Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"ผมไม่ได้ใส่ใจหรอกว่าคนอื่นจะขโมยความคิดผมไปมั้ย ผมสนใจมากกว่าว่าเขามีความคิดของตัวเองบ้างหรือเปล่า "
Nikola Tesla (1856-1943), นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย
 

ทศวรรษที่ 1870 เป็นทศวรรษที่ยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีเสียง ในปี 1876 Alexander Graham Bell ได้รับสิทธิบัตรเทคโนโลยีการส่งเสียงตามสายระยะไกลที่รู้จักกันในนาม “โทรศัพท์” (Telephone ซึ่งมาจาก Tele+Phone แปลตรงตัวว่า “เครื่องส่งเสียงทางไกล”) และในปี 1877 Thomas Alva Edison นักประดิษฐ์โนเนมก็ดังเป็นพลุแตกกับการสร้างเครื่อง “โฟโนกราฟ” (Phonograph ซึ่งมาจาก Phono+Graph แปลตรงตัวว่า “เครื่องเขียนเสียง”) ซึ่งเป็นเครื่องจักรชนิดแรกในโลกที่สามารถทั้ง “เล่น” และ “บันทึก” เสียงได้ โดยส่วนของเครื่องที่ใช้บันทึกเสียงมีลักษณะเป็นทรงกระบอก ซึ่งภายหลังส่วนนี้ก็เรียกกันว่า “กระบอกเสียง” (cylinder record) (ก่อนหน้านั้นมีเทคโนโลยีบันทึกเสียงลงในวัตถุบ้างแล้ว แต่ปัญหาคือเสียงที่บันทึกลงไปเอากลับมา “เล่น” ไม่ได้)

สิ่งประดิษฐ์ของเอดิสันสร้างความประหลาดใจให้กับคนยุคนั้นมากเพราะการบันทึกเสียงไม่ใช่สิ่งที่คนยุคนั้นจะเข้าใจได้ว่าเป็นไปได้ เขาจึงได้ชื่อเสียงมหาศาลและแทบจะเป็นการเริ่มอาชีพนักประดิษฐ์ระดับซูเปอร์สตาร์ของเขาเลย หลังจากได้ชื่อเสียงนี้มา งานต่อไปที่เขาได้ก็คือการพัฒนาระบบไฟฟ้าของนครนิวยอร์ก ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่หลังจากนั้นเป็นสิบๆ ปีเขาไม่ได้พัฒนา “โฟโนกราฟ” ต่อ และเปิดโอกาสให้ โวลตาแล็บ (Volta Lab) (อันเป็นห้องแล็บซึ่ง Alexander Graham Bell ผู้สร้างโทรศัพท์ร่วมก่อตั้งขึ้น) ได้พัฒนาเทคนิคบันทึกเสียงจาก “โฟโนกราฟ” ของเอดิสันที่กลไกการบันทึกเสียงเกิดจากเข็มของเครื่องที่ขูดลงบนแผ่นฟอยล์ดีบุกทรงกระบอก มาเป็นการใช้เข็ม “สลัก” ลงบนกระบอกที่ทำจากกระดาษแข็งเคลือบขี้ผึ้งซึ่งทางโวตาแล็บก็อ้างว่าเป็นเทคโนโลยีที่บันทึกเสียงออกมาได้ดีกว่าและมีความทนทานกว่า เครื่องจักรบันทึกเสียงชนิดใหม่ที่พัฒนามาโดยโวลตาแล็บนี้ถูกตั้งชื่อว่า “กราโฟโฟน” (Graphophone) และก็ได้รับสิทธิบัตรในอเมริกาในปี 1886 และได้กลายเป็นคู่แข่งกับโฟโนกราฟของเอดิสันในทศวรรษ 1890 ที่เครื่องจักร “ทันสมัย” นี้เริ่มมีขายแก่ผู้คนทั่วไปในอเมริกา

