Skip to main content
sharethis

คนสะเอียบย้ำค้านทั้งเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง และเขื่อนแก่งเสือเต้น เตือน อธิบดีกรมชลฯ – รัฐมนตรีฯ หยุดปลุกระดมชาวบ้านมาหนุนเขื่อน แนะผู้ว่าฯ แพร่ อย่าเห็นแก่เพื่อนที่เป็นรัฐมนตรีแล้วมารังแกชาวบ้าน

 
 
วันที่ 14 ม.ค.56 นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เรียกร้องให้อธิบดีกรมชลประทาน ยุติพฤติกรรมการปลุกระดมชาวบ้าน ให้เข้าร่วมสนับสนุนเขื่อนตามแผนงานของกรมชลประทาน พร้อมย้ำว่าชาวสะเอียบ ยืนยันที่จะคัดค้าน ทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เพราะ แก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งก็ไม่ได้ และยังกระทบต่อชุมชนและป่าสักทองอย่างมาก
 
สืบเนื่องจากที่นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทานลงพื้นที่จังหวัดแพร่ และนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ระดมชาวบ้านมาร่วมกันทำฝายกั้นแม่น้ำยม ที่ ต.ห้วยหมาย อ.สอง จ.แพร่ และมีเกษตรกรนำโดยนายสมบูรณ์ ใจเศษ ยื่นหนังสือให้อธิบดีกรมชลประทานให้เร่งสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า รัฐบาลอาจนำเรื่องโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เข้าพิจารณาใน ครม.สัญจรภาคเหนือ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ในวันที่ 21 ม.ค.นี้ ส่วนโครงการเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) นั้น ยังอยู่ในขั้นการศึกษาความเป็นไปได้ และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาถึงเดือนตุลาคม 2556
 
 
 
นายสมมิ่งให้เหตุผลในการค้านโครงการเขื่อนบนลำน้ำยมว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม ต้องมองปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ทั้งลุ่มน้ำ ไม่ใช่เขื่อนเท่านั้นที่เป็นเป้าหมาย การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การรักษาป่าที่เหลืออยู่ การป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั้งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอลช่วยลดโลกร้อน รวมทั้งฟอกอากาศให้ออกซิเจน เป็นแนวทางที่ยั้งยืนที่สุด
 
นอกจากนั้น นายสมมิ่งยังมีข้อเสนอในเรื่องการรักษาและพัฒนาป่าชุมชน โดยทุกชุมชนควรมีป่าชุมชนไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน การรักษาป่าอนุรักษ์โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด การปลูกต้นไม้เพิ่ม สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และประเทศชาติ
 
การพัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน การฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ การเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า
 
“การทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า” ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนฯ กล่าว
 
 
นายสมมิ่ง กล่าวด้วยว่า การพัฒนาโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม การสนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือนและระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านและชุมชนอย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
 
อีกทั้งยังมีแนวทางการกระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่นโดยมีกฎหมายรองรับ การทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้งเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู
 
การส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม แนวทางเหล่านี้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่รัฐพึงตระหนักและให้ความสำคัญเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม
 
“รัฐบาลอย่าคิดว่ามีอำนาจแล้วจะใช้อำนาจรังแกประชาชน เราคนสะเอียบคงไม่ยอม และขอเตือนไปยังผู้ว่าฯ แพร่ ว่าอย่าคิดว่าเป็นเพื่อนกับรัฐมนตรีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล แล้วจะรวมหัวกันมารังแกชาวบ้านได้ เราจะจารึกบุคคลเหล่านี้ไว้ ทั้งอธิบดีกรมชลฯ  รัฐมนตรีกระทรวงวิทย์ฯ ผู้ว่าฯ แพร่ รวมหัวกันรังแกชาวบ้าน เราจะตามจองล้างจองผลาญเจ็ดชั่วโคตร ขอให้สำเหนียกไว้” นายสมมิ่ง กล่าว
 
 
ด้านนายวิชัย รักษาพล แกนนำชาวบ้านบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า อธิบดีกรมชลประธาน มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ แอบมาเมืองแพร่ในวันเด็กแล้วยังมาปลุกระดมชาวบ้านให้เชียร์เขื่อนยมบนและเขื่อนยมล่าง ทั้งที่สถานการณ์น้ำแล้งเกิดขึ้นและมีการประกาศงดทำนาปรังทั่วประเทศ ทำไมจึงไม่ไปลงพื้นที่ที่อื่นบ้าง อย่างไรก็ตรามการผลักดันเขื่อนดังกล่าวคงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องไปรบกับนายปลอดประสพ สุรัสวดีที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
 
“เราชาวสะเอียบ จะไม่ยอมให้คนพวกนี้มาทำลายป่าสักทองของคนทั้งชาติ ของคนทั้งประเทศ เรายืนยันจะต่อสู้ คัดค้าน จนถึงที่สุด เพราะเขื่อนยมล่างก็ท่วมป่าสักทองเหมือนเดิม แค่ขยับจุดสร้างเขื่อนเท่านั้นเอง” นายวิชัยกล่าว
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้มีมติให้ชาวบ้านตั้งฐานที่มั่นที่จุดหัวงานที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และติดป้ายประกาศ “ห้ามบุคล หรือ หน่วยงานที่ผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด หากพบเห็นจะไม่รับรองความปลอดภัย” โดย ราษฎรตำบลสะเอียบ และยังให้ชาวบ้านทำเพิงที่พัก จัดเวรยามเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น
 
 
“เราประกาศไปหลายรอบแล้ว ห้ามผู้ไม่หวังดีเข้าพื้นที่ ถ้ายังดื้อดึง ยังไม่ฟัง ก็คงต้องใช้ไม้แข็ง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เหตุผลต่างๆ ทางออก ทางแก้ไขปัญหาก็เสนอไปหมดแล้ว หากยังดันทุรังอยู่ก็ต้องข้ามศพคนสะเอียบไปก่อน” นายศรชัย อยู่สุข แกนนำชาวบ้านบ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net