Skip to main content
sharethis

รู้จัก ‘ฮารา ชินทาโร่’ คนญี่ปุ่น มาเป็นอาจารย์สอนภาษามลายู ที่ มอ.วิทยาเขตปัตตานี อยู่ที่นี่นานถึง 14 ปี จนเก่งภาษาไทยถึงขั้นเขียนบทความได้ แถมยัง ‘แกแจะนายู’ หรือพูดภาษามลายูท้องถิ่นได้ชัดเจนคล่องปรื๋อ

ฮารา ชินทาโร่

ปัจจุบันมีความตื่นตัวเรื่องการฟื้นฟูภาษามลายูในปาตานีอย่างมาก หลายองค์กรได้จัดเวทีเกี่ยวกับภาษามลายูอย่างแพร่หลาย ทั้งเวทีสัมมนา เสวนา รวมทั้งเวทีการแสดงต่างๆ แม้กระทั่งเวทีสาธารณะที่พูดถึงเกี่ยวการเมือง การปกครองหรือสันติภาพ

หลายเวทีปรากฏว่ามีชายหนุ่มผิวขาว ผมตั้ง สวมแว่นสายตา ใบหน้าออกไปทางคนญี่ปุ่น ซึ่งไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนที่นี่ แต่กลับพูดภาษามลายูได้อย่างคล่องปรื๋อ และไม่ทิ้งสไตล์คนญี่ปุ่นที่พูดเร็วจนบางครั้งจับความแทบไม่ทัน แถมยังพูดไทยได้คล่อง บางครั้งก็ “แกเจะนายู” แบบบ้านๆในปัตตานีด้วย

เขาคือ อาจารย์ฮาร่า ชินทาโร่ (HARA SHINTARO) อาจารย์สอนวิชาภาษามลายู ในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี หรือที่ใครชอบเรียกว่า “อาจารย์ชินทาโร่”

ที่จริงอาจารย์ชินทาโร่มีอีกชื่อหนึ่งว่า “บาดีอุซซามาน” เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า “การเริ่มต้นของยุคสมัย” เป็นชื่อที่เขาได้รับหลังจากเข้ารับอิสลามเมื่อ 10 กว่าปีก่อน

ปัจจุบันอาจารย์ชินทาโร่อายุ 40 ปี ที่สำคัญเขามาอาศัยอยู่ในจังหวัดปัตตานีมา 16 ปีแล้ว

อาจารย์ชินทาโร่ เล่าถึงที่มาที่ไปของการเข้ารับอิสลามและการได้มาเป็นอาจารย์สอนภาษามลายูที่ปัตตานีว่า เริ่มจากการเรียนรู้ภาษามลายู ที่มหาวิทยาลัยเคโอะ (keio) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

เขาบอกว่า เมื่อก่อนทั้งตนเองและคนญี่ปุ่นทั้งหมดไม่รู้จักภาษามลายูเลย รู้แต่เพียงว่าประเทศมาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตยางและดีบุกของโลก

ส่วนสาเหตุที่ตนเองเลือกเรียนภาษามลายู ซึ่งเป็นวิชาเลือกเสรี เพราะมีคนเรียนน้อยและไม่ค่อยเป็นที่สนใจ จึงเลือกเรียนภาษานี้ เพราะเป็นภาษาที่น่าสนใจมาก

“ผมเรียนภาษามลายูแบบเข้ม สัปดาห์ละ 8 คาบ ทั้งการฝึกอ่าน พูด เขียน จนสามารถสื่อสารได้ในระดับหนึ่ง โดยครูสอนภาษามลายูมาจากประเทศมาเลเซีย”

จากนั้นครูได้ชักชวนนักศึกษาเดินทางไปฝึกภาษามลายูในพื้นที่จริง โดยเลือกบ้านเกิดของครู คือที่หมู่บ้านปาตูปาฮัร รัฐยะโฮร์ ทางตอนใต้ของมาเลเซีย

ในที่สุดผมและเพื่อนๆ ก็ได้สนทนากับคนที่พูดมลายู ซึ่งการพูดคุยโต้ตอบทำให้เราชอบภาษานี้มากขึ้น

 

เริ่มสนใจอิสลาม

หลังจากได้เรียนรู้ภาษามลายูในพื้นที่จริง ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลามไปด้วย เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ทำให้ซึมซับความเป็นมุสลิม ทั้งความเชื่อและวิถีชีวิต จนเกิดความรู้สึกอยากเข้ารับอิสลามขึ้นมา

หลังจากนั้นจึงเรียนรู้เกี่ยวกับอิสลามมากขึ้น โดยพยายามศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง และเรียนรู้จากผู้รู้ และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

หลังจากเข้ารับอิสลามแล้ว ผมต้องปรับตัวหลายอย่าง เช่น การละหมาด 5 เวลา การรับประทานอาหารที่ฮาลาล เรียนรู้กฎหมายชาริอะห์ และหลักฮารอมกับฮาลาล

ตอนเข้ารับอิสลามใหม่ๆ มีปัญหากับครอบครัวในระดับหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ โดยผมพยายามให้ความเข้าใจแก่พ่อแม่และคนในครอบครัวว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่สวยงาม สอนให้คนทำความดี มีความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งก็ตรงกับคำสอนในประเทศญี่ปุ่นที่เน้นเรื่องการกตัญญูด้วยเช่นกัน

ทุกวันนี้ผมยังเคารพพ่อกับแม่ แม้จะนับถือคนละศาสนากัน ซึ่งการให้ความเคารพนั้นเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้พ่อแม่ผมสบายใจว่า ศาสนาอิสลามไม่ได้พรากผมไปจากพ่อกับแม่ ทุกวันนี้ยังพูดคุยติดกับพ่อแม่ทุกวันผ่านทางอินเตอร์เน็ต

 

ครั้งแรกที่มาปัตตานี

การเข้ามาทำงานใน มอ.ปัตตานี ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า แต่สอบบรรจุเข้ามาได้จึงได้มาสอนที่นี่ เป็นความบังเอิญมากกว่าครับ

ครั้งแรก ที่ได้มาที่ปัตตานี เนื่องจากได้รู้จักกับอาจารย์และนักศึกษา มอ.ปัตตานี ตอนเข้ารวมการแข่งขันกล่าวสุนทรพจน์ภาษามลายู ซึ่งผมเป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น ส่วนพวกเขาเป็นตัวแทนของประเทศไทย

หลังจากนั้นผมเรียนต่อที่ประเทศมาเลเซีย ณ Universiti Malaya สาขามลายูศึกษา เรื่องการเปรียบเทียบภาษามลายูกลางกับภาษามลายูถิ่นปาตานี ก็เลยเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูล และได้มาที่ปัตตานีครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1998 มาอยู่ 4 เดือน แล้วกลับไปอยู่ที่มาเลเซีย 1 ปี หลังจากนั้นจึงมาอยู่ที่ปัตตานีอีกครั้งตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 จนปัจจุบัน

ก่อนหน้านั้น ผมมีรายได้จากการเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น-มลายูที่ประเทศญี่ปุ่น ต่อมามีงานน้อยลง จึงต้องหางานทำ และอยากอยู่ที่ปัตตานี จึงติดต่อ มอ. ขอสมัครสอนภาษาญี่ปุ่นในช่วงแรก แต่ไม่ได้เพราะไม่มีตำแหน่งว่าง แต่บังเอิญในแผนกภาษาอาหรับของคณะมนุษยศาสตร์ มีตำแหน่งว่าง ซึ่งคนต่างชาติสมัครได้ เป็นพนักงานช่วยหาข้อมูล จนกระทั่งปี ค.ศ.2006 จึงได้สมัครเป็นอาจารย์สอนภาษามลายู

ผมมาอยู่ที่ปัตตานีตอนที่ยังไม่เกิดเหตุไม่สงบ รู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่น่าอยู่มาก จึงทำให้อยากอยู่ที่นี่ หลังจากเกิดเหตุไม่สงบขึ้นมา ก็สามารถอยู่ได้ เพราะคิดว่า อยู่ที่ไหนก็หนีไม่พ้นความตาย และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะตาย แต่ก็กลัวเหมือนกัน จึงต้องอยู่ให้เป็นและปลอดภัย

 

มุมมองต่อภาษามลายู

ปัจจุบันคนทั่วโลกมองว่า ภาษามลายูเป็นภาษาที่ต่ำต้อย ด้อยค่า ผมจึงอยากยกระดับภาษามลายูโดยจะรื้อฟื้นภาษานี้ให้มีความโดดเด่นในประชาคมอาเซียนและเป็นที่ยอมรับของคนทั้งโลก โดยผมเริ่มทำวิจัยเปรียบเทียบระหว่างภาษามลายูถิ่นกับภาษามลายูกลางว่า คนในประเทศจะเข้าใจและสื่อสารภาษาใดได้ดีกว่ากัน

ผลการวิจัย พบว่า คนมลายูในประเทศมาเลเซียใช้ภาษามลายูถิ่นมากกว่า เพราะรากฐานของภาษามลายูคือภาษามลายูถิ่นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

สำหรับหลักสูตรภาษามลายูที่นำมาสอนในแผนกวิชาภาษามลายู ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ.ปัตตานี เป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ผมมีโอกาสรวบรวมเป็นหลักสูตรภาษามลายู เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความร่วมมือในประชาคมอาเซียน ทีภาษามลายูจะเป็นภาษาที่นำมาใช้ได้

 

อ่านฉบับภาษามลายูได้ที่ http://issuu.com/deepsouthwatch/docs/sinaran_4?mode=window

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net