ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ (20): ลิขสิทธิ์กับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของเทคโนโลยี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ผู้จดจำอดีตไม่ได้จะถูกสาปให้ทำสิ่งเดิมซ้ำอยู่ร่ำไป”
                  George Santayana, นักปรัชญาชาวอเมริกันเชื้อสายสเปน
 

ในช่วงของการถือกำเนิดของลิขสิทธิ์ มันเป็น “กฎหมายควบคุมสิ่งพิมพ์” อย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาได้ผ่านมาจาก ณ จุดที่กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลกปรากฏขึ้นมาสามร้อยกว่าปี ในตอนนี้เมื่อพูดถึงลิขสิทธิ์ก็คงไม่มีใครนึกถึงมันในฐานะของ “กฎหมายควบคุมสิ่งพิมพ์” อีกแล้ว และสิ่งพิมพ์ก็ดูจะลดบทบาทไปจากสิ่งอันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้คนสนใจไปอย่างมากแล้ว เพราะทุกวันนี้เวลาจะกล่าวถึงลิขสิทธิ์ ผู้คนดูจะนึกถึงลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียง และลิขสิทธิ์ภาพยนตร์กันมากกว่า

ลิขสิทธิ์สิ่งเหล่านี้ไม่มีในสมัยที่กฎหมายลิขสิทธิ์ถือกำเนิดขึ้น และเอาจริงๆ เมื่อ 100 ปีก่อนตอนครบรอบ 200 ปีของกำเนิดลิขสิทธิ์ กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ควบคุมสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ เพราะตัวเทคโนโลยีบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงเกิดขึ้นครั้งแรกช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก่อนจะเริ่มถูกนำมาใช้ในเชิงการค้าจริงจังและกลายเป็นอุตสาหกรรมตอนต้นศตวรรษที่ 20 ส่วนการเขียนซอฟต์แวร์ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 ก่อนที่มันจะกลายมาเป็นธุรกิจใหญ่โตตอนช่วงปลายศตวรรษที่ 20

ผู้เขียนต้องการจะเสนอว่ากุญแจสำคัญของการที่จะเข้าใจว่าทำไมลิขสิทธิ์ยุคปัจจุบันถึงมีรูปร่างหน้าตาอย่างนี้ก็คือการพยายามทำความเข้าใจพัฒนาการภาคธุรกิจที่อยู่บนฐานของทางเทคโนโลยีเหล่านี้

นี่เป็นประเด็นสำคัญเพราะถ้าประวัติศาสตร์จะสอนอะไรในเชิง “ทฤษฎี” เกี่ยวกับลิขสิทธิ์บ้างแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะกล่าวได้ก็คือ ลิขสิทธิ์ของสิ่งหนึ่งๆ จะไม่เกิดขึ้น ถ้าคนไม่คิดว่าสิ่งนั้นๆ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คือ สำนึกความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ “ลิขสิทธิ์” ของสิ่งหนึ่งๆ ในประวัติศาสตร์มันก็ดูจะแยกออกจากความสามารถในเชิงเทคโนโลยีในการหากำไรต่อสิ่งนั้นๆ ยาก และแทบจะร้อยทั้งร้อย การเรียกร้องให้มี “ลิขสิทธิ์” ในสิ่งหนึ่งๆ ก็ไม่ได้เกิดจาก “ผู้สร้างสรรค์” สิ่งเหล่านั้นแต่มักจะเกิดจากเหล่าพ่อค้าคนกลางที่ซื้อ “ลิขสิทธิ์” จากผู้สร้างสรรค์มาทำกำไรมากกว่า

ดังนั้นกล่าวในอีกแง่หนึ่ง การเขียนประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ให้เห็นที่มาที่ไปของสภาวะลิขสิทธิ์ในปัจจุบัน มันก็คือการเขียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองของเทคโนโลยีที่เป็นฐานให้อุตสาหกรรมลิขสิทธิ์นั่นเอง พูดง่ายๆ คือภายใต้กรอบแบบนี้ คำถามจากคำถามว่า “ลิขสิทธิ์ ‘มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร’ จากจุดกำเนิด?” ก็จะกลายมาเป็นคำถามว่า “เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดลิขสิทธิ์ในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร? ถูกนำไปใช้ในเชิงการค้าอย่างไร? มันต้องต่อสู้กับอุตสาหกรรมอะไร? มัน ‘มีลิขสิทธิ์’ ได้อย่างไร? และการกล่าวอ้าง “ลิขสิทธิ์” ของมันมีขอบเขตแค่ไหน?”

นี่เป็นคำถามที่ดูสั้นๆ ง่ายๆ แต่ตอบไม่ใช่ง่ายๆ เลย ปัญหาในการตอบคำถามนี้โดยพื้นฐานเลยก็คือ เราจะตอบอย่างไรให้ครอบคลุมที่สุด? เพราะอย่างน้อยๆ งานช่วงที่แล้วของผู้เขียนที่เล่าถึงที่มาที่ไปของต้นกำเนิดของกฎหมายลิขสิทธิ์ในอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ก็น่าจะเป็นหลักฐานเบื้องต้นว่ามันไม่สามารถจะหาลักษณะร่วมกันของกำเนิดลิขสิทธิ์ในทั้งสามประเทศได้เท่าใดนัก ซึ่งในเชิงวิชาการก็เป็นเพียง “ตัวอย่าง” ของการกำเนิดลิขสิทธิ์ด้วยซ้ำ เพราะในประเทศยุโรปอื่นๆ เองก็มีที่มาที่ไปของลิขสิทธิ์ที่ต่างกันในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี สเปน เนเธอร์แลนด์ หรือสวีเดน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดก็มีความผูกพันกับพลวัตของเทคโนโลยีการพิมพ์ ตลาดหนังสือ และอำนาจรัฐของแต่ละประเทศโดยตรง

ในที่นี้การเล่าถึงกำเนิดของลิขสิทธิ์ของทั้งงานบันทึกเสียง งานบันทึกภาพ และซอฟต์แวร์นั้นหากทำในแบบเดียวกันก็ดูจะต้องใช้หน้ากระดาษมหาศาล เพราะลำพังเนื้อหาที่พูดถึงที่มาที่ไป “ลิขสิทธิ์สิ่งพิมพ์” ในสามประเทศก็เพียงพอจะเป็นหนังสือขนาดเล็กเล่มหนึ่งแล้ว (ซึ่งผู้เขียนก็คาดหวังว่ามันจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้) ดังนั้นหากจะพูดถึง 3 ลิขสิทธิ์ให้มีเนื้อหาเท่าๆ กันแล้ว ทางออกที่ดีก็คือการเลือกที่จะศึกษาพัฒนาการของ 3 ลิขสิทธิ์นี้ในประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ

สหรัฐอเมริกาดูจะเป็น “ตัวอย่าง” แรกที่ผู้เขียนนึกออก และก็ดูจะเป็นตัวอย่างที่เหมาะสมที่สุดเสียด้วย เพราะต้นตอของกฎหมายลิขสิทธิ์ของทั้งสามสิ่งนี้ในโลกยุคปัจจุบันก็คือกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

สหรัฐอเมริกามี “พัฒนาการ” ของลิขสิทธิ์ที่ดูพิสดารมาก สหรัฐเป็นประเทศที่สองในโลกที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 ก็จริง (โดยเอาเจ้าอาณานิคมเก่าอย่างอังกฤษเป็นต้นแบบ) และมีการกล่าวถึงอำนาจรัฐในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในรัฐธรรมนูญก็จริง (ซึ่งก็น่าจะมีน้อยประเทศที่จะมีการกำหนดแบบนี้ในรัฐธรรมนูญ) แต่สหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศที่แทบไม่มีบทบาทในการกำหนดความเป็นไปของกฎหมายลิขสิทธิ์ในโลกเลยก่อนศตวรรษที่ 20 และเอาจริงๆ สหรัฐฯ ก็ดูจะเป็นประเทศที่ไม่สู้จะอยากยอมรับลิขสิทธิ์ของประเทศอื่นๆ ด้วยซ้ำดังที่จะเห็นว่าสหรัฐฯ ไม่ยอมร่วมลงนามในอนุสัญญาเบิร์นที่ทำให้ประชาคมยุโรปอยู่ใต้มาตรฐานลิขสิทธิ์เดียวกัน (อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี) ในปี 1886

