Skip to main content
sharethis

เยือนถิ่นมะตะบะเลื่องชื่อในปัตตานี ความหวังของพ่อค้าแม่ค้ากับการหยุดความรุนแรงในเดือนรอมฎอน มองเป็นเรื่องน่ายินดี ทั้งคนขายและคนซื้อจะสบายใจ ไม่กังวลกับเหตุรุนแรง ปฏิบัติศาสนกิจได้เต็มที่ เผยเคยเกิดเหตุร้ายในเดือนถือศีลอด ลูกค้าหายแค่ 2-3วันก็กลับมาใหม่ ปีนี้แม้เหตุการณ์สงบแต่รายได้อาจไม่ได้เพิ่ม เพราะต้นทุนสินค้าแพงขึ้น
 


มะตะบะ - นางปารีดะห์ สะแลแม ผู้จัดการ ร้านมะตะบะ ตะเยาะห์แอปูยุด อ.เมือง จ.ปัตตานี (ขวา)
กับนางซะปีเยาะห์ มะยูโซ๊ะ เจ้าของร้านตัวจริง ที่ได้ชื่อว่าเป็นร้านมะตะบะที่อร่อยที่สุดร้านหนึ่งใน ต.ปูยุด

 

หากให้พูดถึงของกินในเดือนรอมฎอนว่ามีอะไรบ้าง หลายคนคงจะนึกถึงของกินหลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคงไม่พ้นมะตะบะ และหากพูดถึงมะตะบะ หลายคนก็ต้องนึกถึงมะตะบะปูยุด เพราะขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยมานาน

“ปูยุด” เป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่บนถนนสาย 410 (ปัตตานี – ยะลา) ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

ทุกปีเมื่อถึงเดือนรอมฎอน ผู้คนมากหน้าหลายตาจากทั่วทุกสารทิศ เดินทางมาซื้อของกินที่ปูยุด โดยเฉพาะมะตะบะจนทำให้การจรจาจรติดขัด แต่ก็ทำให้คนปูยุดมีความสุขเพราะเป็นช่วงที่นำรายได้เป็นกอบเป็นกำมาให้คนปูยุด

และดูเหมือนว่าปีนี้ ทั้งคนปูยุดเองและคนที่มาจับจ่ายซื้อของอาจจะมีความสุขมากขึ้น เพราะอาจไม่ต้องเผชิญกับเหตุร้ายจากสถานการณ์ไม่สงบ เพราะผลมาจากการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ที่เชื่อว่าเป็นกลุ่มที่กำลังต่อสู้เพื่ออิสรภาพของฟาฏอนีย์ในขณะนี้ โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะหยุดใช้ความรุนแรงในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐนี้

นางปารีดะห์ สะแลแม เป็นผู้จัดการร้าน ‘ตะเยาะห์แอปูยุด’ ซึ่งเปิดขายมะตะบะมากกว่า 23 ปี กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีมากๆ หลังจากที่มีข้อตกลงให้หยุดการใช้ความรุนแรงในเดือนรอมฎอนนี้ เพราะคนจะไปไหนมาไหนได้โดยสวัสดิภาพและไม่ต้องเห็นการเสียเลือดเนื้ออีกแล้ว

นางปารีดะห์ เล่าว่า ในช่วงเดือนรอมฎอนทุกปีจะขายมะตะบะได้ดีมาก ทำให้ต้องเตรียมโม่แป้งสาลีไว้ถึง 3 กระสอบจากปกติใช้เพียงกระสอบเดียว โดยแป้งสาลี 1 กระสอบมีน้ำหนัก 25 กิโลกรัม ซึ่งยแป้งสาลี 1 กิโลกรัมจะทำมะตะบะได้ประมาณ 30 ลูก

นางปารีดะห์ เล่าด้วยว่า ที่ผ่านมา ทางร้านเคยได้แชมป์จากการแข่งขันมะตะบะใน ต.ปูยุด มาแล้วในเรื่องความอร่อย ส่วนการแข่งขันในระดับจังหวัดเคยได้อันดับที่ 2 จึงทำให้ร้านมีชื่อเสียงมากขึ้น แต่การแข่งขันกินมะตะบะก็ได้หยุดไป 3 – 4 ปีแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่าเพราะอะไร

ลูกค้าของร้านตนมีทั้งขาจรและขาประจำ โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอน จะมีลูกค้าจาก อ.จะนะ และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สั่งมะตะบะไปขายจำนวนมากด้วย

ปัจจุบันที่ปูยุดมีร้านขายมะตะบะในช่วงปกติประมาณ 10 กว่าร้าน แต่ถ้าในช่วงเดือนรอมฎอน จะมีประมาณ 50 กว่าร้าน ทั้งที่เป็นมือสมัครเล่นและมืออาชีพ

“ที่ผ่านมา เคยเกิดเหตุร้ายต่อหน้าต่อตาตัวเองมาแล้วในเดือนรอมฎอน ภาพความรุนแรงยังติดตาและในความทรงจำ ส่วนหูยังได้ยินเสียงปืนอยู่ ในวันนั้นผู้คนวุ่นวายไปหมด”

เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุคนร้ายขับรถตามประกบยิงเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งเสียชีวิตบนถนนบริเวณหน้าร้านของตัวเอง เมื่อราว 4 –5 ปีก่อน

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น นางปารีดะห์เองก็คือผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นด้วย เพราะเมื่อปี 2552 สามีถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต โดยไม่ทราบสาเหตุ เพราะเป็นชาวบ้านธรรมดาที่มีอาชีพขายมะตะบะ

นางปารีดะห์ เล่าว่า หลังจากสามีเสียชีวิต ทำให้ต้องปิดร้านไปประมาณ 40 วัน ก่อจะเปิดร้านอีกครั้ง ไม่อย่างนั้นจะขาดรายได้ แต่ต้องจ้างลูกจ้างเพิ่ม 3 คนมาทำงานแทนสามี

นางปารีดะห์ กล่าวว่า โดยปกติ ในเดือนรอมฎอนจะมีคนมาจับจ่ายซื้อของที่ปูยุดจำนวนมาก ไม่ว่าก่อนเกิดเหตุไม่สงบเมื่อปี 2547 หรือหลังจากนั้นสถานการณ์ก็ไม่แตกต่างกัน ยกเว้นถ้ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในพื้นที่ต.ปูยุด แม้ไม่ใช่เดือนรอมฎอน ลูกค้าก็จะหายไป 2-3 วัน แล้วก็กลับมาเหมือนเดิม

แต่นางปารีดะห์เองก็ไม่แน่ใจมากนักว่า ในเดือนรอมฎอนปีนี้เหตุการณ์จะสงบได้จริงหรือไม่ เพราะผ่านมาหลายปีแล้ว ก็ยังไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ได้เลย

หรือหากเกิดความสงบจริง ปารีดะห์ ก็ไม่แน่ใจว่าจะขายดีกว่าที่ปีที่ผ่านหรือไม่ เพราะปีนี้วัตถุดิบในการผลิตมะตะบะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปด้วย กำไรก็อาจจะลดลง เพราะยังต้องขายมะตะบะราคาเท่าเดิม

แบมะ พ่อค้าขายของสินค้าเบ็ดเตล็ดบนรถจักรยานพ่วงข้าง (โชเล่) ในตลาดปูยุด กล่าวว่า หากในเดือนรอมฎอนปีนี้เกิดความสงบจริงๆ ก็จะดีมาก เพราะจะให้คนมุสลิมทุกคนสามารถประกอบศาสนกิจได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องได้รับรู้ข่าวเหตุการณ์ที่จะทำให้รู้สึกสะเทือนใจ

แบมะ บอกว่า ที่ผ่านมาเหตุไม่สงบไม่ค่อยส่งผลกระทบกับอาชีพของตนมากนัก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนในหมู่บ้านและเป็นลูกค้าประจำ แต่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น เช่น ผักต่างๆ ที่มีราดาสูงขึ้น ต่างกับเมื่อ 2 -3 ปีก่อนที่ของไม่ค่อยแพงมากนัก ทำให้ได้กำไรประมาณวันละ 700 - 900 บาท แต่ช่วงนี้ได้กำไรประมาณวันละ 300 บาท

“ตอนนี้ยังไม่ถึงเดือนรอมฎอนของก็แพงขึ้น แล้วอย่างนี้ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร ชาวบ้านที่เคยซื้อปลาครั้งละ ครึ่งถึงหนึ่งกิโลกรัม แต่วันนี้ ซื้อแค่ครั้งละ 3 ตัว น้ำหนักไม่ถึงครึ่งกิโลกรัมด้วยซ้ำ” แบมะกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net