ศาลรัฐธรรมนูญกับหลักนิติธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อนุสนธิจากคำอภิปรายของ นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ปราศรัยที่เวที “ม็อบนกหวีด” ถนนราชดำเนิน เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2556 ผู้ฟังมากหลายพัน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://prachatai.com/journal/2013/11/50025) ด้วยเห็นว่า การปราศรัยดังกล่าวมีคนฟังจำนวนมาก อาจจะทำให้สังคมเข้าใจในหลักนิติธรรมผิด และเข้าใจศาลรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยผิด และเห็นว่าอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ มองปัญหาสังคมและการเมืองไทย เพี้ยนไปจากหลักการที่ชอบธรรมของหลักนิติธรรม จึงอยากจะแสดงความเห็นแย้ง และไม่เห็นด้วยกับสาระที่นายกิตติศักดิ์นำเสนอ ดังนี้

โดยภาพรวม รู้สึกเสียดาย ที่นายกิตติศักดิ์ ปรกติ เป็นถึงอาจารย์ผู้ใหญ่สอนกฎหมาย ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คงจะมีลูกศิษย์เรียนด้วยจำนวนมาก แต่อาจารย์ยังพูดเรื่องหลักกฎหมาย ผิดๆถูกๆ และไม่ประสีประสาเรื่องอำนาจการปกครอง และเรื่องระบอบประชาธิปไตยเอาเลย นายกิตติศักดิ์ จะรู้หรือเปล่าหนอว่าสิ่งที่เขาพูดบรรยาย เขาเขียน เขาปราศรัยนั้น มันผิดหลักวิชาการรัฐศาสตร์ และให้ความหมายของหลักนิติธรรมผิดไป

ประการแรก เห็นว่านายกิตติศักดิ์เข้าใจผิด ระหว่างประชาธิปไตยและอนาธิปไตย ที่เขานำเสนอมันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมในลักษณะที่กล่าวถึงมันคืออนาธิปไตย ยิ่งปรากฏชัดในวันต่อๆ มา  หลักอำนาจของประชาชนนั้น ยึดถือเสียงข้างมาก แม้ให้ “เคารพเสียงข้างน้อย”  และให้ยึดหลักสิทธิเสรีภาพ หลักความเสมอภาค หลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรม และการปกครองจากเลือกตั้ง ที่ถือเป็นหลักการใหญ่พื้นฐาน โดยเฉพาะหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนนั้นสำคัญที่สุด แต่วิธีการตัดสินเขาให้ใช้เสียงข้างมากเป็นมติตัดสิน และไม่ได้แปลว่าพวกมากลากไปในทางลบ แม้ในทางเป็นจริงและในการปฏิบัติจริง จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม แต่เป็นเรื่องหลักการที่ต้องยอมรับกันให้ได้ 

คงเพราะนายกิตติศักดิ์ สอนกฎหมาย จึงย้ำว่าให้รัฐสภายึดระบอบ "ตุลาการธิปไตย" เป็นสรณะ ในการปกครอง ให้ถือเอาศาลเป็นอำนาจสูงสุด ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรืออำนาจปวงชนสูงสุด และนายกิตติศักดิ์ยังให้ยึดถือ “ลัทธิรัฐธรรมนูญ” เป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเขียนโดยใคร ตราอย่างไร จะเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ สาระกฎหมายใช่สาระของระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม สภาจะต้องยึดถือโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ สรุปเบื้องต้นได้ว่า ผู้พูดไม่ใช่นักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย ไม่สามารถชี้แนะในทางอำนาจปกครองที่ชอบธรรมได้ 

นายกิตติศักดิ์เห็นว่า ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะมาจากโจร หรือจากใคร ถือว่าชอบและถูกทั้งหมด จึงทำให้น่าเป็นห่วงในการถ่ายทอด ของนายกิตติศักดิ์ ไปยังลูกศิษย์และบุคคลทั่วไป ในทัศนะผู้เขียนเห็นว่าเป็นการหลงทาง หลงวิชา หรืออวิชชา ในหมู่นักวิชาการ นักกฎหมายสอนในมหาวิทยาลัย จึงเห็นว่าการเรียนการสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยวันนี้ผิดพลาด ไม่เว้นแม้แต่คนสอนระดับปริญญาเอก มีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ เป็นคณบดีนิติศาสตร์ หรือแม้แต่อธิการบดีมหาวิทยาลัย ก็นำวิชานิติศาสตร์ไปในทางที่ไม่เป็นคุณต่อระบบการปกครอง และระบบความยุติธรรมในสังคม ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมการเมืองไทยในวันนี้

ผมอ่านคำอภิปรายของนายกิตติศักดิ์ แล้วทำให้รู้สึกเป็นห่วงและไม่สบายใจมาก ด้วยเห็นว่าส่วนใหญ่ที่นายกิตติศักดิ์นำเสนอ เป็นความเห็นที่ผิดในทัศนะของผู้เขียน เกรงว่าถ้าปล่อยให้ขยายต่อไปก็จะไปกันใหญ่ จึงขอนำเสนอคำอธิบายหลักวิชาการเบื้องต้น เกี่ยวกับหลักรัฐศาสตร์ ประชาธิปไตย และหลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรม ที่แตกต่างและเห็นว่าสังคมควรเข้าใจตรงกัน

ประการที่สอง  อยากให้เข้าใจถึงหลักและทฤษฎีเบื้องต้นของการเป็นรัฐ อำนาจรัฐและกฎหมายเพื่อใช้ปกครองรัฐก่อน ในความจริงแท้ รัฐและอำนาจรัฐนั้นเกิดพร้อมกัน และอำนาจรัฐจะเกิดก่อนกฎหมายเสมอ อำนาจรัฐคือผู้บัญญัติกฎหมาย กฎหมายจึงเกิดทีหลังอำนาจเสมอ เมื่อมีรัฐก็มีอำนาจการปกครองรัฐ เรียกว่าระบอบการปกครองรัฐ จำแนกเป็นสองระบอบใหญ่ๆ คือระบอบอำนาจปวงชน และระบอบอำนาจบุคคล อำนาจปวงชนเรียกว่าระบอบประชาธิปไตย อำนาจบุคคลเรียกว่าระบอบเผด็จการ "Authoritarian or Dictatorship" ซึ่งมีหลายแบบให้เรียก เช่นเรียกตามชื่อผู้ถืออำนาจนั้น เช่นระบอบฮิตเลอร์ แปลว่าฮิตเลอร์คือผู้ถืออำนาจ ในสมัยโบราณกษัตริย์คือผู้ถืออำนาจปกครอง ก็เรียกว่า ระบอบราชาธิปไตย

ในการปกครองสมัยใหม่ ในประเทศที่เจริญรุ่งเรืองส่วนใหญ่ ให้อำนาจรัฐเป็นของประชาชน แต่ไม่ว่าการปกครองระบอบใด จะแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยของรัฐ ออกเป็น 3 สถาบัน คือนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ โดยแบ่งอำนาจ แบ่งหน้าที่กันด้วยรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายหลักที่เรียกชื่ออย่างอื่นก็ได้ ไม่ให้สถาบันอำนาจใดใหญ่กว่ากัน ให้ถ่วงดุลกันได้

ในระบอบเผด็จการหรือราชาธิปไตย ทั้ง 3 สถาบันอำนาจถือโดยคนคนเดียว หรือรวมอยู่ในคณะบุคคล ที่เป็นคณะผู้ปกครองในระบอบนั้น ประชาชนไม่มีส่วนร่วมหรือไม่ใช่เจ้าของอำนาจ ส่วนในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของและผู้ถืออำนาจ โดยให้ผู้แทนปวงชนในรัฐสภาเป็นผู้ถือดุลอำนาจ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แบบระบบรัฐสภา โดยหลักรัฐศาสตร์การปกครอง เขาให้รัฐสภาเป็นผู้ถืออำนาจสูงสุด ไม่ใช่ศาล ยังไม่มีประเทศใดที่ปกครองด้วยระบอบ "ตุลาการธิปไตย" หรือ "ตุลาการภิวัฒน์" อาจจะยกเว้นประเทศพิเศษนี้

