Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


เกริ่นนำ

“ความรุนแรงเชิงนามธรรม” (Abstract Violence) เป็นคำที่ใช้สรุปรวมความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural violence) และ ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (Cultural violence) ซึ่งความรุนแรงข้างต้นเป็นผลมาจากกระบวนการผลิตความอยุติธรรม (Injustice) ที่ปวงชนกระทำต่อปวงชนด้วยกันอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ระบบอุปโลกน์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครอง ระบอบเศรษฐกิจ หรือตำแหน่งแห่งที่ทางภูมิศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ความไม่เท่าเทียมจากความรุนแรงเชิงนามธรรมถูกปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่มีการยับยั้งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม สิ่งที่จะตามมาเสมอ “ความรุนแรงเชิงกายภาพ” (Direct violence) ภายใต้เหตุและแรงจูงใจที่เพียงพอ ประเด็นคือ “ทุกคน” มีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน (Shared responsibility) ในฐานะที่เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่มองไม่เห็น ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญกว่าความรุนแรงเชิงกายภาพมาโดยตลอด และการโยนความผิดให้ทรราชหรือคนที่มีความผิดตามกฎหมายอยู่แล้วเป็นเพียงกลไกทางจิตวิทยา (defense mechanism) ที่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา

เนื้อหา

1. เกี่ยวกับคำว่า “ความเท่าเทียม”


ความสับสนตรงนี้ทำให้เกิดความคิดที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลหลายลักษณะ เพราะเมื่อเรากำลังพูดถึง “ความเท่าเทียม” หลายคนเข้าใจเป็นภาพพจน์ทางอุดมคติอย่างความเท่าเทียมกันเชิงคณิตศาสตร์ (Mathematical equality) เช่น เราพูดว่าทุกคนจะต้องได้รับค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียมกันทุกคน นั่นหมายถึง เรานำรายได้ในระบบทั้งหมดมารวมกันและหารด้วยจำนวนคนซึ่งจะทำการแจกจ่ายลงไปในระดับเศษสตางค์ แต่ถ้าเรากำลังหมายถึง “ความเท่าเทียมกันเชิงสัดส่วน” (Proportional equality) นั่นจะมี “เงื่อนไข” (Condition) ที่จะตัดสินเบื้องต้นได้ว่า ใครควรจะได้อะไร และนี่คือที่มาของความอยุติธรรม เช่น การตั้งเพดานค่าบำรุงค่ารักษาพยาบาลในอัตราที่สูงเกินภาระรายจ่ายตามจริงของสถานพยาบาลย่อมเป็นเงื่อนไขให้มีเพียงบางคนเท่านั้น (For some) ที่จะมีกำลังซื้อมากพอจนสามารถเข้ารับบริการได้ ตัวอย่างนี้จะเห็นว่า “เงิน” เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ และถ้ากล่าวต่อไปจะพบว่า คนที่ไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข คือ มีกำลังซื้อไม่พอ ย่อมไม่มีสิทธิโดยปริยายที่จะเข้ารับการรักษาพยาบาล สิ่งที่น่าสังเกตคือ คนที่มีกำลังซื้อมักเพิกเฉยต่อความอยุติธรรม เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับตนเอง บ่อยครั้งคนเหล่านี้เป็นผู้ร่วมสร้างเงื่อนไขเสียเองและกอบโกยหาผลประโยชน์อาศัยช่องว่างทางสังคม ลักษณาการดังกล่าวก่อรูปไปเป็นแนวความคิดที่ว่า “เมื่อฉันจ่ายภาษีฉันต้องได้ในส่วนของฉัน ใครที่ไม่จ่ายภาษีหรือจ่ายภาษีน้อยกว่าฉันจะไม่มีสิทธิได้เท่าฉัน” ดูเผินๆ เป็นประโยคที่ชอบด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความเท่าเทียม แต่เมื่อนำไปใช้จริงจะทำให้เกิดข้อสงสัยด้านมนุษยธรรม


2. ชนชั้นกลางผู้กลายเป็นปัจเจกนิยม (Individualism)

การหล่อหลอมทางสังคมด้วยระบบการศึกษาที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่ศตวรรณที่ 17-18 ส่งเสริมให้ “ปัจเจกบุคคล” มีภาวะ (Ontology) ที่แปลกแยกออกจากผู้อื่นมากขึ้นเรื่อยๆ และความเป็นปัจเจกบุคคลที่มีอิสระ (Autonomy) อาจมากเสียจนปัจเจกบุคคลนั้นกล้าที่จะปฏิเสธความเชื่อมโยงที่ตนมีต่อสังคมในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในสังคมได้ ทำให้โลกทัศน์คับแคบและเป็นเพียงโลกส่วนตัวที่เต็มไปด้วยความหมกมุ่นเฉพาะทางวิชาชีพ ความเป็นไปทางจิตวิทยาสังคมเช่นนี้อาจ “ลดทอน” (Reduce) ความรุนแรงเชิงนามธรรมให้กลายเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งที่ปัจเจกบุคคลจะเลือกสนใจก็ได้หรือไม่ก็ได้ เป็นต้น ความคิดที่ว่า “คนจนเอาเงินเข้าฟาดหัวก็ยอมทั้งนั้น เป็นคนไม่คุณค่า” นั่นเป็นวิธีคิดซึ่งลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยถือเอาเองว่า “คนจน” เป็นชนชั้นที่หิวกระหายเงินตามธรรมชาติโดยไม่มองว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้างอะไรที่นำพาให้บรรดาคนจนเป็นเช่นนั้น? ที่สำคัญการยอมรับว่าคนจนเป็นเช่นนั้นจริงๆ ยังเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่จะสะท้อนให้เห็นผ่านวิธีคิดวิธีปฏิบัติต่อคนจนอีกชั้นหนึ่งในฐานะผู้ต่ำต้อย

ดังนั้นไม่แปลกถ้าปัจเจกบุคคลจะรู้สึกเรียบเฉยต่อชีวิตคนจนที่สูญเสียไป นั่นคือ ปัจเจกบุคคลจะมีอารมณ์ร่วมกับสมาชิกในสังคมที่ควรค่าต่อการมีความรู้สึกร่วม คือผู้ที่สูงส่งกว่าหรือผู้เท่าเทียมกับตนเองเท่านั้น กล่าวได้ว่า “ความตาย” (Death) ของชนชั้นล่างไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนพวกนี้ เพราะความหมกมุ่นส่วนตัวจะมีมากกว่า และทุกสิ่งที่จะถูกลากเข้าความให้สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังหมกมุ่นอยู่เสมออาศัยกลไกทางจิตวิทยา นั่นเป็นเหตุผลที่ “ความตาย” ไม่มีแรงกระตุ้นมากพอให้ชนชั้นกลางลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อปกป้องและสร้างความเท่าเทียมให้กับชนชั้นล่าง เพราะ ความตายหรือการกดขี่อันเป็นความรุนแรงเชิงนามธรรมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ตราบที่ไม่เกิดขึ้นกับตนเอง และคนตายก็เป็นเพียงคนโง่ นั่นคือ ถูกเขาหลอกใช้ ซึ่งไม่ได้มีคุณค่าต่อระบบ

เรื่อง “โง่ จน เจ็บ” จะเงียบหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์เสมอ ในฐานที่คนพวกนี้เป็นคนไร้ตัวตนไร้โอกาส(Subaltern) แต่ในอดีตเคยมีกรณีของชาวยิวที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาได้อย่าง Jean Améry ที่ฝากข้อความถึงปัจเจกบุคคลร่วมสมัยกับเขาว่า “เขาปฏิเสธที่จะให้อภัย (Refusal to Forgive) ปัจเจกบุคคลเพิกเฉยและปล่อยให้เผ่าพันธุ์ของเขาต้องเผชิญหน้ากับชะตากรรมอันเลวร้ายจากท่านผู้นำอย่างโดดเดี่ยว” นั่นหมายถึง ชาวเยอรมันผู้ร่วมพงศ์พันธุ์เดียวกับท่านผู้นำการกวาดล้างชาวยิวอย่างฮิตเลอร์มัวทำอะไรอยู่เมื่อเกิดเหตุการณ์นั้น และมักเป็นเช่นนี้เสมอที่ปัจเจกบุคคลพร้อมจะหลับตาทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นความตายของเพื่อนมนุษย์ ด้วยอ้างว่าอุดมการณ์สำคัญกว่า

ในทางปฏิบัติ “ความอยุติธรรม” (Injustice) ที่เกิดขึ้นเป็นความรุนแรงเชิงนามธรรมที่ไม่อาจหาผู้รับผิดได้ จริงอยู่ที่จำเลยหลักต้องเป็นคนต้นคิดและจำเลยต่อๆไปคือผู้สมรู้ร่วมคิดแต่บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินไปในการหาคนต้นคิดและมอบความผิดให้กับเขา ที่น่าสนใจ คือ ปัจเจกบุคคลที่เพิกเฉยทั้งที่รู้ว่าจะต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้สมควรที่จะแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ นักวิชาการอย่าง Iris M.Young ให้แนวคิดว่า “ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นต้องมากกว่าเรื่องของคนใดคนหนึ่งและมันจะถูกลดทอนเป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เมื่อความอยุติธรรมเกิดขึ้นเหมือนทุกคนจะไม่มีความผิด เพราะทุกคนก็ทำตามกฎกันทั้งนั้น แต่ความอยุติธรรมก็ยังเกิดขึ้นและไม่อาจหาคนรับผิดได้” จึงเป็นที่มาของแนวคิด “การรับผิดชอบร่วมกัน” (Shared responsibility) เพื่อปฏิรูปสถาบันทางสังคมและคืนความยุติธรรมอันเป็นนามธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นให้แก่ปวงชนอย่างเท่าเทียม โดยมุ่งที่การมองหาความรุนแรงเชิงนามธรรมที่กระทำต่อสังคมอย่างเป็นโครงสร้าง เพื่อยุติความรุนแรงเชิงกายภาพที่จะเกิดตามมา

3. กลไกจิตวิทยาเพื่อการไม่ยอมรับความจริง

เบื้องลึกชนชั้นกลางเป็นปัจเจกบุคคลสมบูรณ์ที่หวาดกลัวการประณามหยามเหยียด เพราะรู้แก่ใจว่าตนกำลังเพิกเฉยต่อมนุษยธรรมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กลไกทางจิตวิทยา(Defense Mechanism) ช่วยถ่ายโอนความรู้สึกผิดนี้ออกไปเพราะยอมรับไม่ได้กับความจริงที่ว่าตนเองเกี่ยวข้องกับขบวนการที่ก่อให้เกิดความรุนแรงไม่มากก็น้อย กลไกทางจิตวิทยาไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน แต่กลไกทางจิตวิทยาบางประเภทสะท้อนรูปรอยของความไม่มีวุฒิภาวะในตน (Immature Defenses) และมักจะเกิดควบคู่กับตรรกะวิบัติ (Fallacy Logic) ดังตัวอย่างต่อไปนี้

3.1 การโทษคนอื่น (Projection) นั่นคือ การโยนความรู้สึกที่ตนเองรับไม่ได้ให้กับผู้อื่น เช่น ฉันไม่มีส่วนในความรุนแรงเชิงนามธรรมทุกกรณี นักการเมืองต่างหากที่เป็นต้นคิด, ฉันมาเคลื่อนไหวไม่ได้ต้องการให้ใครตาย แต่อีกฝ่ายต่างหากล่ะที่ต้องการให้คนตาย เพราะลึกๆแล้วปัจเจกบุคคลรู้สึกไม่มากก็น้อยว่าตนมีส่วนกับเหตุการณ์นี้ เป็นต้น เคยชื่นชอบและแสดงอาการสนับสนุนสิ่งที่นำไปสู่การก่อเหตุรุนแรง ตรรกะวิบัติที่พบคู่กันกับกลไกทางจิตวิทยานี้ คือ การโจมตีตัวบุคคล(ad Hominem) นั่นคือความพยายามจะหาที่ไปให้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ยิ่งใส่ร้ายบุคคลอื่นซ้ำๆด้วยผรุสวาท (Hate Speech) มากเท่าไร ยิ่งสบายใจเพราะเป็นหลักประกันว่าคนฟังจะเชื่อว่าความผิดอยู่ที่คนอื่นไม่ใช่ตน

3.2 การหาเหตุผลเข้าข้างตน (Rationalization) นั่นคือ ความพยายามในการหาคำอธิบายให้กับความรู้สึกที่ตนเองรับไม่ได้หรือไม่อาจยอมรับ ซึ่งเหตุผลที่กลุ่มไม่มีวุฒิภาวะในตน ใช้จะเป็นเหตุผลวิบัติ เช่น ไม่แน่ใจว่าพรรคพวกของตนมีส่วนในความรุนแรงหรือไม่เพื่อทำให้ตนเองสบายใจจึงสรุปว่าไม่มี (ad Ignoratiam) และใช้กลไกทางจิตวิทยาแบบปฏิเสธ (Denial) เมื่อมีคนมาบอกให้รู้ความจริงที่ประกอบด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ถึงลึกๆ แล้วจะตรงกับที่ตนเองสงสัย แต่เลือกที่จะปฏิเสธความจริงเพราะไม่ยอมรับว่าพรรคพวกของตนเป็นเช่นนั้น

3.3 การเพิ่มและลดคุณค่า (Devaluation-Omnipotence) คือ ความพยายามที่จะลดทอนน้ำหนักของความจริงที่ไม่อาจยอมรับได้หรือเพิ่มคุณค่าบางอย่างเพื่อทำให้ความจริงไม่มีน้ำหนัก ยกตัวอย่างเช่น การอ้างว่าผู้พูดความจริงไม่มีการศึกษาซึ่งเพื่อลดคุณค่า (Devaluation) ของสารที่พูด แสดงว่าผู้ใช้กลไกทางจิตวิทยาแบบนี้รับรู้ข้อความนี้แล้วแต่ไม่อาจยอมรับได้ จึงลดคุณค่าอีกฝ่ายลงเพื่อให้รู้สึกสบายใจว่าความจริงที่ทำให้ตนอึดอัดไม่มีพลังมากพอเนื่องจากเป็นความคิดเห็นของคนที่ต่ำต้อยกว่าตน หรืออีกแง่หนึ่งคือตรรกะวิบัติแบบอ้างคนหมู่มาก (ad populum) เพื่อทำให้รู้สึกว่าความจริงนั้นไม่มีน้ำหนักเนื่องจากคนหมู่มากเชื่อแบบเดียวกันกับตน ดังนั้น ความจริงที่ได้รับมาจะไม่ยอมรับก็ยังได้

4. แล้วปัจเจกบุคคลคนชั้นกลางต้องรับผิดชอบอะไร?


เห็นได้ชัดว่าความเป็นปัจเจกนิยมครอบงำและนำให้ชนชั้นกลางหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง เช่น ส่วนได้ส่วนเสีย ผลประโยชน์ที่รู้สึกว่าหายไป ความรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ หรือกลไกทางจิตวิทยาที่จะพร้อมจะปฏิเสธความจริงที่ขัดกับโลกทัศน์ของตนเอง ซึ่ง “ความเพิกเฉย” เป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้มัดตัวชนชั้นกลางในฐานที่ต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรงเกิดขึ้น เริ่มจากความรุนแรงเชิงกายภาพ นั่นคือ “ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเนื่องจากการชุมนุม” และ “ความประสงค์ร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน” โดยฐานรากของปรากฏการณ์ทางกายภาพเกิดจากความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม นั่นคือ ค่านิยมบางอย่างถูกปลูกฝังว่าการกระทำลักษณะนี้ เมื่อทำเพื่อเจตจำนงนี้ถือเป็นสิ่งถูกต้องและควรได้รับข้อยกเว้น ในขณะที่ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องอาศัยการผลิตซ้ำที่ให้ความชอบธรรมต่อการก่อเหตุรุนแรงเชิงกายภาพซึ่งประเทศไทยยังหาคนต้นคิดและผู้สมรู้ร่วมคิดไม่ได้ ในขณะที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนี้อยู่ตลอด ดังนั้น ถ้าถือตามสัดส่วนของการได้รับโอกาส เห็นได้ชัดว่า “ชนชั้นกลาง” มีโอกาสทั้งในแง่ของการศึกษา ความเป็นอยู่ สาธารณสุข มากกว่า “ชนชั้นล่าง” ที่ด้อยโอกาสกว่าทุกอย่าง จากข้อได้เปรียบนี้ชนชั้นกลางควรที่จะ :

หยุดเล่นโวหารรังเกียจชนชั้นล่าง

มีหลายสำนวนที่เล่นโวหารรังเกียจชนชั้นล่าง ภายใต้การตั้งธง (Premise) ว่า ชนชั้นล่างไร้การศึกษาจึงไม่อาจตัดสินใจอะไรได้ด้วยตนเอง ชนชั้นล่างมีความดิบเถื่อนถ่อยเนื่องจากเป็นบุคคลที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลา ชนชั้นล่างถูกซื้อด้วยเงินได้ง่ายดายเป็นชนชั้นที่ไร้อุดมการณ์ ไร้คุณธรรม ไร้ศีลธรรมอันดี ความจริงชนชั้นล่างอาจเป็นเช่นนั้นจริงๆหรือไม่ก็ได้ ประเด็นคือ “หยุดเล่นโวหารเชิงประณาม” ถึงแม้ว่าโวหารชนิดนี้จะทำให้การปราศรัยมีสีสัน ชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาไม่ควรเห็นด้วยต่อการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนทุกรูปแบบ

ทำความเข้าใจชนชั้นล่างผู้โง่ จน เจ็บ

ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่าผู้เป็นแกนนำหรือผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการเคลื่อนไหวไม่ใช่คนโง่, จน, เจ็บ เผลอๆจะ ฉลาด, รวย และพร้อมจะเอามวลชนเป็นโล่กำบังตัว อย่างไรก็ตาม ชนชั้นล่างผู้โง่ จน เจ็บ มีอยู่จริงหลายต่อหลายคนยากจนเกินกว่าจะเข้าร่วมกับฝ่ายใด มีสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้การประณามหยามหมิ่นจากชนชั้นกลางมีน้ำหนัก นั่นคือ ชนชั้นล่างความอดทนต่ำ เขามักโกรธและแสดงอารมณ์เมื่อถูกยั่วยุดูหมิ่น ชนชั้นกลางควรทำความเข้าใจว่า “ความโกรธแค้น” ของชนชั้นล่างเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่า พวกเขาตระหนักรู้ถึงความเป็นคน มีชีวิตและจิตใจ และความโกรธแค้นในตัวมันเองเป็นการประท้วงต่อการถูกทำร้ายซึ่งชนชั้นที่เหนือกว่าได้กดขี่พวกเขาเชิงนามธรรมมาโดยตลอด

ไม่ลอยตัวเหนือปัญหา ควรอยู่เคียงข้างมนุษยธรรม

ไม่ว่าจะฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด ชนชั้นกลางต้องไม่ลอยตัวเหนือปัญหา ต้องมีจุดยืนเชิงมนุษยธรรมที่ชัดเจนกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง ทิศทางของการปฏิรูปสังคมต้องนำไปสู่การเยียวยาความรุนแรงเชิงนามธรรม และปฏิเสธความรุนแรงเชิงกายภาพทุกชนิด การลอยตัวเหนือปัญหาไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแม้แต่น้อย หากฝักฝ่ายของตนแสดงกิริยาที่ละเมิดต่อมนุษยธรรม ต้องกล้าโต้แย้งและแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างเป็นเหตุเป็นผล ที่สำคัญไม่ใช้กลไกทางจิตวิทยาอย่างคนไร้วุฒิภาวะที่มักเบี่ยงโบ้ยความผิดให้อีกฝ่ายอยู่ร่ำไป ควรพิจารณาว่าตนเองและฝักฝ่ายทิ้งเหตุผล (Fallacy Logic) อะไรไปบ้าง และเรียนรู้ที่จะเยียวยาสถานการณ์รุนแรงด้วยท่าทีประนีประนอม (Compromise)
ตราบใดที่พี่น้องร่วมสังคมยังโง่ จน เจ็บ ก็ไม่มีวันที่การปฏิรูปจะมีทิศทางที่ดีขึ้น

ตราบใดที่ความรุนแรงเชิงนามธรรมยังอยู่ ความอยุติธรรมในสังคมย่อมดำรงอยู่ต่อไป

 

หนังสืออ่านเพิ่มเติม
Young, Iris M. Justice and the Politics of Difference. New Jersey: Princeton University Press, 1990
Brudholm, Thomas. Resentment’s Virtue: Jean Amery and the Refusal to Forgive. Philadephia: Temple University Press, 2008


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net