Skip to main content
sharethis
ชุด ฉก.บินช่วยแรงงานไทย เกาะอัมบน คาดตกค้างกว่า 2 พันชีวิต
 
เมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 27 มี.ค. ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ชุดเฉพาะกิจของรัฐบาลไทย ที่จะเดินทางไปช่วยเหลือแรงงานประมงที่ตกค้างอยู่ที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย ได้เดินทางมาขึ้นเครื่องบินของสายการบินไทย เที่ยวบิน ทีจี 433 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไปยังกรุงจาการ์ตา เพื่อเข้าพบเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงจาการ์ตา หารือถึงแนวทางการส่งกลับแรงงานประมงไทย และจะเดินทางต่อไปยังเกาะอัมบน เพื่อปฏิบัติภารกิจพาคนไทยกลับบ้าน โดยมีกำหนดการเดินทางตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 5 เมษายน
 
สำหรับชุดเฉพาะกิจของรัฐบาลไทยที่เดินทางในวันนี้ มี พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนางสาวสุวรีย์ ใจหาญ ผู้อำนวยการกองต่อต้านการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหัวหน้าคณะ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าหน้าที่คุ้มครองแรงงาน ตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ และเจ้าหน้าที่จากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปในครั้งนี้ด้วย
 
ภารกิจพาคนไทยกลับบ้านในครั้งนี้ นอกจากจะไปช่วยเหลือเยียวยาแรงงานประมงไทยที่ตกค้าง ยังต้องมีการคัดแยกแรงงานประมง ว่าแต่ละคนจัดอยู่ในกลุ่มใด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มเหยื่อค้ามนุษย์ กลุ่มแรงงานที่ตกค้างเนื่องจากการระงับหาปลาในเขตน่านน้ำอินโดนีเซีย และกลุ่มอื่นๆ
 
จากการประเมินในเบื้องต้น คาดว่าจะมีแรงงานประมงตกค้างไม่ต่ำกว่า 2 พันคน ซึ่งหากการลงพื้นที่สำรวจแล้วพบว่า มียอดแรงงานประมงตกค้างตามที่ประเมินไว้จริง ก็ได้ประสานกับกองทัพอากาศในการพาแรงงานประมงกลับประเทศไทยไว้แล้ว นอกจากนี้ การลงพื้นที่เกาะอัมบน ก็ยังเป็นการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับระบบการทำประมงในเชิงลึก เพื่อนำกลับมาแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน และเป็นระบบต่อไป
 
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อินโดนีเซีย ประจำเมืองอัมบน ได้พากลุ่มแรงงานประมงไทยถูกหลอกไปใช้แรงงานทาสจับปลาในน่านน้ำอินโดนีเซีย จำนวน 21 คน ประกอบด้วย นายสมหมาย จิราภักดี นายจตุรงค์ พรมดี นายวุฒิชัย โยธาศรี นายรัว สายกระสุน นายปรีชา ศรีเมืองล้ำ นายบุญเชิด บุญครอง นายสามารถ เสนาสุ นายสมปอง หนิลศรี นายอาทิตย์ แซ่ตัน นายเสอิม มูลหลวง นายอัครเดช ศรีลือ นายเหมันต์ ลาทวี นายชูเกียรติ พิมพ์ทอง นายภูมิ ดอนถวิล นายคมสัน มูลตรีปฐม นายสุทัศน์ สานคำ นายเดจพงษ์ ชัยสวนียากรณ์ นายชิษณุพงค์ สุวรรณโมก นายมีชัย สุวรรณโมก นายเชิดศักดิ์ สุขทั่ว และนายจรัญ กรนาค ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือลูกเรือประมง (เอสเอซี) มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอัมบน ให้การช่วยเหลือเข้าสู่กระบวนการส่งกลับประเทศไทย ออกจากเซฟเฮาส์ ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอัมบน เดินทางไปขึ้นเครื่องบินสายการบินการูด้าที่สนามบินอัมบน ในเวลา 07.15 น. ก่อนเดินทางต่อไปยังสนามบินซูการ์โน ฮัตตา กรุงจาการ์ตา เพื่อรอเดินทางกลับประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา คอยดูแลอำนวยความสะดวก อยู่ที่สนามบินซูการ์โน ฮัตตา กรุงจาการ์ตา
 
ด้าน นายสมพงศ์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิแอลพีเอ็น ซึ่งเดินทางไปดูแลเหยื่อแรงงานประมงที่เกาะอัมบน กล่าวว่า จำนวนแรงงานลูกเรือประมงที่ “ตกเรือ” “ประสบความทุกข์ได้ยาก” ณ เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย ที่มูลนิธิแอลพีเอ็น และศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล ศรีราชา สามารถเข้าถึงและได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ ตม.อัมบน สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา และกรมการกงสุล ให้การช่วยเหลือเข้าสู่กระบวนการส่งกลับประเทศไทย ช่วงระหว่างวันที่ 12-27 มี.ค. มีคนไทย 31 คน คนพม่า 13 คน คนกัมพูชา 6 คน คนลาว 2 คน รวม 52 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานลูกเรือไทยกลับประเทศไทยก่อนในวันนี้ (27 มี.ค.) จำนวน 21 คน ยังเหลืออีก 10 คน ในจำนวน 10 คนที่เหลือ มีแรงงานเด็กไทย 1 คน ที่มาทำงานตั้งแต่อายุ 13 ปี ตอนนี้อายุ 21 ปี มีปัญหาสุขภาพ และมีแรงงานเด็กกัมพูชา 2 คน มาตั้งแต่อายุ 11 และ 13 ปี เคยทำงานที่เกาะเบนจินา 6 ปี ตอนนี้ขอความช่วยเหลือที่เกาะอัมบน ถูกส่งกลับและถูกนำมาขายครั้งที่สอง ตอนนี้ถูกพามามากกว่า 10 ปี และยังไม่ได้กลับบ้านไม่สามารถติดต่อทางบ้านได้ กลุ่มนี้ที่รอความช่วยเหลือและบางคนมีอาการทางจิตประสาท เนื่องจากการถูกกระทำ และทำร้ายร่างกายเป็นเวลายาวนาน
 
“จากการสัมภาษณ์พูดคุย จำนวน คน คือ แรงงานประมงทั้งหมดใช้หนังสือประจำตัวคนเรือปลอม โดยกระบวนการจัดการคนงานทำงานในเรือ และบางรายมีนายจ้างและผู้ประกอบการร่วมด้วย ทำให้แรงงานประมงตกอยู่ในสภาพการถูกบังคับทำงาน ไม่สามารถที่จะเดินทางกลับประเทศได้ และเอกสารประจำตัวเช่นบัตรประชาชน และทะเบียนบ้าน ของแรงงานประมง ถูก ไต๋เรือและนายจ้างเก็บไว้ บางรายถูกโยนทิ้งน้ำ แรงงานประมงต้องทำงานโดยที่ไม่ได้กลับประเทศเป็นเวลายาวนานกว่า 3 ปีขึ้นไป บางรายถูกทิ้งไว้ 5-19 ปี โดยไม่สามารถกลับบ้านได้ และไม่สามารถติดต่อทางครอบครัวได้ กระเป๋าสตางค์และเอกสารหาย ไม่มีเงินซื้อโทรศัพท์ และจดจำเบอร์ติดต่อทางบ้านไม่ได้” นายสมพงศ์ กล่าว
 
(ไทยรัฐ, 27/03/2558)
 
21 แรงงานไทยในอินโดกลับถึงไทยแล้ว
 
กลุ่มลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างบนเกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 21 คน เดินทางกลับถึงไทยโดยสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบิน QZ252 เมื่อเวลา 20.15 น.วานนี้ หลังได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย โดยมีผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ รวมถึงครอบครัวและญาติของกลุ่มลูกเรือที่มารอรับ
 