หลังจากเทคโนโลยีบันทึกเสียงลงกระบอกเสียงทั้งสอง เทคโนโลยีที่ตามมาติดๆ ก็คือ “เครื่องแผ่นเสียง” หรือที่เรียกกันตอนนั้นว่า “แกรมโมโฟน” (Gramophone) ก่อนแกรมโมโฟน เทคโนโลยีบันทึกเสียงและเล่นเสียงทั้งของเอดิสัน ของโวลต้าแล็บล้วนถูกบรรจุใน “กระบอกเสียง” ทั้งนั้นและสิ่งที่แกรมโมโฟนแปลกใหม่และทำให้มันได้สิทธิบัตรมาก็คือความสามารถในการบันทึกเสียงและเล่นเสียงจากทรงกลมที่เรียกว่าแผ่นดิสก์ (disc) ผู้ที่ยืนขอสิทธิบัตรคือ Emile Berliner นักประดิษฐ์เชื้อสายเยอรมันที่อพยพเข้ามาอเมริกาเป็นสิบปีแล้วก่อนจะคิดค้นเทคโนโลยีนี้ที่อเมริกาและยื่นขอสิทธิบัตรในอเมริกาสำเร็จในปี 1887

Berliner แม้จะเป็นนักประดิษฐ์ที่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นนักธุรกิจที่ล้มเหลวเพราะไม่สามารถจะ “ทำตลาด” แกรมโมโฟนและ “แผ่นเสียง” ในอเมริกาได้ เขาไม่ทันเกมทางธุรกิจของพวกนายทุนรอบจัดคนอื่นๆ ที่เลียนแบบเทคโนโลยีทำ “ของปลอม” มาขาย (จะกล่าวต่อไป) จนสุดท้ายเขาพลาดท่าในศาลและโดนคำสั่งศาลให้เขาไม่มีสิทธิผลิตแกรมโมโฟนอีกต่อไป นี่ทำให้เขาขายบริษัทผลิตแกรมโมโฟนและสิทธิบัตรทั้งหมดให้ Aldrige R. Johnson ผู้เป็นนายทุนที่ได้รับใบอนุญาตจาก Berliner ให้ผลิตแกรมโมโฟนมาก่อน ซึ่ง Johnson ก็ต้องการแบบนั้นเพราะถ้า Berliner ถูกยกเลิกสิทธิในการทำธุรกิจ ก็หมายความว่าในอเมริกาจะไม่มีผู้ผลิต “แผ่นเสียง” อีกแล้วโรงงานของเขาที่สร้างมาเพื่อผลิตแกรมโมโฟนที่เอาไว้เล่นแผ่นเสียงก็จะไร้ประโยชน์ไปทันที ดังนั้นการสืบทอดธุรกิจแผ่นเสียงต่อไปจึงเป็นทางเลือกเดียวของนายทุนที่เต็มไปด้วยเครื่องเล่นแผ่นเสียงในสต็อก

บริษัทของ Johnson ที่ตั้งมาใหม่เพื่อสืบทอดธุรกิจแผ่นเสียงก็มีนามว่า Victor Talking Machine Company ที่แม้ทุกวันนี้คนคงจะไม่รู้จักแล้ว แต่เครื่องหมายการค้าของบริษัทที่เป็นรูปหมานั่งฟังเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็ยังเป็นภาพตัวแทนเครื่องเสียงยุคโบราณมาจนถึงทุกวันนี้  [1] และ Victor Talking Machine Company  นี้เองที่ต่อมาได้กลายมาเป็นบริษัทที่พลิกผันให้ “แผ่นเสียง” กลายเป็นภาชนะหลักในการบรรจุเสียงของอุตสาหกรรมบันทึกเสียงต่อมากว่าครึ่งศตวรรษ

ทั้งนี้ทั้งนั้นสำหรับคนอเมริกัน เครื่องจักรไม่ว่าจะเป็น โฟโนกราฟ กราโฟโฟน แกรมโมโฟน ไปจนถึงเวอร์ชั่นปรับปรุงต่างๆ ของเครื่องเหล่านี้เรียกรวมๆ ว่า “เครื่องจักรพูดได้” (Talking Machines) สาเหตุที่เครื่องบันทึกเสียงในยุคแรกได้รับการขนานนามแบบนี้ก็เพราะเทคโนโลยีบันทึกเสียงในยุคแรกที่ถือว่าคุณภาพเสียงสูงแล้วในยุคนั้นมันก็รับย่านความถี่เสียงพูดของคนได้เป็นหลักและมันก็ได้ถูกใช้บันทึกเสียงคนเป็นหลัก เสียงที่ได้รับการบันทึกมาขายในช่วงแรกก็มีตั้งแต่เสียงบุคคลสำคัญ เสียงคนเล่นตลก เสียงนักร้อง ยันอ่านบทกวี ในช่วงทศวรรษ 1890 เครื่องจักรพวกนี้ก็เริ่มมีให้เห็นตามที่สาธารณะแล้ว ก่อนที่เครื่องจักรต้นแบบอย่างโฟโนกราฟจะเริ่มมีขายให้แก่สาธารณชนทั่วไปในปี 1896  [2]

