Skip to main content
sharethis

กกจ.เตือนแรงงานไทยระวังการนำยาเข้าไต้หวัน

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้มีแรงงานไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชรเดินทาง ไปทำงานในโรงหล่อโลหะในบริษัท Shin Yin Precision Casting Co,Ltd ตั้งอยู่ที่เมืองชิงสุ่ย นครไทจง ประเทศไต้หวัน ถูกออกหมายเรียกให้ไปขึ้นศาลเพื่อให้ปากคำ เนื่องจากตรวจสอบพบว่าญาติได้ส่งยาที่มีส่วนผสมของตัวยาฟินิลโปรปาโลนามี หรือพีพีเอ ซึ่งมักพบในยาแก้ไข้หรือยาแก้ปวดมาให้ทางไปรษณีย์ ซึ่งยาดังกล่าวถือเป็นตัวยาที่ห้ามนำเข้าประเทศไต้หวันโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นยาต้องห้ามที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ของไต้หวัน ทั้งนี้ จากการสอบข้อเท็จจริงของฝ่ายตรวจสอบ ทราบว่าคนงานนั้นมีโรคประจำตัว คือโรคลมชักต้องทานยาจากโรงพยาบาลที่กำแพงเพชรออกให้เป็นประจำทุกวัน แต่ยาที่นำติดตัวมาใกล้หมด จึงให้ญาติส่งมาให้ที่ไต้หวัน โดยไม่ทราบว่ายาที่ส่งมามีส่วนผสมอะไรบ้าง ดังนั้น จึงไม่มีเจตนากระทำความผิด แต่เนื่องจากยาดังกล่าวมีส่วนผสมของสารเสพติด ฝ่ายตรวจสอบจึงได้ส่งเรื่องให้อัยการดำเนินคดีตามกฎหมายไต้หวันต่อไป

"ที่ผ่านมามีแรงงานไทยที่เดินทางเข้าไปทำงานในประเทศไต้หวันถูกดำเนิน คดี กรณีการนำยาเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตหลายราย จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมของไต้หวัน พบว่าทางการไต้หวันประสบปัญหากรณีที่มีญาติแรงงานต่างชาติส่งยามาให้ญาติของ ที่ทำงานอยู่ในไต้หวันแล้วถูกดำเนินคดี ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากการนำเข้ายามาในไต้หวันโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งแรงงานไทยมีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่าร้อยละ 50" นายประวิทย์กล่าว และว่า ขอเตือนให้แรงงานไทยระมัดระวังเรื่องการนำยารักษาโรคติดตัวเข้าไต้หวัน เนื่องจากทางการไต้หวันห้ามนำยาทุกชนิดเข้าประเทศ หากมีความจำเป็น ขอให้นำหนังสือรับรองแพทย์ฉบับภาษาอังกฤษไปด้วย เพื่อใช้เป็นหลักฐานและข้อมูลเบื้องต้นในการตรวจโรคที่ไต้หวัน

นายประวิทย์กล่าวต่อว่า แรงงานต่างชาติทุกคนที่ไปทำงานในไต้หวัน หากเจ็บป่วยจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายประกันสุขภาพ สามารถได้รับการตรวจรักษาได้อย่างถูกต้อง จึงไม่ควรหาซื้อยากินเองหรือให้ญาติส่งยา มาให้เพราะอาจเป็นสาเหตุของการกระทำผิดกฎหมายของไต้หวัน ทั้งนี้ แรงงานสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา ส่วนที่ 2 ไทเป เบอร์โทร.02-2701-1413 หรือสอบถามมาที่สายด่วน กรมการจัดหางาน โทร.1694

(มติชนออนไลน์, 17-12-2556)

"กล้ามเนื้ออ่อนล้า" โรคฮิตพนักงานออฟฟิศ

โรงพยาบาลนครธน ร่วมกับ บริษัท อังกฤษตรางู (แอล.พี.) จำกัด จัดให้ความรู้ "ห่างไกลกล้ามเนื้อปวดล้าจาก WMSDs เพื่อสุขภาพที่ดีของหนุ่มสาวออฟฟิศ"

โดยมี นพ.ภรชัย อังสุโวทัย รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และศัลยแพทย์ผู้เชี่ยว ชาญกระดูกและข้อ ร.พ.นครธน อธิบายว่า WMSD ซึ่งเป็นคำย่อของ Work-Related Musculoskeletal Disorders คือ อาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างของกระดูก ได้แก่ เส้นเอ็น ข้อต่อ หมอนรองกระดูกสันหลัง และเส้นประสาท ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ซึ่งอาการบาดเจ็บมีตั้งแต่น้อยไปจนถึงมาก แต่ยกเว้นอุบัติเหตุต่างๆ ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างเฉียบพลัน เช่น พลัดตกหกล้ม ลื่น ข้อเท้าพลิก หรืออุบัติเหตุอื่นๆ

