Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตอนที่ 6 ของบทความชุดประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ โดย อธิป จิตตฤกษ์ มาดูว่าเสรีภาพสื่อในอังกฤษที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ปลายศตวรรษที่ 17 มีที่มาอย่างไร

 

อังกฤษน่าจะเป็นชาติตะวันตกแรกในช่วงสมัยใหม่ตอนต้นที่มี “เสรีภาพสื่อ” (free press) เป็นของตนเองอย่างถาวรมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 เสรีภาพที่ว่านี้คือเสรีภาพสื่อจะไม่ถูก “เซ็นเซอร์” ในความหมายที่ว่าสื่อจะไม่ถูกระงับยับยั้งโดยผู้ใดก่อนที่มันจะได้รับการเผยแพร่ออกมา ส่วนหลังเผยแพร่มาถ้าจะถูก “แบน” เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย (ไม่ว่าจะเป็นการหมิ่นประมาทหรือปลุกปั่นทางการเมือง) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การถูกแบนที่ว่านี้ก็ไม่ได้นับว่าเป็นการบ่อนทำลาย “เสรีภาพสื่อ” เพราะการพูดถึงเสรีภาพสื่อในบริบทของศตวรรษที่ 17-18 นั้นมีความหมายถึงการไม่ต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ก่อนที่จะตีพิมพ์อะไรออกมา ซึ่งในกรอบแบบนี้การต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อจึงหมายถึงการต่อสู้เพื่อล้มและถอนรากระบบเซ็นเซอร์ทั้งระบบ ไม่ใช่สู้เพื่อให้ระบบเซ็นเซอร์ใช้อำนาจในการไม่แบนอะไรก็ตาม กล่าวคือการต่อสู้เพื่อให้กองเซ็นเซอร์มีความปราณีนั้นจึงเป็นคนละเรื่องกับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อที่ต้องสู้เพื่อให้ยุบกองเซ็นเซอร์สถานเดียว

  อย่างไรก็ดีในกรณีของอังกฤษจะบอกว่ามีขบวนการล้มเซ็นเซอร์เพื่อให้เกิดเสรีภาพสื่อก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะก็ไม่ได้มีการจัดตั้งขบวนการอะไรขนาดนั้น แต่มันเป็นผลจากการขึ้นมามีอำนาจเหนือกษัตริย์เต็มที่ของฝั่งสภามากกว่า และนี่เป็นผลโดยตรงของเหตุการณ์ที่เรียกว่า “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” (Glorious Revolution) ในปี 1688

การปฏิวัตินี้ก็เช่นเดียวกับการปฏิวัติอื่นๆ ในชุดบทความนี้ที่ไม่สามารถจะอธิบายที่มาที่ไปด้วยอันเนื่องจากเนื้อที่อันจำกัด แต่หากจะให้อธิบายอย่างย่นย่อสุดแล้ว การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์คือการโค่นบัลลังก์พระเจ้าเจมส์ที่ 3 อันเป็นกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วสถาปนาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญให้กับพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 3 และพระราชินีแมรี่ที่ 2 แทน ผลของปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในทางการเมืองนั้นชัดเจนมากคือมันทำให้สภานั้นกลายเป็นองค์กรการเมืองสูงสุดของประเทศ ทำให้กษัตริย์นั้นไม่อาจออกกฎหมายและนโยบายรัฐอย่างตามอำเภอใจอีก นับแต่นั้นทุกอย่างต้องผ่านสภาหมด สภาไม่ใช่แค่ที่ปรึกษาของกษัตริย์ แต่เป็นองค์กรทางการเมืองในการออกนโยบายรัฐ กษัตริย์ไม่มีสิทธิจะเข้าแทรกแซงทางการเมือง

ในช่วงปฏิวัติ ขั้วการเมืองอังกฤษที่มีบทบาทสำคัญคือพวก Whig และ Tory ซึ่งหากจะให้อธิบายง่ายๆ ด้วยภาษาในยุคปัจจุบัน พวกแรกนั้นก็คือพวกเสรีนิยมที่สนับสนุนระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนพวกหลังเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พวกนี้เป็นขั้วการเมืองในสภามาตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์แล้ว และหลังการปฏิวัติพวกนี้ก็กลายมาเป็นพรรค Whig และพรรค Tory อันเป็นแกนกลางของการเมืองระบบสองพรรคของอังกฤษจนถึงการเกิดขึ้นของขั้วใหม่ในศตวรรษที่ 19

พวก Whig เป็นแกนหลักสำคัญของปฏิวัติอันรุ่งโรจน์จนทำให้เกิดสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญสำเร็จ อย่างไรก็ดีนี่ก็ไม่ได้ต่างจากการปฏิวัติจำนวนมากที่ระบบใหม่จะตั้งขึ้นมาพรวดเดียว ระบบเก่าๆ ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังคงอยู่หลังการปฏิวัติ และระบบหนึ่งก็คือระบบ Licensing Act