แรงงานทั้งหมดนี้เคยถูกกลุ่มนายหน้าหลอกไปขึ้นเรือประมงที่ จ.สมุทรสาคร โดยเสนอค่าจ้างเป็นเงินจำนวนมาก แลกกับทำงานบนเรือประมง จะถูกส่งไปบนเรือประมงในน่านน้ำเกาะอัมบน และถูกใช้แรงงานอย่างหนัก จนสามารถหลบหนีมาขอความช่วยเหลือได้
 
นายอนุสันต์ เทียนทอง ผู้ตรวจราชการและโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ บอกว่า หลังจากนี้นำแรงงานประมงไทยทั้ง 21 คน ไปพักที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ชาย) ที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อทำการเก็บข้อมูลจากลูกเรือประมงไทยทั้งหมด เนื่องจากแรงงานที่ได้ทำการช่วยเหลือมาครั้งนี้มีทั้งกลุ่มที่ไม่สมัครใจไปทำงาน โดยถูกหลอกไป ส่วนอีกกลุ่มสมัครใจไป แต่อาจจะไม่ได้รับเงินตามที่ตกลงกัน จึงต้องมีการสอบประวัติ คัดแยกแรงงานที่เข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์
 
นอกจากนี้ ยังมีแรงงานประมงไทยที่ถูกช่วยเหลือมาแล้ว แต่ยังตกค้างอยู่ที่อินโดนีเซีย อีก 10 คนซึ่ง อีก 6 คน จะเดินทางกลับไทยในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ส่วนแรงงานประมงไทยอีก 4 คน อยู่ในช่วงการพิสูจน์สัญชาติ
 
ขณะที่นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ทางการไทยได้ประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เพื่อช่วยเหลือแรงงานไทย โดยในวันที่ 1 เมษายนนี้ จะมีแรงงานไทยที่ได้รับการช่วยเหลือกลับมาเพิ่มอีก 6 คน ส่วนแรงงานที่อยู่ในเกาะเบจินา 5 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติจากตรวจคนเข้าเมืองอินโดนีเซีย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จึงจะสามารถช่วยเหลือกลับไทยได้ ขณะนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ช่วยเหลือและส่งลูกเรือประมงไทยที่สมัครใจกลับไทยแล้ว 169 คน แต่ยังไม่ทราบตัวเลขของแรงงานตกค้างที่แน่ชัด เพราะอยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ
 
(Now26, 28/03/2558)
 
แรงงานชี้ 3 ปัจจัย แก้กฎกระทรวงลดการค้ามนุษย์
 
ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า 3 ปัจจัยลดปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงาน แก้แรงงานเด็ก สางปัญหาแรงงานทาส และต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ให้ได้ผลสำเร็จตามหลักการทำก่อน ทำจริง ทำทันที หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เร่งแก้กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลมีผลบังคับใช้กว่า 2 เดือนที่ผ่านมาและมีการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลปัจจุบันออกตรวจเรือประมงได้ 869 ลำ
 
แต่รัฐบาลในอดีตออกตรวจเรือประมงในห้วงเวลาเดียวกันได้เพียง 152 ลำ และรัฐบาลปัจจุบันเอาผิดเรือประมงทั้งการดำเนินคดีและการออกคำสั่งจำนวน 65 ลำโดยดำเนินคดีเรื่องการใช้แรงงานเด็ก การสั่งให้จ่ายค่าจ้างและสวัดิการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ลูกจ้างให้อยู่ดีกินดีมีเวลาพักผ่อน ในขณะที่รัฐบาลในอดีตดำเนินการเรือที่ทำผิดได้เพียง ๑ ลำเท่านั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่าการตัดสินใจปรับปรุงกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลทำให้ได้ผลสำเร็จและความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลปัจจุบันแตกต่างไปจากรัฐบาลในอดีต
 
"กฎกระทรวงนี้เป็นมาตรการที่ทำให้พบการกระทำผิดของเรือประมงเพื่อประเทศไทยจะได้หลุดจากการคาดโทษว่าไม่มีมาตรฐานในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ แต่ตอนนี้เรามีกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานที่เรือประมงทะเลต้องทำตาม เช่น การทำสัญญาจ้าง การจ้างแรงงานขั้นต่ำ ห้ามจ้างคนอายุต่ำกว่า 18 ปี การจัดเวลาพักและเวลาทำงาน ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วย และการนำตัวลูกจ้างมารายงานตัวปีละครั้ง เป็นต้น จะทำให้ช่วยลดปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก และแรงงานทาส" ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าว
 
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ผลจากการมีกฎกระทรวงนี้เอง วันนี้เรามี “เรือประมงต้นแบบ” ที่มีห้องนอนติดแอร์ ห้องพยบาบาลและบุรุษพยาบาลประจำเรือ มีการติดตั้งระบบติดตามเรือหรือ VMS และเรือประมงต้นแบบยังได้ปฏิบัติตามกฎหมายการทำประมงด้วยการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทำประมงอย่างถูกต้อง ทำประมงเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานและมีการรายงานจำนวนปลาที่จับได้ จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากการถูกคาดโทษการทำประมงที่ผิดกฎหมายแบบ IUU ตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปที่ทุกคนในชาติต้องเข้าใจว่า ถ้าเราถูกกีดกันการค้าระหว่างประเทศจะทำให้ทุกคนในชาติเดือดร้อนเรื่องเงินในกระเป๋าของแต่ละคนมากขึ้นไปอีก ดังนั้นทุกคนในชาติต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแส ผู้ประกอบการนายจ้างต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 29/03/2558)
 
สปส.เผยเพิ่มสิทธิแต่ไม่ปรับเงินสมทบทำรายรับ-รายจ่ายขาดสมดุล เร่งศึกษาจัดการกองทุนให้มั่นคง
 
นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ศึกษาการแยกกองทุนระหว่างคนไทยและแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะต้องศึกษาการจัดการของต่างประเทศเพื่อนำมาพิจารณาว่าไทยควรทำอย่างไรจึงเหมาะสม โดย สปส. จะไปแยกบัญชีการส่งเงินสมทบของแรงงานต่างด้าวจำนวน 450,000 คน ออกจากบัญชีเงินสมทบของคนไทย รวมทั้งศึกษาระบบคณิตศาสตร์ประกันภัย เช่น ศึกษาการเก็บเงินสมทบว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้กองทุนอยู่ได้ในระยะยาว หากไม่มีการปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบจะต้องวางระบบอย่างไรเพื่อรองรับการแก้ปัญหา ทั้งนี้ การเก็บเงินสมทบของไทยเอง มีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่เก็บจากระบบภาษี ส่วนประเทศไทยจะเก็บจาก 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และ รัฐบาล ซึ่งนับแต่การก่อตั้งระบบประกันสังคมไทยยังไม่เคยปรับอัตราเก็บเงินสมทบเพิ่มเติม ขณะที่มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในทุกปี เช่นการรักษาพยาบาลที่ปรับเพิ่มไปแล้วกว่า 100 เรื่อง ทำให้สถานะรายรับรายจ่ายปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล
       
นางปราณิน กล่าวอีกว่า ต้องพิจารณาว่าหากจะมีการเพิ่มอัตราเงินสมทบต้องทำในลักษณะใดเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และไม่เป็นภาระของผู้ประกันตน ซึ่งปัจจุบันอัตราเงินสมทบเฉลี่ยอยู่ที่ 83 บาทต่อวัน ทั้งนี้ ตามมาตรฐานของไอแอลโอระบุว่าทุกประเทศควรมีการปรับอัตราเงินสมทบขึ้นทุกๆ 3 ปี นอกจากนี้ จะต้องศึกษาว่า สิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีของ สปส. ในปัจจุบัน มีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไรที่ต้องปรับปรุง
       
