Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ถึงวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า กปปส.ภายใต้การนำของสุเทพ เทือกสุบรรณและคณะไม่ยอมรับทุกข้อเสนอของทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกจากวิกฤติการชุมนุมขับไล่สิ่งที่ กปปส.เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” โดย กปปส.ยืนกระต่ายขาเดียวต้องการให้รัฐบาลและรัฐสภาถึงทางตันเกิดสุญญากาศทางการเมืองเพื่อจะสามารถใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 3 และมาตรา 7 ในแบบที่ตนตีความ เปิดทางไปสู่การตั้งคณะบุคคลที่ กปปส.เรียกว่า “สภาประชาชน” ขึ้นปกครองประเทศ จากนั้นแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ด้วยการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ตลอดจนปฏิรูปด้านต่างๆ เพื่อกำจัดระบอบทักษิณให้สิ้นซาก

ปัญหาใหญ่ที่สุดของข้อเสนอสภาประชาชนของ กปปส. คือขัดกับหลักการประชาธิปไตย ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่มีกฎหมายใดรองรับ ยากที่รัฐบาลและฝ่ายประชาธิปไตยจะยอมรับได้ และการยืนกรานไม่ลดข้อเรียกร้องลงมีแต่จะนำสถานการณ์ไปสู่วิกฤติที่ยากจะหาทางออก

การจะทำให้สภาประชาชนของ กปปส. เป็นที่ยอมรับ จำเป็นต้องทำให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญเสียก่อน อย่างแรก กปปส.ต้องเลิกคิดที่จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เลิกใช้ช่องมาตรา 3 และมาตรา 7 ในแบบที่ตนเองตีความ แต่ให้ กปปส.ไปจัดตั้งสภาประชาชนของตนเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้แล้วให้สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มได้ จากนั้นก็จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แล้วนำมาให้ประชาชนลงประชามติ ถ้าผ่านประชามติมาได้ก็สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย

ทำนองเดียวกันฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ กปปส.(คงมีหลายกลุ่มหลายฝ่าย)ก็ไปจัดตั้งสภาประชาชนของตนเอง(หรือจะไม่ตั้งก็ได้) จากนั้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แล้วนำมาให้ประชาชนลงประชามติแข่งกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของ กปปส. วิธีนี้จะทำให้ทุกฝ่ายไม่ต้องประนีประนอมหลักการหรือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ(รวมถึงการปฏิรูปประเทศ) แต่ละฝ่ายสามารถร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของประเทศได้ในแบบที่ตัวเองต้องการโดยไม่ต้องประนีประนอมกับใคร เพราะร่างเองฝ่ายเดียวในสภาประชาชนของแต่ละฝ่าย ใครอยากได้นายกแบบไหน แต่งตั้งหรือเลือกตั้ง อยากได้สภาแบบไหน คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่อย่างไร อยากได้ ส.ส. ส.ว. แต่งตั้งจากสาขาอาชีพ จากคนดีขนาดไหน ก็เขียนมาให้ชัดเจน ออกแบบได้แทบไม่มีข้อจำกัด ส่วนฝ่ายอื่นๆก็ทำได้เช่นเดียวกัน ถ้าอยากจะขจัดระบอบอำมาตย์ฯ อยากให้มีเสรีภาพ เสมอภาคอย่างไรก็เขียนมาให้ชัด แต่ถ้าเอาทุกฝ่ายมาร่างร่วมกันก็จะไม่มีใครได้รัฐธรรมนูญในอุดมคติของฝ่ายตัวเอง ที่สำคัญแต่ละฝ่ายมีอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเองที่ชัดเจนและไม่อาจประนีประนอมกันได้ในหลักการสำคัญ

ดังนั้นในการออกเสียงลงประชามติก็จะมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับหลายเวอร์ชั่นจากหลายๆฝ่ายให้ประชาชนเลือก ถ้าประชาชนออกเสียงประชามติให้รัฐธรรมนูญของ กปปส.ชนะ การปกครองประเทศ ก็ต้องว่ากันตามรัฐธรรมนูญ กปปส. สามารถปฏิรูปประเทศกำจัดระบอบทักษิณตามแนวทางของ กปปส.ได้ แต่ถ้าฝ่ายตรงข้ามชนะก็ได้อำนาจปกครองประเทศ จัดการกับระบอบอำมาตย์ได้เต็มที่เช่นกัน

สรุปคือ รัฐธรรมนูญของแต่ละฝ่ายจะสะท้อนความคิดประชาธิปไตยของแต่ละฝ่ายว่าเป็นประชาธิปไตยแท้จริงมากน้อยแค่ไหน และประชาชนจะเป็นคนตัดสิน ขอเพียงชนะเสียงประชามติ ฝ่ายชนะก็จะได้รัฐธรรมนูญแบบที่ต้องการทั้งหมด เพราะเวลาเสนอก็เสนอเป็นแพคเกจทั้งฉบับ แต่ถ้าแพ้ก็จะไม่ได้ทั้งหมดเช่นเดียวกัน

วิธีการก่อนจะไปถึงขั้นตอนลงประชามติ

-รัฐบาลเจรจากับ กปปส. ให้ยอมรับวิธีนี้และยุติชุมนุม และแต่ละฝ่ายตั้งสภาประชาชนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และให้ประชาชนลงประชามติแข่งกัน
-รัฐบาลและรัฐสภา ต้องหยุดทุกอย่างเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่ในสภาทั้งหมด
-รัฐบาลต้องยุบสภา อาจมี 2 กรณี คือยุบทันทีที่ กปปส.เลิกชุมนุม หรือหลังประชามติ ขึ้นอยู่กับการเจรจา
-กรณีที่ยุบสภาทันทีที่ กปปส.เลิกชุมนุม เมื่อเลือกตั้งใหม่แล้วรัฐบาลใหม่จะมีฐานะเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการเท่านั้นคือมีอำนาจเต็มเหมือนรัฐบาลปกติแต่มีอายุได้ถึงวันที่ประชามติผ่าน จากนั้นจึงยุบสภาเลือกตั้งใหม่ตามกติกาของรัฐธรรมนูญใหม่(อาจจะไม่มีการเลือกตั้งก็ได้ กรณีที่มีผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ให้มีการเลือกตั้งและประชาชนลงประชามติเห็นชอบ)
-กรณีที่รัฐบาลไม่ยุบสภาทันที ก็บริหารประเทศต่อไปจนกว่าจะผ่านประชามติแล้วค่อยยุบสภา การทำประชามติควรเสร็จก่อนรัฐบาลครบวาระเล็กน้อย
-รัฐบาลต้องไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับกระบวนการประชามติ
-รัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1) เข้าใจว่าแต่ละฝ่ายสามารถใช้ช่องทางนี้(5 หมื่นชื่อ) เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้(ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายช่วยยืนยันอีกที) ถ้าช่องทางนี้ใช้ไม่ได้ก็ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้รองรับเสียก่อน
-แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ไม่กำหนดจำนวนผู้มาใช้สิทธิขั้นต่ำหรือกำหนดในจำนวนต่ำกว่าครึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อป้องกันการบอบคอตการลงประชามติ (เดิมกำหนดว่าต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินครึ่งของผู้มีสิทธิลงคะแนน และต้องได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของผู้มาลงคะแนน) หากมีการบอยคอตเกิดขึ้นก็จะยากที่คนจะมาลงคะแนนเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ(ประมาณ 24 ล้านเสียง) และมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้คะแนนเกินครึ่งของผู้มาลงคะแนน เพราะมีร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเลือกหลายฉบับ คะแนนเสียงอาจจะกระจัดกระจาย จึงควรกำหนดเสียงมากที่สุดก็พอในกรณีที่มีหลายตัวเลือก
-รัฐบาลควรสนับสนุนทางการเงินและการใช้ทรัพยากรของรัฐแก่ทุกฝ่ายในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและรณรงค์หาเสียง จึงอาจจะต้องออกกฎหมายรองรับ
-ระยะเวลาดำเนินการนับแต่วันนี้จนถึงวันลงประชามติ ประมาณ 18-20 เดือน โดยควรให้มีช่วงเวลาดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญประมาณ 10-12 เดือน และช่วงรณรงค์หาเสียงก่อนลงประชามติประมาณ 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม วิธีที่เสนอมามีจุดอ่อนที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่ง คือ ในขณะที่พยายามจะใช้กระบวนการประชาธิปไตยเป็นทางออกของปัญหา แต่ก็เปิดช่องให้ทุกฝ่ายสามารถเสนอสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้เช่นกัน ซึ่งสองสิ่งนี้ขัดแย้งกันในตัวเอง เช่น สามารถเสนอได้ว่านายกรัฐมนตรี สมาชิกสภา ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือใครจะเสนอให้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ย่อมได้ และหากข้อเสนอเหล่านี้ประชาชนให้ความเห็นชอบก็สามารถบังคับใช้ได้ แต่วิธีนี้มีจุดแข็งที่สุดตรงที่สามารถทำให้ทุกฝ่ายซึ่งต่างอ้างประชาชน สามารถตรวจสอบนับจำนวนได้อย่างแท้จริงว่ามีประชาชนสนับสนุนอยู่จำนวนเท่าไหร่ ไม่ต้องอ้างประชาชนลอยๆ อีกต่อไป

และที่สำคัญที่สุดประชาชนเจ้าของอำนาจทุกคนสามารถใช้อำนาจของตนเองได้อย่างแท้จริงรวมทั้งรับผลพวงจากการตัดสินใจของตนเองไม่ว่าจะดีหรือเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net