Skip to main content
sharethis

 

เพชร แสงมณี เกิดปี 2526 เป็นชาวโมงรืซเซ็ย (Moung Ruessie) จ.พระตระบอง ประเทศกัมพูชา ตามหลักการเขียนชื่อ-นามสกุลของชาวกัมพูชาจะเอานามสกุลขึ้นก่อนชื่อ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ทราบจึงเรียกชื่อเขาผิด ชื่อของเขาคือ "แสงมณี" นามสกุล "เพชร" เขาสามารถอ่าน-เขียนได้ทั้งภาษากัมพูชา, ไทย และอังกฤษ แต่ไม่คล่องนัก

ปี 2540 เขาต้องเดินทางไป-มาผ่านชายแดนกัมพูชา-ไทยเกือบทุกวันเพื่อรับจ้างเข็นรถขนของ แถวตลาดแห่งหนึ่งใน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เขาต้องเช่ารถจากเจ้าของรถวันละ 300 บาท และเช่าพื้นที่จอดรถหน้าตลาดอีกเดือนละ 1,500 บาท
เกือบทุกวันเขาต้องตื่นตั้งแต่เวลา 4.00 น. เพื่อมารอข้ามแดนที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองซึ่งจะเปิดตอนเวลา 6.00 น. และต้องกลับกัมพูชาทุกวันก่อนเวลา 18.00 น. เขาต้องเสียค่าผ่านแดนฝั่งละ 20 บาท เมื่อมีคนมาจ้างเขาเข็นของ หากเป็นการเข็นของภายในตลาด (ไม่ต้องข้ามชายแดน) เขาจะคิดค่าเข็นประมาณครั้งละ 100-200 บาท (ค่าเข็นรถ+ค่ายกของ) แต่ถ้าเป็นการเข็นของข้ามฝั่งไปกัมพูชาราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัวขึ้นอยู่กับระยะทาง (เขาต้องเสียค่าข้ามแดนไป 20 บาท และข้ามแดนกลับอีก 20 บาท)
 


 

แม้เขาจะมีรายได้วันละ 500-600 บาท แต่เป็นงานที่หนักมากสำหรับเด็กอายุ 14 ปีทำให้เขาต้องหยุดพักเป็นระยะๆ แต่ละเดือนเขาจึงทำงานได้เพียงกว่า 20 วันเท่านั้น เขาต้องเช่าบ้าน (ฝั่งกัมพูชา) และส่งเงินกลับบ้าน โดยผ่านนายหน้า ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายร้อยละ 5

ผ่านไปหลายเดือนเขาตัดสินใจที่จะเปลี่ยนงานจึงทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) เพื่อสามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ 7 วัน โดยเสียค่าใช้จ่าย 1,500 บาท และเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อมาหางานทำ ตั้งแต่เขาเข้ามาในกรุงเทพ เขาไม่เคยติดต่อกลับบ้านอีกเลย

เขาทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้างในโครงการหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง แถวรังสิต คลอง 3 โดยได้ค่าแรงวันละ 190 บาท ค่าแรงจะออกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีที่พัก-อาหารให้ แต่ค่าอาหารจะหักออกจากค่าแรง โครงการนี้มีคนทำงานกว่า 1,000 คน มีทั้งชาวไทย, ลาว, พม่า และกัมพูชา

3 สัปดาห์แรกเขาได้รับค่าแรงตามปกติ แต่หลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้อีกเลย เจ้าของโครงการอ้างว่ายังไม่มีเงินจ่าย ส่งผลให้คนทำงานทยอยลาออกไปเรื่อยๆ แต่เขายังทนทำงานอยู่อีกนานกว่า 7 เดือน ในที่สุดเมื่อไม่ได้รับค่าแรงเขาจึงตัดสินใจออกไปหางานใหม่ทำ ตลอดเวลาของการทำงานที่นี่เขาได้รับค่าแรงเพียงกว่า 3,000 บาทเท่านั้น

เขาย้ายมาทำงานที่ร้านขายโรตีสายไหมในตลาดแห่งหนึ่งแถวบางกะปิ โดยได้รับเงินเดือน 5,000 บาท พร้อมอาหารและที่พัก เขาชื่นชมเจ้านายของเขาว่าเป็นคนใจดีมาก เจ้านายของเขาพาเขาไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวจึงทำให้เขากลายเป็นแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย

ผ่านไป 5 ปีน้องชายของสามีของเจ้านายเขาเปิดสาขาใหม่ในตลาดแห่งหนึ่งแถวคลองเตย เขาจึงถูกย้ายไปช่วยงานที่สาขาคลองเตย แต่ในใจของเขาอยากทำงานที่เดิมมากกว่า บางครั้งเขาจึงเดินทางไปหาเจ้านายของเขาที่สาขาบางกะปิ

