Skip to main content
sharethis
 
เลื่อน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาประชุมในวาระแรก การประชุมสภาฯ สมัยหน้า
 
18 เม.ย.56- เดลินิวส์รายงานว่า เมื่อเวลา 16.20 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ภายหลังการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. ได้ขอใช้ข้อบังคับการประชุมที่ 26(2) เพื่อเลื่อนวาระลำดับที่ 5.23 คือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน (พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ) ขึ้นมาพิจารณาก่อนร่าง พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดิน โดยมีผู้รับรองครบ
 
ทำให้ นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นคัดค้านว่า ไม่เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วน อย่าเอาตามมาตรฐานพวกท่านหรือนายใหญ่ของพวกท่าน ที่ออกกฎหมายเพื่อพรรคพวก เพื่อธุรกิจตัวเอง จะรีบร้อนทำไมทั้งที่กฎหมายสำคัญยังค้างอยู่อีกกว่า 17 เรื่อง อีกอึดใจเดียวก็จะออกมาเพื่อประโยชน์ประชาชนแล้ว แสดงว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนจริง อย่ามาอ้างเพื่อความปรองดอง วันนี้คนในประเทศปรองดองหมด มีแต่พวกรัฐบาลที่ไม่ยอมให้ปรองดอง ตนว่ารัฐบาลไม่ต้องออกกฎหมาย แค่นายกฯไปบอกให้คนกลุ่มนี้หยุด ประเทศก็ปรองดองแล้ว ไม่ต้องมานิรโทษกรรม แปลกใจที่รัฐบาลไม่กล้าพูด เพราะกลัวเขาจะทวงบุญคุณใช่หรือไม่
 
นายเจริญ กล่าวว่าเมื่อมีผู้คัดค้านก็จะขอมติที่ประชุม ทำให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์พากันประท้วง โดยนายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา กล่าวว่า จะรีบร้อนไปไหน ควรให้ส.ส.แสดงความเห็นก่อน นายวรชัยผู้เสนอร่างฯ อภิปรายแสดงเหตุผลว่า เสนอด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เรารบราฆ่าฟันกันมาหลายปี แม้แต่พม่าก็ยังพยายามลดความขัดแย้ง แล้วเราจะปล่อยให้ประเทศคงความขัดแย้งไว้อย่างนี้หรือ ประเทศจะดำรงความเป็นไปประเทศต่อไปอย่างไร การกระทำของ 2 กลุ่มนี้ เกิดจากความคิดทางการเมืองที่ขัดแย้งกัน มีคดีความติดตัวกันเต็มไปหมด คนที่ติดคุกทางการเมืองอยู่ญาติพี่น้องเขาก็ต้องการให้ออกมาต่อสู้คดีตามกฎหมาย ที่เสนอมานิรโทษกรรมทุกสีเสื้อทั้งคดีก่อการร้ายบุกยึดสนามบิน ยึดทำเนียบ รัฐสภา ยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที คนที่ต้องติดคุกเพื่อรอต่อสู้คดี ใครไม่โดนบ้างไม่รู้สึกหรอก
 
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ได้เสนอเพื่อกลุ่มเสื้อแดงโดยเฉพาะ แต่มีประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เม.ย.-พ.ค. 2553 จำนวนมาก ถ้าเราค่อยๆลามือถอยออกมา บรรยากาศก็จะดีขึ้น เราทำเพื่อทุกกลุ่มรวมถึงพวกที่ปิดสนามบิน จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วเพราะไม่ทราบว่าวันหน้าจะสำเร็จเมื่อไหร่ จึงขอเลื่อนขึ้นมาก่อน ส่วนจะได้พิจารณาเมื่อไหร่ค่อยมาว่ากัน
 
ด้านนายเจ๊ะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ดูจากเนื้อหาในร่างฯเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์ ถึงบอกว่าเรื่องนิรโทษกรรมเอาไว้ทีหลังได้ไหม โดยเฉพาะในมาตรา 3 มีการซ่อนเงื่อนไขเพื่อเอื้อประโยชน์คนที่อยู่ต่างประเทศคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงชัดเจนว่าเป็นไฟเขียวจากดูไบ ที่เคยพูดให้ส.ส.รัฐบาลช่วยกันผลักดัน จึงมองว่าเป็นการสับขาหลอกแยกกันเดินรวมกันตี ที่สุดบ้านเมืองจะวุ่นวาย ตนจึงเชื่อว่าได้รับใบสั่งจากคนต่างประเทศ ตนจึงไม่เห็นด้วย
 
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การอ้างในกฎหมายฉบับนี้ว่าเพื่อนิรโทษกรรม หรือก่อนหน้านี้จะใช้ว่าปรองดอง แต่เนื้อแท้คือล้างความผิด ดังนั้นเมื่อไหร่ที่หยิบยกขึ้นมาในสภาจะเกิดความแตกแยก เป็นการสถาปนาความยุติธรรมของเสียงข้างมาก คราวที่แล้วก็เคยยก พ.ร.บ.ปรองดองขึ้นมา โดยไม่สนใจความเดือดร้อนประชาชน แต่สุดท้ายกลายเป็นตัวจุดชนวนความร้าวฉานแตกแยก แต่ความพยายามยังไม่จบ ยังมีเสียงสั่งการจากนอกประเทศอยู่ตลอดเวลา นิ้วที่ชี้ใส่ฝ่ายค้านแต่ไม่เคยดูตัวเองเลยว่าเป็นตัวการทำให้แตกแยก ที่ไม่ยอมถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ก็เอาไว้เป็นระเบิดเวลา มาวันนี้ก็มีสัญญาณแล้ว อยู่ดีๆ เอาตำรวจมาประจำการบริเวณรอบรัฐสภา มันจึงโกหกกันตั้งแต่ต้น เติมเชื้อไฟไว้เอาระเบิดเวลาฝังอีกลูกหนึ่ง นายกฯ ก็ตีสองหน้าบอกเป็นเรื่องของสภาฯ แต่นามสกุลท่านก็บอกอยู่ บอกจะสานเสวนาอนุมัติงบประมาณรอไว้ วันนี้ทำหรือไม่ หรือในพรรคท่านเองก็ต้องสมดุลกำลังทุกฝ่าย แม้ที่ผ่านมาจะเคยนิรโทษกรรมให้กับคดีความผิดทางการเมือง แต่ไม่เคยนิรโทษในคดีอาญา แต่ตัวกฎหมายฉบับนี้นิรโทษทั้งหมด เป็นการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม
 
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันนี้คนเสื้อแดงบางส่วนเริ่มกลับใจ หรือแตกแถว จึงมีสิ่งหนึ่งที่จะรวมคนเสื้อแดงอีกครั้ง จึงเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ที่บอกว่ามีประชาชนเดือดร้อนถูกจำคุกอยู่ ตนไปดูมาหมดแล้วคนที่โดนคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อปี 2553 ศาลสั่งจำคุกสูงสุด 1 ปี วันนี้พ้นโทษกันหมดแล้วไม่มีใครถูกจำคุกอยู่แล้ว ดังนั้นอย่ามาอ้างเรื่องนี้อีก คนที่เสนอกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ลูกผู้ชายเพราะโดนคดีก่อการร้ายอยู่ ขอเรียกร้องว่าคนเสนออย่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด จะได้ไม่อัปยศต่อลูกเมียท่าน ไม่มีศักดิ์ศรี คนที่ได้ประโยชน์กลุ่มแรกคือ พ.ต.ท.ทักษิณ กลุ่มสองคือพวกที่ถูกฟ้องคดีก่อการร้าย กลุ่มสามพวกเผาศาลากลาง 3 จังหวัด 21 คน และกลุ่มสี่คนที่ยิงใส่วัดพระแก้ว ท่านกำลังนิรโทษกรรมพวกก่อการร้าย และพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ผ่านมาการนิรโทษกรรมให้เฉพาะผู้ที่กระทำต่อองค์กรการเมืองและองค์กรรัฐ ต้องไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อตัวร่างกายมนุษย์
 
ขณะที่นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิประท้วงว่า ตนก็เป็นหนึ่งในแกนนำเสื้อแดง และไม่เกี่ยวกับการได้รับประโยชน์จากพ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ขอได้รับอานิสงส์จากพ.ร.บ.ฉบับนี้ ทำให้นายนิพิฏฐ์กล่าวยกย่องว่าเป็นลูกผู้ชายตัวจริง และขอให้แกนนำคนอื่นเอาเป็นแบบอย่าง ซึ่งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่าในฐานะเป็นแกนนำและเป็นเลขา นปช.ขอพูดแทนพี่น้องที่เป็น ส.ส.เสื้อแดงทุกคนที่สนับสนุนพ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเมื่อปี 2553 ว่าจะไม่ได้รับอานิสงส์ พวกตนเป็นลูกผู้ชายพอ และพร้อมจะพิสูจน์ตัวเอง ต้องการพิสูจน์ว่าคนที่ถูกกล่าวหาว่าก่อการร้าย กับคนที่โกงความตายจากการสั่งฆ่าประชาชน กฎแห่งกรรมจะลงโทษใครก่อน
 
หลังจาก ส.ส. 2 ฝ่ายลุกขึ้นอภิปรายสลับกัน นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้เสนอขอปิดการอภิปราย จากนั้นเวลา 18.45 น. นายวิสุทธิ์ ได้ให้ที่ประชุมลงมติในญัตติขอปิดอภิปราย โดยที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย จากนั้นได้มีการลงมติในญัตติว่าจะให้เลื่อนระเบียบวาระตามที่นายวรชัยเสนอหรือไม่ ที่ประชุมเสียส่วนใหญ่ ลงมติด้วยเสียง 283 ต่อ 56 เสียง งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 4  เห็นชอบให้เลื่อนระเบียบวาระดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อน
 
ผู้สื่อข่าวรายว่าสำหรับการขอเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว จะถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งในการประชุมสภาฯ สมัยสามัญทั่วไปที่จะเปิด ในวันที่ 1 ส.ค.56
 
จากนั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ปิดประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ ในวันที่ 21 เม.ย.นี้  และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้ขอบคุณ ส.ส.ที่ร่วมกันทำหน้าที่ และสั่งปิดการประชุมในเวลา 19.15 น.
 
 
‘เจริญ จรรย์โกมล’ เตรียมเชิญ 6 ฝ่ายหารือ 'กฎหมายนิรโทษฯ-ปรองดอง'
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า 18 เม.ย.56 ที่รัฐสภา นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าเจรจาทุกฝ่าย เพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรมของตนที่ได้ดำเดินการไปแล้วก่อนหน้านี้
 
เบื้องต้นในหลักการของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เป็นแนวทางเดียวกับที่ตนได้เคยหารือไว้แล้ว แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็คัดค้าน เพียงเพราะผู้เสนอกฎหมายเป็นคนของพรรคเพื่อไทย และช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ ตนจะออกจดหมายเชิญบุคคล 6 กลุ่ม มาหารืออีกครั้ง ได้แก่ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มคนเสื้อแดง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และทหาร
 
ขณะที่ ก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมร่วมรัฐสภาและประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า วันนี้จะเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาวันแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพิจารณาเลื่อนวาระร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขึ้นมาอยู่ในวาระการประชุม แต่ยังไม่พิจารณารับหลักการ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับที่สมาชิกจะขอเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมาได้
 
โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเนื้อหานิรโทษกรรมให้เฉพาะประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง จึงไม่น่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้งอย่างที่หลายฝ่ายกังวล รวมถึงฝ่ายค้านที่เกรงว่า จะมีการแก้ไขในขั้นตอนการแปรญัตติ ก็ไม่ควรคิดมาก เพราะ ส.ส. ผู้เสนอร่างก็ระบุชัดเจน หากมีการแก้ไขเนื้อหาของร่างฯ ประชาชนก็คงไม่เห็นด้วยเช่นกัน และยืนยันจะไม่มีการลักไก่ หรือปูทาง เพื่อนำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่ค้างอยู่ในสภาทั้ง 4 ฉบับขึ้นมาพิจารณา และจะไม่นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มาพิจารณาในการประชุมสมัยวิสามัญที่จะเปิดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557
 
ส่วนกระแสข่าวอาจจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาคัดค้านที่หน้ารัฐสภานั้น ยังไม่มีรายงาน แต่ก็ได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณรอบรัฐสภาแล้ว และเป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องประเมินสถานการณ์
 
 
40 ส.ว.ค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
 
ครอบครัวข่าว3 รายงานว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และ สมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว.ร่วมกันประกาศจุดยืนเกี่ยวกับการเสนอให้เลื่อนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ขึ้นมาพิจารณาก่อนว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวกลุ่ม 40 ส.ว.คัดค้านอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีบางมาตราที่ระบุอย่างชัดเจนว่า จะนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร และยังเป็นการไม่รักษาไว้ซึ่งสถาบัน และจากการพูดคุยกับ ส.ว.หลายคน ทุกคนก็ไม่เห็นด้วย ดังนั้น เชื่อว่าหากกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาจะมีปัญหา และถูกตีกลับ
 
ขณะเดียวกันยังเห็นว่าหากมีการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม ที่ยังคงมีมาตราที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน จะทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย เพราะจะมีมวลชนออกมาต่อต้าน และจะกล่าวหาว่ารัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ไม่มีความจริงใจในการปกป้องสถาบัน อย่างไรก็ตาม หากจะมีการนิรโทษกรรม ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้ แต่อยากให้หารือตกผลึกก่อน และไม่ควรเหมารวมไปทุกคดี แต่ควรนิรโทษกรรมเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
 
 
รัฐสภามีมติ 356 ต่อ 19 เสียง ให้แปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 15 วัน ตามเดิม ส.ส.ปชป.วอล์คเอาท์
 
มติชนออนไลน์  รายงานวันเดียวกันนี้ว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยสามัญนิติบัญญัติ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนลงมติกำหนดเวลาการแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช... แบบรายมาตรา ทั้ง 3 ฉบับ โดยในที่ประชุม มีมติ 356 ต่อ 19 เสียง ให้แปรญัตติภายใน 15 วัน ตามเดิม หรือหมดเขตวันที่ 19 เมษายน โดยมีผู้แสดงตน 393 คน
 
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ได้มีส.ส.ฝ่ายค้านประท้วงการทำหน้าที่ประธานของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นจำนวนมาก โดยการลงมติในครั้งนี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ต่างเดินออกจากห้องประชุมทันที และไม่ร่วมลงมติ
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net