รายงานของสหประชาชาติย้ำว่าการเข้ารหัสข้อมูลดิจิทัลสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน

ในรายงานล่าสุดของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ ระบุว่า ความปลอดภัยดิจิทัลและความเป็นส่วนตัวออนไลน์ เป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทั่วโลก และหากหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐอเมริกาคิดจะดำเนินมาตรการดักจับข้อมูลดิจิทัลที่เข้ารหัส ก็จะทำให้ประเทศที่มีประวัติสิทธิมนุษยชนย่ำแย่เอาเป็นตัวอย่าง

ที่มาของภาพประกอบ: "System Lock", Yuri Samoilov, 2014, Flickr.com (CC 2.0)  

วอชิงตันโพสต์ รายงานว่า ในรายงานฉบับใหม่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่า ความปลอดภัยดิจิทัลและความเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทั่วโลก และเตือนว่าความพยายามในบางประเทศที่ทำให้กลไกรักษาความปลอดภัยอ่อนแอ อาจส่งผลกระทบต่อทุกๆ ที่

รายงานซึ่งจัดทำโดย เดวิด ไคย์ (David Kaye) ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ระบุว่า การเข้ารหัส (encryption) หรือกระบวนการดิจิทัลเพื่อแปลงข้อมูล ซึ่งทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ และเครื่องมือที่ช่วยปกปิดตัวตน (anonymity tools) "จะช่วยอำนวยด้านความเป็นส่วนตัว และความจำเป็นด้านความปลอดภัย ในการแสดงออกซึ่งสิทธิของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในยุคดิจิทัล" สำหรับรายงานดังกล่าวจะถูกนำเสนอในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนหน้า

วอชิงตันโพสต์ ระบุว่า รายงานฉบับดังกล่าวถูกเผยแพร่ในช่วงที่มีการอภิปรายในสหรัฐอเมริกาว่าอะไรคือความสมดุลที่ดีที่สุดระหว่างสิทธิส่วนบุคคลส่วนตัวและความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้นับตั้งแต่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) ผู้ทำงานตามสัญญาจ้างของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้เปิดโปงโครงการสอดแนมออนไลน์ของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NSA (National Security Agency) ได้ทำให้บริษัทด้านเทคโนโลยีต่างๆ เพิ่มการเข้ารหัสข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทมากขึ้น

และในขณะนี้ เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายในสหรัฐอเมริกากำลังผลักดันให้บริษัทด้านเทคโนโลยีสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ประตูหลัง" (backdoors) เพื่อให้รัฐบาลสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ถูกป้องกันการเข้าถึงข้อมูลได้

ผู้อำนวยการหน่วยสืบสวนสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกา (FBI) เจมส์ โคเมย์ (James Comey) และผู้อำนวยการ NSA พล.ร.อ.ไมเคิล โรเจอร์ส (Michael Rogers) กล่าวว่า การเติบโตของการเข้ารหัสข้อมูล ทำให้การติดตามผู้กระทำผิดกฎหมายยากขึ้น และยังโน้มน้าวด้วยว่ารัฐบาลควรเสนอให้บริษัทเหล่านี้สร้างเส้นทางเพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่เข้ารหัสเหล่านี้

โดยในช่วงต้นปีนี้ โรเจอร์ส ได้เสนอแนวคิดที่ว่า บริษัทต่างๆ ควรแบ่ง "กุญแจดิจิทัล" เพื่อใช้สำหรับถอดรหัสข้อมูลออกเป็นหลายๆ ส่วน เพื่อไม่ให้มีใครหรือหน่วยงานใดฝ่ายเดียวสามารถใช้ข้อมูลนี้ได้ ข้อเสนอนี้เป็นความพยายามหนึ่งที่จะเอาชนะเหนือผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยดิจิทัล ซึ่งตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวคิด "ประตูหลัง" ว่าจะถูกใช้ในเรื่องความมั่นคง

ในรายงานของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งมีข้อเสนอคัดค้าน "ประตูหลัง" ระบุว่า "รัฐ (ต่างๆ) ควรหลีกเลี่ยงมาตรการที่จะทำให้มาตรการด้านความปลอดภัยที่ปัจเจกบุคคลต้องใช้งานออนไลน์ต้องอ่อนแอลง, อย่างเช่น "ประตูหลัง", มาตรฐานการเข้ารหัสที่หละหลวม และระบบฝากกุญแจสำหรับเข้ารหัสข้อมูล (key escrows)"

ในการให้สัมภาษณ์กับวอชิงตันโพสต์ เดวิด ไคย์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาของมาตรการเช่นว่านี้คือพวกเขาต้องการเติมสิ่งที่เป็นความเปราะบางไม่มั่นคงเข้าสู่ระบบความปลอดภัย "ผลของมันคือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับทุกคน แม้แต่กับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายอาญา"

การถกเถียงสาธารณะในสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เน้นไปที่เรื่องก่อการร้ายและอาชญากรรม แต่ไม่ได้พิจารณาถึงความจำเป็นของการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อปกป้องสื่อมวลชน นักกิจกรรม และประชาชนทั่วไปในโลก เดวิด ไคย์ ระบุ

"มีผู้คนนับล้านในโลกที่จำเป็นต้องพึ่งพา การเข้ารหัสข้อมูล หรือ การท่องอินเทอร์เน็ตแบบไม่ระบุตัวตัวอย่าง Tor เพื่อเป็นหลักประกันให้มากที่สุดเท่าที่พวกเขาสามารถเพื่อต่อต้านการถูกเปิดเผยข้อมูลการติดต่อสื่อสารของพวกเขา หรือถูกดักฟังข้อมูล" เขากล่าว

เดวิด ไคย์ระบุด้วยว่า ถ้าสหรัฐอเมริกายังดำเนินนโยบายตามนี้เพื่อใช้ "ประตูหลัง" สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ประเทศอื่นๆ ซึ่งมีประวัติด้านสิทธิมนุษยชนย่ำแย่ ดำเนินไปในวิธีการที่ใกล้เคียงกันนี้ "เป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อประเทศที่ประชาธิปไตยมีเสถียรภาพกระทำในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชน ประเทศอื่นๆ ในโลกซึ่งไม่ได้อยู่ในค่ายประชาธิปไตยก็จะถือเอาเป็นตัวอย่างว่าสิ่งนี้สามารถทำได้"

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก U.N. report: Encryption is important to human rights — and backdoors undermine it, The Washington Post, Andrea Peterson May 28 at 7:00 AM

อ่านรายงานฉบับดังกล่าวได้ที่ A/HRC/29/32, Report of the Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression, David Kaye

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท