Skip to main content
sharethis
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 26 เม.ย.56 ชาวบ้านตัวแทนจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ (Pmove) เดินทางมายื่นหนังสือแจ้งถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ พร้อมระบุ จะมีการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยสงบตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.56 เป็นต้นไป เพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหา เนื่องจากการติดตามการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงปัจจุบันปัญหากลับยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
 
วันนี้ (6 พ.ค.56) ตั้งแต่ช่วงเช้า สมาชิกพีมูฟจากทั้วประเทศ อาทิ สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) จากจังหวัดภูเก็ตและอุบลราชธานี เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ทยอยเดินทางถึงกรุงเทพฯ
 
5 พ.ค.56 สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) รวมพลเคลื่อนขบวนขึ้นรถไฟมุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล 
 
6 พ.ค.56 ชาวบ้านจากจังหวัดเชียงใหม่ใช้เวลาเดินทางโดยรถไฟกว่า 18 ชั่วโมงมาถึงหัวลำโพงตั้งแต่เช้ามึด
 
ขบวนชาวบ้านจากอีสานทะยอยเดินทางกันมาถึง
 
ขณะรอรถของรัฐมาขนสัมภาระไปยังที่หน้าทำเนียบ
 
ขสมก.จัดขบวนรถเมล์มารับชาวบ้านไปหน้าทำเนียบ (หลังการเจรจา)
 
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จากสุราษฐ์ ถึงสถานีรถไฟสามเสน
 
จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปยังบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อปักหลักชุมนุมต่อเนื่อง เรียกร้องการแก้ปัญหาจากรัฐบาล
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดินทางถึงบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ผู้ชุมนุมเริ่มตั้งเวทีปราศรัย ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาห้าม เพราะไม่ได้รับแจ้งหนังสือตอบรับการชุมนุม แต่หลังจากการเจรจานาน 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงให้ตังเวทีชุมนุมได้ แต่ให้ติดตั้งอุปกรณ์ขยายเสียงหลังเวลา 08.00 น.เนื่องจากจะมีขบวนเสด็จ ผู้ชุมนุมจึงช่วยกันเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ทั้งหมดไม่ให้มีสิ่งกีดขวางเส้นทางเพื่อรอรับเสด็จในเวลา 09.00 น.หลังจากนั้นจึงตั้งเวทีและอุปกรณ์ได้
 
เดินทางถึงหน้าทำเนียบ สถานที่นัดหมายการชุมนุม
 
 
 
 
 
 
 
 
ต่อมา เมื่อเวลา 10.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 19 รัฐบาลต้องเปิดการเจรจาอย่างเสมอหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม โดยระบุว่าในช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา พีมูปได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการติดตาม และผลักดันให้กลไกการแก้ไขปัญหาทำหน้าที่แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากกับอุปสรรคที่เกิดจากความไม่จริงใจของรัฐบาล ที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหา
 
 
แม้จะมีการเจรจากับนายกรัฐมนตรี เมื่อต้นเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้การแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้าเลย ขณะที่ในพื้นที่ยังมีการคุกคาม จับกุมชาวบ้านอยู่
 
นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังได้สรุปกรณีปัญหา 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.ปัญหาในระดับนโยบาย ที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาไว้แล้วคือ การให้โอกาสประชาชนทีมีฐานะยากจนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง สนับสนุนการจัดการอย่างมีส่วนร่วมระหว่างคนกับป่า และการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย และผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรที่ดิน น้ำ ป่า ไม้และทะเล รวมทั้งการส่งเสริมกองทุนยุติธรรมเพื่อการคุ้มครองช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาส
 
2.ปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ คือ การแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล การจัดซื้อที่ดินพื้นที่นำร่อง ธนาคารที่ดิน การออกเลขที่ทะเบียนบ้านให้กับชุมชนเมือง การคุ้มครองพื้นที่ที่ผ่านการอนุมัติให้จัดทำโฉนดชุมชนที่ได้ข้อยุติเป็นมติคณะอนุกรรมการแล้ว ซึ่งรัฐฯ ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดการปฏิบัติ แต่กลับมีการแช่แข็งไว้
 
3.กลไกอนุกรรมการไม่ทำหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งกลไกการแก้ไขปัญหาในรูปของอนุกรรมการฯ ที่มีการแต่งตั้งแล้ว โดยลงนามเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.55 แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทั้งนี้ อนุกรรมการบางชุดยังไม่มีการประชุมเลย ดังนี้ ขณะที่บางอนุกรรมการมีการดำเนินการล่าช้าซื้อเวลา
 
“ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจะเกิดขึ้นได้รัฐบาลต้องเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการขึ้น โดยพวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส) จึงปักหลักชุมนุมอย่างสงบ จนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม” แถลงการณ์ระบุ
 
ค่ำคืนแรกของการชุมนุม
 
สำหรับการเคลื่อนไหวในวันที่ 7 พ.ค.56 ช่วงเช้าเวลาประมาณ 7.30 น. ผู้ชุมนุมพีมูฟจะเข้าไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ตามประเด็นปัญหาที่ประสบเป็นรายบุคคล เนื่องจากที่ผ่านมา ความเดือดร้อนต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าจะเคยมีการยื่นเรื่องในนามเครือข่ายมาหลายครั้งแล้วก็ตาม และเพื่อเป็นการให้ความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง ผู้ชุมนุมจะมีการแบ่งกำลังคนในการเข้ายื่นหนังสือฯ ตามประตูต่างๆ ของทำเนียบรัฐบาล
 
ทั้งนี้ แถลงการณ์ฉบับที่ 19 ของพีมูฟมีรายละเอียด ดังนี้
 
 
 แถลงการณ์ฉบับที่ ๑๙
รัฐบาลต้องเปิดการเจรจาอย่างเสมอหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม
 
พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยและคนจนที่ได้ รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดในอดีต ประกอบด้วย เครือข่ายสลัม ๔ ภาค , สหพันธ์เกษตรกรภาค เหนือ (สกน.) , เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน(คปอ.) , สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) , เครือข่ายชุมชนเพื่อ การปฏิรูปสังคมและการเมือง(คปสม.), เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) ,สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ,เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ,เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล อันเป็น ปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อน ปัญหาการไร้สิทธิสถานะและชาติ พันธ์ ปัญหาจากเหมืองและโรงไฟฟ้า ปัญหาการทำเกษตรพันธสัญญา รวมทั้งปัญหาความไม่เป็นธรรมจาก กระบวนการยุติธรรม ทั้งจากชนบทและคนจนในเมืองได้ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
 
ในช่วงเวลากว่า ๑ ปีที่ผ่านมา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการติดตาม และผลักดันให้กลไกการแก้ไขปัญหาทำหน้าที่ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในท้ายที่สุดจนพวกเราได้พบกับอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา ที่เกิดจากความไม่จริงใจของรัฐบาล ที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหา จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑ และ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๕ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้เจรจากับนายกรัฐมนตรี และมีข้อสรุปร่วมกันว่า “นายกรัฐมนตรีจะเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการภายในเดือนกลางพฤศจิกายน ๒๕๕๕ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่การเจรจาอย่างเป็นทางการ ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้าเลย ขณะที่ในพื้นที่ยังมีการคุกคาม จับกุมชาวบ้านอยู่
 
ความล่าช้าที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ และไม่จริงใจของรัฐบาล ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้รับการแก้ไข โดยสามารถ ประมวลสรุปได้ ๓ กลุ่ม ดังนี้
 
กลุ่มที่ ๑. ปัญหาในระดับนโยบาย ซึ่งรัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาไว้แล้ว ดังนี้
๑.๑ นโยบายข้อ ๔. นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต ข้อ๔.๕. .....นโยบายความมั่นคงของชีวิตและสังคม ข้อ ย่อยที่ ๔.๕.๒ การให้โอกาสประชาชนที่มีฐานะยากจนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง.....
 
๑.๒ นโยบายข้อ ๕. นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อ๕.๑ ......สนับสนุนการจัดการอย่าง มีส่วนร่วมและให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันในลักษณะที่ทำให้คนมีภารกิจดูแลป่าให้มีความยั่งยืน โดยการปรับปรุงกฎหมาย ป่าไม้ 5 ฉบับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ.....
 
๑.๓ นโยบายข้อ ๕.๔ สร้างความเป็นธรรมและลดความเลื่อมลํ้าในการใช้ประโยชน์ที่ดินและ ทรัพยากร..... .....ให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดิน ให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย......ผลักดันกฎหมายในการรองรับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน นํ้า ป่า ไม้ และทะเล .....ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน......
 
๑.๔ นโยบายข้อที่ ๘. นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดิน (ข้อ ๘.๒.๒ ....ส่งเสริมกองทุนยุติธรรมเพื่อ การคุ้มครองช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาส....) ซึ่งเป็นผลผูกพันให้รัฐบาลต้องดำเนินการ แต่รัฐบาลไม่ดำเนินการ
 
กลุ่มที่ ๒. ปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยมีกรณีปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้ว ดังนี้ (๑) การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล (๒) การดำเนินการจัดซื้อที่ดินพื้นที่นำร่อง ธนาคารที่ดิน (๓) การออกเลขที่และทะเบียน บ้านให้กับชุมชนเมือง (๔) การคุ้มครองพื้นที่ ที่ผ่านการอนุมัติให้จัดทำโฉนดชุมชน กรณีปัญหาที่ได้มีข้อยุติเป็นมติคณะอนุกรรมการและข้อตกลงในการเจรจาแล้ว ซึ่งรัฐบาลจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ปฏิบัติการได้ แต่รัฐบาลกลับแช่แข็งข้อตกลงนี้ไว้
 
กลุ่มที่ ๓. กลไก (อนุกรรมการ) ไม่ทำหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหา กลไกการแก้ไขปัญหาในรูปของอนุกรรมการฯ ที่ มีการแต่งตั้งแล้ว (ลงนามเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๕) แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหา ได้
 
๓.๑ อนุกรรมการที่ยังไม่มีการประชุมเลย ดังนี้ (๑) อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์และที่ดิน เอกชนปล่อยทิ้งร้าง (๒) อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม
 
๓.๒อนุกรรมการที่ดำเนินการล่าช้าซื้อเวลาและไมส่ามารถแก้ไขปัญหาได้มีดังนี้(๑)อนุกรรมการแก้ไข ปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล(๒)อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ(๓)อนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ฯ (๔) อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ฯ
 
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจะเกิดขึ้นได้รัฐบาลต้องเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการขึ้น โดยพวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จึงปักหลักชุมนุมอย่างสงบ จนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖ หน้าทำเนียบรัฐบาล
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net