Skip to main content
sharethis

24 พ.ค.2557 กรณีเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมประชาชนจำนวนหนึ่ง บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร เมื่อช่วงค่ำวานนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกการกำหนดมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งเรียกร้องให้ชี้แจงที่อยู่ของผู้ที่ถูกควบคุมตัวไป รวมถึงอนุญาตให้พวกเขาได้พบทนายความ

ริชาร์ด เบนเนต ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า หากเจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบจะถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่อันตราย ประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นจะต้องไม่ถูกลงโทษ กองทัพจำเป็นต้องแสดงความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้คืนอำนาจการปกครองให้กับพลเรือนอาจเข้มข้นขึ้น

“การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการละเมิดสิทธิมนุษยชน”  เบนเนต กล่าว

 

 

แถลงการณ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
23 พฤษภาคม 2557
ประเทศไทย การจับกุมผู้ชุมนุมสร้าง “บรรทัดฐานที่อันตราย” กองทัพต้องแสดงความระมัดระวัง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ควรยกเลิกการกำหนดมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างเข้มงวด หลังจากที่กองทัพเข้าสลายการชุมนุมประท้วงโดยสงบและมีรายงานว่ามีผู้ชุมนุมถูกจับกุมอย่างน้อยสามราย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ชี้แจงให้ความกระจ่างเกี่ยวกับสถานที่อยู่ของแกนนำทางการเมืองจำนวนหนึ่งที่มีรายงานว่าถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานที่ที่ไม่เปิดเผย และต้องอนุญาตให้พวกเขาได้พบทนายความ

วันนี้ ประชาชนนับร้อยรวมตัวกันชุมนุมใจกลางกรุงเทพฯ เรียกร้องให้กองทัพคืนอำนาจการปกครองให้กับพลเรือน ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าสลายการชุมนุมในตอนเย็นตามเวลาท้องถิ่น หลังจากที่ผู้ชุมนุมรวมตัวกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง มีรายงานว่ามีผู้ชุมนุมอย่างน้อยสามคนถูกจับกุม

ริชาร์ด เบนเนต ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “หากเจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบจะถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่อันตราย ประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นจะต้องไม่ถูกลงโทษ กองทัพจำเป็นต้องแสดงความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้คืนอำนาจการปกครองให้กับพลเรือนอาจเข้มข้นขึ้น”

“การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

กองทัพไทยได้ประกาศระงับการใช้รัฐธรรมนูญ ยกเว้น หมวดพระมหากษัตริย์ ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป ห้ามการรายงานช่าว รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์กองทัพและการใช้กฎอัยการศึก

บุคคลสำคัญจำนวนมากกว่า 150 คน รวมถึงนักการเมืองแนวหน้าถูกห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ มีรายงานว่าบุคคลสำคัญนับสิบ รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกควบคุมตัวในระยะเวลาสองวันที่ผ่านมา และยังไม่ทราบว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน

ริชาร์ต เบนเนต กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่ากังวลใจอย่างยิ่งที่กองทัพเข้าควบคุมตัวแกนนำทางการเมืองหลายคน กองทัพต้องชี้แจงให้กระจ่างเกี่ยวกับข้อหาทางกฎหมายที่ใช้ในการจับกุมและระบุว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน ไม่ควรมีใครต้องถูกควมคุมตัวเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสงบ หรือการเข้าร่วมกลุ่มการเมือง”

“แกนนำทางการเมืองที่ถูกควบคุมตัวในขณะนี้สมควรที่จะได้รับการปล่อยตัว หรือ ตั้งข้อกล่าวหาตามความผิดอาญาตามที่มีการรับรองในระดับสากล และเข้ารับการพิจารณาคดีโดยศาลพลเรือนที่เป็นอิสระ”

กองทัพต้องออกคำสั่งอย่างชัดเจนต่อกำลังพลของตนว่าการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี จะต้องไม่ถูกนำมาใช้ และเจ้าหน้าที่คนใดก็ตามที่ต้องสงสัยว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวจะต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net