19 พ.ค. 53 เขาเดินทางมาที่สาขาบางกะปิ แต่ขากลับต้องเดินเท้าจากสาขาบางกะปิกลับมาที่สาขาคลองเตย เนื่องจากในวันดังกล่าวไม่มีรถประจำทางวิ่งบนถนน เขาเดินบน ถ.สุขุมวิท 77 (ปรีดี พนมยงค์) ซึ่งอยู่เยื้องกับ ธ.กรุงเทพ สาขาพระโขนง ขณะนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมหลายร้อยคนชุมนุมอยู่หน้าธนาคารดังกล่าว เมื่อรถตำรวจเดินทางมาถึงหน้าธนาคารดังกล่าว และเปิดเสียงไซเรน กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดจึงวิ่งหนีเข้าไปใน ถ.ปรีดี พนมยงค์ และชนกับเขาซึ่งกำลังเดินอยู่จนล้มลงกับพื้น
กลุ่มผู้ชุมนุมเดินผ่านไป ด้วยความกลัวเขาจึงเดินข้ามถนนไปยังอีกฝั่งของถนน ชายคนหนึ่งเดินเข้ามาจับกุมตัวเขาทางด้านหลัง

"จับผมทำไม"

ชายที่จับเขาไม่พูดอะไร เขาพยายามขัดขืน แต่ชายที่จับเขาล็อกตัวเขาไปหาตำรวจที่ยืนรออยู่หน้าธนาคารดังกล่าว เมื่อมาถึงหน้าธนาคารดังนั้น ตำรวจจับกุมเขาพร้อมใส่กุญแจมือ และพาเขาไปยืนถ่ายรูปที่หน้าธนาคารดังกล่าว เขาสังเกตเห็นกระจกหน้าธนาคารดังกล่าวแตกอยู่ มีเศษกระจกกองอยู่กับพื้น เขายืนยันว่า เวลานั้นธนาคารดังกล่าวยังไม่เกิดเพลิงไหม้

ชายที่จับเขาบอกกับตำรวจหลายคนที่ยืนอยู่ว่าให้เอาตัวเขาไปก่อนแล้วค่อยสอบสวนทีหลัง หลายนาทีผ่านไปรถกระบะตำรวจมาจอดที่หน้าธนาคารดังกล่าว เขาถูกควบคุมตัวไปนั่งเก้าอี้เบาะหลัง โดยมีตำรวจ 2 คนนั่งขนาบด้านข้าง รถกระบะพาเขาไป สน.คลองตัน

เมื่อถึง สน.คลองตัน เขาถูกพาตัวเข้าห้องสอบสวนทันที ในห้องสอบสวนมีตำรวจอยู่กว่า 10 คน เขาสังเกตเห็นว่า ภายในห้องมีสิ่งของหลายอย่างวางอยู่บนโต๊ะ เช่น ไฟแช็กก๊าซ, ผ้าชุมน้ำมัน และสติ๊กเกอร์ เขาถูกค้นตัว และถูกยึดเงินสดที่อยู่ในกระเป๋ากางเกงของเขาเกือบ 400 บาท เขาถูกจับนั่งลงกับพื้น

ตำรวจถามเขาว่า "ใครจ้างมึงเผา"  เขาได้แต่ตอบปฏิเสธไม่รู้เรื่อง เพราะเพิ่งกลับจากที่ทำงาน ตำรวจกระทืบเขาที่ตัวและใบหน้าของเขาหลายครั้งจนเขาต้องยกมือไหว้ขอชีวิต บางครั้งตำรวจนำผ้าดำมาคลุมศีรษะของเขา และใช้ปืนจ่อเพื่อบังคับให้รับสารภาพ เขายังคงปฏิเสธ

ตำรวจถามว่า "เนวินจ้างมึงหรอ" เขาตอบว่าไม่รู้จัก จากนั้นตำรวจบังคับให้เขายืนชี้ของกลางบนโต๊ะเพื่อถ่ายรูป แต่เขาปฏิเสธ แต่ก็โดนข่มขู่ว่าถ้าไม่รับจะ “โดน” อีก ในที่สุดเขาก็ยอมรับชี้ไปที่ของกลางเพื่อถ่ายรูป เขาถูกทำร้ายจากตำรวจหลายชั่วโมง แต่เขาก็ใจแข็งพอที่จะไม่ยอมรับสารภาพ ในที่สุดตำรวจนำกระดาษเปล่า 1 แผ่นมาให้เขา แล้วพูดว่า "ไหนลองเขียนชื่อตัวเองดูซิ"  เขายอมเขียนชื่อของตัวเองบนกระดาษเปล่าเป็นภาษากัมพูชาด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการ หลังจากนั้นเขาก็ถูกส่งตัวเข้าห้องขัง วันนั้นเขาไม่ได้กินอะไรเลย

2.00 น. ของวันถัดมาเขาถูกนำตัวออกมาสอบสวนอีกครั้ง โดยตำรวจชุดใหม่ซึ่งเข้ามาถามคำถามเดิมว่า “ใครจ้างมึงมาเผา” เมื่อปฏิเสธก็โดนกระทืบร่างกายหลายครั้ง แต่มี 1 ครั้งที่เตะเข้าที่ชายโครงด้านขวาของเขาอย่างรุนแรง เขาถูกส่งตัวเข้าห้องขังอีกครั้

7.00 น. เขาถูกนำตัวออกจากห้องขังอีกครั้ง และถูกกระทำเช่นเดียวกับ 2 ครั้งที่ผ่านมา ตำรวจอ้างว่า เขาลงลายชื่อให้การรับสารภาพแล้ว ตอนนั้นเขาถึงเพิ่งรู้ว่า ชื่อภาษากัมพูชาที่เขาถูกหลอกให้เขียนก่อนหน้านี้ถูกนำมาปลอมเป็นลายมือชื่อในเอกสารรับสารภาพ เขาถูกเตะที่ปลายคางจนสลบไปเกือบ 2 ชั่วโมง

9.00 น. เขาถูกปลุกให้ตื่น และถูกส่งฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เขาถูกส่งตัวเข้าไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพ คืนนั้นเขารู้สึกเจ็บชายโครงที่ถูกเตะอย่างมากจนไอเป็นเลือด และแทบจะกินอะไรไม่ได้ ต่อมาเขาถูกย้ายไปแดน 4

1 สัปดาห์ผ่านไปแพทย์ในเรือนจำ ตรวจอาการของเขา และบอกว่า เขาไม่เป็นไร ตอนนั้นเขารู้สึกไม่พอใจ และบอกเพิ่มเติมว่า เขามีอาการไอเป็นเลือด แต่แพทย์ในเรือนจำก็ให้เพียงยาแก้อับเสบกับเขาเท่านั้น หลายวันผ่านไปอาการของเขาไม่ดีขึ้น ยาที่ได้รับมาจากแพทย์ในเรือนจำไม่ได้ผล

เพื่อนนักโทษในเรือนจำแนะนำให้เขาหยุดกินยาที่แพทย์ในเรือนจำให้ แต่ให้เก็บสมุนไพรชนิดหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่ริมกำแพงมาเคี้ยวกินแทน หลังจากกินไป 1 สัปดาห์อาการของเขาดีขึ้น เขาจึงกินต่อเกือบ 1 เดือนจนในที่สุดอาการของเขาก็หายเป็นปกติ

20 ก.ย. 54 ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาก่อการร้าย แต่ลงโทษจำคุกฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ 6 ปี, ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 4 เดือน และฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด 4 เดือน แต่จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหานี้จึงมีเหตุให้บรรเทาโทษลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 2 เดือน รวมโทษจำคุก 6 ปี 6 เดือน

เขาตัดสินใจที่จะไม่อุทธรณ์คดีนี้ เพราะหวังที่จะได้รับการลดโทษจาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ 2554 และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ 2555 แต่ความหวังก็ต้องดับสิ้นลง เมื่ออัยการอุทธรณ์ในข้อหาก่อการร้าย ทำให้เขาพลาดโอกาสในการรับการลดโทษ

5 ก.พ. 56 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องในข้อหาก่อการร้าย ส่วนข้อหาอื่นไม่มีการอุทธรณ์จึงไม่มีการพิจารณา

เขาบอกว่า เขาเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม รัฐบาลชุดนี้ควรให้ความสำคัญกับนักโทษทางการเมือง โดยเฉพาะผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ รัฐบาลควรให้การเยียวยามากกว่าผู้ที่เสียชีวิต ขณะนี้ครอบครัวของผู้ถูกคุมขังกำลังลำบาก

เขายืนยันที่ไม่อยากจะกลับกัมพูชา และไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยอีก เขาเชื่อว่า การที่กัมพูชายื่นมือเข้าช่วยเขาในช่วงนี้เป็นเพียงเกมการเมืองเท่านั้น เช่นเดียวกับกรณีของ วีระ สมความคิด และ ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่เป็นเพียงเกมการเมืองของทั้ง 2 ประเทศ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net