เว็บวิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศวิพากษ์รัฐบาลโอบามา พิษสงของ 'ลัทธิความมั่นคง'

ในช่วงที่ใกล้หมดวาระของรัฐบาลโอบามา จอห์น เฟฟเฟอร์ จากเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโอบามาอย่างหนักในเรื่องการปราบปรามผู้เปิดโปง และการไม่สามารถยกเลิกวิธีการทารุณกรรมของหน่วยงานความมั่นคงที่ตกทอดมาจากสมัยรัฐบาลบุช


ที่มาภาพ: U.S. Navy photo by Mass Communication Specialist 2nd Class Kevin S. O'Brien/Released
Public domain

11 ต.ค. 2558 จอห์น เฟฟเฟอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ (Foreign Policy in Focus หรือ FPIF) เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในยุคสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ทั้งในเรื่องที่ไม่ยกเลิกวิธีการทารุณกรรมนักโทษตามที่สัญญาไว้ และเรื่องการสั่งลงโทษจับขัง 'ผู้เปิดโปง' หลายคน โดยในยุคโอบามามีการลงโทษจำคุกผู้เปิดโปงรวมแล้ว 751 เดือน มากกว่าการลงโทษผู้เปิดโปงตั้งแต่การปฏิวัติก่อตั้งประเทศที่มีการจำคุกรวมแล้วเพียงแค่ 24 เดือนเท่านั้น

เฟฟเฟอร์ระบุถึงการหาเสียงเมื่อปี 2551 ของโอบามาว่ามีการแสดงท่าทีต่อต้านการทารุณกรรมในปฏิบัติการต่างๆ ของสหรัฐฯ อย่างชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่ "ไม่มีทางยอมรับได้" นอกจากนี้ย้งสัญญาว่าจะยกเลิกการส่งตัวผู้ต้องสงสัยข้ามแดนไปยังประเทศที่มีความสามารถกระทำการทารุณกรรมและสัญญาว่าจะสั่งปิดเรือนจำกวนตานาโมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นมาใหม่ให้กับสหรัฐฯ

ถึงแม้ว่าโอบามาจะลงนามในคำสั่งให้มีการยกเลิกการทารุณกรรมและการคุมขังโดยสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือซีไอเอ (CIA) ทำให้มีการปิดคุกลับของซีไอเอที่เคยมีอยู่ก่อนหน้านี้ โอบามายังลงนามสั่งให้มีการปิดคุกกวนตานาโม แต่สภาคองเกรสกลับมีมติต่อต้านการปิดคุกแห่งนี้ทำให้พวกเขาต้องหันไปใช้แผนสองคือการสั่งปล่อยตัวนักโทษทีละน้อย และในขณะที่วุฒิสภาสหรัฐฯ เพิ่งลงมติสั่งห้ามการทารุณกรรมในปีนี้เอง แต่โอบามาก็ไม่ได้ยกเลิกข้อสัญญาทางกฎหมายที่ให้อำนาจโครงการทารุณกรรมทั้งหมด ซึ่งหมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจจะกลับไปใช้วิธีการสุดโต่งอย่างการทารุณกรรมอีก

เฟฟเฟอร์ยังวิจารณ์อีกว่ารัฐบาลโอบามาไม่มีการแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งฉบับของรัฐบาลบุชที่อนุญาตให้มีการใช้เครื่องบินไร้คนขับหรือ 'โดรน' ในการกำจัดผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายโดยไม่มีการสอบสวนใดๆ นอกจากนี้การกระทำแบบปิดลับในที่ทำการของฝ่ายความมั่นคงสหรัฐฯ ยังทำให้ไม่สามารถรับประกันได้ว่าสำนักงานข่าวกรองจะปฏิบัติตามคำสั่งห้ามทารุณกรรม โดยยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2554 ที่มีการคุมขังและทารุณกรรมผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายโซมาเลียบนเรือของสหรัฐฯ ที่อยู่ในน่านน้ำสากล และกรณีการส่งตัวผู้ต้องขังชาวอัฟกานิสถานให้กับทางการอัฟกานิสถานแม้ว่าจะมีหลักฐานว่าทางการอัฟกานิสถานละเมิดสิทธิมนุษยชน

แต่เรื่องหนึ่งที่เฟฟเฟอร์มองว่าเป็นความย้อนแย้งในตัวเองมากคือการปฏิบัติต่อผู้เปิดโปง เพราะถ้าหากรัฐบาลโอบามาต้องการแสดงออกทางจริยธรรมในการต่อต้านการทารุณกรรมและการเปิดโปงความลับจริง เขาก็ควรจะยอมรับคนที่เสี่ยงชีวิตเพื่อทำในสิ่งที่ถูกต้องเหล่านี้ แต่รัฐบาลโอบามากลับลงโทษผู้เปิดโปงอย่างไม่ไว้หน้า เฟฟเฟอร์บอกว่าเขาได้พูดคุยกับผู้เปิดโปงชาวอเมริกันผู้กล้าหาญ 3 คน ที่อธิบายว่าทำไมประธานาธิบดีโอบามาถึงเข้าสู่ตำแหน่งในมาดของ "ราชสีห์ผู้พิทักษ์เสรีภาพพลเมือง" แต่กลับทำตัวเหมือน "แกะ (ทว่ามีเขี้ยวแหลมคม) ที่อ้างความมั่นคงของชาติ"