“การรักษาพยาบาลถือเป็นจุดอ่อนของ สปส. เพราะต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ ทำให้ยืนด้วยตัวเองลำบาก อยากให้ สปส. เป็นฝ่ายเก็บเงินอย่างเดียวแล้วไปหาคนรับช่วงต่อ ส่วนกรณีชราภาพนั้นก็ให้ศึกษาวิเคราะห์ว่าการจะทำให้กองทุนอยู่ได้และไม่ล้มใน 30 ปีข้างหน้า ควรต้อง ขยายเพดานอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 - 65 ปี หรือต้องจัดเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้นอย่างไร โดยไอแอลโอจะสรุปผลการศึกษาส่งให้ สปส. ภายในเดือนสิงหาคมนี้”  เลขาธิการ สปส. กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30/03/2558)
 
แรงงานกระอัก! ค่าครองชีพปี 58 พุ่ง ชงปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาท
 
(31 มี.ค.) น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจค่าครองชีพในปี 2558 จากกลุ่มตัวอย่าง 12 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สระบุรี นนทบุรี โดยเปรียบเทียบค่าครองชีพในปี 2556 กับปี 2558 พบว่า ปี 2558 แรงงานต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเกือบเท่าตัว เช่น ค่าไฟจากเดิมแค่ 20 บาทต่อวัน แต่ตอนนี้เพิ่มมาเป็น 40 บาทต่อวัน ค่าโทรศัพท์เดิม 18 บาทต่อวัน มาเป็น 30 บาทต่อวัน ค่าของใช้ในครัวเรือน เช่น สบู่ ยาสีฟัน จากเดิม 23 บาท ขณะนี้เพิ่มเป็น 28 บาท ทำให้แรงงานต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อเพิ่มชั่วโมงทำโอที โดยเฉลี่ยแล้วแรงงานจะต้องมีรายได้ขั้นต่ำถึงวันละ 360 บาท จึงจะเพียงพอกับค่าครองชีพ 
       
ทั้งนี้ จากผลสำรวจค่าครองชีพดังกล่าว คสรท. ขอเสนอให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด แล้วจัดทำโครงสร้างค่าจ้างให้ชัดเจน และสร้างกลไกในการคุ้มครองแรงงานที่ทำงานที่ทำงานเกินหนึ่งปี ให้มีการปรับค่าจ้าง
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 31/03/2558)
 
พม.เร่งช่วยลูกเรือทาสอินโดฯ
 
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. กล่าวว่า ทีมชุดเฉพาะกิจช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยตกค้างบนเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้เดินทางไปถึงเกาะอัมบนแล้ว และได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือลูกเรือประมงที่เกาะอัมบนเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งได้พบลูกเรือประมง 43 คน เป็นคนไทย 33 คนและอีก 10 คนเป็นแรงงานเมียนมาร์ โดย 38 คนมาจากเรือประมง ส่วนอีก 5 คนมาจากการตระเวนค้นหาโดยทีมชุดเฉพาะกิจ ที่มีภารกิจหลัก 4 ประการ คือ 1.ให้การช่วยเหลือคนไทยที่กระจายอยู่บนเกาะ 2.ช่วยเหลือแรงงานบนเรือที่อาจเป็นผู้เสียหายหรือคนที่ต้องการกลับบ้าน 3.ตรวจสอบผู้เสียชีวิตในสุสาน และ 4.ดำเนินการส่งกลับ
 
พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า ทีมชุดเฉพาะกิจจะลงพื้นที่เกาะเบนจิน่า เพื่อค้นหาลูกเรือประมงตกค้างและต้องการความช่วยเหลือ ในวันที่ 3 เม.ย.นี้ จะทราบตัวเลขสรุปลูกเรือประมงที่ได้รับความช่วยเหลือทั้งหมด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะเร่งขั้นตอนการนำส่งลูกเรือประมงให้เดินทางกลับประเทศไทยโดยเร็วคาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ และพม. พร้อมจัดทีมสหวิชาชีพร่วมรับตัวลูกเรือประมงดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว 
 
"ส่วนลูกเรือประมงไทย 21 คน ที่เดินทางกลับมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น จากการสัมภาษณ์คัดแยกผู้เสียหาย พบว่ามีลูกเรือประมงที่เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 5 คน ซึ่ง พม.มอบเงินกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นค่าครองชีพและการเดินทางกลับภูมิลำเนา คนละ 3,000 บาท และประสานเจ้าหน้าที่จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อดูแลช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ให้กับลูกเรือประมงทั้งหมดก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนา จะติดตามดูแลครอบครัวตามภูมิลำเนาเดิมของลูกเรือประมงไทยทั้งหมด เพื่อช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง" รมว.พม. กล่าว
 
(ข่าวสด, 31/03/2558)
 
ดีเอสไอจ่อออกหมายจับตัวการค้ามนุษย์บนเกาะอัมบน
 
พันตำรวจโท วรพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เป็นประธานเปิดการสัมมนา ปัญหาและแนวทางการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เชิงรุก ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด และ องค์กรอิสระ จำนวน 140 คน เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ หลังประเทศสหรัฐอเมริกาปรับลดอันดับประเทศไทย จากกลุ่ม TIER 2 ลงมาอยู่ในกลุ่ม TIER 3 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา และ แนวโน้มการลงทุนอุตสาหกรรม ที่ถูกกล่าวหาว่ามีการค้ามนุษย์ อย่างอุตสาหกรรมประมง 
 
พันตำรวจโท ไพศิษฐ์ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ดีเอสไอ. กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือแรงงานประมงคนไทย ที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย ว่า ดีเอสไอได้รับเป็นคดีพิเศษ โดยก่อนหน้านี้ได้ออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์แล้ว 3 คน ซึ่งติดตามจับกุมได้แล้ว 2 คน ล่าสุด พนักงานสอบสวน ดีเอสไอ.เตรียมรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้บงการใหญ่ ซึ่งเป็นชาวไทยเพิ่มเติมอย่างน้อยอีก 1 คน โดยต้องประสานความร่วมมือกับอัยการสูงสุด ในการจับกุมตัวผู้ต้องหา เนื่องจากคดีดังกล่าวเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย 
 
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า แรงงานข้ามชาติถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่จะตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ได้ง่าย 
 
(ครอบครัวข่าว, 31/03/2558)
 
แรงงานเอธิโอเปียร้อง โดนกดขี่แรงงานโดนทำร้ายร่างกาย
 
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 1 เม.ย.58 ที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถื่น สภาทนายความ แถลงข่าวหลังได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีแรงงานหญิงงานชาวเอธิโอเปีย ทราบชื่อ น.ส.แอนเนต(นามสมมติ) อายุ 24 ถูกนายจ้างสองสามีภรรยาที่เป็นชาวเอธิโอเปียด้วยกัน กักขัง กดขี่ข่มเหงรังแก ซึ่งฝ่ายชายมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลก(WHO) อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีแต่คนต่างชาติอาศัยในย่านปากเกร็ด ทั้งนี้ น.ส.แอนเนต ได้คุยกับนายจ้างฝ่ายหญิงซึ่งผ่านการติดต่อจากนายหน้า ได้ชักชวนให้ไปช่วยทำงานบ้าน และสัญญาว่าจะได้รับการดูแลอย่างดีและงานไม่หนัก ก่อนตกลงให้ค่าใช้จ่ายประมาณ 3000 บาทต่อเดือน จึงหลงเชื่อและเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยตั้งแต่เดือน ก.ค.56 โดยนายจ้างไปรับที่ประเทศเอธิโอเปียและเก็บหนังสือเดินทางของน.ส.แอนเนตไว้
 
โดยนายสรุพงษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อน.ส.แอนเนต มาถึงแล้วนายจ้างกลับให้ทำงานตั้งแต่ ตีห้าถึงเที่ยงคืน ส่วนที่พักเป็นห้องแคบนอนกับสุนัขตัวใหญ่ ไม่จ่ายเงินเดือนให้ อาหารให้กินแต่ข้าวเปล่า ถูกทุบตีต่อหน้าลูกของนายจ้าง และยังถูกกังขังในแบบไม่ให้ออกจากบ้าน และไม่ให้เข้าบ้าน ซึ่งนายจ้างฝ่ายหญิงมักเอาตำแหน่งสามีมาขู่ จนน.ส.แอนเนตไม่สามารถทำอะไรได้ และเมื่อขอพาสปอตคืนทางนายจ้างก็บ่ายเบี่ยง จนเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา น.ส.แอนเนต ถูกทุบตีอย่างไม่ทราบสาเหตุ และถูกไล่ออกจากบ้าน ด้วยความเศร้าหมองจึงมีความคิดจะโดดบ่อน้ำในหมู่บ้านเพื่อฆ่าตัวตาย แต่ก็มาเจอกับเพื่อนชาติเดียวกันที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน พาไปพบองค์กรเอกชนแห่งหนึ่งที่ดูแลเรื่องสิทธิสตรีและเด็ก เพื่อคุ้มครองและพาไปแจ้งความดำเนินคดีที่ สถานีตำรวจภูธร ปากเกร็ดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ใน4ข้อหา ซึ่งมีเรื่องข้อหาการค้ามนุษย์รวมอยู่ด้วย และแจ้งความอีกครั้งเรื่องยึดพาสปอร์ต เมื่อ วันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา 
 
ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ กล่าวอีกว่า หลังจากที่แจ้งความแล้ว ทาง น.ส.แอนเนตได้เดินทางมายังสภาทนายความ และก็มาตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นว่าควรช่วยเหลือ ก็นำนำข้อมูลทั้งหมดยื่นให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ของสภาทนายความ เพื่อเอาเข้าที่ประชุมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และทางสภาทนายความจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในเชิงลึก เพื่อจะช่วยเหลือหญิงสาวชาวเอธิโอเปียรายนี้ต่อไป
 
(บ้านเมือง, 1/04/2558)
 
เบรคหัวทิ่ม! เพิ่ม ค่าเเรงขั้นต่ำ 360 บาท หากไตรภาคี เคาะจริง! หวั่นทำธุรกิจขาดทุน 
 
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. ได้มีการเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากวันละ 300 บาทเป็นวันละ 360 บาท
 
เพราะที่ผ่านมาประเทศไทย มีค่าครองชีพสูงขึ้นตามลำดับ และมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ ของคณะกรรมการไตรภาคี ที่จะกำหนดค่าแรงในปี 2559 ใหม่ อย่างไรก็ดี นายวัลลภ มองว่า ตัวเลขที่เสนอมีการปรับขึ้นถึง 20% ซึ่งเห็นว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไป
 
ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีจะต้องพิจารณาแนวทางให้ รอบคอบหากจะมาการปรับค่าเเรงขึ้นจริง เพราะอาจจะกระทบต่อ ธุรกิจที่เพิ่งปรับตัวรับมือค่าแรง 300 บาทต่อวัน ไปช่วงก่อนหน้านี้
 
รวมทั้งกลุ่มนี้ ก็เป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีกำไรมากนัก อาจเกิดปัญหา การขาดทุนทางธุรกิจ และเกิดการปิดกิจการ เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศก็ไม่ได้มีเเนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากนัก
 
อย่างไรก็ตาม นายวัลลภอัตรา ค่าแรง 300 บาทต่อวันในขณะนี้ของไทยถือว่าเป็นระดับค่าแรงที่อยู่ระดับแพง เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน จึงทำให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมา ทยอยปรับตัวด้วยการหันไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านแทน
 
(MThai News, 1/04/2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net