Skip to main content
sharethis

 

หลังการยึดอำนาจได้ 3 วัน วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในหมวดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ มาตรา 107-112 หมวดเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา 113-118 และความผิดตามคำสั่งและประกาศของคสช. ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับ อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร

การประกาศให้ศาลทหารเข้ามาดูแลคดีความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และความมั่นคง แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของ คสช. ที่จะปราบปรามการกระทำความผิดในประเด็นเหล่านี้ให้หนักหน่วงและจริงจังในระดับที่กระบวนการยุติธรรมปกติตอบสนองความต้องการของคสช.ไม่ได้

กระบวนการพิจารณาคดีศาลทหารคล้ายกับศาลพลเรือน มีจุดแตกต่างที่สำคัญคือ ศาลทหารภายใต้กฎอัยการศึกไม่มีการอุทธรณ์หรือฏีกา ตัดสินอย่างไรให้ถือเป็นที่สุดทันที \สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่าง คือ ความเป็นอิสระของตุลาการซึ่งล้วนมีที่มาจากทำเนียบนายทหารทั้งสิ่น ยิ่งภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติเช่นนี้ จำเลยหรือผู้ต้องหาทางการเมืองซึ่งถูกผลักให้ขึ้นศาลทหารจึงย่อมรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมของตนเอง

ความผิดที่ขึ้นศาลทหาร ต้องเกิดขึ้นหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2557

อย่างไรก็ตามในประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า ความผิดที่ต้องขึ้นศาลทหารนั้นต้องเกิดขึ้น “ในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับ” คือหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป จนกว่าประกาศนี้จะถูกยกเลิก ส่วนความผิดที่เกิดขึ้นและจบลงไปก่อนหน้าวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 นั้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานใด ก็ให้พิจารณาที่ศาลพลเรือนไปตามปกติ

ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับหลักของกฎหมายอาญาที่ต้องพิจารณาวันที่ลงมือกระทำความผิดเป็นหลัก หากมีกฎหมายที่ออกมาภายหลังการกระทำความผิดมีผลเป็นโทษกับจำเลย เช่น การให้ไปขึ้นศาลทหาร กฎหมายที่ออกมาภายหลังนี้ย่อมบังคับใช้กับจำเลยไม่ได้

การตีความเช่นนี้ปรากฏเป็นรูปธรรมในคดีของนายวีระยุทธ ผู้ชุมนุมต้านรัฐประหาร ที่ถูกตั้งข้อหาจากการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งการชุมนุมเกิดขึ้นในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ก่อนการออกประกาศฉบับที่ 37/2557 คดีของวีระยุทธ จึงถูกพิจารณาที่ศาลแขวงปทุมวันซึ่งเป็นศาลพลเรือน และศาลตัดสินแล้วให้จำคุก 1 เดือน รอลงอาญา

หรือคดีของนายยุทธศักดิ์ คนขับแท็กซี่ที่ถูกผู้โดยสารแจ้งความตามมาตรา 112 ซึ่งการกระทำเกิดขึ้นตั้งแต่ 28 มกราคม 2557 ก่อนการออกประกาศฉบับที่ 37/2557 คดีของยุทธศักดิ์จึงถูกพิจารณาที่ศาลอาญาซึ่งเป็นศาลพลเรือน และศาลตัดสินแล้วให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน­

คดี 112 กรณีสมัคร – ทอม ดันดี ขึ้นศาลทหารไปแล้ว           

หลังการรัฐประหาร คดีความมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีคนถูกจับและคุมขังเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 14 คน คดีเก่าอีกอย่างน้อย 2 คดีที่ถูกเร่งให้เดินหน้าอย่างรวดเร็ว มีหนึ่งคดีที่ถูกฝากขังที่ศาลทหาร คือ คดีของนายสมัครซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่จังหวัดเชียงราย ความผิดคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 จึงอยู่ในอำนาจของศาลทหาร เป็นไปตามที่ประกาศฉบับที่ 37/2557 กำหนดไว้

ส่วนคดีอื่นๆ เกือบทุกคดีพนักงานสอบสวนขออำนาจฝากขังกับศาลพลเรือน เพราะการกระทำความผิดล้วนเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร ยกเว้นคดีของนายธานัท หรือ “ทอม ดันดี” ซึ่งถูกกล่าวหาว่าปราศรัยผิดมาตรา 112 การปราศรัยหรือการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2556 แต่ในเดือนมิถุนายน 2557 มีคนนำคลิปการปราศรัยมาอัพโหลดขึ้นบนยูทูบ เจ้าหน้าที่จึงตีความว่าการกระทำของทอม ดันดี เกิดขึ้นหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 หรือ หลังประกาศฉบับที่ 37/2557 ใช้บังคับ จึงนำตัวไปฝากขังกับศาลทหาร ซึ่งคดีนี้ทนายความได้ทำเรื่องคัดค้านอำนาจของศาลทหารไปแล้ว

คดี112 ที่ศาลพลเรือน กำลังทยอยย้ายมาที่ศาลทหาร

คดีของชายไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งความผิดเกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความลงบนอินเทอร์เน็ตและเป็นการโพสต์ก่อนการรัฐประหาร เขาถูกจับเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 วันเดียวกับการออกประกาศฉบับที่ 37/2557 ดังนั้นเขาจึงไม่มีทางกระทำความผิดหลังการออกประกาศได้ ก่อนหน้านี้เขาถูกฝากขังที่ศาลอาญามาตลอด และศาลอาญาก็รับรองว่าตัวเองมีอำนาจพิจารณาคดีโดยการอนุญาตให้ฝากขัง แต่เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ใกล้จะถึงกำหนดวันส่งฟ้อง เขากลับถูกพาตัวไปศาลทหารเพื่อขออำนาจศาลทหารฝากขังใหม่ ทราบภายหลังว่าอัยการพลเรือนเป็นคนสั่งไม่รับคดีนี้เพราะเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน พนักงานสอบสวนจึงต้องรีบเปลี่ยนทิศทางส่งตัวไปฝากขังกับศาลทหาร และทำสำนวนส่งให้อัยการทหารเป็นผู้สั่งฟ้องแทน

ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2557 คดีของนายคฑาวุธ ก็ถูกพาไปที่ศาลทหารเป็นคดีต่อมา คดีนี้เกี่ยวข้องกับคลิปรายการวิทยุบนอินเทอร์เน็ตอีกเช่นกัน แต่คลิปทั้งหมดถูกทำขึ้นและเผยแพร่ก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ก่อนหน้านี้เขาจึงถูกฝากขังที่ศาลอาญามาตลอด และศาลอาญาก็รับรองว่าตัวเองมีอำนาจพิจารณาคดีโดยการอนุญาตให้ฝากขัง จนเมื่อใกล้จะถึงกำหนดวันส่งฟ้องเขาถูกพาตัวไปศาลทหารเพื่อขออำนาจศาลทหารฝากขังเช่นเดียวกับกรณีของชายไม่เปิดเผยชื่อ โดยพนักงานสอบสวนแจ้งว่า อัยการพลเรือนไม่รับคดีนี้เพราะเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน จึงต้องย้ายเรื่องมาอาศัยอำนาจศาลทหารแทน

ชายไม่ทราบชื่อและนายคฑาวุธยื่นขอประกันตัวต่อศาลทหาร แต่ศาลทหารไม่อนุญาต ด้วยเหตุผลว่า พนักงานสอบสวนไม่อยู่ที่ศาลขณะยื่นประกันตัวและพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวไว้ เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง ศาลนำมาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าหากปล่อยชั่วคราวอาจจะเป็นอุปวรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวน หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้

และในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 นี้เอง มีรายงานว่า คดีของชายไม่เปิดเผยชื่อนั้นอัยการทหารยื่นฟ้องต่อศาลทหารเรียบร้อยแล้ว โดยในกระบวนการส่งฟ้องไม่มีการเบิกตัวจำเลยจากเรือนจำเพื่อมารับทราบข้อกล่าวหาตามฟ้อง ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการปกติในศาลพลเรือน

การโพสต์ข้อความบนอินเทอร์เน็ต อาจถูกตีความขยายว่าวันที่กระทำความผิดมีอยู่ตลอดไป

คำร้องขอฝากขังที่ยื่นต่อศาลทหาร ในคดีของนายคฑาวุธ พนักงานสอบสวนระบุว่า “พนักงานสอบสวนได้ควบคุมผู้ต้องหานี้ไว้ทำการสอบสวนตลอดมา และได้นำตัวผู้ต้องหายื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญามาแล้วรวม 7 ครั้ง คดีนี้พบการกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2557 ถึงวันที่ 27พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นความผิดที่ต้องปฏิบัติตามนัยของประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร”

มีการอ้างว่าพบการกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2557 ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นการอ้างเพื่อให้วันกระทำความผิดยืดออกจนเลยวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 เป็นวิธีหาเหตุให้คดีนี้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งการตีความเช่นนี้ เท่ากับว่าการโพสต์เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นการกระทำต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่เนื้อหาเหล่านั้นยังปรากฏอยู่ ไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง

เพราะการกระทำความผิดโดยการโพสต์เนื้อหาลงบนอินเทอร์เน็ตเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วินาทีแรกที่โพสต์สำเร็จแล้ว จึงต้องนับวันที่โพสต์เนื้อหานั้นเป็นวันกระทำความผิดเพียงวันเดียว ส่วนเนื้อหาที่ยังปรากฏอยู่บนอินเทอร์เน็ตนั้นไม่ว่าจะปรากฏอยู่นานเพียงใดก็เป็นเพียงผลของการกระทำความผิด การโพสต์ไม่มีลักษณะเป็นความผิดต่อเนื่องที่วันเวลาของการกระทำความผิดจะสามารถตีความให้ยืดออกไปหลายวันได้

หากตีความให้ถูกต้องว่าวันที่กระทำความผิดต้องนับวันที่โพสต์เพียงวันเดียวแล้ว คดีของนายคฑาวุธและชายไม่เปิดเผยชื่อก็ต้องถือว่าความผิดเกิดขึ้นก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 และไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ซึ่งเชื่อว่าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีก็ตีความกฎหมายเช่นเดียวกันนี้ตั้งแต่ต้น จึงขอฝากขังทั้งสองคดีไว้ที่ศาลอาญา และผู้พิพากษาศาลอาญาก็เห็นพ้องด้วยจึงสั่งอนุญาตให้ฝากขังมาตลอด 7 ผลัดทั้งสองคดี

ขณะที่อัยการพลเรือน อัยการทหาร และผู้พิพากษาศาลทหารเห็นว่าคดีนี้สามารถตีความให้อยู่ในอำนาจของศาลทหารได้

จะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง ถ้าคดี112 ต้องขึ้นศาลทหาร

หากบรรทัดฐานการตีความเรื่องวันที่กระทำความผิดและเขตอำนาจศาลทหารเช่นนี้ได้รับการยอมรับ คดีความมาตรา 112 หรือมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์เนื้อหาลงในคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ที่เดิมอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลพลเรือนก็จะถูกย้ายมาอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร

เท่าที่ทราบมีอีกอย่างน้อยสี่คดี คือ คดีนายอภิชาติ คดีนายเฉลียว คดีนายธเนศ และคดีนักศึกษาเทคโนโลยีมหานคร ที่มีลักษณะเป็นการโพสต์เนื้อหาลงบนอินเทอร์เน็ตเช่นเดียวกัน และอาจจะมีคดีอื่นๆ อีกตามมาในอนาคต

ปัจจุบันยังไม่มีคำพิพากษาของศาลทหารออกมาให้เห็นเป็นตัวอย่าง ว่าแนวทางการพิจารณาคดี การตีความ และการกำหนดโทษ ในคดีมาตรา 112 หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับความคิดความเชื่อทางการเมืองนั้น ศาลทหารจะมีแนวทางการใช้อำนาจเหมือนศาลพลเรือนหรือไม่ ซึ่งภายในเวลาไม่นานนี้คงจะได้เห็นกัน

แต่ระหว่างนี้ จำเลยที่ถูกโอนคดีมาขึ้นศาลทหาร คงไม่อาจยอมรับวิธีการใช้อำนาจตีความกฎหมายเช่นนี้และไม่อาจรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในกระบวนการสรรหาความยุติธรรมให้กับตัวเองได้ และคงเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ “ความสุข” ยังมาไม่ถึง

 

 

อ่านรายละเอียดคดีของคฑาวุธ คลิกที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/581

อ่านรายละเอียดคดีของยุทธศักดิ์ คลิกที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/575

อ่านรายละเอียดคดีของนายวีระยุทธ คลิกที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/588

อ่านรายละเอียดคดีของนายสมัคร คลิกที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/584

อ่านรายละเอียดคดีของทอม ดันดี คลิกที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/585


รายงานการปรากฎตัวของคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หลังรัฐประหาร 2557 
ดูข้อมูลเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 และการปิดกั้นการใช้เสรีภาพการแสดงออกที่ freedom.ilaw.or.th

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net