อาการ WMSDs มักเกิดกับผู้ที่ทำงานในท่าเดิมๆ ซ้ำๆ อยู่เป็นประจำ หรืออาจใช้ท่าที่ไม่เหมาะสมกับการทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการปวดทั้งในระหว่าง หรือหลังทำงาน เช่น นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องโดยไม่เปลี่ยนท่า

สิ่งแวดล้อมก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคด้วย เช่น การทำงานในสถานที่คับแคบ ด้านจิตใจ เช่น ความเครียดจากการทำงาน สารบางอย่างที่หลั่งในสมอง จะส่งสัญญาณมาที่กล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว เกร็งตัว เกิดอาการเจ็บขึ้นได้

จากการสำรวจพบว่า โรคนี้เป็นต้นเหตุ ให้สูญเสียเวลาในการทำงานถึงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละ 15-20 พันล้านเหรียญสหรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกา พบว่า 34 เปอร์เซ็นต์ สูญเสียเวลาทำงานเพราะโรคนี้ ในต่างประเทศจึงจัดตั้งเป็นองค์กรดูแลสวัสดิภาพพนักงาน พบว่าช่วยลดตัวเลขของคนป่วยลงได้อย่างมาก

แต่ประเทศไทยมองไม่เห็นความสำคัญในการรณรงค์ป้องกันเหมือนในต่างประเทศ ที่เป็นอยู่ คือ การแก้ปัญหาตามหลัง เมื่อเกิดอาการแล้ว

ทั้งนี้ อยากฝากถึง 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.เจ้าของธุรกิจควรหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพบุคลากร โดยดูแลเครื่องใช้สำนักงานให้ถูกสุขลักษณะ มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่ง เพื่อลดการทำงานซ้ำๆ เป็นต้น

2.รัฐบาลควรกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพบุคลากร หรือออกมาตรการจูงใจต่างๆ 3.พนักงานและบุคคลทั่วไป ควรใส่ใจการปรับท่ายืน เดิน นั่ง ให้ถูกต้อง เลือกใช้อุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงในการทำงานต่างๆ และดูแลสุขภาพ ระวังอย่าให้เครียดมากเกินไป มิฉะนั้นปัญหาของโรค WMSDs ก็จะยังคงอยู่เหมือนเดิม

การรักษาอาการสามารถใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของยาในกลุ่มต้านการอักเสบชนิด ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หากปวดมากสามารถใช้ยาทาควบคู่กับยาชนิดรับประทานได้ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเกิดเป็นโรคเรื้อรังตามมาได้ เช่น เส้นเอ็นยึดกระดูกอักเสบ ปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ การบวมอักเสบของข้อต่อที่หัวไหล่ และพังผืดทับเส้นประสาทข้อมือ ทำให้เกิดอาการมือชา

โดยหากกายภาพบำบัดเป็นเวลานาน แล้วยังไม่หาย อาจต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

(ข่าวสด, 17-12-2556)

คนงานบริดจสโตนเกือบพันร้องขอโบนัส 5 เดือน

คนงานโรงงานผลิตยางรถยนต์ บริดจสโตน รายใหญ่ของประเทศ ได้นัดหยุดงานกัน 2 โรงงาน โดยคนงานจากโรงงาน อ.หนองแค จ.สระบุรี ได้มารวมตัวกันที่โรงงานบริดจสโตน ปทุมธานี ถนนพหลโยธินขาเข้ารังสิต ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ประมาณเกือบหนึ่งพันคน โดยได้รวมตัวกันเรียกร้องเงินโบนัสจำนวน 5 เดือน

ทางด้าน นายบุญเลิศ คาบุตรดี ประธานสหภาพแรงงานไทยบริดจสโตน ปทุมธานี และ นายมารถสถาน ประคอง ประธานสหภาพแรงงานไทยบริดจสโตน โรงงานหนองแค สระบุรี ได้เรียกร้องกับผู้บริหารโรงงานตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา และทางผู้บริหารบริษัท นำโดย นายชินอิจิ ซาโตะ กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยบริดจสโตน จำกัด ได้เสนอจ่ายโบนัสให้ 3 เดือน บวกเงินพิเศษเพิ่มให้อีก 5,000 บาท แต่ทางสหภาพแรงงานไม่ยอมรับ โดยมีทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี เข้ามาร่วมเจรจาด้วย

แต่ยังไม่เป็นที่ตกลงกันโดยคนงานยืนยันขอโบนัสจำนวน 5 เดือน เนื่องจากในรอบปีที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรเป็นพันล้าน แต่จ่ายโบนัสแค่ 3 เดือน คนงานจึงไม่ยอมและขอเรียกร้องต่อไป มี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คลองหลวง
มาอำนวยความสะดวกการจราจรถนนพหลโยธิน ขาเข้ารังสิต เนื่องจากมีรถพนักงานจอดเต็มถนน

(ไอเอ็นเอ็น, 18-12-2556)

ติงระบบแนะแนว ร.ร.ไทยไร้คุณภาพไม่สนองตลาดแรงงาน

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวในการประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 6 ว่า ที่ผ่านมาได้พยายามทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กชายขอบที่มักจะหวัง ให้ลูกเรียนสูงๆ เพื่อมีงานทำ ทั้งที่ข้อเท็จจริงโอกาสของเด็กชายขอบ จะน้อยกว่าเด็กในเมืองทั้งการศึกษาต่อระดับสูง รวมถึงการมีงานทำ ซึ่งสร้างภาระให้กับครอบครัว ทั้งยังเป็นความสูญเปล่าค่อนข้างสูง เพราะการเรียนในระบบถึง 16 ปี ไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง แต่การเรียนวิชาการพื้นฐานควบคู่กับการเรียนวิชาชีพ และสามารถเรียนควบคู่ไปกับการทำงาน สามารถตอบสนองความต้องการตลาดแรงงานได้ดีกว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือวุฒิภาวะ ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในสถานประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์การศึกษาด้านอาชีพของไทยไม่ค่อยดีนัก ผู้ปกครองมักมองว่าเป็นระบบที่รองรับคนที่ตกจากสายวิชาการ ทั้งที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพัฒนาความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพควบคู่กัน ทั้งนี้ ผู้บริหารสถานศึกษา สมาคมครูผู้ปกครองและครูแนะแนวมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจกับการ ศึกษาด้านวิชาชีพ

นางซาโตโกะ ยาโนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ยูเนสโก ประเทศไทย กล่าวว่า จากการศึกษาระบบแนะแนวในหลายประเทศพบว่า ครูแนะแนวไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ และตามทันการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเทคโนโลยี และตลาดแรงงาน ครูแนะแนวถูกแยกการทำงานตามลำพังโดยไม่บูรณาการกับครูวิชาการ และยังมีปัญหาด้านคุณภาพและปริมาณ และไม่มีการเชื่อมโยงกับระบบการจัดหางานโดยภาครัฐ และนายจ้าง อย่างไรก็ตาม มาตรการระบบแนะแนวการศึกษาเพื่อการอาชีพนั้นควรจะมีกฎระเบียบ รองรับที่จะให้สถานศึกษาเตรียมความพร้อม และจัดการแนะแนวด้านอาชีพ มีนโยบายจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างเหมาะสม และมีการบริหารและจัดการข้อมูลเป็นระบบ

นางวิภา เกตุเทพา ครูแนวแนวโรงเรียนสตรีวิทยา 2 และประธานครูแนะแนวกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์ครูแนะแนวปัจจุบัน พบว่าทุกโรงเรียนมีครูแนะแนวอย่างน้อย 1 คน โดยมีทั้งมีวุฒิและไม่มีวุฒิทางการแนะแนว บางโรงเรียนให้ครูประจำชั้น หรือวิชาอื่นๆ ทำหน้าที่แนะแนว ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขาดครูแนะแนว เกิดจากความเชื่อที่ไม่ถูกต้องท่่ีว่าครู ทุกคนคือครูแนะแนว ทั้งที่สิ่งที่ถูกคือครูทุกคนทำหน้าที่แนะแนวได้ แต่ไม่ใช่ครูแนะแนว

"การบรรจุครูแนะแนวร่อยหรอ เพราะมักจะถูกโอนอัตราไปให้ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์แทน เพราะต้องการเน้นคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต รวมทั้งไม่มีมาตรฐานการกำหนดสัดส่วนครูแนะแนวต่อนักเรียน สถาบันผลิตครูแนะแนวเลิกผลิต หรือผลิตน้อยลง เพราะไม่มีงานรองรับ"

ทั้งนี้ การปฏิรูปการบริหารจัดการแนะแนว อยากเสนอให้กำหนดให้มีหน่วยงานแนะแนว ทุกโรงเรียน กำหนดสัดส่วนครูแนะแนวต่อนักเรียน น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ต่อ 500 คน กำหนดมาตรฐานการแนะแนว  เร่งพัฒนาคุณภาพครูแนะแนวที่มีอยู่แล้ว ประสานสถาบันอุดมศึกษาผลิตครูแนะแนวแนวใหม่ที่มีคุณภาพ และเร่งพัฒนาเครื่องมือมาตรฐาน สื่อนวัตกรรมทางการแนะแนวที่ทันสมัย.

(ไทยรัฐ, 18-12-2556)

บอร์ดค่าจ้างยืนราคาค่าแรงขั้นต่ำ 300 ยาวถึงปี 58 เคาะค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 13 อาชีพ

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวว่าบอร์ดฯได้อนุมัติอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานใน 5 กลุ่มสาขา 13 อาชีพตามที่คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานซึ่งประกอบด้วย 1.กลุ่มช่างอุตสาหการ ได้แก่ ช่างเชื่อมท่อพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง ระดับ 1 มีอัตราค่าจ้างวันละ 460 บาท ช่างประกอบท่อ ระดับ 1 วันละ 400 บาท ช่างทำแม่พิมพ์ฉีดโลหะ ระดับ 1 วันละ 480 บาท 2.กลุ่มช่างอุตสาหกรรมศิลป์คือ ช่างสีเครื่องเรือน ระดับ 1 วันละ 350 บาท ระดับ 2 วันละ 450 บาท

3.กลุ่มช่างก่อสร้างได้แก่ ช่างหินขัดระดับ 1 วันละ 400 บาท ช่างฉาบยิปซัม ระดับ 1 วันละ 400 บาท ช่างมุงหลังค่ากระเบื้อง จำนวน 3 ระดับ คือ ระดับ 1 วันละ 400 บาท ระดับ 2 วันละ 510 บาท และระดับ 3 วันละ 620 บาท 4.กลุ่มช่างเครื่องกลได้แก่ ช่างบำรุงรักษารถยนต์ 2 ระดับ คือ ระดับ 1 วันละ 340 บาท และระดับที่ 2 วันละ 400 บาท ช่างซ่อมรถยนต์ดีเซล และช่างปรับอากาศรถยนต์ขนาดเล็กมีอัตราค่าจ้าง 3 ระดับ ในอัตราที่เท่ากันคือ ระดับ 1 วันละ 360 บาท ระดับ 2 วันละ 445 บาท และระดับ ที่ 3 วันละ 530 บาท

5.กลุ่มภาคบริการคือ นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก (สุคนธบำบัด) จำนวน 2 ระดับ คือ ระดับ 1 วันละ 540 บาท ระดับ 2 วันละ 715 บาท นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก (วารีบำบัด) จำนวน 2 ระดับ คือ ระดับ 1 วันละ 565 บาท ระดับ 2 วันละ 750 บาท และ นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก (โภชนบำบัด) จำนวน 2 ระดับ คือ ระดับ 1 วันละ 615 บาท ระดับ 2 วันละ 815 บาท

“กระทรวงแรงงานจะเร่งจัดทำร่างประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ใน 5 กลุ่มสาขา 13 อาชีพ เสนอต่อรมว.แรงงานคนใหม่เพื่อพิจารณานำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อขอความ เห็นชอบ คาดว่าน่าจะประกาศใช้ได้ไม่เกินเดือนมี.ค.2557 เชื่อว่าค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานจะช่วยส่งเสริมให้แรงงานช่างฝีมือต้อง การที่จะพัฒนาทักษะฝีมือให้ดีขึ้นเพื่อให้มีรายได้สูงขึ้นตามมาตรฐานฝีมือ และนายจ้างจะได้แรงงานที่มีฝีมือดีและผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย” นายจีรศักดิ์ กล่าว

ประธานบอร์ดค่าจ้าง กล่าวต่อไปว่า สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทนั้น บอร์ดค่าจ้างยืนยันมติบอร์ดค่าจ้างเดิมเมื่อเดือนต.ค.ปี 2554 ที่จะให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้วันละ 300 บาทไปจนถึงปีพ.ศ.2558 ยกเว้นหากภาวะเศรษฐกิจผันผวนที่กระทบต่อการครองชีพของผู้ใช้แรงงาน อาจจะมีการเสนอให้พิจารณาทบทวนและปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ได้ติดตามภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบจากการปรับขึ้นค่า จ้างอย่างสม่ำเสมอ

 (MThai news, 20-12-2556)

สปส.เตือนนายจ้าง เร่งจ่าย "เงินสมทบ"

นางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สปส.ได้ส่งใบประเมินเงินสมทบประจำปี 2557 พร้อมกับแบบแสดงค่าจ้างปี 2556 ให้แก่นายจ้างทั่วประเทศแล้ว ซึ่งตามปกติ สปส.จะมีการเก็บเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องชำระเงินสมทบดังกล่าวภายในวันที่ 31 มกราคม 2557 พร้อมกับต้องรายงานค่าจ้างที่จ่ายจริงของปี 2556 ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2557

นางอำมรกล่าวว่า หากจำนวนเงินค่าจ้างรวมกันทั้งปีต่ำกว่าที่ สปส.ประเมินไว้ สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจะคืนเงินสมทบส่วนที่เก็บมาเกินให้แก่นายจ้าง ภายหลังจากการเนินการตรวจสอบเอกสารหลักฐานว่ามีความถูกต้อง แต่หากค่าจ้างที่จ่ายจริงของปีที่ผ่านมา สูงกว่าค่าจ้างที่ สปส.ได้ประเมินไว้ นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมภายในวันที่ 31 มีนาคม จึงขอเตือนนายจ้างอย่าลืมการรายงานค่าจ้างของปี 2556 ภายในระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากถ้าไม่รายงานค่าจ้าง แล้วพบว่าต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น นายจ้างจะต้องเสียค่าปรับตามกฎหมายร้อยละ 3 ต่อเดือน

(ประชาชาติธุรกิจ, 20-12-2556)

ปลัด ก.แรงงาน เผยนโยบายปีหน้าเน้นอุ้มคนไทยทุกกลุ่มมีงานทำ พัฒนาฝีมือแรงงานรับเอซี

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า นโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินงานของกระทรวงแรงงานในปี พ.ศ. 2557 จะส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ส่งเสริมการจ้างงานในทุกกลุ่ม เช่น นักเรียน นักศึกษาที่จบการศึกษา ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และมีการอบรมวิชาชีพและพัฒนาทักษะฝีมือ รวมทั้งจัดบริการแนะแนวอาชีพที่เหมาะสมแก่เยาวชนเพื่อให้เลือกเรียนและทำงาน ในสายอาชีพที่ตนเองถนัด และยกระดับฝีมือแรงงานไทยให้มีมาตรฐานฝีมือเป็นหนึ่งในอาเซียนเพื่อให้แรง งานมีรายได้ตามทักษะฝีมือ เพิ่มผลผลิตและเตรียมพร้อมรับประชาคมอาเซียน (เอซี) และการกำหนดมาตรฐานและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน จะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานโดยให้ภาคธุรกิจและสมาคมวิชาชีพต่างๆ เข้ามาร่วม ซึ่งล่าสุดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเพิ่ม เติมขึ้นมาใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม 44 สาขาอาชีพ เช่น กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อัญมณี เหล็ก ซึ่งมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาตินี้จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์คัดกรองแรงงานฝีมือ ต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในไทยหลังเปิดเอซี
      
นายจีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานยังมุ่งส่งเสริมให้แรงงานไทยทั้งในระบบและนอกระบบกว่า 30 ล้านคน ได้รับการคุ้มครองและมีหลักประกันชีวิตที่มั่นคงโดยขยายระบบประกันสังคม มาตรา 40 ไปสู่แรงงานนอกระบบทั่วประเทศเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในกรณีประสบ อันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ ซึ่งในเรื่องของสิทธิประโยชน์ของเงินชราภาพที่มีเงื่อนไขว่า ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีและเกษียณจากการทำงาน พ้นความเป็นผู้ประกันตนและส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือนหรือ 15 ปี จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จ แต่หากส่งเงินสมทบครบ 15 ปี จะได้เป็นเงินบำนาญนั้น โดยส่วนตัวมองว่าในอนาคตน่าจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 15 ปี มีสิทธิเลือกได้ว่าจะรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ สปส.จะจ่ายเงินบำนาญชราภาพในปี 2557 เป็นปีแรกก็ได้ส่งแบบสำรวจความเห็นผู้ประกันตนว่าอยากจะรับเงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญ ซึ่งคาดว่าสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะสรุปผลสำรวจนี้ได้ในช่วงเดือน มี.ค.

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-12-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net