Skip to main content
sharethis

นักวิชาการพระปกเกล้า ชี้จุดอ่อน รธน.50 ก่อปัญหาดุลแห่งอำนาจ-พร้อมข้อเสนอ กิตติศักดิ์แนะศาลต้องตรวจสอบการเมืองได้เสมอ พิชญ์เสนอ ดุลอำนาจไม่ได้มีแค่ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ แต่มีสถาบันประชาชนด้วย


26 มิ.ย. 2557  สถาบันพระปกเกล้าจัดงาน สู่ทศวรรษที่ 9 ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตยไทย ภายใต้หัวข้อ สัมมน “การปฏิรูปประเทศไทย : ดุลแห่งอำนาจ” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์

ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต เริ่มนำเสนอโดยกล่าวว่า การถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตยจะมีลักษณะเป็นพหุนิยม ซึ่งเป็นที่มาของความเชื่อเรื่องภาคประชาสังคม ที่ประชาชนจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มต่างๆ และมีอำนาจต่อรองเพื่อไม่ให้ใครมีอำนาจสูงสุด

ลิขิต กล่าวต่อว่า ระบบการเมืองที่จะสร้างขึ้นมาต้องคุยกันก่อน ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร และต้องตกลงกันโดยใช้เสียงข้างมาก พร้อมทั้งต้องสร้างให้อยู่ภายใต้ระเบียบการเมืองเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยสิ่งที่จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ คือ ประชาชนต้องมีความผาสุก มีความหวัง สังคมต้องมีความยุติธรรมและทุกคนต้องมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่ากัน

ลิขิต กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปการเมืองต้องมีสองตัวแปรหลัก คือ ปฏิรูปที่คนซึ่งตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือการศึกษา ส่วนที่สองในการปฏิรูปคือ ระบบการเมืองที่ต้องตอบสนองทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือ มนุษย์ทุกคนต้องได้รับปัจจัยสี่ และสิทธิเสรีภาพต้องได้รับการประกันโดยกฎหมาย รวมถึงทุกคนต้องสามารถที่จะมีโอกาสในการขยับชั้นทางสังคม ผ่านการศึกษาและการว่าจ้างแรงงาน นอกจากรูปธรรมแล้ว ต้องมีตัวแปรทางนามธรรมด้วย ซึ่งก็คือ สิทธิแห่งเสรีภาพ ทุกคนต้องมีความเสมอภาค สังคมต้องมีความยุติธรรม สิทธิมนุษยชนที่ละเมิดไม่ได้ และต้องมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน ทั้งหมดนี้เพื่อให้ระบบที่ออกมาสามารถทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้

ด้าน ณวัฒน์ ศรีปัดถา และชมพูนุท ตั้งถาวร นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า บรรยายเกี่ยวกับข้อเสนอในประเด็นเรื่องดุลอำนาจของสถาบันทางการเมืองโดยระบุว่า ข้อเสนอเหล่านี้เป็นสิ่งที่สถาบันพระปกเกล้ารวบรวมมาจาก ตำรา บทความวิชาการ เวทีเสวนา ตลอดจนสื่อต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัด “ดุลอำนาจ” ของสถาบันการเมืองที่เกี่ยวข้องกับระบบรัฐสภาไทย 

โดยแบ่งเป็นออกเป็นสองกลุ่ม คือ ปัญหาดุลอำนาจระหว่างองค์กร ได้แก่ องค์กรที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ  ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยปัญหาเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนดให้ ส.ส.เป็นรัฐมนตรีในคราวเดียวกัน จึงมีข้อเสนอให้เปลี่ยนเป็น ส.ส.ที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ทันทีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ขัดกันระหว่างรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี และสร้างความมีเสถียรภาพให้แก่รัฐบาล

ปัญหาต่อมาคือ การที่รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี  โดยเลือกจาก ส.ส. ทำให้ฝ่ายบริหาร และเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเป็นพวกเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบและถ่วงดุลกันได้อย่างแท้จริง จึงมีข้อเสนอให้ นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งทางตรง เพื่อลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรี และรัฐสภา 

สุดท้ายเป็นปัญหาเรื่อง การลงประชามติ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 165 ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่สามารถตัดสินใจว่าจะนำเรื่องใด ลงประชามติ  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีการเสนอให้ ส.ส.จำนวน 1 ใน 10 สามารถขอนำประเด็นปัญหาไปลงประชามติได้ โดยกำหนดเป็นโควตา จำกัดจำนวนครั้งในแต่ละปี เพื่อเป็นทางออกให้ ส.ส.ที่เป็นเสียงส่วนน้อย ที่ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ ส.ส.เสียงส่วนใหญ่กระทำนั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่ 

ต่อมาเป็นปัญหาดุลอำนาจระหว่าง รัฐสภาและองค์กรตุลาการ (ศาลรัฐธรรมนูญ) ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนดให้อำนาจการให้ความเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภาแต่เพียงองค์กรเดียว โดยไม่มีผู้ตรวจสอบ จึงมีข้อเสนอให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องผ่านการลงประชามติก่อนทุกครั้ง และต้องให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยทุกครั้ง รวมถึงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้ง  เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น และให้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสามารถทำโดยหลายองค์กร โดยสามารถตรวจสอบซึ่งกันและกันได้

ปัญหาที่สองคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างดุลอำนาจภายในรัฐสภา ซึ่งมีปัญหาดังนี้ วุฒิสภามีอำนาจไม่สอดคล้องกับที่มา จึงเสนอให้มีการลดอำนาจวุฒิสภา โดยเฉพาะอำนาจการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เพื่อลดปัญหาการแทรกแซงองค์กรอิสระของวุฒิสภา และอีกปัญหาหนึ่งคือ วุฒิสภายังมีความจำเป็นหรือไม่  จึงเสนอให้มีการกำหนดให้ประเทศไทยมีระบบสภาเดี่ยวโดยไม่มีวุฒิสภา เพื่อลดเวลาในการออกกฎหมาย 

ต่อมาเป็นการอภิปรายระดมความคิดเห็น โดยนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ อัษฎางค์ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับข้อเสนอที่นักวิชาการของสถาบันพระปกเกล้าได้บรรยายไปก่อนหน้านี้

กิตติศักดิ์ ปรกติ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้ คือเราต้องรู้ว่าปัญหาของประเทศไทยคืออะไร หากจะพูดถึงเรื่องการถ่วงดุลอำนาจ เราก็ต้องรู้ว่าแท้จริงแล้วโครงสร้างของการถ่วงดุลนั้นไม่ดี หรือเป็นเพราะว่าคนที่อยู่ในระบบนั้นไม่เคารพกติกา เพราะฉะนั้นก่อนเราจะแก้ไขปัญหา เราต้องรู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และที่สำคัญที่สุดต้องเข้าใจสภาพความเป็นจริงในสังคม แล้วจึงนำทฤษฎีไปปรับใช้ให้ดีขึ้น โดยให้มีความสอดคล้องกับสภาพของสังคมไทย 

กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า การถ่วงดุลอำนาจจะเกิดได้ต้องมีความไว้ใจกัน เพราะฉะนั้นต้องทำการปฏิรูปโครงสร้างความไว้วางใจ  ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องคิดก่อนเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีว่าจะมาจากการเลือกตั้งทางตรงหรือไม่เพราะถ้าเรายังไม่ไว้ใจว่านายกฯ จะทำเพื่อส่วนรวม แน่นอนว่าจะเกิดปัญหาตามมา ที่สำคัญคือ ศาลต้องสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเมืองได้เสมอ โดยเฉพาะภาวะที่สังคมขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

“การปฏิรูปคือ การทำอย่างไรให้การใช้อำนาจในบ้านเมืองนั้นดำรงอยู่ได้” กิตติศักดิ์ เสริม

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร  กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทย คือ ประเทศเราไม่เคยมีรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาจากจุดบกพร่องของไทยเอง แต่เรามักร่างจากการเลียนแบบต่างประเทศมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นหากเราจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ต้องศึกษาให้ชัดเจนว่า ปัญหาและจุดบกพร่องของประเทศคืออะไร แล้วนำมาร่างรัฐธรรมนูญโดยต้องเป็นรัฐธรรมนูญแบบสั้นๆ สามารถยืดหยุ่นได้ สุดท้ายต้องให้องค์กรอิสระมีส่วนร่วมและต้องมีส่วนสัมพันธ์กับประชาชน โดยให้องค์กรอิสระมาจาการเลือกตั้งทางอ้อม เพื่อแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอที่ทางสถาบันเสนอมานั้น ไม่ทราบว่าเป็นข้อเสนอของใครมันเลยทำให้เราไม่รู้ว่า ใครยืนอยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งมันทำให้ขาดภาพรวมว่าสังคมจะเดินไปในทิศทางใด โดยข้อเสนอต้องยึดโยงกับผลประโยชน์ จินตนาการและความใฝ่ฝันของแต่ละฝ่าย เพราะนั่นคือที่มาของสังคมที่เราจะอยู่ด้วยกัน มันทำให้เรารู้ว่าเรื่องไหนบ้างที่เราสามารถรับกันได้และรับกันไม่ได้ แล้วตรงไหนที่รับกันไม่ได้ค่อยมาต่อสู้กันทางความคิดอย่างสันติวิธี  ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่เห็นตรงกันทุกเรื่องแต่เราก็ต้องเข้าใจว่าใครยืนอยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติของสังคมที่โตแล้ว

พิชญ์ กล่าวต่อมาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นหลายอย่าง การพูดถึงการถ่วงดุลอำนาจมันไม่ใช่แค่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดุลอำนาจที่แท้จริงไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ ผมจึงไม่รู้ว่าเราจะศึกษาไปทำไม  ประเด็นที่สำคัญในตอนนี้คือ ดุลอำนาจนั้นมีไว้ทำไม เมื่อเราทำตามข้อเสนอทั้งหมดนี้  จะทำให้เกิดดุลอำนาจจริงไหม หรือได้เพียงแต่ข้อดีข้อเสีย  

พิชญ์ กล่าวว่า เห็นด้วยที่อาจารย์ลิขิตพูด ว่าเราต้องไว้ใจคน โดยไม่ให้คนมีอำนาจมากเกิน ซึ่งนี่เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ ต้องไว้ใจเสียงข้างมาก โดยไม่ให้เสียงข้างมากทำลายทุกคน หรือแม้กระทั่งกลับมาทำลายเสียงข้างมากเอง

พิชญ์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นประเด็นใหญ่ในตอนนี้ คือ เรื่องของดุลอำนาจระหว่างองค์กรตามข้อเสนอนั้นแคบจนเกินไป เพราะมีเพียงแค่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งขาดดุลอำนาจกับประชาชน เนื่องจากในปัจจุบันอำนาจของประชาชน มีความเป็นสถาบันมากขึ้น  แล้วดุลอำนาจกับทหารและข้าราชการประจำนั้นมีมากน้อยแค่ไหน

พิชญ์มองว่าการรัฐประหารครั้งนี้ประเด็นที่สำคัญคือทหารพยายามสร้างภาพอย่างหนึ่งให้เห็นว่าการเข้ามาในวันนี้คือการสร้างให้เกิดดุลมากขึ้น เพราะฉะนั้น เราต้องคิดว่าทั้งหมดที่เราจะคุยกันเรื่อง รัฐสภา นิติบัญญัติ นั้นไม่พอเพราะยังมีสถาบันอื่นๆ ที่ยังมีอำนาจในสังคม ดังนั้น เราต้องทำความเข้าใจสถาบันอื่นๆ ให้เป็นสถาบันที่ใช้อำนาจอย่างแท้จริง 

สุดท้ายพิชญ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า ปัจจุบันนั้นจริงหรือเปล่าว่าสังคมเรา อยู่แต่กับเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย ซึ่งในความหมายที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า กปปส. ก็บอกว่ามีมวลมหาประชนที่มากกว่า เสื้อแดงก็บอกว่ามีมากกว่า หรือแม้แต่ในทุกบ้านก็ยังมีเสื้อเหลืองเสื้อแดงอยู่ด้วยกันได้ และเราก็ยังมีมิติอื่นในชีวิตที่เราต้องอยู่ด้วยกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งคำถามว่า  การออกแบบสถาบันที่จะใช้อำนาจแทนเรานั้นสามารถสะท้อนความหลากหลายของสังคมเพียงพอหรือไม่ 

"สำหรับผมแล้วไม่ปฏิเสธสองสภา แต่สภาที่สองต้องไม่ใช่สภาเพื่อจับผิดเสียงข้างมาก แต่ต้องสะท้อนความหลากหลายของสังคม" พิชญ์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net