Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ถามว่า ที่คนจำนวนมากออกมาชุมนุมล้มล้าง "ระบอบทักษิณ (?)" แปลว่าพวกเขารังเกียจ "การโกง" จริงหรือ?

แน่นอน เราต้องเคารพความเป็นปัจเจกบุคคลที่มีเหตุผลในตนเองของพวกเขา เคารพจิตสำนึกรังเกียจการโกงของพวกเขา เขาต้องรังเกียจการโกงจริงๆ จึงเสียสละเหนื่อยยากออกมาต่อสู้และเสี่ยงอันตราย กระทั่งยอมทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย เสี่ยงกับคุกเป็นต้นเช่นนั้น

แต่คำถามคือ ทำไมเมื่อเขารังเกียจ "การโกงภาษีประชาชน" แต่กลับยอมรับได้ สนับสนุน และพยายามทำการโกงหลักการ โกงระบบ โดยล้มเลือกตั้ง พยายามยึดอำนาจรัฐโดยม็อบ และ/หรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดการยึดอำนาจรัฐโดยกองทัพหรือตุลาการ ซึ่งเป็นการโกงที่ "เลวร้าย" ยิ่งกว่า และส่งผลเสียหายยิ่งกว่า

พวกเขา “ยอมรับได้” จนกระทั่งต้องชุมนุมสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงเพื่อให้เกิดการรัฐประหาร และหลังรัฐประหารก็อาจมีการฆ่ากันตามมา (?)

(ถามสั้นๆ อีกทีว่า) ถ้าเขารังเกียจการโกงภาษีประชาชน แต่ทำไมเขายอมรับการโกงระบบ ล้มระบบ และความตายของประชาชนที่ตามมาได้? (เขาต้อง "ยอมรับ" ได้สิ ไม่งั้นจะต่อสู้ในแนวทางล้มระบบทำไม)

คำตอบ (ที่ผมพอคิดได้เวลานี้) คือ การ “ยอมรับได้” เช่นนี้อาจเป็นผลมาจากวัฒนธรรมการต่อสู้ทางการเมืองที่ยึดถือทัศนะเรื่องถูกผิดทางการเมืองของสังคมไทยที่ไม่ได้วางอยู่บนการยึดมั่นในหลักการ และอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่วางอยู่บนการยึด "ความดีส่วนบุคคล" ดังเห็นได้จากวัฒนธรรมการรณรงค์ให้เลือกคนดีและขจัดคนเลวในทางการเมือง มากกว่าจะเลือกนโยบาย อุดมการณ์ของพรรค เป็นต้น

การต่อสู้ทางการเมืองที่เป็นมา จึงมุ่งขจัดคนเลวมากกว่าจะมุ่งสร้าง "ระบบเสรีประชาธิปไตย" อย่างจริงจัง

เมื่อไล่เรียงไปจนถึงที่สุด จะพบว่าความดีส่วนบุคคลที่ยึดถือกันนั้น ยึดโยงอยู่กับความศรัทธาใน "ธรรมราชาสมัยใหม่" (หมายถึงธรรมราชาที่ไม่ได้มีสถานะเป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เป็นกษัตริย์ที่อยู่สูงกว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไทยๆ ซึ่งสถาปนาขึ้นตั้งแต่ 2490 และพัฒนามาถึงปัจจุบัน) ที่ปลูกฝังว่ากษัตริย์คือ “พ่อของแผ่นดิน” ผู้ซึ่งเป็นแบบอย่างทั้งด้าน "ศีลธรรมเชิงปัจเจก" เช่น เป็นแบบอย่างของความพอเพียง ประหยัด กตัญญู อัจริยภาพด้านต่างๆ เป็นต้น และเป็นแบบอย่างด้าน "ศีลธรรมทางสังคมการเมือง" คือเป็นแบบอย่าง “ผู้ปกครองที่ดี” แก่นักการเมืองในเรื่องความเสียสละ อุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ

นอกจากนี้สถานะ "ธรรมราชา" ยังอยู่ "สูงส่งกว่า" การเมืองปกติ เมื่อการเมืองปกติมีปัญหา เช่นนักการเมืองคอร์รัปชัน สถานะของธรรมราชายังถูกอ้างอิงเพื่อให้ "ความชอบธรรม" ในการต่อสู้ทางการเมืองของมวลชน และทำรัฐประหารเพื่อขจัดนักการเมืองโกง

ดังนั้น ธรรมราชาจึงอยู่ “สูงส่งกว่า” ทั้งการเมืองปกติในระบอบประชาธิปไตย ทั้งการเมืองไม่ปกติคือการทำรัฐประหาร

สถานะ "สูงส่งทางศีลธรรม" ที่อยู่สูงสุดในทางเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคลและทางการเมืองดังกล่าว ซึ่งถูกปลูกฝังให้ผู้คนศรัทธาอย่างไม่ต้องพิสูจน์ หรืออยู่เหนือการตั้งข้อสงสัย การวิจารณ์ตรวจสอบเช่นนี้ จึงมีความเป็น "ศาสนา (religion)" หรือเป็น "ศาสนาการเมือง (political religion)" ที่มีความ "ศักดิ์สิทธิ์" และทรงอิทธิพลเหนือจิตสำนึกของมวลมหาประชาชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง

แต่คำถามเฉพาะหน้าคือ เหตุใดในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีการปะทะจนประชาชนบาดเจ็บล้มตายไปแล้วจำนวนมากเช่นนี้ สถานะอันสูงสุดของธรรมราชาจึงไม่ได้ถูกอ้างอิงเพื่อยับยั้ง ยุติความขัดแย้ง

นอกจากจะไม่ได้ถูกอ้างอิงเพื่อยับยั้ง ยุติความขัดแย้งที่อาจบานปลายไปมากกว่านี้แล้ว ยังคงถูกอ้างอิงเพื่อต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายพยายามยึดอำนาจรัฐและสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารอีกด้วย

และหากเกิดรัฐประหารด้วยการอ้างอิงสถานะอันสูงส่งของ “ธรรมราชา-ศาสนาการเมือง” ขึ้นอีกครั้ง คนไทยทั้งสองฝ่าย หรือทั้งประเทศจะอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขต่อไปอย่างไรได้! 

 


หมายเหตุ: ข้อเขียนสั้นๆ นี้เกิดจากการอ่าน "ประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่เหนือการเมือง" ของ ธงชัย วินิจจะกูล ผู้เขียนขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net