Skip to main content
sharethis
เปิดมุมมองสันติภาพชายแดนภาคใต้/ปาตานีของคน Track 2 พวกเขาเป็นใครและสำคัญอย่างไร Track 2 หรือภาคประชาสังคมในปาตานีจะเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร วงเสวนาในหลักสูตรประกาศนียบัตรความขัดแย้งในระยะเปลี่ยนผ่าน ของศูนย์จัดการความขัดแย้งศึกษา วิทยาลัยประชาชน ต่อเนื่องหลังจากเวทีเสวนาว่าด้วย Track 3 มาแล้วก่อนหน้านี้
 
 
 
เมื่อเวลา 09.30 น. วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมาคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.ปัตตานี) วิทยาลัยประชาชนจัดเสวนาเรื่อง “ความพยายามทั้งหมดของ Track 2 ต่อสันติภาพในชายแดนใต้/ปาตานี” โดยวิทยากรร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยน คือ นายมูฮัมหมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และ นางสาวจุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม จาก Berghof Foundation
 
Track 2 คือใคร มีความเป็นมาอย่างไร
 
จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม เริ่มต้นการเสวนาด้วยการอธิบายว่าภูมิหลังของ Track 2 ว่า ไม่ได้มาจากสายงานในกระบวนการสร้างสันติภาพ แต่จุดเริ่มต้นของ Track 2 มาจากแวดวงวิชาการด้านรัฐศาสตร์โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากสถาบันแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา โดยนักการทูตคนหนึ่งชื่อ จอห์น แม็คโดนอล ซึ่งดำเนินการจัดการความขัดแย้งโดยใช้การทูตหลายระดับ การเริ่มต้นในทางการทูตมีวิธีการแก้ปัญหาข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทอยู่ 2 แบบ คือ 1. การจัดการหรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยคนระดับบน กล่าวคือระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล หรือที่เรียกติดว่าแบบ จีทูจี หรือผู้มีอำนาจในปัญหาข้อโต้แย้งนั้นๆ 2. การจัดการหรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยกลุ่มคนที่อยู่ในประเทศนั้น หรืออยู่นอกประเทศ หรือคนที่อยู่นอกเหนือจากโครงสร้างอำนาจทางการหรือที่เขาเรียกว่า Track 2 หรือการทูตระดับ 2 ซึ่งนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียก Track 2
 
ความสำคัญในกระบวนการสันติภาพ
 
จุฬารัตน์ กล่าวว่า ข้อได้เปรียบของการทูตแบบ Track 2 ก็คือพลเมืองหรือว่าพลเรือนที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจ สามารถที่จะนำสิ่งต่างๆ หรือเรื่องราวต่างๆ ที่รัฐบาลได้เริ่มเอาไว้หรือที่ยังหาข้อตกลงกันไม่ได้ เอามาทดลองดูก่อน มาทำให้ความกลัวหรือความไม่เข้าใจที่อยู่ในระดับบนผ่อนคลายลงได้ โดยที่ไม่ได้มีอำนาจหรือไม่ได้มีความรู้สึกว่าต้องแบกรับภาระความรับผิดชอบต่อเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นความตึงเครียดที่อยู่ใน Track 1 จะทำให้ทุเลาเบาบางลงโดย Track 2 ด้วยการเตรียมรากฐานบางอย่างเอาไว้ และสามารถจะทดลองความคิดใหม่ๆ
 
“ลองนึกภาพข้อโต้แย้งระหว่าง 2 ประเทศ หากไม่มี Track 2 แล้ว การที่ Track 1 จะนำเสนอบางอย่างบนโต๊ะเจรจาจะทำให้กลายเป็นสิ่งที่ผูกมัดตัวเอง เพราะฉะนั้นมีหลายกรณีที่ Track 1 หรือรัฐบาลจะไม่ค่อยกล้าพูด หรือทดลองหรืออธิบายอะไรใหม่ๆ เพราะกลัวว่าหากพูดไปแล้ว ถ้าเกิดผลออกมาไม่ดีโดยที่ไม่ได้ทดลองมาก่อน ผลเสียจะย้อนเข้าตัวรัฐบาลเอง เพราะฉะนั้น Track 1 จะมีความอึดอัด ไม่มีเหมือนกับ Track 2”
 
จุฬารัตน์ อธิบายเสริมว่า ในหลายกรณี ข้อเสนอของ Track 2 นำไปสู่ข้อตกลงในระดับบนได้ คือทดลองหรือดำเนินการโดย Track 2 แต่นำไปใช้ใน Track 1 ซึ่งถือว่าเป็นคุณลักษณะพิเศษของ Track 2 ที่มีความยืดหยุ่น มีโครงสร้างที่ไม่ได้แข็งตัวเกินไป  ไม่มีความเป็นทางการ สามารถจะคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาได้และพร้อมจะมีความเสี่ยง และที่สำคัญคือสามารถปฏิเสธได้ หากพบว่าข้อตกลงที่ทำไว้ผลจะออกมาไม่ค่อยดี เราก็เสนอให้เปลี่ยนได้ ซึ่งต่างจาก Track 1 ที่เมื่อพูดออกมาแล้วจะปฏิเสธลำบาก
 
ในภาวะที่มีความขัดแย้งนั้น จะมีผู้นำอยู่หลายระดับ โดยผู้นำระดับที่ 2 หรือ Track 2 ไม่จำเป็นที่จะต้องมีความเกี่ยวข้องปัญหาความขัดแย้งนั้นๆ หรือคู่ขัดแย้งนั้นๆ และไม่ถูกควบคุมโดยโครงสร้างของอำนาจรัฐ สถานะและการต่อรองของคนที่อยู่ใน Track 2 สำคัญตรงที่มันวางอยู่บนความสัมพันธ์ของคน กล่าวคือหาก Track 2 ไม่รู้จักใคร ทำงานคนเดียว จะอยู่ไม่ได้ แต่ Track 1 จะอยู่ได้เพราะมีอำนาจที่เป็นทางการแต่ Track 2 ตั้งอยู่บนฐานความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม และก็มีขีดความสามารถที่จะสร้างเครือข่ายที่จะสลายความขัดแย้งหรือสลายความแตกต่างได้อีกด้วย
 
จุฬารัตน์ ยกตัวอย่างว่า สมมุติเราเป็น Track 2 (ที่เป็นมุสลิม) ง่ายกว่าที่เราจะคุยกับผู้นำศาสนาพุทธ หรือคนไทยพุทธหรือคุยกับคนจีน แต่ถ้าสมมุติว่าเราอยู่ในระดับข้างบน เช่น เป็นหัวหน้าขบวนการหรือกลุ่มต่อสู้แล้วไปคุยกับผู้นำศาสนาพุทธ จะลำบากกว่าเพราะมีอำนาจบางอย่างหรืออัตลักษณ์บางยึดอยู่ แต่ Track 2 มีความยืดหยุ่นมากกว่า เลื่อนไปเลื่อนมาได้ตลอดเวลา
 
มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน “Track 2 ไม่ใช่รัฐและไม่ถือปืน”
 
มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน เริ่มจากการแนะนำให้ผู้เข้าร่วมเสวนาไปดูทฤษฎีของเลอเดอรัคว่าด้วยการแบ่ง Track และชวนให้คิดต่อว่าตกลงเราอยู่ใน Track ไหน? บางครั้งบางคนทำงานใน Track 2 แต่บางครั้งก็เห็นอยู่ใน Track 3 ซึ่งโจทย์นี้ถือว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญ เนื่องจากเมื่อตัวเราอยู่ใน Track 2 แล้วไปทำงานใน Track 3 ข้อต่อจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะนำข้อเสนอของ Track 3 ไปสู่ Track 1 โดยผ่านข้อต่อจาก Track 2
 
“เราต้องนิยามตัวเองว่าอยู่ใน Track ไหน แต่ Track 2 มีความสำคัญเพราะเมื่อไปดูยังต่างประเทศในพื้นที่ที่มีปัญหาความขัดแย้ง เช่น อินโดนีเซียที่มีองค์กรภาคประชาสังคมเป็นพันๆ องค์กร ในขณะที่ในพื้นที่ของเรามีแค่หลักสิบเท่านั้น หรืออย่างที่มินดาเนา Track 2 มีความเข้มแข็งมาก มีการสื่อสารภาษาอังกฤษ ภาษามลายูได้อย่างคล่องแคล่ว เขียนรายงานได้ ดังนั้น Track 2 จึงมีความสำคัญเพราะเมื่อจะสื่อสารกับโลกภายนอก Track 2 นี้แหละที่จะสามารถทำหน้าที่นั้นได้”
 
มูฮำหมัดอายุบ กล่าวว่าที่ Track 2 มีความสำคัญก็คือ เพราะคนที่เสียชีวิตทุกวันนี้คือประชาชนทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่ Track 2 จึงมีความชอบธรรมที่จะมีข้อเสนอต่อ Track 1 เพราะเป็นคนในพื้นที่แท้ๆ อีกด้วย นอกจากนั้นแล้ว Track 2 สามารถสร้างข้อต่อรองต่อ Track 1 ได้ ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์ทนายความมุสลิมที่สามารถสร้างข้อต่อรองทางกฎหมายได้ ในขณะที่คนทั่วไปไม่สามารถทำได้
 
มูฮำหมัดอายุบ กล่าวต่อว่าความสำคัญของ Track 2 อีกประการที่สำคัญก็คือแน้วโน้มของ Track 2 เป็นที่นิยมในโลกปัจจุบันเพราะ Track 2 สามารถเชื่อมโยงคนได้ด้วยเครือข่าย ซึ่งเครือข่ายสามารถสอนเรื่องการสื่อสารจากภายใน สามารถสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกของคนได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สื่อทั่วไปหรือสื่อกระแสหลักมักจะไม่หยิบยกมาเป็นประเด็น แต่ Track 2 ที่สามารถต่อกับ Track 3 สามารถนำเสนอสิ่งเหล่านี้สู่สาธารณะได้ และ Track 2 สามารถทำข้อเสนอจากคนในพื้นที่เพื่อไปสู่ Track 1 ได้ดีที่สุด สามรถแสดงให้เห็นว่าประชาชนยังมีพื้นที่ต่อรอง
 
จะเดินหน้าขับเคลื่อนสันติภาพต่อไปอย่างไร?
 
มูฮำหมัดอายุบ กล่าวว่า การที่ภาคประชาสังคมจะเดินต่อไปข้างหน้าได้นั้นต้องไม่คิดเพียงว่าเราเป็นชาวปาตานีในประเทศไทยเท่านั้น แต่ให้คิดไปถึงโลกมลายูที่มีคนอัตลักษณ์เดียวกันอยู่มากกว่าร้อยล้านคน หรือในโลกอิสลามที่มีผู้คนนับถืออยู่มากกว่าพันล้านคนด้วย นอกจากนั้นแล้วองค์กรภาคประชาสังคมจะต้องมียุทธศาสตร์ร่วมกันในการเดินต่อไปให้ได้
 
มูฮำหมัดอายุบ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ภาคประชาสังคมจะต้องคิดและทำงานต่อไปก็คือ ทำงานกับคนหรือองค์ที่ยังทำงานด้วยกันน้อยมาก แต่เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมากในกระบวนการสร้างสันติภาพ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 กลุ่ม คือ 1. ผู้นำศาสนา 2.นักศึกษาทั่วไป (ที่ไม่ใช่นักกิจกรรมที่ขับเคลื่อนอยู่แล้ว) 3.กลุ่มเยาวชน และ 4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกลุ่มคนทั้ง 4 กลุ่มมีความสำคัญที่ Track 2 จะต้องเข้าไปทำงานร่วมกันให้ได้
 
ด้านจุฬารัตน์ กล่าวว่า สิ่งที่ Track 2 ต้องทำก็คือ ไม่ต้องรอ Track 1 โดยสามารถที่จะคิดและทำต่อไปได้ และที่สำคัญไม่ว่าหน้าตาของกระบวนการสร้างสันติภาพจะเป็นอย่างไร แต่หากคนกลุ่มน้อยในพื้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมกระบวนการสร้างสันติภาพกับคนส่วนใหญ่ได้ ย่อมเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นกลุ่มคนส่วนน้อยในพื้นที่ก็มีความสำคัญที่ Track 2 จะต้องทำงานร่วมกันให้ได้
 
มูฮำหมัดอายุบ กล่าวทิ้งท้ายว่า “สันติภาพไม่มีโมเดล” สิ่งที่สำคัญคือจะต้องมาจาก Track 2 และ Track 3 แต่จะต้องไม่มีการฆ่าและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net