ประการที่สาม สาระของหลักกฎหมายหรือนิติธรรม (Rule of Law) เรื่องของอำนาจอธิปไตยของรัฐ โดยหลักรัฐศาสตร์อำนาจรัฐสูงสุดเสมอในรัฐ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นระบอบใด ไม่ว่าระบอบจะเป็นประชาธิปไตยหรือราชาธิปไตย "อำนาจ" คือผู้ตรากฎหมาย อำนาจจึงใหญ่กว่ากฎหมายเสมอ กล่าวอย่างเป็นที่สุด "อำนาจ" จะเขียนหรือเปลี่ยนกฎหมาย อย่างไรก็ได้ แต่ต้องยึดหลัก คือให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย หรือหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมไม่ใช่กฎหมาย แต่มันหมายถึงหลักยุติธรรมสากล หลักความถูกต้อง ที่คนทั่วไปยอมรับ

ทุกระบอบล้วนต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปกครองทั้งสิ้น ที่สำคัญ ระบอบประชาธิปไตย ถือว่ากฎหมายที่ชอบธรรมต้องเป็นกฎหมายที่มาจากความเห็นชอบและความยินยอมของประชาชน กฎหมายจะถูก หรือผิดประชาชนหรือตัวแทนเขาในรัฐสภาจะเป็นผู้ตราขึ้น และแก้ไขเอง ผู้แทนของประชาชนเป็นผู้ถืออำนาจแทนประชาชน ต้องเป็นผู้ตรากฎหมาย จึงจะถือว่ากฎหมายนั้นมีความชอบธรรม รัฐสภาที่มาจากประชาชน จึงเป็นหลักนิติธรรมหรือนิติรัฐของระบอบประชาธิปไตย

ต่อคำถามว่าประเทศไทย ปกครองด้วยระบอบอะไร ถ้าคำตอบคือระบอบประชาธิปไตย อ้างตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ แต่สิ่งที่น่าฉงนมากๆ คือ ทำไมวันนี้ศาลไทยยังต้องเอากฎหมายของคณะรัฐประหารมาใช้ พิจารณาพิพากษาคดีความต่างๆ ในทัศนะผู้เขียนปัญหาของไทยวันนี้ เกิดจากระบอบไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นประชาธิปไตยเพียงในรูป แต่โดยสาระนั้นไม่ใช่ แถมยังมีองค์กรอื่นที่ใช้อำนาจรัฐซ้อนรัฐที่เรียกว่าองค์กรอิสระ หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญเช่น ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ดังนั้นรัฐสภาประชาธิปไตย จึงมีหน้าที่นิติบัญญัติ ออกกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายเก่า ให้เป็นประชาธิปไตย ให้กฎหมายมีความชอบธรรม ถือเป็นหน้าที่ของรัฐสภา จึงเห็นว่าไม่ใช่กงการ หรือหน้าที่อะไรของศาล หรือศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะมาชี้ว่ารัฐสภาแก้กฎหมายอะไรได้ หรือกฎหมายอะไรไม่ได้ การตรากฎหมายไม่ใช่หน้าที่ศาล เป็นหน้าที่รัฐสภา

ในเรื่องหลักนิติธรรม ที่น่าเป็นห่วงคือ ที่นายกิตติศักดิ์แปลหลักนิติธรรมว่าคือ “หลักการปกครองที่ถือเอากฎหมายเป็นใหญ่”  ผมเห็นว่าเป็นคำแปลที่ผิดและเพี้ยนเอามากๆ ซึ่งแปลว่า ถ้าโจรออกกฎหมายย่อมเป็นกฎของโจร จะเป็นหลักนิติธรรมไปไม่ได้ ศาลจึงไม่ควรเอากฎหมายที่ไม่อยู่ในหลักนิติธรรมมาใช้ อาจารย์สอนกฎหมายไม่ควรสอนหลักนิติธรรมผิดๆถูกๆ เพราะเป็นเรื่องสำคัญกว่าตัวกฎหมายเสียอีก หลักนิติธรรมที่องค์การสหประชาชาติบัญญัติ และไทยลงนามเป็นภาคีนั้น อยู่ในหลักการแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไม่ได้มีความหมายอย่างที่นายกิตติศักดิ์กล่าวไว้เลย

ด้วยไม่อยากให้นักศึกษาและผู้ฟังจำนวนมากเข้าใจผิด จึงขออธิบายหลักนิติธรรม และให้ตัวอย่างที่เป็น รูปธรรมของหลักนิติธรรมหรือกฎหมายที่เป็นธรรม เช่นหลักการว่า ศาลต้องเป็นศาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยองค์อำนาจที่ชอบธรรมเท่านั้น และประกันความเป็นอิสระของคณะตุลาการ และตุลาการจะต้องเป็นกลางมีจรรยาบรรณ ตั้งอยู่ในหลักนิติธรรม ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่รับสินบน เป็นต้น หากตั้งคำถามกับศาลรัฐธรรมนูญไทยยุคนี้ ท่านผู้อ่านคงจะตอบได้เองว่า สถานะของศาลรัฐธรรมนูญไทยคืออย่างไร ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรเป็น “ศาล” แต่ควรอยู่ในรูปของคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ประการที่สี่ ศาลรัฐธรรมนูญกับหลักนิติธรรมในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรมของศาลใดๆ จะต้องอยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตย ศาลจะต้องยึดโยงกับอำนาจและผลประโยชน์ของประชาชน ยึดถือหลักการและกฎหมายประชาธิปไตย หรือกฎหมายที่อยู่ในหลักนิติธรรมเท่านั้น โดยให้กฎหมายต้องมีผลไปข้างหน้าเท่านั้น ไม่ให้กฎหมายมีผลย้อนหลัง ยกเว้นกำหนดให้ย้อนหลังได้ เช่นกฎหมายนิรโทษกรรม กฎหมายต้องมีความมั่นคงและแน่นอน ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ กฎเกณฑ์และกระบวนการในการตรากฎหมายต้องชัดเจนแน่นอน รวมถึงมีหลักประกันกระบวนการในการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเป็นธรรมอีกด้วย

ในการพิจารณาให้ความยุติธรรม องค์กรตุลาการมิใช่มีอำนาจไม่จำกัด แม้อำนาจในการตัดสินให้ผูกพันองค์กรอื่นหรือบุคคลอื่น แต่คดีความที่พิจารณานั้นจะต้องอยู่ในเขตอำนาจศาลเท่านั้น ที่จะต้องกำหนดโดยตราเป็นกฎหมาย และการลงโทษต่อความผิด จะทำได้เฉพาะความผิดและมีโทษเท่าที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ในกระบวนการยุติธรรม จะต้องมีหลักประกันความยุติธรรมตามธรรมชาติ มีกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และการฟังความจากทุกฝ่าย ไม่ใช่การกระทำที่สุกเอาเผากิน ไม่ตัดสินตามอำเภอใจ และให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงองค์กรตุลาการได้โดยง่าย

ในระบอบประชาธิปไตย การพิจารณาคดีไม่ควรมีระบบ "ใต้เท้า" โดยอ้างว่าตัดสินในพระปรมาภิไธย ห้ามวิจารณ์ ถ้าหากทำจะถูกศาลลงโทษจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาล ในกระบวนการยุติธรรมอาญา ไม่ให้ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษตามอำเภอใจ หรือตามใบสั่งที่ไม่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย "ที่ชอบธรรม" เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดให้ใช้ดุลยพินิจได้

ข้อวิจารณ์ศาลไทย โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญของไทย ในกรณีที่เกิดขึ้นจากการที่สมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมาก คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้น เป็นเรื่องหลักการที่ใหญ่ ด้วยเห็นว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นอำนาจโดยตรงของรัฐสภา จึงวิจารณ์ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรม โดยหลักนิติรัฐทั่วไป ศาลจะต้องไม่ยอมรับอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร การรัฐประหารไม่ใช่หลักนิติรัฐหรือนิติธรรมแน่นอน อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญไทยยังได้ตัดสินลงโทษทางการเมืองบุคคลที่ไม่ได้ทำความผิด หลักกฎหมายให้ถือว่าคนไม่ได้ทำผิดจะต้องไม่ได้รับโทษ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้ตัดสิทธิทางการเมืองคนไทยห้าปี จำนวนกว่าสองร้อยคน แม้ไม่ได้กระทำความผิดก็ตาม ซึ่งสิทธิทางการเมืองถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ตามหลักและกฎหมายสากล ที่กระทำไม่ได้ เช่นเดียวกับการให้ยุบพรรคการเมืองได้ ถ้าพรรคการเมืองหมายความว่าการรวมตัวของประชาชนเพื่อให้มีอำนาจรัฐ ตามระบอบประชาธิปไตย โดยนัยนี้ก็หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญถืออำนาจเหนืออำนาจประชาชน สามารถยุบอำนาจประชาชนได้ อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในลักษณะนี้ จึงไม่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ควรให้เป็นศาล ถึงเป็นศาลการเมือง ศาลก็ไม่ควรละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองเสียเอง ในความเป็นจริง ศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยความเห็นผู้เขียนควรยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ หรือปฏิรูปใหม่ ที่ผ่านมาศาลนี้ก็ได้ทำตัวเป็นเพียงเครื่องมือของระบอบเผด็จการ ของอำนาจที่ไม่ชอบธรรม การตัดสิทธิทางการเมือง การยุบพรรคการเมืองกระทำไม่ได้ ยิ่งโดยการใช้คำสั่งจากรัฐประหาร ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายที่ขาดความเป็นธรรม ถือว่าศาลไม่ตั้งอยู่ในหลักนิติธรรม จึงขาดความชอบธรรม คำสั่งของศาลจึงทำให้คนรับไม่ได้ เป็นเหตุให้เกิดกลียุคและความวุ่นวายขึ้น และจะเกิดขึ้นต่อๆ ไป ด้วยเหตุที่ศาลขาดหลักนิติธรรม เมื่อประชาชนและอำนาจส่วนอื่นไม่ยอมรับอำนาจศาลย่อมเป็นปัญหาการเมืองการปกครองต่อไป

โดยหลักการดังกล่าวแล้ว ย้ำว่าศาลรัฐธรรมนูญไทย ไม่ควรให้เป็นศาล เพราะเป็นสถาบันอันตราย และเป็นตัวทำลายระบอบประชาธิปไตย ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ศาลนี้ได้ยุบพรรคการเมืองหลายพรรค ด้วยหลักฐานอันเป็นเท็จอีกด้วย โดยใช้เหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่การใช้หลักนิติธรรม อีกทั้งยังบังอาจทำการปลดนายกฯ ประมุขของอำนาจคู่ขนานที่มาจากระบอบประชาธิปไตยอีก เพียงเพราะ “ทำกับข้าวออกทีวี” หรือการตีความเองว่ารับจ้างก็แล้วแต่ ถือว่าไม่ใช่เหตุผลสำหรับสังคมประชาธิปไตย การปลดรัฐมนตรีเพราะถูกหาว่า "อาจจะ" ทำให้เสียดินแดน หรือล่าสุดกรณี ไม่ให้รัฐสภาแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญตามหน้าที่ ก็ล้วนไม่อยู่ในหลักนิติธรรมที่กล่าวถึงทั้งสิ้น

สังคมไทยได้ตั้งข้อสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิจารณ์ว่าตัดสินตามใบสั่งของอำนาจอื่นก่อน แล้วค่อยหาเหตุผลมารองรับอย่างข้างๆคูๆ และด้วยเหตุผลที่ไม่ได้ตราไว้ในกฎหมายอีกด้วย จึงเห็นว่าองค์กรนี้ได้ทำหน้าที่ผิดหลักการปกครอง ทำให้เกิดปัญหามากกว่าทำให้ปัญหายุติ และเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย ถือว่าไม่ได้ใช้หลักนิติรัฐและนิติธรรมอย่างแท้จริง

โดยหลักแห่งอำนาจและหน้าที่ของสถาบันอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐแล้ว  รัฐสภาต่างหากที่มีอำนาจ สามารถตรากฎหมายให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญก็ได้  (1 ธ.ค. 13)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท