Skip to main content
sharethis

มูลนิธินิวอเมริกาวิเคราะห์ข้อมูลกรณีการก่อการร้าย 225 คดีในสหรัฐฯ พบว่าโครงการเก็บข้อมูลการใช้โทรศัพท์แบบครอบคลุมคนทั่วสหรัฐฯ มีผลงานอยู่เพียงกรณีเดียวเท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันยังมีการถกเถียงเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวกับโครงการสอดแนมของหน่วยงานความมั่นคง

14 ม.ค. 2557 มูลนิธินิวอเมริกา นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลกรณีการก่อการร้าย 225 คดีในสหรัฐฯ นับตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 11 ก.ย. 2544 เป็นต้นมา พบว่าการเก็บข้อมูลโทรศัพท์แบบครอบคลุมของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ไม่ได้ส่งผลต่อการป้องกันการก่อการร้ายในระดับที่ชี้วัดได้

การวิจัยล่าสุดจากมูลนิธินิวอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐอเมริกา นำเสนอเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าคดีป้องกันการก่อการร้ายส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ยังใช้วิธีการสืบสวนและบังคับใช้กฎหมายแบบเดิม

มูลนิธิฯ ทำการวิจัยร่วมกับทีมตรวจสอบที่มาจากการแต่งตั้งของทำเนียบขาวซึ่งก่อนหน้านี้เคยกล่าวไว้ว่าโครงการของ NSA ไม่มีความจำเป็นต่อการป้องกันการก่อการร้าย และหลักฐานจำนวนมากสามารถเข้าตรวจยึดได้ด้วยวิธีการขอหมายศาลแบบเดิม

ในแผนภาพข้อมูลการวิจัยระบุว่า จากคดีก่อการร้ายทั้ง 225 คดี มีการใข้วิธีการสืบสวนแบบดั้งเดิม ร้อยละ 59.6 เทียบกับการอาศัยวิธีการสืบสวนด้วยการเก็บข้อมูลแบบครอบคลุมจำนวนมากของ NSA ภายใต้กฎหมายสืบราชการลับ (FISA) มาตรา 215 จำนวน ร้อยละ 1.8 วิธีการสืบสวนด้วยการสอดแนมของ NSA ภายใต้กฎหมายสืบราชการลับมาตรา 702 ร้อยละ 4.4 และวิธีการสอดแนมของ NSA โดยไม่ทราบที่มาของอำนาจสั่งการ ร้อยละ 1.3 อย่างไรก็ตาม มีมากถึงร้อยละ 28 (62 กรณี) ที่ไม่ได้ระบุวิธีการสืบสวนในบันทึกของศาลหรือในรายงานสาธารณะ

ผลการวิจัยระบุว่าในกรณีโครงการเก็บข้อมูลแบบครอบคลุมมีการนำมาใช้ในกรณีเดียวเท่านั้นคือกรณีของบาซาลี โมอาลิน คนขับแท็กซี่ในซานดิเอโก้และผู้สมรู้ร่วมคิดอีก 3 รายถูกพิพากษาว่ามีความผิดจากการส่งเงินสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในโซมาเลีย ซึ่งกรณีนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการข่มขู่โจมตีสหรัฐฯ

นักวิจัยเปิดเผยอีกว่ามีอย่างน้อย 48 กรณีที่ใช้วิธีการขอหมายค้นหลักฐานตามวิธีการดั้งเดิม เพื่อให้อนุญาตเก็บหลักฐานจากอีเมลหรือโทรศัพท์ได้

รายงานของมูลนิธิระบุอีกว่า แม้ชาวสหรัฐฯ อาจจะปลอดภัยมากกว่าเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ มีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเราเก็บไว้จำนวนมาก แต่โครงการดักเก็บข้อมูลนี้ก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตและเสรีภาพปัจเจกบุคคล

โครงการดักเก็บข้อมูลโทรศัพท์ของ NSA เป็นการเก็บข้อมูลการใช้ที่เรียกว่านิยามข้อมูล (Metadata) หมายถึงข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ที่มีการติดต่อกันและระยะเวลาในการพูดคุยของชาวอเมริกันทุกคน โดยไม่มีการเก็บข้อมูลเนื้อหาที่พูดคุย ซึ่งหน่วยวิเคราะห์ข้อมูลสามารถค้นหาข้อมูลที่มีความน่าสงสัยว่าจะมีส่วนเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายได้

เรื่องโครงการดักเก็บข้อมูลของ NSA ถูกเปิดโปงตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการถกเถียงกันเรื่องความถูกต้องตามกฎหมาย วิธีการใช้งานของโครงการนี้ และเรื่องผลกระทบต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว โดยประธานาธิบดีบารัก โอบาม่ากำลังพิจารณาในเรื่องนี้

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ NSA เคยกล่าวปกป้องโครงการสอดแนมว่าเป็นเครื่องมือที่สามารถทำให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของแผนการหรือเครือข่ายการก่อการร้ายได้ และสามารถกำจัดข่าวลือที่ว่าภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ไม่มีอยู่จริงได้

แต่ริชาร์ด คลาร์ก หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาที่แต่งตั้งโดยทำเนียบขาว ผู้เคยเป็นที่ปรึกษาด้านการต้านก่อการร้ายกล่าวว่า NSA สามารถใช้วิธีการแบบตั้งเดิมในการสืบสวนได้ เช่น การขอหมายศาล หรือการเก็บข้อมูลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนการต้านก่อการร้าย

 


เรียบเรียงจาก

NSA phone record collection does little to prevent terrorist attacks, group says, The Washington Post, 13-01-2014
http://www.washingtonpost.com/world/national-security/nsa-phone-record-collection-does-little-to-prevent-terrorist-attacks-group-says/2014/01/12/8aa860aa-77dd-11e3-8963-b4b654bcc9b2_story.html

Do NSA's Bulk Surveillance Programs Stop Terrorism?, New America Foundation, 13-01-2014
http://natsec.newamerica.net/nsa/analysis

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net