ทำไมประเทศนอกคอกทางลิขสิทธิ์ที่ไม่ยอมรับมาตรฐานลิขสิทธิ์ของประเทศอื่นนี้ถึงกลายมาเป็นประเทศมหาอำนาจที่พยายามจะผลักดันให้ทั้งโลกอยู่ในระบอบลิขสิทธิ์ที่ตัวเองสร้างขึ้นในปัจจุบัน? คำตอบและวิธีตอบเป็นไปได้หลายรูปแบบ อย่างไรในที่นี้ “บังเอิญ” เหลือเกินที่คำตอบของคำถามดังกล่าวมันอยู่ร่วมกับคำตอบที่ว่าทำไม ลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียง งานบันทึกภาพ และซอฟต์แวร์ถึงเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา
อุตสาหกรรมเหล่านี้ในปัจจุบันล้วนป็นอุตสาหกรรมส่งออกใหญ่ของอเมริกาที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางการค้ามหาศาล ดังนั้นการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมลิขสิทธิ์โลกก็จึงเป็นหนทางที่ดีที่จะบังคับใช้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในสิ่งเหล่านี้กับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออเมริกามีอำนาจต่อรองมหาศาลในฐานะของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแล้วในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20

อย่างไรก็ดีคำอธิบายกว้างๆ นี้ก็ไม่ได้บอกเราว่าทำไมอุตสาหกรรมเหล่านี้ของอเมริกาถึงสามารถผงาดขึ้นมาจนได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในประเทศด้วยซ้ำ เพราะ “การสร้างสรรค์” ไม่ว่าจะทางด้านการบันทึกเสียงดนตรี การทำภาพยนตร์ หรือการเขียนซอฟต์แวร์นั้น ไม่น่าจะสามารถรวมเข้าไปในสารบบลิขสิทธิ์ของคนในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้ เพราะอย่างน้อยๆ งานบันทึกเสียงดนตรีก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์กำกับมากว่าครึ่งศตวรรษ เพราะในช่วงนั้นคนไม่ได้มองว่าตัว “งานดนตรี” มันอยู่บนกระบอกเสียงหรือแผ่นเสียง แต่มันอยู่บนบทประพันธ์ที่เป็น “ข้อเขียน” บนบรรทัด 5 เส้น และการนำงานดนตรีไป “บันทึกเสียง” ก็เป็นเพียงแค่การนำบทประพันธ์ทางดนตรีไป “แสดง” เท่านั้น ที่ไม่ได้ต่างจากการเอาบทละครที่มีลิขสิทธิ์ไปเล่นละคร ที่คนยุคนั้นก็ไม่ได้มองว่าละครที่เล่นออกมาจะมีลิขสิทธิ์อะไรเช่นกัน

สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไปในศตวรรษที่ 20 อย่างช้าๆ ภายใต้การฟาดฟันของสารพัดอุตสาหกรรมต่างๆ กันที่ขัดขากันไปมาในการแย่งผู้บริโภค ผลของการฟาดฟันกันแต่ละครั้งไม่มีความชัดเจนในผลสรุป แต่สิ่งที่เราจะคาดเดาได้แน่นอนก็คือ อุตสาหกรรมเก่าจะไม่ยอมตาย จะสู้จนเลือดหยดสุดท้ายแม้นั่นจะหมายถึงการร่วงหล่นลงจากการเป็นหนึ่งในกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่กลายมาเป็นเพียงปลิงดูดเลือดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังโตก็ตาม ซึ่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็มักจะได้กลายมาเป็นผู้กำหนดกฎหมายทางเทคโนโลยีที่มักจะกลายมาเป็นกฎหมายมาตรฐานของโลกต่อไป

และที่ตลกที่สุดก็คือ เหล่าอุตสาหกรรมเก่าที่กำลังต่อต้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ก็ล้วนเคยเป็นอุตสาหกรรมที่หากินกับเทคโนโลยี “ใหม่” ในอดีตทั้งนั้น และก็เคยฟาดฟันอุตสาหกรรมเก่ากว่าจนแพ้ราบคาบมาแล้ว [1] อุตสาหกรรมเหล่านี้เคยอาศัยกระแสสนับสนุนเทคโนโลยี “ใหม่” เพื่อโค่นเทคโนโลยี “เก่า” มาแล้วทั้งนั้น และตอนนี้อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ได้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนเทคโนโลยีเก่าและต่อต้านเทคโนโลยีใหม่ไปแทน

ทั้งนี้แม้โลกจะไม่เคยขาดแคลนการต่อต้านเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่โลกก็ดูจะขาดแคลนท่าทีใหม่ๆ ในการต่อต้านเทคโนโลยีเหล่านั้น ทุกอย่างเกิดขึ้นซ้ำๆ ดังที่ในศตวรรษที่ 19 ผู้คนก็ได้ก่นด่าว่าความรวดเร็วของการสื่อสารในยุคนั้นนั้นทำให้ผู้คนอ่านเขียนอะไรน้อยลงและฉาบฉวยขึ้นไม่ได้ต่างจากปฏิกิริยาของคนในปัจจุบันต่อเว็บอย่าง ทวิตเตอร์ และบรรดาเว็บเครือข่ายสังคมทั้งหลาย [2] ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากการที่แนวคิดกว้างๆ ว่า “คนปัจจุบันมันแย่เหลือเกิน” หรือ “สังคมมันเสื่อมลงทุกวัน” ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏมาตลอดศตวรรษที่ 20 [3] แต่ผู้คนก็ยังพูดเรื่องเดิมๆ ซ้ำราวกับมันเป็นเรื่องใหม่ตลอดเวลา  ซึ่งก็ไม่แปลกนักที่ผู้คนจะจำสิ่งนี้ไม่ได้เพราะเงื่อนไขสำคัญหนึ่งของสภาวะสมัยก็คือความหลงลืมนั่นเอง [4]

 

อ้างอิง
[1]  ในแง่นี้จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมปัจจุบันก็ไม่ได้มีพฤติกรรมต่างจาก สมาคมช่าง หรือ “กิลด์” (guild) อันเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจสำคัญในโลกก่อนทุนนิยมนัก เพราะทั้งคู่ก็ล้วนเลือกแต่จะรับเทคโนโลยีที่ทำให้ตนได้เปรียบ และปฏิเสธเทคโนโลยีที่ทำให้ตนเสียเปรียบ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอย่างน้อยๆ ในกรณีอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ จริยธรรมในการสร้างและโอบรับนวัตกรรมก็ไม่ได้อยู่คู่กับบรรษัททุนนิยมเสมอไป ดู S. R. Epstein & Maarten Prak, "Introduction: Guilds, Innovation, and the European Economy, 1400–1800" in Guilds, Innovation and the European Economy, 1400-1800, S. R. Epstein & Maarten Prak, (eds.), (Cambridge: Cambridge University Press, 2008), pp. 1-24

[2]  ดู  Mike Masnick, “The Next Time Someone Says Twitter Is Killing Deep Thinking With Short Quick Messages, Show Them This” https://www.techdirt.com/blog/innovation/articles/20130619/10395523531/next-time-someone-says-twitter-is-killing-deep-thinking-with-short-quick-messages-show-them-this.shtml>

[3]  ตัวอย่างที่ดีก็คือปฏิกิริยาต่อดนตรียอดนิยมในยุคนั้นๆ เช่น คำด่าประณามเพลงป๊อปเกาหลีในตอนต้นศตวรรษที่ 21 เราก็จะได้เห็นก่อนหน้านี้ในยุคที่เพลงเฮฟวี่เมทัลกำลังรุ่งเรืองในทศวรรษ 1980 ช่วงร็อคแอนด์โรลเกิดในช่วงทศวรรษ 1950 และตอนที่ดนตรีแจ๊สรุ่งในทศวรรษ 1920 และ 1930 หรือก่อนหน้านั้นเพลงอย่างวอลซ์ที่ทุกวันนี้นับเป็นเพลงคลาสสิกแล้วก็ดูจะมีสถานะเทียบเคียงกันได้ ดู Alan P. Merriam, Anthropology of Music, (USA: North Western University Press, 1980), pp. 241-244; ธนา วงศ์ญาณณาเวช, ใต้เตียงนักดนตรี เล่ม 1, (กรุงเทพฯ: openbooks, 2554).

[4]  Paul Connerton, How Modernity Forgets, (Cambridge: Cambridge University Press, 2009)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท