Skip to main content
sharethis

เปิดใจลูกชายแกนนำพูโล ยาสรี คาน (Yasri Khan) กับบทบาทเยาวชนฟาฏอนีย์พลัดถิ่นในยุโรปและงานด้านสันติวิธี ชี้ความหวังสันติภาพชายแดนใต้อยู่ที่คุณภาพของเยาชนมุสลิมมลายูในพื้นที่

ยาสรี คาน (Yasri Khan) ประธานองศ์กรมุสลิมเพื่อสันติภาพและยุติธรรมแห่งประเทศสวีเดน (Swedish Muslim For Peace and Justice)

ยาสรี คาน (Yasri Khan) ประธานองศ์กรมุสลิมเพื่อสันติภาพและยุติธรรมแห่งประเทศสวีเดน (Swedish Muslim For Peace and Justice) วัย 27 ปี ผู้มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ด้านสันติวิธีในประเทศสวีเดนและทำงานในโครงการพระราชดำริของและกษัตริย์สวีเดน โดยเป็นที่ปรึกษาในส่วนกิจกรรมเยาวชน

ยาสรีเป็นลูกชายของแกนนำคนสำคัญในขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชฟาฏอนีย์ คือขบวนการพูโล (PULO) พลัดถิ่น โดยยาสรีเกิดและเติบโตที่ประเทศสวีเดน ซึ่งเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา เขาได้ร่วมกับคณะของ Mehmet Kaplan ประธานพรรคฝ่ายค้านของประเทศสวีเดน เดินทางมายังจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นทางการ

การเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพบปะพูดคุยกับทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ ทั้งฝ่ายความมั่นคง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ตลอดจนองศ์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเก็บข้อมูลและศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่ ในช่วงก่อนที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมานตรี จะเดินทางไปเยือนประเทศสวีเดนในช่วงที่ผ่านมา

 

ตัวแทนคนฟาฏอนีย์พลัดถิ่นในยุโรป

ยาสรี เล่าว่า ปัจจุบันคนฟาฏอนีย์ที่อพยพไปอยู่ในยุโรปมีประมาณ 2,000 กว่าคน แม้พวกเขาจะอยู่ที่นั่นอย่างสุขสบาย แต่พวกเขามีความห่วงใยต่อญาติพี่น้องที่อยู่ในฟาฏอนีย์อย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ยังเกิดความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งคนฟาฏอนีย์ในยุโรปจำนวนหนึ่งได้ส่งเงินไปให้แก่ญาติพี่น้องของตนเองที่อยู่ในฟาฏอนีย์ด้วย

คนฟาฏอนีย์ในสวีเดนได้ก่อตั้งองศ์กรเครือข่ายขึ้นมาและมีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน โดยเน้นกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมและภาษามลายู เพื่อปกป้องไม่ให้ภาษาและวัฒนธรรมมลายูสูญหายไป

นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งทีมฟุตบอลของเยาวชนมลายูฟาฏอนีย์ โดยใช้ชื่อทีมว่า Patani Fc ซึ่งขณะนี้ทีมฟุตบอล Patani Fc อยู่ในลีกที่ 7 ของการแข่งขันฟุตบอลสโมสรในประเทศสวีเดน ซึ่งได้เลื่อนขั้นจากลีกที่ 8 เมื่อปีที่ผ่านมา

การตั้งทีมฟุตบอลเพื่อที่จะให้คนรุ่นใหม่ได้มีเวลาพบปะกัน มีโอกาสได้สื่อสาร โดยจะพยายามใช้ภาษามลายูในการพูดคุย และยังเป็นการเปิดโอกาสให้บุตรหลาน คนรุ่นใหม่ๆ ได้แลกเปลี่ยนเรื่องสถานการณ์ในพื้นที่ ตลอดจนเรื่องของประวัติศาสตร์ฟาฏอนีย์ระหว่างกัน การก่อตั้งองศ์กรของคนรุ่นใหม่นี้จะไม่ใช่เป้าหมายเรื่องของการแบ่งแยกดินแดนเหมือนสมัยคนก่อน

นอกจากนี้คนฟาฏอนีย์ในประเทศสวีเดนได้สร้างโรงเรียนเพื่อที่เป็นสถานที่เรียนศาสนา วัฒนธรรม และภาษามลายู โดยเรียนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ โดยในช่วงเช้าจะเป็นช่วงของคนรุ่นใหม่ ส่วนช่วงบ่ายเป็นของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะเน้นเรียนเรื่องของฟิกฮุ (ศาสนบัญญัติ) ทั้งนี้ส่วนใหญ่คนฟาฏอนีย์ในประเทศสวีเดนจะอยู่ในเมือง Stockholm กับเมือง Kalma

 

บทบาทการทำงานด้านสันติวิธี

ในฐานะที่ยาสรีทำงานในองค์กรที่เชื่อมต่อกับกับกลุ่มองค์กรและขบวนการในพื้นที่ และมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลสวีเดนที่ทำงานในแนวทางสันติ จึงได้พยายามเสนอแนวทางการต่อสู้ในแนวทางอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการใช้อาวุธหรือแนวทางการต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรง ซึงจากที่ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของรัฐในส่วนกลาง เขาได้เสนอถึงแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ในหลายแนวทางด้วยกัน เช่น

ตลอดระยะเวลาของความขัดแย้ง รัฐบาลคงไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การก่อความไม่สงบ การก่อเหตุได้ บางช่วงรัฐก็สามารถควบคุมการก่อเหตุของฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบได้ แต่บางช่วงรัฐก็ไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากความขัดแย้งพื้นที่ไม่ใช่เพิ่งเกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 แต่เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเมื่อ 200 กว่าปี่ที่แล้ว

หากรัฐบาลปล่อยให้ความขัดแย้ง ความรุนแรงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ รัฐบาลไทยอาจจะต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลไปกับกองกำลังของรัฐที่ต้องปฏิบัติการในพื้นที่ ในขณะที่ฝ่ายขบวนการใช้งบประมาณในการก่อเหตุไม่มากนัก

แนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว รัฐบาลและฝ่ายขบวนการจะต้องมีการพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกของของความขัดแย้งให้มากยิ่งขึ้น และทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องมีการเคารพซึ่งและกัน

ยาสรีกล่าวถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่า ดูเหมือนมีบางช่วงมีการแข่งขันและการร่วมมือระหว่างกันของกลุ่มขบวนการ หากวิเคราะห์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า กลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบต่างๆ ในพื้นที่ มีการร่วมมือมากขึ้น ทำให้โครงสร้างของขบวนการก่อความไม่สงบขยายตัวมากยิ่งขึ้นและมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

เขากล่าวว่า แนวทางการต่อสู้ของขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จับอาวุธอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะทำให้พื้นที่ตรงนี้มีความเจริญได้ เนื่องจากโครงสร้างของสังคมต้องมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างด้วยกัน เช่น ต้องมีแพทย์ ต้องมีทนายความ ต้องมีภาคธุรกิจและภาคอื่นๆ ที่เป็นของคนในพื้นที่ด้วย 

 

ฝากความหวังไว้กับเยาวชนฟาฏอนีย์

ในฐานะเยาวชนที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับองค์กรเครือข่ายในยุโรป และเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ของฟาฏอนีย์พลัดถิ่น ยาสรี บอกว่า บทบาทของเยาวชนมีความสำคัญมาก ที่จะต้องที่เป็นคนดูแลพื้นที่ตรงนี้ต่อไปในอนาคต ดังนั้นเยาวชนในพื้นที่ต้องมีการพัฒนา มีความเจริญ และมีความก้าวหน้าทางความคิดตามแบบที่อิสลามสอนไว้

คนยุโรปเขาจะถือคำสุภาษิตที่ว่า “คนที่ไม่รู้จักประวัติศาสตร์ของตัวเอง คนนั้นไม่สามารถที่กำหนดโชคชะตาตัวเองในอนาคตได้”

“ดังนั้นสิ่งที่สำคัญเราจะทำคือ สนับสนุนให้เยาวชนรุ่นใหม่ๆให้มีการศึกษาในระดับที่สูงๆ เพี่อที่จะผลิตเยาวชนที่มีคุณภาพ พร้อมๆกับการสร้างความเป็นผู้นำ ที่มีความเสียสละมีความซื่อสัตย์ และที่สำคัญต้องสร้างผู้นำที่ไม่มีการคอรัปชั่น และจะต้องทำให้เป็นวัฒนธรรมด้วย”

“ไม่ว่าเราจะมีอาชีพอะไร เราต้องไม่ลืมตัวเองว่า เราเป็นใคร มาจากไหน เป็นคนที่ชาติพันธุ์ใด เราต้องมีความภาคภูใจที่เราเกิดมาเป็นคนมลายู จากตัวอย่างที่ผมได้สอบถามพนักงานมลายูมุสลิมคนหนึ่ง ในโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ด้วยภาษามลายู แต่เขากลับตอบมาด้วยภาษาไทย ผมรู้สึกว่าเหมือนกับว่าเราอยู่ภายใต้อาณานิคม แสดงว่าเราไม่มีความภาคภูมิใจในความเป็นมลายู”

ยาสรี กล่าวว่า คนในพื้นที่จะต้องปรับตัวเองในเรื่องของวัฒนธรรมของการทำงาน ต้องเป็นบุคคลมีความกล้าและอย่าอายในสิ่งที่ถูกต้อง ต้องทำให้เป็นตัวอย่างกับคนอื่นว่า เราสามารถที่ทำสิ่งต่างๆให้ประสบความสำเร็จได้ คนที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น ที่จะมีความน่าเชื่อถือและคนอื่นจะปฏิบัติตามให้ความเชื่อมั่นและให้ความเคารพ

“ผมเป็นคนยุโรป ซึ่งเวลาทำงานต้องเปิดกว้างวิพากษ์วิจารณ์ได้ ที่นี่ก็เช่นกัน เราต้องการคนที่มีใจกว้างในการทำงาน รับฟังทุกความเห็นที่มีคนเสนอไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่จะทำให้เราเป็นคนมีความฉลาดในการทำงาน เราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมแบบเก่าที่ทำให้เรามีความมีล้าหลัง”

 

 

บันทึกบทสนทนา "ยาสรี" กับกลุ่มเยาวชนปัตตานี

เป็นบทสนทนาของยาวรี กับกลุ่มเยาวชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อครั้งเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เนื้อหาในส่วนนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 3 มีนาคม 2556 โดยอภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

กลุ่มเยาวชน : คิดว่าปัตตานีจะได้เอกราชหรือไม่

ยาสรี : คำตอบอยู่ที่ประชาชน หากว่าอัตลักษณ์ของประชาชนไม่เข้มแข็งก็จะอยู่อย่างนี้ตลอดไป ในสวีเดน มีทีมฟุตบอลปัตตานีที่สร้างคน เยาวชนเหล่านี้มีโอกาสเลือกว่าเขาอยากเป็นอะไร และไม่กลัวคนอื่น ก่อนที่จะให้คนอื่นเชื่อเราต้องเชื่อตัวเองก่อน

กลุ่มเยาวชน : ถ้าจะได้เอกราช จะต้องทำอะไรก่อน ถ้าประชาชนต้องการทำอย่างไรให้ได้ เอกราช  จับอาวุธหรือว่ามีทางอื่นอยู่ไหม

ยาสรี : การพูดเรื่องเอกราชไม่ได้พูดในเชิงของการตัดสิน แต่เราต้องมองเรื่องสันติภาพ และจะต้องมีความยุติธรรม ถ้าไม่มีสันติภาพจะมีปัญหาเรื่องความยุติธรรม

ถ้าฝ่ายขบวนการทำงานไม่ดีก็ไม่ควรสนับสนุน  ถ้าไม่มาจากภาคประชาสังคมก็นำไปสู่สันติภาพไม่ได้ ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาทางการเมือง  คนก็จะจับอาวุธต่อสู้  การเข้าสู่กระบวนการสันติภาพมีพลวัตออยู่ตลอด และได้รับการยอมรับมากขึ้น จากที่แต่ก่อนไม่ได้รับการยอมรับ

ต้องมี model ที่ทำให้คนฉลาดเพื่อที่จะต่อสู้กับอำนาจ ถ้าไม่มี model ก็ต้องยกตัวเองขึ้นมาเป็น model

กลุ่มเยาวชน : ถ้าได้เอกราชจะกลับมาปัตตานีไหม

ยาสรี : กลับมา ผมไม่เหมือนลูกหลานปัตตานีในที่สวีเดนแบบคนอื่นๆ พวกนั้นสบายแล้ว แต่เราเองสบายเพราะมีคนที่ช่วยเหลือเรา เราเองจึงอยากช่วยเหลือคนอื่นต่อ ผมอยากมาคุยกับคนที่นี่ กับคนที่มีประสบการณ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะมา ส่วนตัวเขา แต่ผมมีความเชื่อมั่นว่าคนปัตตานีจะสร้างความเจริญได้

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net