ธุรกิจบันทึกเสียงยุคนี้ผูกโยงโดยตรงกับการควบคุมสิทธิบัตร “เครื่องจักรพูดได้” แบบต่างๆ ที่มีวัตถุที่ใช้บันทึกเสียงต่างกัน กล่าวคือ แต่ละบริษัทที่ควบคุมสิทธิบัตร “เครื่องจักรพูดได้” แต่ละชนิดก็คุมทั้งการขายเครื่องจักรและวัตถุบันทึกเสียงของเครื่องจักรแต่ละชนิดด้วย โดยทั่วไปในยุคนี้ก็ไม่มี “ฟอร์แมต” มาตรฐานของวัสดุบันทึกเสียง วัสดุบันทึกเสียงของบริษัทหนึ่งๆ จะเล่นได้กับเครื่องบันทึกเสียงของบริษัทนั้นๆ เท่านั้น ซึ่งเอาจริงๆ แล้วในยุคนี้ถือว่า “วัสดุบันทึกเสียง” เป็น “ส่วนหนึ่ง” ของเครื่องบันทึกเสียงด้วยซ้ำ  และที่สำคัญก็คือในยุคนี้ธุรกิจบันทึกเสียงก็ดูจะเป็นคนละเรื่องกับ “อุตสาหกรรมดนตรี” เพราะสิ่งบันทึกเสียงที่ขายๆ กันแทบทั้งหมดก็ไม่ใช่เสียงดนตรี เพราะอย่างน้อยๆ เทคโนโลยีทั้งหมดในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 ก็ยังไม่สามารถจะใช้บันทึกเสียงเครื่องดนตรีแบบเต็มวงได้

ตรงนี้สิ่งที่ผู้อ่านควรจะเข้าใจคือในยุคแรก การบันทึกเสียงทั้งหมดคือการบันทึกเสียงสด ณ ตรงนั้นไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไร มันไม่มีการบันทึกเสียงหลายๆ แทร็กมามิกซ์ มันไม่มีการแยกเสียงฝั่งซ้ายขวา (ไม่ต้องพูดถึงการใส่เอฟเฟคแบบพรีหรือโพสต์) แบบทุกวันนี้ การบันทึกเสียงในยุคนั้น คือเอา “เครื่องจักรพูดได้” ตั้ง แล้วเปิด“เครื่องจักรพูดได้”  เสียงทั้งหมดเข้ามาในส่วนกรวยของ “เครื่องจักรพูดได้” และบันทึกเสียงเท่าไหนก็เท่านั้น เพิ่มเติมและปรับแต่งไม่ได้ไม่ได้  ซึ่งเสียงที่ “เป็นธรรมชาติ” ไร้การปรุงแต่งนี้ก็ไม่ใช่เสียงที่จะระรื่นหูคนยุคปัจจุบันเป็นแน่เพราะอย่างน้อยๆ งานบันทึกเสียงทุกวันนี้ก็มีการตัดเสียงรบกวนเป็นปกติ

นอกจากนี้ ขีดจำกัดที่ผู้อ่านควรจะรู้ก็คือกระบอกเสียงในทศวรรษที่ 1890 ก็ยังบันทึกเสียงได้ยาวเต็มที่ 3 นาทีเท่านั้นต่อ 1 กระบอกในการบันทึกเสียงด้วยความเร็ว 120 รอบต่อนาที ซึ่งหลังจากทางบริษัทต้องการทำให้เสียงที่บันทึกออกมาดังขึ้น (เนื่องจากตอนนั้นเทคโนโลยีการ “ขยายเสียง” แบบการขยายสัญญาณไฟฟ้ายังไม่มี) ความเร็วในการอัดก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 160 รอบต่อนาทีซึ่งกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ตอนขึ้นศตวรรษที่ 20 และนี่ทำให้กระบอกเสียง 1 กระบอกสามารถบันทึกเสียงได้เพียง 2 นาทีกว่าๆ เท่านั้น การแลกความยาวของการบันทึกเสียงเพื่อเพิ่มคุณภาพเสียงนี้ทำให้กระบอกเสียง “แพ้” แผ่นเสียงที่สามารถขยายพื้นที่บันทึกเสียงได้มากกว่าในที่สุด ซึ่งนี่ก็ยังไม่นับว่าแผ่นเสียงเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะกับการ “ผลิตซ้ำ” มากกว่า เพราะด้วยรูปร่างของมัน มันสามารถจะถูก “ปั๊ม” ออกมาขายในบริมาณมากๆ ได้ ซึ่งกระบอกเสียงไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีของเอดิสัน หรือโวลตาแล็บล้วนทำไม่ได้

เทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่งถูกนำมาใช้ในเชิงการค้าอย่างเป็นล่ำเป็นสันในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 มีการซื้อขายสิทธิบัตรยันการรวมบริษัทกันอุตลุตซึ่งสุดท้าย “ผู้เหลือรอด” ของอุตสาหกรรมเครื่องจักรพูดได้มาเป็น “บิ๊กทรี” ของอุตสาหกรรมบันทึกเสียงในทศวรรษที่ 1900 ก็คือ Edison Phonograph Company, Columbia Phonograph Company และ Victor Talking Machine Company ซึ่งที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบันก็มีเพียง Columbia Phonograph Company ที่กลายมาเป็น Columbia Records ทุกวันนี้ แม้ว่ามันจะถูกเทคโอเวอร์โดย CBS มาตั้งแต่ปี 1938 แล้วและโดน Sony เทคโอเวอร์มาพร้อมๆ กับกลุ่มบริษัทบันทึกเสียงของ CBS อีกทีในปี 1988 ซึ่งก็จะเห็นว่าการเทคโอเวอร์กันไปมานี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว

 

อ้างอิง
[1] ที่มาของรูปนี้มีความน่าสนใจอยู่เพราะภาพนี้มาจากอังกฤษ ในภาพดั้งเดิมมันเป็นรูปหมานั่งฟัง “เสียงของเจ้านาย” (His Master’s Voice) จากโฟโนกราฟของเอดิสัน นักวาดภาพชาวอังกฤษเจ้าของภาพนี้ได้นำภาพไป “จดลิขสิทธิ์” ในปี 1899 ในชื่อภาพว่า Dog looking at and listening to a Phonograph เขาพยายามจะขายให้บริษัทที่ถือสิทธิบัตรโฟโนกราฟในอังกฤษแต่ทางบริษัทไม่สนใจ อย่างไรก็ดีทางบริษัทที่ถือสิทธิบัตรแกรมโมโฟนในอังกฤษกลับสนใจซื้อภาพใต้เงื่อนไขว่าเขาต้องเปลี่ยนภาพวาดจากหมาฟังโฟโนกราฟมาเป็นหมาฟังแกรมโมโฟน ซึ่งเขาก็ตกลง รูปนี้ในอังกฤษพร้อมคำว่า His Master’s Voice ก็ได้กลายมาเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทแกรมโมโฟนในอังกฤษ และสุดท้ายภาพและโลโก้ก็ดังขนาดที่คนจำมันได้มากกว่าชื่อบริษัท ซึ่งคนก็เรียกมันย่อๆ ว่า HMV และชื่อที่คนรู้จักนี้ก็กลายมาเป็นชื่อร้านแผ่นเสียงที่ถนนอ็อกซ์ฟอร์ดในปี 1921 และเรื่องราวของ “ร้านขายแผ่น” ชื่อดังของเกาะอังกฤษต่อมามีสาขาทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้ก็เริ่มจากตรงนั้น

อย่างไรก็ดีทางฝั่งอเมริกา สิทธิในการใช้ภาพหมาฟังแผ่นเสียงนี้เป็นเครื่องหมายการค้าก็อยู่กับ Victor Talking Machine Company ที่ได้เครื่องหมายการค้านี้มาพร้อมๆ กับสิทธิบัตรของบริษัทแกรมโมโฟนของ Berliner ในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นในแง่นี้ บริษัทที่ใช้โลโกหรือเครื่องหมายการค้าเป็นรูป “หมาฟังแผ่นเสียง” ของสหรัฐอเมริกาและทางสหราชอาณาจักรจึงเป็นคนละบริษัทกัน (แม้จะเป็นพันธมิตรกัน) ดู  http://en.wikipedia.org/wiki/His_Master%27s_Voice
 
[2] Emily Thompson, “Machines, Music, and the Quest for Fidelity: Marketing the Edison Phonograph in America, 1877-1925”, The Musical Quarterly, Vol. 79, No. 1 (Spring, 1995), pp. 137-138
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net