ดังที่ได้กล่าวมาในบทก่อนแล้ว Licensing Act คือกฎหมายเพื่อรองรับสถานะของนายทะเบียนสิ่งพิมพ์ที่จะมีอำนาจในการอนุญาตในการพิมพ์อะไรก็ได้ในราชอาณาจักร กล่าวคือเป็นสถาบันเพื่อการเซ็นเซอร์นั่นเอง ระบบนี้ถูกตั้งขี้นมาใหม่ในปี 1662 ภายหลังอังกฤษเลิกการปกครองแบบสาธารณรัฐแล้วกลับมามีกษัตริย์ ซึ่งมันก็เป็นระบบที่ต้องการการ “ต่ออายุ” เรื่อยๆ กล่าวคือมันไม่ใช่กฎหมายที่จะมีความคงทนถาวร หากสภาเลิกต่ออายุเมื่อไร สิ่งพิมพ์อังกฤษก็จะกลับมามีเสรีภาพเหมือนยุคสาธารณรัฐ

และสุดท้ายในปี 1695 ทางสภาพิจารณาไม่ต่ออายุ Licensing Act ในที่สุด และสื่ออังกฤษก็มีเสรีภาพตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ อย่างไรก็ดีเราต้องมาดูที่มาที่ไปมันหน่อย

ก่อนการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ได้มีการต่ออายุ Licensing Act ในปี 1685 เป็นเวลา 7 ปีซึ่งส่งผลให้มันไปหมดอายุตอนสิ้นปี 1692 ซึ่งเป็นช่วงหลังปฏิวัติแล้ว และสภาในช่วงปี 1693 ก็มีพันธกิจที่จะพิจารณาว่าจะต่ออายุมันอีกรอบหรือไม่ ในปีนั้นมีจดหมายไปถึงสมาชิกสภาฝั่ง Whig อย่าง Edward Clarke จากนักคิดทางฝั่ง Whig ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง John Locke ใจความสำคัญของจดหมายคือให้ระงับการต่ออายุเสียและทำให้ Licensing Act จบสิ้นไปอย่างถาวร

สำหรับผู้สนใจประวัติความคิดทางการเมืองก็คงจะพอทราบว่า “บิดาแห่งเสรีนิยม” ผู้นี้ได้รับการตีพิมพ์หนังสือ Two Treatise on Government ออกมาครั้งแรกในปี 1689 อย่างนิรนาม ซึ่งก็อาจเป็นเพราะความเผ็ดร้อนของการวิจารณ์ความชอบธรรมของอำนาจกษัตริย์ในหนังสือเล่มนี้ว่าไม่ได้มีเพราะกษัตริย์สืบเชื้อสายมาจากอดัมในพระคัมภีร์ดังที่มีผู้กล่าวอ้าง แต่กษัตริย์มีความชอบธรรมเพราะการปกครองของพระองค์เป็นไปเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งนี่ก็มาจากฐานคิดแบบสัญญาประชาคมว่าชีวิตของคนจะดีขึ้นเมื่ออยู่ใต้รัฐ ถ้าชีวิตไม่ดีขึ้นคนก็ไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ใต้รัฐ

และนี่นำมาสู่แนวคิดเรื่อง “ทรัพย์สิน” ของ Locke ที่ยังคลาสสิคอยู่จนถึงทุกวันนี้ ในเชิงทรัพย์สิน Locke มองว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติของมนุษย์ มันต้องเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงในการปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ ในกรอบแบบนี้ทรัพย์สินที่เกิดจากอำนาจรัฐเพียวๆ อย่าง “อภิสิทธิ์” ทางการค้าดังเช่นสิทธิในการผูกขาดการพิมพ์ต่างๆ ที่ผูกพันกับ Licensing Act นั้นจึงไม่อาจนับเป็นทรัพย์สินได้อยู่แล้วในกรอบคิดอย่าง Locke

สำหรับ Locke นั้น Licensing Act ไม่ใช่อะไรนอกจากหลักประกันว่าพวกพ่อค้าหนังสือจากลอนดอนจะสามารถผูกขาดการผลิตหนังสือได้ทั้งอังกฤษ โดยเฉพาะเหล่า “งานคลาสสิค” ที่คนเขียนได้ล้มตายไปนานแล้ว ซึ่งในสายตาของ Locke พวกพ่อค้าหนังสือที่มีสิทธิผูกขาดพวกนี้ผลิตหนังสือมามีคุณภาพห่วยแตกมากแถมยังโก่งราคาด้วย ดังนั้นสิทธิผูกขาดเหล่านี้จึงควรยกเลิกไปเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ซึ่ง Locke ก็เน้นอีกว่าระบบการเซ็นเซอร์โดยมีนายทะเบียนสิ่งพิมพ์เป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น เพราะเอาเข้าจริงแล้วถ้าสิ่งพิมพ์ใดๆ มีลักษณะปลุกปั่นทางการเมือง มันก็มีความผิดบนฐานของกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปวางกลไกเพิ่มความผิดให้มันซ้ำซ้อนอีก [1]

นี่คือหลักใหญ่ใจความของจดหมายของ Locke ถึง Edward Clarke ในปี 1693 ซึ่งผลคืออีก 2 ปีให้หลังทางสภาสามัญชน (House of Common) ที่ตอนนี้ฝั่ง Whig เป็นใหญ่ก็แถลงปฏิเสธการต่ออายุของ Licensing Act โดยมีเนื้อหาแทบจะเหมือนกับจดหมายจาก Locke ถึง Clarke และเสรีภาพสื่อของอังกฤษก็เกิดขึ้นง่ายๆ เช่นนี้เอง

ตั้งแต่ปี 1695 อังกฤษได้มีเสรีภาพสื่อไปพร้อมๆ กับสภาที่มีอำนาจเหนือกษัตริย์ และไม่นานระบบ 2 พรรคการเมืองก็เริ่มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและในปี 1700 ขั้วพรรคการเมืองอังกฤษก็แยกเป็น Whig และ Tory ชัดเจนแล้ว

สื่อที่มีเสรีภาพเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแยกขั้วการเมืองอังกฤษโดยตรง ทั้ง Whig และ Tory ก็มีหนังสือพิมพ์ของฝั่งตัวเองฝั่งละสองสามฉบับ และเอาจริงๆ ในอังกฤษช่วงนั้นการแบ่งขั้วการเมืองก็มีไปถึงระดับร้านกาแฟ โรงแรม ไปจนถึงโรงพยาบาลด้วยซ้ำ ซึ่งขั้วที่ว่านี่ก็ไม่ได้หมายถึงการออกมาไล่ฆ่าฟันกันบนถนน แต่หมายถึงการที่แต่ละขั้วการเมืองจะเลือกสนับสนุนองค์กรทางธุรกิจของฝั่งตนมากกว่า

ที่น่าสนใจคืออังกฤษหลังเกิด “เสรีภาพสื่อ” ก็ไม่มีใครมองว่า “สื่อต้องเป็นกลาง” หนังสือพิมพ์เลือกข้างเลือกขั้วดูจะเป็นเรื่องปกติมากกว่าจะเป็นเรื่องผิดแปลกพิสดารอะไร และสิ่งที่คนอังกฤษกลัวจริงๆ ดูจะไม่ใช่ “สื่อเลือกข้าง” แต่เป็น “กองเซ็นเซอร์เลือกข้าง” มากกว่า เพราะอันที่จริงปัญหาใหญ่ของการมีนายทะเบียนสิ่งพิมพ์หรือกองเซ็นเซอร์ก็คือหากหน่วยงานเหล่านี้มีขั้วการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่งขึ้นมา หน่วยงานเหล่านี้ก็จะมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทในการปิดกั้นข้อมูลของอีกขั้วการเมืองไปโดยอัตโนมัติ [2]

ดังนั้นเนื่องไม่มีผู้ใดจะเป็นกลางอย่างแท้จริงได้ในการกำหนดว่าสื่อใดควรจะได้รับการเผยแพร่หรือไม่ควร ระบบสื่อที่ดีที่สุดในระบบการเมืองแบบ 2 พรรคก็คือการปล่อยเสรีไม่มีการกลั่นกรองใดๆ จะมีปัญหาอะไรก็ไปดำเนินการทีหลังตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว

นี่ดูจะสะท้อนวิธีคิดของชาวอังกฤษว่าไม่มี “คนดี” ที่ไหนจะอยู่เหนือหรือเลยพ้นการเมืองไปได้ ไม่มีใครจะควรมีสิทธิอำนาจในการควบคุมข้อมูลข่าวสารว่าอะไรควรจะได้เข้ามาในระบบ อะไรไม่ควร และความเป็นกลางของสื่อก็ไม่ได้จะเกิดจากคนกลางหน้าไหนมาคัดกรองแต่ข้อมูลที่เป็นกลางให้ประชาชน แต่จะเกิดจากสมดุลของสื่อเอียงข้างที่มีปริมาณไม่มากน้อยไปกว่ากันมากกว่า

อ้างอิง:

  1. Ronan Deazley, On the Origin of the Right to Copy: Charting the Movement of Copyright Law in Eighteenth-Century Britain (1695–1775), (Hart Publishing: Oxford, 2004), pp. 2-3
  2. นี่คือความเห็นของนักเขียนที่เคยติดคุกด้วยข้อหาทางการเมืองอย่าง Daniel Dafoe เกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ ดู Ronan Deazley, ibid, p. 26

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net