้ามนุษย์ในระดับจังหวัด ซึ่งจะทำให้มีผลการดำเนินการและรายละเอียดข้อมูลชัดเจน นอกจากนี้ประเทศไทยยังถูกกล่าวหาจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าพบการใช้แรงงานเด็กในสินค้า กุ้ง อ้อย สื่อลามก ปลา เสื้อผ้า จึงต้องมองว่าเด็กควรได้รับการดูแลไม่ให้เข้าสู่การกระบวนการที่กระทำผิดกฎหมาย สำหรับปีงบประมาณ 2559 แม้การจัดสรรงบประมาณจะเน้นการทำงานของจังหวัดชายฝั่งทะเล 22 จังหวัด แต่แรงงานจังหวัดควรจัดทำแผนปฏิบัติการแรงงานต่างด้าว และแผนที่ยุทธศาสตร์ซึ่งแสดงถึงรายละเอียดฐานข้อมูลของแรงงานต่างด้าวเฉพาะพื้นที่ตนได้อย่างชัดเจน ซึ่งน่าจะประกอบด้วยยุทธศาสตร์อย่างน้อย 4 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน (Prevention) ด้านการคุ้มครอง(Protection) ด้านการดำเนินคดี(Prosecution) และด้านความร่วมมือ (Partnership)

นอกจากนี้ ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งบรรยายพิเศษเรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2015 บทท้าทายสู่ทางออกการค้ามนุษย์ด้านแรงงานไทย ว่า การดำเนินการของกระทรวงแรงงานมีข้อท้าทายในประเด็นการตรวจสอบเพื่อการคุ้มครองแรงงานมีข้อจำกัด อาทิเช่น ผู้ตรวจแรงงานมีจำนวนน้อย สถานประกอบการไม่ให้ความร่วมมือ รวมถึงแรงงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นแรงงานนอกระบบ เจ้าหน้าที่เน้นการคุ้มครองดูแลแรงงานตามกฎหมาย และยังไม่ได้พิจารณานำกฎหมายอื่นในมิติอื่นมาประกอบ โดยเฉพาะกฎหมายอาญา,กฎหมายฟอกเงิน,กฎหมายค้ามนุษย์,กฎหมายการค้าประเวณี,กฎหมายปราบปรามอาชญากรรมระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ได้เสนอให้กระทรวงแรงงานมีบทบาทในการต่อต้านปราบปรามการค้ามนุษย์ ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดแยกผู้เสียหาย ขั้นตอนการป้องกัน ต้องร่วมมือกับภาคประชาสังคมออกรณรงค์ให้ข้อมูลข่าวสารแก่กลุ่มเสี่ยง ต้องกำหนดแผนงานการตรวจแรงงานและการสนธิกำลังในกระทรวงแรงงาน ใช้คู่มือตรวจแรงงานที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของ ILO ด้านการคุ้มครอง เน้นการคุ้มครองสิทธิและแจ้งสิทธิของแรงงานที่ตกเป็นผู้เสียหาย โดยแจ้งให้แรงงานทราบกระบวนการยุติธรรมที่จะเกิดขึ้น และด้านการดำเนินคดี ต้องมีการสอบสวนโดยมีล่ามในคณะทำงานสหวิชาชีพ มีผู้ตรวจแรงงานอยู่ในฝ่ายอัยการ เก็บหลักฐานที่เกี่ยวกับการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ ฯลฯ  พร้อมข้อเสนอแนะ ให้แรงงานจังหวัดและเจ้าหน้าที่ในสังกัดเป็นผู้ตรวจแรงงาน ซึ่งอาจแต่งตั้งผู้ตรวจแรงงานสมทบจากภาคีเครือข่ายมาช่วยสนธิกำลังก็ได้  กระทรวงแรงงานต้องร่วมเขียนรายงาน TIP Report ไม่เพียงแต่การเสนอข้อมูลเท่านั้น และควรปรับโครงสร้างการใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานของกระทรวงแรงงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net