บทความของเฟฟเฟอร์เปิดเผยว่าในทุกรัฐบาลมีการปล่อยให้ข่าวรั่วไหลเกิดขึ้นทั้งสิ้นแต่ว่าฝ่ายรัฐบาลเองก็มีการควบคุมว่าให้ข้อมูลใดรั่วไหลออกไปได้บ้างและรัฐบาลก็เกลียดการรั่วไหลของข้อมูลที่พวกเขาไม่ให้ปล่อยออกไปเองมากเพราะทำให้พวกเขารู้สึกสูญเสียการควบคุมสื่อว่าจะให้เรื่องราวใดเปิดเผยได้บ้าง

เฟฟเฟอร์ระบุว่าผู้เปิดโปง (whistleblower) กับผู้ให้ข้อมูลรั่วไหล (leaker) มีความแตกต่างกัน ผู้เปิดโปงจะมองเห็นปัญหาเช่นการกระทำที่น่าต้องสงสัยในเรื่องความชอบธรรมแล้วจะรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบถึงเรื่องที่ไม่เหมาะสมและจะเปิดเผยข้อมูลต่อสภาหรือสื่อก็ต่อเมื่อการพยายามสะท้อนปัญหาผ่านทางสายการบังคับบัญชาในหน่วยงานไม่ได้ผลเท่านั้น

บทความของเฟฟเฟอร์ระบุถึงผู้เปิดโปง 3 คน ได้แก่ จอห์น คิริอาโคว, เจสเซลิน ราดัก และทอม เดร็ก ต่างก็พยายามสื่อสารเรื่องความไม่ชอบธรรมผ่านช่องทางที่เหมาะสมก่อนหน้านี้ คิริอาโคว แสดงความกังวลเรื่องการทารุณกรรมโดยซีไอเอ ราดักแสดงความไม่สบายใจต่อวิธีการสอบสวนผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย ส่วน เดร็ก พูดกับบุคคลระดับสูงของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ หรือเอ็นเอสเอ (NSA) ในเรื่องการสอดแนมอย่างผิดกฎหมาย แต่พวกเขาก็ล้วนแต่รู้สึกไม่พอใจที่ไม่มีการตอบสนองต่อเรื่องที่กังวลมากพอหรือไม่ก็ถูกโต้ตอบกลับในทางลบทำให้พวกเขาต้องยอมเสี่ยงเพื่อเปิดโปงการกระทำผิดขององค์กรตัวเอง

แต่ผู้เปิดโปงทั้ง 3 คนก็ถูกดำเนินคดี คิริอาโควและเดร็กถูกตั้งข้อหาโดยอ้างกฎหมายจารกรรมซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2460 รวมกับผู้เปิดโปงรายอื่นๆ อย่างเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน และเชลซี แมนนิง ทำให้รัฐบาลโอบามาใช้กฎหมายนี้กับผู้เปิดโปงรวมทั้ง 7 คน เทียบกับก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของสหรัฐฯ มีคนถูกตั้งข้อหาเพียง 3 คนเท่านั้น ในเวลาต่อมาก็มีการยกฟ้องเดร็ก ส่วนคิริอาโควติดคุก 2 ปีหลังจากที่ขอลดโทษ ในตอนนี้คิริอาโควเป็นหนึ่งในผู้ร่วมงานกับสถาบันศึกษาวิจัยนโยบายซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของ FPIF

เฟฟเฟอร์ระบุว่าสิ่งที่ชวนให้ไม่สบายใจคือการที่คนที่ร่วมการทารุณกรรมและผู้ที่สั่งการให้มีการสอดแนมอย่างผิดกฎหมาย ยังไม่มีใครถูกดำเนินคดีเลย

เกลน กรีนวัลด์ เคยชี้ว่าโอบามาให้การคุ้มครองทางกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ที่ทำการทารุณกรรมถ้าหากเป็นไปตามคำสั่งอนุญาตจากนักกฎหมายในกระทรวงยุติธรรมสมัยรัฐบาลบุชซึ่งให้อนุญาตการทารุณกรรมในบางรูปแบบ ส่วนคนที่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ก็ให้พ้นผิด

ในกรณีเรื่องการสอดแนมผู้คนจำนวนมากที่มีการเปิดโปงโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนนั้นถึงแม้ว่าในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาจะมีคำตัดสินจากศาลสหรัฐฯ ว่าการสอดแนมดักเก็บข้อมูลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า 'เมตาเดตา' (metadata) เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ในโครงการบางอย่างที่ถูกเปิดโปงเช่น TREASUREMAP ที่มีการปล่อยมัลแวร์ไปยัง 50,000 แห่งทั่วโลกเพื่อทำแผนที่ความเชื่อมโยงของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก็ไม่มีใครที่ถูกลงโทษในการละเมิดสิทธิพลเมืองเลย

เฟฟเฟอร์ชี้ว่ารัฐบาลโอบามาอ้างความชอบธรรมเพื่อทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนกับ "ด้านมืด" ของสหรัฐฯ ทั้งหมดไม่ต้องรับผิดตั้งแต่ระดับอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ไปจนถึงผู้กระทำการทารุณกรรมและสอดแนมข้อมูลอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นความลำเอียงเมื่อเทียบกับการไล่ล่าเอาผิดผู้เปิดโปงอย่างหนัก

เฟฟเฟอร์ ถามผู้เปิดโปงทั้ง 3 คน เกี่ยวกับความย้อนแย้งเช่นนี้ พวกเขาอธิบายว่าบารัค โอบามา คนที่หาเสียง มีความแตกต่างกับโอบามา คนที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทันทีที่เขาเข้าสู่ทำเนียบขาวแล้วก็ได้รับคำสั่งลับสุดยอดแบบสรุปย่อ เขาก็กลายเป็นน้องใหม่ของ "สมาคม" ทันที เขาหลงใหลไปกับอำนาจบริหารจัดการโดยตรงที่มีความสามารถชี้เป็นชี้ตายได้เสมือนพระเจ้าเมื่อตอนที่เขาจัดประชุมรายสัปดาห์ที่มีการพิจารณารายชื่อผู้ที่เป็นเป้าหมายสังหารของโดรน

บทความของเฟฟเฟอร์เปรียบเปรยว่าเหมือนโอบามาถูก "รับน้อง" เข้าร่วมกับ "ลัทธิความมั่นคงแห่งชาติ" ซึ่งกฎข้อแรกของลัทธินี้คือการปกป้องตัวตนของตัวเองทุกวิถีทางทำให้ผู้เปิดโปงกลายเป็นคนทรยศต่อลัทธิทำให้ลัทธิต้องตามล่าอย่างไม่ปราณี เฟฟเฟอร์มองอีกว่าระบบถ่วงดุลอำนาจหรือการตรวจสอบอื่นๆ ไม่มีผลกับลัทธิความมั่นคงนี้ นอกจากนี้ในช่วงรัฐบาลโอบามายังมีเอกสารที่ถูกระบุให้เป็นความลับเพิ่มมากขึ้นเป็น 76.7 ล้านฉบับ เทียบกับก่อนหน้านี้ในสมัยรัฐบาลบุชที่มี 8.6 ล้านฉบับในปี 2544 และ 23.4 ล้านฉบับในปี 2551 นอกจากนี้ยังมีการใช้งบประมาณในสายงานข่าวกรองเพิ่มมากขึ้นหลายพันล้านดอลลาร์ด้วย

เฟฟเฟอร์ระบุอีกว่าไม่เพียงแค่การไล่ล่าผู้เปิดโปงเท่านั้น รัฐบาลโอบามายังพยายามเล่นงานสื่อเช่นการพยายามป้ายสีนักข่าวยูเอสเอทูเดย์ที่พยายามเจาะเรื่องโฆษณาชวนเชื่อของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีการสอดแนมนักข่าวหลายคน

"ภายในปีหน้าในขณะที่โอบามาพยายามประกาศชัยชนะต่อสิ่งที่เขากระทำไว้ เขาจะอ้างถึงชัยชนะทางด้านนโยบายการต่างประเทศอย่างการทำข้อตกลงกับอิหร่านและการเชื่อมความสัมพันธ์กับคิวบา และจะพูดถึงนโยบายที่ประสบความสำเร็จภายในประเทศเช่น 'กฎหมายประกันสุขภาพในราคาที่คนเข้าถึงได้' (Affordable Care Act)" เฟฟเฟอร์ระบุในบทความ

แต่เฟฟเฟอร์ก็ระบุต่อไปว่าสิ่งที่เป็นปัญหาซ่อนอยู่ใต้พรมคือเรื่องกลุ่มลัทธิความมั่นคงที่แสดงความชื่นชมประธานาธิบดีอยู่เงียบๆ ในแง่ที่เลวร้ายอย่างการปกป้องการทำลายล้างอย่างไร้ขื่อแป และลัทธินี้ก็มีอำนาจมากขึ้นภายใต้รัฐบาลของเขา

 

เรียบเรียงจาก

Mouth Wide Shut, John Feffer, FPIF, 07-10-2015
http://fpif.org/mouth-wide-shut/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท