Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“สังคมต้องการหนังสือราคาถูก ความต้องการนี้ต้องได้รับการตอบสนอง”
Matthew Arnold, นักวิจารณ์วรรณกรรมชาวอังกฤษเจ้าของงาน Culture & Anarchy (1880)

ก่อนที่เจ้าพ่อความคิดเรื่อง “วัฒนธรรม” (Culture) อย่าง Matthew Arnold จะยืนกรานว่าสังคมศิวิไลซ์หรือ “มีวัฒนธรรม” นั้นจะขาดหนังสือราคาถูกไปไม่ได้ ชาวอเมริกาก็มีหนังสือราคาถูกอ่านมาเป็นร้อยปีแล้ว พลเมืองอเมริกันเป็นพลเมืองโลกตะวันตกที่อ่านหนังสือกันกระหน่ำมากๆ ตลาดหนังสือของอเมริกาเป็นตลาดที่เน้นขาย “มวลชน” มาแต่แรกตั้งแต่สร้างชาติแล้ว [1] เมื่อดินแดนของสหรัฐอเมริกาขยายตัวไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ประชากรก็ขยายตัวไปด้วย [2] และประชากรอเมริกันที่ส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนต์ก็มีอัตรารู้หนังสือสูงมากๆ มาตั้งแต่ช่วงปลายๆ อาณานิคมแล้ว [3] การขยายตัวของประชากรอเมริกันนี้แม้ว่าความเป็นจริงจะห่างไกลจากอุดมคติของ “สังคมไร้ชนชั้น” แต่หากมองในเชิงสัมพัทธ์กับสังคมยุโรปในยุคเดียวกัน สิ่งที่จะพบได้ก็คือความแตกต่างทางชนชั้นของสังคมอเมริกันทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองก็แคบกว่าฝั่งยุโรปจริงๆ กล่าวอีกแบบคืออเมริกันนั้นเต็มไปด้วย “คนระดับกลาง” (ที่ภายหลังเรียกรวมๆ ว่า “ชนชั้นกลาง” อันเป็นคำที่ความหมายกว้างมากๆ และถูกใช้อย่างแตกต่างกันไปในแต่ละบริบท) และคนกลุ่มนี้เองก็คือพื้นฐานของตลาดหนังสือในสังคมอเมริกา

นี่ทำให้ตลาดหนังสือในอเมริกาต่างจากตลาดหนังสือฝั่งยุโรปที่แม้เวลาสามร้อยปีหลังปฏิวัติการพิมพ์ ตลาดหนังสือก็ยังเป็นตลาดที่เอาใจอภิชนเป็นหลักอยู่ กล่าวในภาษาแบบการตลาดก็คือ ในยุโรปตลาดหนังสือก็เป็นตลาดที่เน้นผู้บริโภคกลุ่มเล็กที่กำลังบริโภคสูงเป็นหลัก (แม้ว่าแนวทางนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนไปในช่วงศตวรรษที่ 19) ซึ่งนี่เป็นคนละเรื่องกับตลาดหนังสือในอเมริกาที่เน้นขาย “คนระดับกลางของสังคม” ที่มีปริมาณมาก

การที่ตลาดหนังสือของสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหนังสือที่เน้นขายคนที่ไม่ได้รายได้สูงลิบเป็นหลักดังที่ยุโรปเป็น หนังสือที่ขายในอเมริกาจึงมักจะเป็นหนังสือที่มีราคาไม่แพง ทำจากกระดาษถูกๆ เน้นขายปริมาณมากๆ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เกิดก่อนการ “ปฏิวัติเปเปอร์แบ็ก” ของสำนักพิมพ์เพนกวินในอังกฤษเป็นร้อยปี นอกจากนี้การ “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” ของอเมริกาช่วงหลังสงครามกลางเมืองตอนครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 ยังทำให้การอ่านขยายตัวไปกันใหญ่ เพราะรถไฟก็เป็นเทคโนโลยีสำคัญในการลดต้นทุนและเพิ่มความเร็วในการขนส่งหนังสือไปทั่วอเมริกา และพร้อมกันนั้น การที่ผู้คนสัญจรด้วยการนั่งรถไฟก็ยังเป็นการกระตุ้นความต้องการอ่านหนังสืออีกมหาศาลเพราะหนังสือก็เป็นกิจกรรม “ฆ่าเวลา” ในการเดินทางยอดฮิตในยุคนั้น

สิ่งที่น่าสนใจคือตลอดช่วง 100 ปีหลังอเมริกามีอิสรภาพจากอังกฤษ คนอเมริกันก็ยังอ่านนิยายของทางฝั่งอังกฤษกันอย่างกระหน่ำ ซึ่งบรรดาสำนักพิมพ์ทั้งหลายก็ไม่ได้มีความเดียดฉันท์ที่จะพิมพ์งานของเจ้าอาณานิคมเก่ามาขายอเมริกันชนเลย ซึ่งเหตุผลหนึ่ง ก็คือการที่สำนักพิมพ์เหล่านี้จะตีพิมพ์งานของ “คนอังกฤษ” พวกเขาก็ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์หรือขออนุญาตใดๆ เลย เพราะภายใต้กรอบกฎหมายอเมริกา (หรือประเทศไหนๆ ก็ตามในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19) “ลิขสิทธิ์” ในกรอบการคุ้มครองของชาติอื่นๆ ก็ล้วนไม่ได้มีผลบังคับใช้ได้นอกอาณาบริเวณของชาตินั้นๆ

แน่นอนว่านี่ทำให้บรรดานักเขียนยอดฮิตจากทางฝั่งอังกฤษไม่พอใจ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะยอดขายหนังสือในอเมริกา (ที่ราคาถูกกว่าอังกฤษ) นั้นสูงกว่าอังกฤษเป็นเท่าตัว [4] ดังนั้นนี่หมายความว่าพวกเขาจะไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ เลยจากหนังสือเป็นแสนเล่มที่ขายๆ กันอยู่ในอเมริกา และต้องพึงพอใจกับยอดขายหลักหมื่นที่พวกเขาได้ส่วนแบ่งในอังกฤษเท่านั้น [5]

ทางด้านนักเขียนอเมริกันที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 พวกเขาไม่ได้มองว่าสภาวะที่มวลชนสามารถเข้าถึงหนังสือราคาถูกได้เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่พวกเขามองคือการที่อเมริกาไม่ยอมรับลิขสิทธิ์อังกฤษ มันจะทำให้สำนักพิมพ์พิมพ์หนังสือมาขายได้ในราคาถูกเกินกว่าที่จะเป็น และเลือกที่จะพิมพ์หนังสือ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ของทางอังกฤษมากกว่าที่จะตีพิมพ์งานของเหล่านักเขียนอเมริกันเอง ดังนั้นในแง่นี้ นักเขียนอเมริกันและอังกฤษก็ต้องการให้อเมริกันยอมรับลิขสิทธิ์หนังสืออังกฤษทั้งคู่ (แม้จะด้วยเหตุผลที่ต่างกัน)

นี่นำมาสู่การต่อสู้ดิ้นรนให้เกิด “กฎหมายลิขสิทธิ์นานาชาติ” ขึ้นในอเมริกาโดยตลอดศตวรรษที่ 19 [6] ทั้งนักเขียน และนักการเมืองก็ดาหน้ากันพยายามผ่านร่างกฎหมายสารพัดให้เกิด “ลิขสิทธิ์นานาชาติ” ขึ้น อย่างไรก็ดีปัจจัยที่ดูจะชี้ขาดให้อเมริกันยอมรับลิขสิทธิ์ในอังกฤษในท้ายที่สุดก็ดูจะเกิดจากการตกลงผลประโยชน์กันได้ไม่ลงตัวของเหล่าสำนักพิมพ์เองมากกว่าปัจจัยอื่นๆ

บรรดาสำนักพิมพ์ในอเมริกาในตอนแรกของยุคสมัยแห่งการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 นั้นก็ไม่ได้มีความลงรอยกัน การแย่งกันพิมพ์งานยอดฮิตเกิดขึ้นเป็นปกติ ซึ่งการแข่งขั้นนั้นก็ระดับที่ว่าเมื่อเรือส่งสินค้าจากอังกฤษมาแต่ละสำนักพิมพ์ก็จะมีม้าเร็วไปเอาหนังสือจากเรือวิ่งมาเข้าโรงพิมพ์เพื่อเป็นต้นฉบับและตีพิมพ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบนี้ก็ได้พัฒนากลายเป็นระบบที่สำนักพิมพ์พวกนี้จะมี “ตัวแทน” อยู่ที่อังกฤษที่จะซื้อ “ต้นฉบับ” จากนักเขียนอังกฤษมาโดยตรงเลย และส่งเข้ากระบวนการพิมพ์ไปพร้อมๆ ที่อังกฤษ ซึ่งนี่จะทำให้สำนักพิมพ์เหล่านั้นได้ต้นฉบับมาเร็วกว่าสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่ต้องรอหนังสือที่อังกฤษออกก่อนแล้วค่อยส่งหนังสือข้ามเรือมา [7]

ระบบ “แย่งกันพิมพ์” นี้หมดไปเมื่อบรรดาสำนักพิมพ์อเมริกันแถบชายฝั่งตะวันตกจับมือกันภายใต้ข้อตกลง “มารยาททางการค้า” (trade courtesy) ขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือนี่คือระบบ “แบ่งกันละเมิดลิขสิทธิ์อังกฤษ” กล่าวคือแต่ละสำนักพิมพ์ก็จะตกลงกันว่าจะไม่พิมพ์งานซ้ำกัน และก็มีการแบ่งนักเขียนแต่ละคนไปให้แต่ละสำนักพิมพ์พิมพ์เป็นต้น

อย่างไรก็ดีการแก้ปัญหานี้ก็ดูจะเป็นการแก้ปัญหาในหมู่สำนักพิมพ์แถบชายฝั่งตะวันออกเท่านั้น เพราะเมื่อเกิดเมืองใหม่ๆ ขึ้นพร้อมกับตลาดหนังสือในเมืองนั้นๆ พวกพ่อค้าในหนังสือหน้าใหม่ก็ไม่ยินยอมจะเล่นตามเกมของพวกพ่อค้าหนังสือในแถบชายฝั่งตะวันออก ในเมืองใหญ่ของแถบ “มิดเวสต์” อย่างชิคาโกก็มีพ่อค้าหนังสือหน้าใหม่ตีพิมพ์หนังสือยอดฮิตของนักเขียนอังกฤษต่างๆ ที่สำนักพิมพ์ชายฝั่งตะวันออกได้แบ่งสรรกันพิมพ์เรียบร้อยแล้วตาม “มารยาททางการค้า” ออกมาเป็นว่าเล่น ซึ่งผู้บุกเบิกก็คือสำนักพิมพ์ Donnelly, Gassette and Lloyd ที่ผลิตซีรีส์ “หนังสือประจำบ้าน” ของชนชั้นกลางอย่าง Lakeside Library มาในปี 1874 ซึ่งไม่นานนักการตีพิมพ์ซีรีส์ “หนังสือประจำบ้าน” ก็เป็นสิ่งที่สำนักพิมพ์หน้าใหม่ฮิตกันมากจนในปี 1877 คนอเมริกันก็มีซีรีส์ “หนังสือประจำบ้าน” ที่ตีพิมพ์หนังสือซ้ำกันให้เลือกถึง 14 เจ้า [8]

การปรากฏตัวของสำนักพิมพ์หน้าใหม่นอกโซนอำนาจของสำนักพิมพ์เก่าไม่ได้ส่งผลแค่ทำให้เหล่าสำนักพิมพ์เก่าไม่สามารถผูกขาดได้อย่างเดิมเท่านั้น แต่มันยังส่งผลให้ราคาหนังสือโดยรวมถูกลงด้วยจากที่แต่เดิมก็ถูกอยู่แล้ว (เมื่อเทียบกับราคาหนังสือในฝั่งยุโรป) เหล่าซีรีส์ “หนังสือประจำบ้าน” ที่ว่านี้ก็ทำมาเพื่อตอบสนองรายได้อันจำกัดของนักอ่านอเมริกันที่เป็น “คนระดับกลางของสังคม” ในยุคนั้น ซึ่งมันก็เป็นคนละเรื่องกับซีรีส์ Library ในยุคปัจจุบันที่เป็นหนังสือปกแข็งสวยงาม เพราะในยุคนั้นในหลายๆ ครั้งหนังสือในซีรีส์ “หนังสือประจำบ้าน” มันไม่มีปกและไม่เย็บเล่มด้วยซ้ำเพื่อลดต้นทุน (แม้ว่านี่ก็จะไม่ใช่สิ่งพิสดารอะไร เพราะความเคยชินว่า “หนังสือ” จะต้องมีลักษณะ “เป็นเล่ม” มีปกและเย็บขอบอย่างดีและจะเป็นอื่นไปไม่ได้นั้นก็ดูจะเป็นสำนึกที่เพิ่งเกิดในศตวรรษที่ 20)

แน่นอนว่าสำนักพิมพ์ฝั่งตะวันออกที่โดน “ละเมิด” ก็ไม่พอใจแต่ก็ไม่มีกฎหมายใดๆ จะทำอะไรพวกสำนักพิมพ์หน้าใหม่เหล่านี้ นี่จึงเป็นจุดพลิกผันให้สหภาพช่างพิมพ์ในเมืองใหญ่ๆ ในแถบชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาหันมาสนับสนุนให้สภาคองเกรสออกกฎหมายเพื่อยอมรับลิขสิทธิ์อังกฤษ [9] แรงจูงใจที่ “ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์” มานมนานลุกขึ้นมาสนับสนุนให้มีการคุ้มครองลิขสิทธิ์นี้อาจเป็นเรื่องพิสดารในสายตาของคนปัจจุบัน อย่างไรก็ดีในสภาวะตอนนั้นที่สำนักพิมพ์ฝั่งตะวันออกมีการ “แบ่งนักเขียนกันพิมพ์” เรียบร้อยแล้ว พวกเขาสามารถคาดเดาตลาดได้อย่างชัดเจน พูดง่ายๆ ก็คือพวกเขาแทบไม่มีความเสี่ยงเลยในการพิมพ์งานพวกนักเขียนยอดฮิต เพราะพิมพ์มายังไงก็ขายได้แน่ๆ และการยอมรับลิขสิทธิ์ฝั่งอังกฤษจากมุมมองสำนักพิมพ์พวกนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าอะไรนอกจากการให้ส่วนแบ่งกับนักเขียนอังกฤษ และไปเพิ่มส่วนแบ่งนั้นที่ราคาหนังสือ โดยแลกกับสิทธิผูกขาดหนังสือเล่มนั้นทั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งนั่นก็ดูจะคุ้มในช่วงศตวรรษ 1880 ประชากรอเมริกันก็ทะลุ 50 ล้านคนไปแล้ว [10] และอัตรารู้หนังสือในหมู่คนขาวก็เกิน 90% อีกซึ่งนี่ก็ยังไม่ต้องพูดถึงอำนาจการจับจ่ายของประชาชนที่เพิ่มมามหาศาลในช่วงนั้นผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจของการปฏิวัตอุตสาหกรรม พูดง่ายๆ สหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1980 เป็นตลาดหนังสือที่ใหญ่มากๆ ไปเรียบร้อยแล้ว และการยอมเสียค่าลิขสิทธิ์ให้นักเขียนเพียงนิดหน่อยเพื่อแลกมาซึ่งสิทธิในการผูกขาดก็ดูจะเป็นสิ่งที่สร้างผลกำไรมากกว่าที่จะทำให้ขาดทุน

ในที่สุดสภาคองเกรสก็ผ่านกฎหมายลิขสิทธิ์นานาชาติฉบับแรกของสหรัฐอเมริกาออกมาในปี 1891 และหลังจากนั้นหนังสือในอเมริกาโดยเฉลี่ยก็แพงขึ้นตามที่หลายฝ่ายกลัวจริงๆ ผลกระทบของกฎหมายลิขสิทธิ์นานาชาตินี้บ้างก็มีการกล่าวอ้างกันว่าทำให้คนอเมริกันอ่านหนังสือน้อยลงเนื่องจากหนังสือแพงขึ้น อย่างไรก็ดีการลดทอนการอ่านหนังสือน้อยลงของคนอเมริกันด้วยปัจจัยเพียงแค่ “ลิขสิทธิ์” ก็ดูจะเป็นการคิดอยู่ในกรอบ “ทุกอย่างแก้ด้วยการมี/บังคับใช้ลิขสิทธิ์” อันเป็นที่นิยมกันมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ดูจะไม่จริงนัก เพราะเอาจริงๆ ในช่วงนั้น การใช้เวลาว่างกับสิ่งที่ “ประเทืองปัญญา” หรือ “ขัดเกลาตัวตน” ของอเมริกาก็ค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งถ้าถามนักประวัติศาสตร์วัฒนธรรม การคุ้มครองหรือไม่คุ้มครองลิขสิทธิ์หนังสือของคนอังกฤษก็คงไม่ใช่ประเด็นนัก และเขาก็คงจะอธิบายว่าเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงของ “ธุรกิจศิลปวัฒนธรรม” ช่วงหลังสงครามกลางเมืองที่มีลักษณะรวมศูนย์ และพยายามจะแยก “ศิลปะชั้นสูง” กับ “ความบันเทิงชั้นล่าง” ออกจากกัน และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของกรอบความคิดด้านการผลิตสิ่งบันเทิงเริงรมย์อันไม่ประเทืองปัญญาเพื่อมาตอบสนองชนชั้นระดับล่างของสังคมโดยเฉพาะ [11]

อย่างไรก็ดีนั่นก็เป็นแค่จุดเริ่มเท่านั้นเพราะปลายทางของอาการ “ถดถอยทางภูมิปัญญา” นี้ก็คงจะเป็นการกำเนิดของสื่อใหม่สองสื่อในตอนปลายศตวรรษที่ 19 ที่มันได้ยึดเวลาว่างของผู้คนในศตวรรษที่ 20 ได้อย่างแทบจะเด็ดขาด และได้สร้างสิ่งที่รู้จักกันภายหลังว่า “ศิลปวัฒนธรรมมวลชน” (mass culture) ขึ้นมาอย่างแท้จริง สองสื่อที่ว่าคือ งานดนตรีบันทึกเสียง และภาพยนตร์ ซึ่งการเกิดขึ้นของสื่อเหล่านี้ในช่วงที่มีการบ่นกันอย่างแพร่หลายถึงสภาวะถดถอยทางปัญญาในสังคมก็ดูจะเป็นสิ่งบังเอิญอย่างน่าประหลาด แม้ว่าการบ่นแบบนี้ก็จะยังปรากฏซ้ำซากต่อไปอีกเป็นร้อยปี

 

อ้างอิง
[1] John Sutherland, Bestsellers: A Very Short Introduction, (Oxford: Oxford University Press, 2007)

[2] ปี 1790 สหรัฐอเมริกามีประชากร 4 ล้านคน ซึ่งในปี 1850 ประชากรขึ้นมาเป็น 21 ล้านคน (บางแหล่งก็อ้างว่ามีถึง 23 ล้านคน) ดู Paul S. Boyer, American History: A Very Short Introduction, (Oxford: Oxford University Press, 2012); Jason G. Gauthier, Measuring America: The Decennial Censuses from 1790 to 2000, (US Census Bureau, 2002), p. 141 http://www.census.gov/prod/2002pubs/pol02marv.pdf>

[3] มีการประเมินว่าในตอนกลางศตวรรษที่ 18 ประชากรผู้ชายในอังกฤษมีอัตราการรู้หนังสือ 55-60% ส่วนในอาณานิคมนิวอิงแลนด์ผู้ชายมีอัตรารู้หนังสือสูงถึง 80% ดู Stephen Botein, Jack R. Censer and Harriet Ritvo, "The Periodical Press in Eighteenth-Century English and French Society: A Cross-Cultural Approach", Comparative Studies in Society and History, Vol. 23, No. 3 (Jul., 1981), p. 475

[4] ถ้ามองในแง่ประชากรตอนเริ่มศตวรรษที่ 19 ในปี 1800 สหราชอาณาจักรมีประชากรราวๆ 10 ล้านคน ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีประชากรเพียง 5 ล้านคน อย่างไรก็ดีพอมาในช่วงปี 1851 ประชากรอังกฤษมีราวๆ 17 ล้านคน แต่ประชากรของสหรัฐอเมริกาก็แซงไปเป็น 23 ล้านคนแล้ว และพอมาในราวปี 1900 อังกฤษที่ประชากรเพิ่มขึ้นพรวดพราดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาเป็น 30 ล้านคนก็ยังมีประชากรไม่ถึงครึ่งของสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ เพราะตอนนั้นประชากรของสหรัฐก็สูงกว่า 76 ล้านคนเข้าไปแล้ว ในแง่นี้แม้อัตราการรู้หนังสือของคนในสหราชอาณาจักรจะขยายตัวอย่างมหาศาลในศตวรรษที่ 19 ฐานผู้อ่านหนังสือของสหราชอาณาจักรก็ไม่น่าจะสู้สหรัฐที่อัตรารู้หนังสือสูงอยู่แล้วและอัตราการขยายตัวของประชากรเร็วกว่าได้ ดู http://en.wikipedia.org/wiki/Demography_of_the_United_Kingdom ; Jason G. Gauthier, Measuring America: The Decennial Censuses from 1790 to 2000, (US Census Bureau, 2002), p. 141 http://www.census.gov/prod/2002pubs/pol02marv.pdf>

[5] ตัวอย่างที่มักจะยกกันคือนวนิยายเรื่องยาวของ Mrs Humphrey Ward ในปี 1888 อย่าง Robert Elsemere ซึ่งขายในอังกฤษได้ราว 60,000 เล่มในปีแรกที่ตีพิมพ์แต่ขายในสหรัฐได้ 100,000 เล่มในปีแรก ก่อนยอดขายจะทะลุหนึ่งล้านเล่มในสามปีหลังหนังสือออกจำหน่าย ซึ่งนี่จัดเป็นยอดขายที่สูงมากๆ ในยุคนั้น ดู John Sutherland, Bestsellers: A Very Short Introduction, (Oxford: Oxford University Press, 2007), p. 8

[6] Catherine Seville, The Internationalisation of Copyright Law: Books, Buccaneers and the Black Flag in the Nineteenth Century, (Cambridge: Cambridge University Press, 2006), pp. 146-252

[7] Adrian Johns, Piracy: The Intellectual Property Wars From Gutenberg to Gates, (Chicago: University of Chicago Press, 2009), pp. 295-302

[8] Siva Vaidhyanathan, Copyrights and Copywrongs: The Rise of Intellectual Property and How It Threatens Creativity, (New York: New York University Press, 2001), pp. 52-53

[9] Siva Vaidhyanathan, Copyrights and Copywrongs: The Rise of Intellectual Property and How It Threatens Creativity, (New York: New York University Press, 2001), p. 55

[10] ดู Jason G. Gauthier, Measuring America: The Decennial Censuses from 1790 to 2000, (US Census Bureau, 2002), p. 141 http://www.census.gov/prod/2002pubs/pol02marv.pdf>

[11] Lawrence W. Levine, Highbrow/ Lowbrow: The Emergence of Cultural Hierarchy in America, (Massachusetts: Harvard University Press, 1988)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net